×

TH พุ่งแรง 15% รับข่าวย้ายเทรดกลุ่มการเงิน หลังกำไรจากธุรกิจบริหารหนี้โตเด่น

28.03.2022
  • LOADING...
TH

หุ้น บมจ.ตงฮั้ว โฮลดิ้ง หรือ TH บวกต่ออีก 15% ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว รับข่าวดีจ่อย้ายเข้าซื้อขายในกลุ่มการเงิน หลังจากธุรกิจบริหารหนี้ หรือ AMC มีการเติบโตที่โดดเด่น ด้านนักวิเคราะห์ประเมินกำไรจากธุรกิจ AMC ปีนี้โตเกิน 200% พร้อมมองเป็นหุ้นบริหารหนี้ดาวรุ่ง 

 

หุ้น บมจ.ตงฮั้ว โฮลดิ้ง (TH) วันนี้ (28 มีนาคม) เคลื่อนไหวอย่างหวือหวา โดยเปิดการซื้อขายในแดนบวกด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นติดอันดับที่ 2 ของกระดาน SET และปิดการซื้อขายช่วงเช้าที่ 4.96 บาท เพิ่มขึ้น 0.66 บาท หรือ 15.35% มูลค่าการซื้อขาย 1,207.52 ล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD ณ 25 มีนาคม) ปรับเพิ่มขึ้น 56.93% 

 

โดยราคาหุ้นเช้าวันนี้ เคลื่อนไหวตอบรับกระแสข่าวดี กรณีที่บริษัทเตรียมยื่นขอย้ายหมวดจากสื่อสิ่งพิมพ์สู่ธุรกิจการเงิน สืบเนื่องจากกำไรของบริษัทตั้งแต่ปี 2561 มาจากธุรกิจการเงินเป็นหลัก และบริษัทมีนโยบายที่จะลงทุนและขยายธุรกิจของบริษัทสู่ธุรกิจทางด้านการเงินมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการซื้อและบริหารหนี้จากสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งหนี้ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน

 

อดิศักดิ์ พรหมบุญ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน บล.กรุงศรี กล่าวว่า TH ถูกมองเป็นหุ้นเล็กที่กำไรโตโดดเด่น โดยบริษัทเริ่มรับรู้รายได้จากบริหารจัดการหนี้เสียตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา ซึ่งฝ่ายวิจัยมองว่า กำไรปี 2565-2566 จะสูงกว่าที่เคยประมาณการไว้ รับอานิสงส์ SG&A to Sales ที่มีแนวโน้มต่ำลงกว่าที่คาด 

 

ดังนั้นจึงปรับประมาณการกำไรปี 2565-2566 ขึ้น 67% และ 57% เป็น 210 ล้านบาท และ 389 ล้านบาท คงคำแนะนำซื้อ กำหนดราคาเป้าหมายใหม่ 5.20 บาท

 

อดิศักดิ์กล่าวว่า บริษัทเริ่มรับรู้รายได้จากบริหารจัดการหนี้ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ทำให้ในไตรมาส 4/64 บริษัทมีรายได้และกำไรจากธุรกิจดังกล่าวที่ 55 ล้านบาท และ 33 ล้านบาท ตามลำดับ 

 

และล่าสุด TH สามารถประมูลหนี้เสียจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท ทำให้หนี้ภายใต้การบริหารเพิ่มเป็น 4,000 ล้านบาท และประกาศเป้าหมายประมูลหนี้ปี 2565 ที่ 6,000 ล้านบาท ซึ่งคาดใช้เงินลงทุนสำหรับการประมูลหนี้ปีนี้ราว 600-700 ล้านบาท ซึ่ง TH ยังมีสภาพคล่องเพียงพอ 

 

นอกจากนี้ TH ได้เริ่มเจรจาหาพันธมิตรที่เป็นธนาคารและสถาบันการเงินเพื่อเข้าบริหารหนี้ด้อยคุณภาพที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้อีกทาง

 

“จากการฟังข้อมูลจากผู้บริหาร พบว่าจุดเด่นของ TH คือผู้บริหารปรับแผนธุรกิจเร็วและมีวิสัยทัศน์ที่แม่นยำ โดยก่อนหน้านี้ทำธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ เมื่อรายได้กำไรเริ่มลดลงก็ปรับทิศทางธุรกิจ และเคยทำธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็ก แต่เมื่อไม่เป็นไปตามแผนก็ปรับเข้าสู่ธุรกิจ AMC ได้เร็ว ซึ่งธุรกิจ AMC มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีมากในปีนี้ จึงประเมินว่า TH เป็นหุ้นกลุ่มบริหารหนี้ที่น่าจับตามองในเรื่องการเติบโต” อดิศักดิ์กล่าว 

 

อย่างไรก็ตาม คำแนะนำลงทุนและราคาเป้าหมายยังไม่ได้รวมกรณีที่ TH ขอย้ายกลุ่มซื้อขาย แต่ยืนยันว่าคำแนะนำและราคาเป้าหมายจะคงเดิม แม้ TH จะย้ายกลุ่มเทรดไ้ด้สำเร็จและเข้าซื้อขายในกลุ่มการเงิน 

 

มองกำไรโตกระโดดหลังได้ไลเซนส์ซื้อหนี้แบงก์ 

ฝ่ายวิจัย บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า จากความพยายามในการขยายการลงทุนสู่ธุรกิจอื่นเพื่อสร้างการเติบโตชดเชยธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่อิ่มตัว ล่าสุด TH ล่าสุด บริษัทย่อย คือ THAM ได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ AMC จาก ธปท. ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้บริษัทกลับมาเติบโตในอัตราเร่งอีกครั้ง 

 

โดย THAM ได้ซื้อหนี้จากพันธมิตรกว่า 3,000 ล้านบาทในช่วงปลายปี 2563 และเริ่มมีรายได้และกำไรจากธุรกิจ AMC ในไตรมาส 4/64 และต้นปี 2565 บริษัทได้ซื้อหนี้อีก 1,000 ล้านบาท และตั้งเป้าซื้อหนี้เพิ่มปีละ 6,000 ล้านบาท เน้นหนี้คุณภาพดี มูลหนี้เฉลี่ยต่อหัวต่ำกว่า 35,000 บาท ทำให้สามารถปรับโครงสร้างได้ง่าย อายุค้างชำระไม่นาน ประมาณ 2 ปี และปี 2565 นี้เป็นปีแรกที่รับรู้ผลการดำเนินงานของ THAM เต็มปี 

 

ฝ่ายวิจัยคาดว่า THAM จะผลักดันให้กำไรของกลุ่ม TH โตก้าวกระโดดราว 235.4% และเติบโตต่อ 48.5% หรือเติบโตเฉลี่ย 36.6% CAGR ในช่วงปี 2565-2567 จึงประเมินราคาเป้าหมาย 5.10 บาท

 

ฐานะการแกร่ง ปลอดหนี้เงินกู้

นอกจากนี้ THAM ยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเป็นจุดแข็ง โดย THAM รับซื้อหนี้ในราคา 8-12% ของยอดมูลหนี้ คาดใช้เงินลงทุนปีนี้ประมาณ 600-700 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นปัญหากับบริษัทที่ถือว่ามีสภาพคล่องทางการเงินแข็งแกร่ง บริษัทไม่มีหนี้เงินกู้ จึงไม่มีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่เหนือคู่แข่ง และหาก TH-W3 ใช้สิทธิทั้งหมด บริษัทจะได้รับเงินกว่า 200 ล้านบาท รองรับการซื้อหนี้เพิ่มในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า

 

ทั้งนี้ เมื่อ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ตงฮั้ว โฮลดิ้ง แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้ออกใบสำคัญแสดงสทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทรุ่นที่ 3 (TH-W3) จำนวนไม่เกิน 241,258,981 หน่วย จัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตรา 4 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ อัตราการใช้สิทธิอายุ 3 ปี ใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วย มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญได้ 1 หุ้น ราคาการใช้สิทธิ 1.00 บาทต่อหุ้น กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ได้รับสิทธิซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิ (Record Date) วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 และวันที่ไม่ได้รับสิทธิซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิ 13 พฤษภาคม 2565

 

พร้อมลดทุนจดทะเบียนของบริษัทจากเดิม 1,286,699,754 บาท เป็น 965,035,922 บาท โดยวิธีตัดหุ้นสามัญจดทะเบียนที่ยังมิได้ออกจำหน่าย จำนวน 321,663,832 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ซึ่งเป็นหุ้นสามัญที่จัดสรรไว้เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงสภาพตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ รุ่นที่ 2 (TH-W2) ที่สิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 จากนั้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของเป็นทุนจดทะเบียนใหม่ 1,206,294,903 บาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 241,258,981 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิ TH-W3

 

ทั้งนี้ ตงฮั้ว โฮลดิ้ง หรือ TH เริ่มก่อตั้งปี 2503 ในนามบริษัท หนังสือพิมพ์ตงฮั้ว จำกัด มีวัตถุประสงค์หลักในการผลิตและจำหน่ายหนังสือพิมพ์รายวันภาษาจีน บริษัทได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ตงฮั้ว คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2537 ต่อมาในปี 2559 บริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ตงฮั้ว โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) โดยมีการปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารที่มีการประกอบธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากสื่อสิ่งพิมพ์ โดยหันมาเพิ่มธุรกิจด้านค้าปลัก ธุรกิจให้สินเชื่อ และธุรกิจบริหารสินทรัพย์

 

ปัจจุบัน TH มีบริษัทย่อย 4 แห่ง ได้แก่

  1. บจ.ตงฮั้ว มีเดีย แล็บ (เดิมชื่อ บจ.หนังสือพิมพ์ตงฮั้ว) ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ ให้บริการโฆษณาในหนังสือพิมพ์และรับจ้างพิมพ์งาน
  2. บจ.ตงฮั้ว แคปปิตอล ให้บริการเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นแบบ Factoring ให้กู้และให้บริการสินเชื่อลีสซิ่ง
  3. บจ.ตงฮั้ว แอสเซท (ถือหุ้น บจ.ตงฮั้ว แคปปิตอล) โดยให้บริการเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นแบบ Factoring ให้กู้และให้บริการสินเชื่อลีสซิ่ง
  4. บจ.บริหารสินทรัพย์ ตงฮั้ว บริหารจัดการสินทรัพย์

 


 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising