×

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 16 เดือน! แตะ 33.5 บาทต่อดอลลาร์ จับตาตัวเลขจ้างงานสหรัฐฯ คืนนี้

06.09.2024
  • LOADING...

วันนี้ (6 กันยายน) เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 33.5 บาทต่อดอลลาร์ นับเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 16 เดือน หรือตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2023 แข็งค่าขึ้นจากช่วงต้นปีนี้เกือบ 2% จับตาข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ คืนวันศุกร์นี้ ปัจจัยสำคัญที่ชี้ชะตาแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed), ทิศทางดอลลาร์, บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ, ราคาทองคำ และเงินบาท

 

กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า เงินบาทแข็งค่าเร็วต่อเนื่องจากเงินที่ไหลเข้าทั้งตลาดหุ้นและบอนด์ ตอบรับข่าวการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ซึ่งจะช่วยหนุนหุ้น โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยวันที่ 5 กันยายน ปิดบวกเกือบ 40 จุด

 

และเงินเฟ้อไทย (CPI) เดือนสิงหาคมออกมาที่ 0.35%YoY ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 0.40%YoY และเงินเฟ้อพื้นฐานออกมาที่ 0.62%YoY

 

รวมทั้งเลขการจ้างงานเอกชนของสหรัฐฯ (ADP Change) เพิ่มขึ้น 99,000 ตำแหน่ง ซึ่งต่ำกว่าคาด ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury Yields) และดัชนีเงินดอลลาร์ลดลง ดันเงินบาทแข็งค่าชั่วข้ามคืน

 

ตลาดลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ คืนวันศุกร์นี้

 

เช้าวันนี้ พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ คืนวันศุกร์นี้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้ชะตาแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของ Fed และจะส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินดอลลาร์, บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ, ราคาทองคำ และเงินบาท อย่างมีนัยสำคัญ

 

“โดยเราย้ำมุมมองเดิมว่า เงินบาทเสี่ยงผันผวนสองทิศทาง (Two-Way Volatility) ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยของ Fed หลังรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ” พูนกล่าว

 

หากตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาดี

 

หากยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้น 1.6 แสนตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ลดลงสู่ระดับ 4.2% ตามที่บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ หรืออาจออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคลายกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น และปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งอาจหนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งยังกดดันราคาทองคำและเงินบาทได้ โดยในกรณีนี้ ควรจับตาว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 33.80 บาทต่อดอลลาร์ได้หรือไม่ (แนวต้านถัดไปจะอยู่ในช่วง 34.00 บาทต่อดอลลาร์)

 

หากตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาแย่

 

หากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน อาทิ ยอดการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่ำกว่าหรือใกล้ 1 แสนตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.4% หรือสูงกว่า ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่าอาจชะลอตัวลงหนักหรือเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ทำให้ผู้เล่นในตลาดคงคาดหวังว่า Fed ต้องเร่งลดดอกเบี้ย ซึ่งอาจกดดันเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐฯ พร้อมกับหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้ และหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ซึ่งต้องลุ้นว่าเงินบาทจะแข็งค่าหลุดแนวรับสำคัญ 33.5 บาทต่อดอลลาร์ได้หรือไม่ เพราะการแข็งค่าดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถแข็งค่าต่อสู่โซน 33.25 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก อนึ่ง เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้หรือไม่นั้น อาจต้องจับตาบรรยากาศในตลาดการเงินว่าจะกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) กดดันให้บรรดานักลงทุนต่างชาติเทขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นหรือไม่

 

“เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตามการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่างมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยของ Fed หรือการปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือ เช่น Options หรือสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน” พูนกล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising