×

จับตา ‘เงินบาท’ แข็งเร็ว กระทบส่งออก-กดดันนโยบายการเงินไทย

16.01.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • นับจากต้นปีที่ผ่านมา เงินบาทของไทยแข็งค่าไปแล้วกว่า 5% ถือเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในภูมิภาค และเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงเงินสกุลรูเบิลของรัสเซียเท่านั้น
  • การแข็งค่าของเงินบาทในรอบนี้มีความพิเศษกว่ารอบที่ผ่านๆ มา เนื่องจากเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และแรงเก็งกำไรผสมปนเปกัน
  • เงินบาทที่แข็งค่าอาจส่งผลกระทบให้การส่งออกไทยในปีนี้หลุดเป้า สร้างแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องแทรกแซงค่าเงินและประเมินทิศทางนโยบายการเงินใหม่
  • ปัญหาหนี้สินของสหรัฐฯ ที่เสี่ยงจะแตะระดับเพดานหนี้ รวมถึงการแสดงจุดยืนทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น อาจเป็นปัจจัยกดดันให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่า

ค่าเงินบาทวันนี้ (16 มกราคม) แข็งค่าขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 10 เดือน โดยแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดในวันก่อนหน้าที่ 32.98 บาทต่อดอลลาร์ ไปแตะระดับแข็งค่าสุดที่ 32.73 บาทต่อดอลลาร์ ​ก่อนจะอ่อนค่ากลับสู่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงท้ายของตลาด

 

หากนับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ปี 2566 เป็นต้นมา ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นไปแล้วกว่า 5% ถือเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในภูมิภาค และเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยเป็นรองเพียงเงินสกุลรูเบิลของรัสเซียเท่านั้น

 

ปัจจัยกดดันบาทแข็ง

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ระบุว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าเร็วคือ การอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์ที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 เดือน หลังจากตลาดมั่นใจมากขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดความแข็งกร้าวในการปรับขึ้นดอกเบี้ยตามแนวโน้มเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัวลง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

โดยล่าสุดดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปเดือนธันวาคม 2022 ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีครึ่ง และเมื่อเทียบปีต่อปี CPI ทั่วไปเพิ่มขึ้น 6.5% ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นต่ำสุดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2021 หลังจากที่เพิ่มขึ้น 7.1% ในเดือนพฤศจิกายน 2022

 

ขณะที่ CPI พื้นฐานที่ไม่รวมอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 5.7% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นน้อยสุดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021 หลังจากเพิ่มขึ้น 6% ในเดือนพฤศจิกายน 2022 ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจจากฝั่งยุโรปที่แข็งแกร่งเกินคาดเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์อีกส่วนหนึ่ง

 

ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้น ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะเริ่มมีมุมมองสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราลดลงเป็น +0.25% ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป ซึ่งสนับสนุนให้มีกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมายังสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

 

ขณะเดียวกันเงินบาทยังได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเปิดประเทศของจีนที่ตลาดคาดว่า ไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแนวโน้มได้รับผลประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวมากที่สุด

 

ทั้งสองปัจจัยนี้เองทำให้มีเม็ดเงินจากต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหากนับจากต้นปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติได้เข้าซื้อหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิแล้วเป็นจำนวน 10,480 ล้านบาท และ 18,990 ล้านบาท ตามลำดับ 

 

มีแรงเก็งกำไรหรือไม่

สงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า หากจับสัญญาณของอัตราดอกเบี้ยเงินบาทนอกประเทศ (Offshore Thai Baht FX Swap Market) และการเข้าซื้อบอนด์อายุสั้นๆ ของนักลงทุนต่างชาติ อาจสามารถฟันธงได้ว่ามีการเก็งกำไรส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Arbitrage) เกิดขึ้นแน่นอน 

 

ขณะเดียวกันหากพิจารณาจากความเห็นของสำนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ที่ล้วนมีมุมมองต่อเงินบาทในด้านแข็งค่า การเก็งกำไรค่าเงิน (FX Speculation) นั้นก็น่าจะผสมโรงเข้ามาไม่มากก็น้อย ทั้งจากผู้เล่นในและนอกประเทศ อันเป็นธรรมชาติของตลาดการเงิน

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ขายเงินดอลลาร์ตั้งแต่ต้นปีนี้ไม่ได้มีเพียงนักเก็งกำไรค่าเงินเท่านั้น เพราะตัวเลขของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็สะท้อนว่า มียอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์กว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทยก็มียอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่เป็นพันธบัตรอายุยาวกว่า 1 ปี (ไม่รวมบอนด์สั้นๆ อายุต่ำกว่า 1 ปี) อีก 5 พันล้านบาท ซึ่งเงินที่ไหลเข้ามาในส่วนนี้อาจไม่สามารถเรียกว่าเป็นการเก็งกำไรได้เต็มปากนัก

 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ส่งออกทั้งไทยและเทศที่เจ็บปวดกับรายได้และกำไรที่หดหายในแต่ละวันทำการที่ตัดสินใจขายดอลลาร์ออกไปก่อน ขณะที่ผู้นำเข้าที่เป็นผู้รับประโยชน์ในศึกนี้อาจเปลี่ยนใจดึงคำสั่งซื้อดอลลาร์ออกไปก่อน หรือซื้อน้อยกว่าความจำเป็นปกติ 

 

หากรวมกับการขายดอลลาร์ที่เกี่ยวเนื่องจากราคาทองคำที่วิ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 8 เดือน ประกอบกับตัวเลขเงินทุนไหลเข้าด้านอื่นๆ ที่จะต้องรอตัวเลขสรุปและประกาศออกสู่สาธารณะในเดือนถัดๆ ไป ซึ่งภาพนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมากที่เข้ามาในประเทศไทยในช่วงนี้ ก็น่าจะเดาว่าเป็นด้านไหลเข้าสุทธิ

 

“ทั้งหมดนี้จึงเห็นได้ว่าการขายเงินดอลลาร์เป็นมาฆะบูชาในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ที่มากันหมดทุกผู้เล่น ครบทุกองค์คณะ โดยมีแรงขับเคลื่อนขนาดใหญ่รองรับอยู่ข้างหลัง นั่นคือการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐต่อทุกสกุลเงินส่วนใหญ่ทั่วโลก” สงวนกล่าว

 

บาทแข็งกระทบส่งออก-กดดันนโยบายการเงิน

สงวนคาดการณ์ว่าการแข็งค่าเร็วของเงินบาทจะสร้างแรงกดดันต่อตัวเลขการส่งออกไทยในปีนี้ โดยหากพิจารณาจากตัวเลขคาดการณ์ของสำนักวิจัยต่างๆ ล้วนมองภาพส่งออกไทยออกมาค่อนข้างต่ำ ซึ่งจุดนี้อาจมีส่วนกดดันให้ในช่วงต่อจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องแทรกแซงค่าเงินมากขึ้น ลามไปถึงการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า ซึ่งจะไปไม่ถึง Terminal Rate ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจมีอยู่ในใจ หรือไปถึงช้ากว่าที่หวัง

 

โดยประเมินว่าในการประชุม กนง. ปลายเดือนมกราคมนี้ ดอกเบี้ยนโยบายน่าจะยังขึ้นได้ 25bp โดยไม่มีปัญหา แต่หลังจากนั้นอาจไม่ง่ายหรือไม่เอกฉันท์แบบ 7 ต่อ 0 ดังที่ผ่านมา 

 

“ลองจินตนาการกันดูว่า อีก 2-3 เดือนข้างหน้า แม้ตัวเลขส่งออกจะพลาดเป้าไปบ้าง การบริโภคในประเทศยังขยายตัว เทศกาลตรุษจีนและสงกรานต์เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ และตัวเลขเงินเฟ้อที่คลี่คลายออกมาในแต่ละเดือนก็เป็นไปในทิศทางที่ทุกฝ่ายอยากเห็น คำถามก็คือ ถ้าเช่นนั้นมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง” สงวนกล่าว

 

จับตาปัญหา ‘เพดานหนี้สหรัฐฯ’ ป่วนตลาด

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Markets ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงและผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หากตลาดเผชิญปัจจัยเสี่ยง และเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยมีปัจจัยที่ควรจับตามองคือปัญหาการเมืองสหรัฐฯ ที่จะเริ่มมีความน่าสนใจและอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้ เนื่องจากหนี้สินของรัฐบาลสหรัฐฯ เสี่ยงที่จะแตะระดับเพดานหนี้ในวันที่ 19 มกราคมนี้ 

 

โดยล่าสุดรัฐมนตรีคลัง เจเน็ต เยลเลน (อดีตประธาน Fed) ได้ออกมาเรียกร้องให้สภาคองเกรสเร่งพิจารณาขยายเพดานหนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) โดยในอดีตที่ผ่านมาตลาดการเงินมักผันผวนและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หากเผชิญความเสี่ยงปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ (Debt Ceiling) ซึ่งในภาวะดังกล่าวผู้เล่นในตลาดมักเลือกเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและเลือกที่จะถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

 

พูนระบุว่า ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ในสัปดาห์นี้เงินบาทมีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.70-33.30 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีแนวต้านสำคัญในช่วง 33.30-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ ส่วนผู้เล่นต่างชาติก็รอจังหวะเพิ่มสถานะ Short USDTHB ตามความหวังการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

 

“แม้เงินดอลลาร์จะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดมั่นใจว่า Fed จะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย แต่หากตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ เงินดอลลาร์ก็อาจแข็งค่าขึ้นได้ หรือในกรณีที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยืนกรานไม่รีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เงินเยนญี่ปุ่นก็อาจผันผวนอ่อนค่า และช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้เช่นกัน” พูนระบุ

 

ขณะที่กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-33.30 บาทต่อดอลลาร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising