×
SCB Index Fund 2024
SCB Omnibus Fund 2024

ผู้ถือหุ้น ‘การบินไทย’ ระทึก เสี่ยงถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ เหตุแผนแก้ปัญหาส่วนทุนติดลบต้องใช้เวลามากกว่า 3 ปีตามเงื่อนไข

27.03.2021
  • LOADING...
ผู้ถือหุ้น ‘การบินไทย’ ระทึก เสี่ยงถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ เหตุแผนแก้ปัญหาส่วนทุนติดลบต้องใช้เวลามากกว่า 3 ปีตามเงื่อนไข

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • การบินไทยชี้แจงตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อดำเนินการฟื้นฟูกิจการ โดยตามแผนจะปรับโครงสร้างหนี้และทุน ทั้งการเพิ่มทุน แปลงหนี้เป็นทุน เพื่อเพิ่มส่วนผู้ถือหุ้น
  • นอกจากนี้ยังเร่งปฏิรูปธุรกิจ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ผลดำเนินงานกลับมามีกำไรในปี 2566 และส่วนผู้ถือหุ้นจะเริ่มเป็นบวกได้ในปี 2573 
  • แต่ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ กรณีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบต้องเร่งแก้ไขใน 3 ปี ทำให้หุ้นของการบินไทยเสี่ยงที่จะถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนได้ โดยขึ้นกับการพิจารณาของบอร์ดตลาดหลักทรัพย์

หลังจากที่ผลดำเนินงานของ บมจ.การบินไทย (THAI) ขาดทุนต่อเนื่อง จนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จึงต้องทำหนังสือแจ้งให้การบินไทยดำเนินการแก้ไขส่วนของผู้ถือหุ้นที่ติดลบดังกล่าว เพราะไม่เช่นนั้นจะมีผลทำให้การบินไทยเข้าข่ายต้องเพิกถอนหุ้นออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

 

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของการบินไทยชี้แจงประเด็นนี้ว่า การบินไทยอยู่ระหว่างยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อดำเนินการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย 2483 ซึ่งบริษัทเชื่อว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัท 

 

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทน กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย(THAI) รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า แนวทางแก้ไขเหตุที่ทำให้ไม่ต้องเพิกถอนหุ้นจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน แบ่งเป็น

 

1. การดำเนินการให้ส่วนผู้ถือหุ้นมีค่ามากกว่าศูนย์หรือพลิกกลับมาเป็นบวก โดยบริษัทจะปรับโครงสร้างทุนและหนี้เพื่อให้กลับมาทำธุรกิจต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เบื้องต้นคาดว่าจะเพิ่มทุน รวมถึงให้สิทธิ์แปลงหนี้เป็นทุนแก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟู เพื่อเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นและลดภาระหนี้

 

นอกจากนี้บริษัทจะรักษาสภาพคล่องทางการเงินและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ซึ่งมีส่วนเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายอย่างมีนัยสำคัญให้กับบริษัท ขณะเดียวกันจะทำแผนปฏิรูปธุรกิจ โดยมีผู้นำบริหารการขับเคลื่อนการปฏิรูปธุรกิจเป็นผู้ผลักดันให้พนักงานทั้งองค์กรทำงานอย่างเป็นระบบ

 

2. การดำเนินการให้บริษัท มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติที่เกิดจากธุรกิจหลัก โดยแผนการปฏิรูปธุรกิจ เกิดจากการศึกษาเชิงวิเคราะห์ธุรกิจ และการแสวงหาโอกาสพัฒนาธุรกิจโดยละเอียด ซึ่งบริษัทได้ริเริ่มโครงการมากกว่า 600 โครงการ ที่ได้เริ่มดำเนินโครงการตามแผนแล้วและมีความคืบหน้าอย่างชัดเจน แผนการปฏิรูปธุรกิจ ได้แก่

 

  • การปรับลดขนาดฝูงบินและลดแบบเครื่องบินและเครื่องยนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกำลังลูกเรือและลดต้นทุนการซ่อมบำรุง
  • ปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบิน และการเจรจาต่อรองปรับลดค่าเช่าเครื่องบินอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในระยะสั้นและยาว
  • ปรับเปลี่ยนเส้นทางบินและยกเลิกเส้นทางที่ทับซ้อนและให้ผลตอบแทนต่ำ
  • ปรับลดขนาดองค์กรและขั้นตอนการบังคับบัญชา รวมถึงปรับปรุงสวัสดิการของพนักงานให้มีความเหมาะสม เป็นต้น

 

ชาญศิลป์ระบุว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น อาจทำให้การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งส่งผลในทางบวกแก่ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจการบินอย่างมีนัยสำคัญ โดยบริษัทเชื่อว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวและแผนการปฏิรูปธุรกิจของบริษัทนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้กำไรสุทธิของบริษัทกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง

 

3. กำหนดระยะเวลาการดำเนินการ โดยเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการได้ส่งแผนของบริษัทต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียบร้อยแล้ว โดยขั้นตอนต่อไปเจ้าพนักงานจะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 โดยหากแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ได้รับมติเห็นชอบจากเจ้าหนี้แล้ว ศาลจะนัดพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน หลังจากประชุมเจ้าหนี้ หรือในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2564 หากศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้บริหารแผน บริษัทจะเร่งดำเนินการตามแผนที่ระบุในแผนฟื้นฟูอย่างเคร่งครัด

 

ชาญศิลป์ยังรายงานตลาดหลักทรัพย์ด้วยว่า ตามประมาณการภายใต้แผนฟื้นฟูเบื้องต้น บริษัทจะกลับมามีกำไรจากการดำเนินงานตามปกติได้ในปี 2566 และส่วนของผู้ถือหุ้นจะกลับมาเป็นบวกได้ในปี 2573 

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาประกอบกับข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ เรื่องการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียนและแนวทางการดำเนินการที่ให้ระยะเวลาในการแก้ไขเหตุภายใน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2564 จะพบว่าเมื่อครบกำหนดเวลาข้างต้น บริษัทยังไม่สามารถแก้ไขเหตุดังกล่าวได้หมดไป เนื่องจากส่วนผู้ถือหุ้นยังมีค่าน้อยกว่าศูนย์ กรณีนี้จึงอาจเข้าข่ายที่ตลาดหลักทรัพย์จะเสนอคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์เพื่อพิจารณาเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising