×

คาดยอดส่ง ‘Tesla’ ลดลงเป็นครั้งแรก ผลจากการปิดโรงงานเพราะโควิดในจีนทำให้ผลิตไม่ทัน

01.07.2022
  • LOADING...
Tesla

บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาคาดการณ์ว่า ยอดการส่งรถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla ที่ทำสถิติเพิ่มขึ้นทุกไตรมาสอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่จะสิ้นสุดเสียแล้วในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เหตุจากการปิดโรงงานในเซี่ยงไฮ้ของจีน เพราะไวรัสโควิดระบาดทำให้ยอดผลิตรถยนต์ Tesla ชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์กันไว้ และสะท้อนให้เห็นความเสี่ยงของ Tesla ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของโลกที่พึ่งพาการผลิตในจีนมากเกินไป

 

รายงานระบุว่า ในขณะที่ อีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และผู้ก่อตั้ง Tesla กำลังวุ่นวายกับการเข้าซื้อหุ้นของ Twitter โซเชียลมีเดียชั้นนำ ธุรกิจที่เปรียบเสมือนเพชรยอดมงกุฎของมัสก์อย่าง Tesla กำลังต่อสู้กับปัญหาในการผลิตในจีน และการขยายปริมาณการผลิตในโรงงานที่เท็กซัส สหรัฐฯ และนครเบอร์ลิน เยอรมนี

 

ทั้งนี้ เมื่ออิงข้อมูลจาก Refinitiv บรรดานักวิเคราะห์คาดว่า ยอดส่งมอบรถยนต์ Tesla ในไตรมาส 2 ของปีนี้จะอยู่ที่ราว 295,078 คัน ขณะที่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองในแง่ร้ายกว่านั้นด้วยการตัดลดจำนวนยอดส่งมอบรถยนต์ในไตรมาส 2 ของ Tesla ลงไปอยู่ที่ประมาณ 250,000 คัน เนื่องจากการล็อกดาวน์ที่ลากยาวมาจนถึงทุกวันนี้

 

ตัวเลขดังกล่าวลดลงจากจำนวนส่งมอบรถของไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 310,048 คัน ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2022 นี้จะเป็นครั้งแรกที่ยอดส่งมอบรถยนต์ Tesla รายไตรมาสลดลงนับตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2020

 

ผู้ผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกได้รายนี้ทำสถิติการส่งมอบรถยนต์เพิ่มขึ้นในทุกไตรมาสตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2020 แสดงให้เห็นความแข็งแกร่งของ Tesla ที่สามารถบริหารจัดการและรับมือภาวะโรคระบาด ปัญหาสภาพอากาศ และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานได้ดีกว่าผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่

 

ความสำเร็จดังกล่าวส่วนหนึ่งต้องยกให้เป็นความดีความชอบของโรงงานผลิตรถยนต์ Tesla ในจีนที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างรวดเร็ว จนมัสก์เองต้องเอ่ยปากชื่นชมด้วยตนเอง กระนั้นความสามารถในการผลิตของโรงงานในจีนมีอันต้องหยุดชะงัก เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ที่รัฐบาลจีนนำมาใช้เพื่อสกัดกั้นการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด

 

รายงานระบุว่า สำหรับโรงงานในเซี่ยงไฮ้ที่มีต้นทุนต่ำและทำกำไรให้กับ Tesla สามารถผลิตรถยนต์ได้ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนรถยนต์ทั้งหมดของบริษัทในปีที่แล้ว และผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าการปิดโรงงานจะทำยอดผลิตและส่งมอบรถหายไปประมาณ 70,000 คันในไตรมาสนี้

 

ก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายน มัสก์ยอมรับว่า การผลิตรถยนต์โดยรวมของ Tesla ในไตรมาสที่ 2 จะ ‘ใกล้เคียงกัน’ กับไตรมาสแรก โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของจีน ทว่าเมื่อไม่นานมานี้มัสก์แสดงความเห็นว่า Tesla น่าจะเผชิญกับ ‘ไตรมาสที่ยากลำบากมาก’ เนื่องจากความท้าทายด้านการผลิตและซัพพลายเชนในประเทศจีน

 

ขณะเดียวกัน มัสก์ยังพบอีกว่า โรงงานแห่งใหม่ของ Tesla ในเท็กซัสและเบอร์ลินคือ ‘เตาหลอมเงินขนาดมหึมา’ ที่ผลาญเงินหลายพันล้านดอลลาร์ เนื่องจากไม่สามารถเพิ่มการผลิตอย่างรวดเร็ว เพราะการติดขัดในระบบซัพพลายเชน โดยมัสก์กล่าวว่าปัญหาห่วงโซ่อุปทานของผู้ผลิตรถยนต์ยังไม่จบสิ้น และจะทำให้โรงงานต่างๆ ดำเนินการผลิตภายใต้ความกังวล

 

การ์เร็ตต์ นีลสัน นักวิเคราะห์จาก CFRA Research ระบุว่า สองโจทย์หลักที่ Tesla ต้องเร่งแก้ไข คือปัญหาการผลิตของโรงงานหลักในจีนที่ลดลง กับการหาทางเพิ่มกำลังการผลิตในโรงงานแห่งใหม่อย่างโรงงงานเฟรมอนต์ในแคลิฟอร์เนีย

 

วันเดียวกันมีรายงานว่า ทาง Apple Inc. เตรียมพร้อมเปิดตัวซอฟต์แวร์ CarPlay ที่ทาง Apple คิดค้นและพัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานในรถยนต์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ โดยจะเป็นซอฟต์แวร์ที่อัปเดตในเวอร์ชันล่าสุด และมีฟีเจอร์การใช้งานที่น่าสนใจอย่างการเปิดทางให้ผู้ขับขี่สามารถซื้อและจ่ายเงินค่าน้ำมันเพียงแค่ปลายนิ้วจากในรถยนต์ นับเป็นการเร่งผลักดันในการเปลี่ยนรถยนต์ส่วนบุคคลให้เป็นร้านค้าสำหรับสินค้าและบริการ

 

สำหรับคุณลักษณะใหม่ที่เปิดตัวอย่างเงียบๆ ในการประชุมนักพัฒนาซอฟต์แวร์ของ Apple ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมานี้ จะทำให้ผู้ใช้ CarPlay สามารถแตะแอปเพื่อนำทางไปยังปั๊มและซื้อน้ำมันจากหน้าจอในรถได้โดยตรง ข้ามขั้นตอนปกติในการใส่หรือแตะบัตรเครดิต

 

ด้าน Horace Dediu นักวิเคราะห์จาก Asymco และผู้ก่อตั้ง Micromobility Industries กล่าวว่า ความสนใจทางธุรกิจในด้านนี้ทำให้ Apple จัดอยู่ในบริษัทแถวหน้าที่มุ่งปรับปรุงรถยนต์ให้เป็นคอมพิวเตอร์แบบเคลื่อนที่ได้

 

ขณะที่ทาง เจนเนอร์รัล มอเตอร์ส (GM) เปิดเผยในวันนี้ (1 กรกฎาคม) ว่า บริษัทได้ยกเลิกการขายโรงงานที่ปิดไปแล้วของบริษัทในอินเดียให้กับ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) ของจีน หลังจากที่พวกเขาไม่ได้รับการอนุมัติด้านกฎระเบียบ ท่ามกลางจุดยืนที่เข้มงวดมากขึ้นของรัฐบาลกรุงนิวเดลีต่อการลงทุนจากบรรดาบริษัทสัญชาติจีนทั้งหลาย

 

ทั้งนี้ GM บรรลุข้อตกลงในเดือนมกราคม 2020 เพื่อขายโรงงานให้กับเกรท วอลล์ มอเตอร์ โดยผู้ผลิตรถ SUV สัญชาติจีนรายนี้คาดว่าจะต้องจ่ายเงินสูงถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนขยายการลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างตลาดรถยนต์ที่กำลังเติบโตของอินเดีย

 

รายงานระบุว่า GM บรรลุข้อตกลงในเดือนมกราคม 2020 เพื่อขายโรงงานให้กับทางเกรท วอลล์ มอเตอร์ ซึ่งผู้ผลิตรถ SUV สัญชาติจีนรายนี้คาดว่าจะต้องจ่ายเงินสูงถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนขยายการลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อรองรับตลาดรถยนต์ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วของอินเดีย

 

จอร์จ สวิกอส กรรมการบริหาร ฝ่ายสื่อสาร G.M. International กล่าวว่า ความตั้งใจขายโรงงานยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และการยกเลิกที่เกิดขึ้นเป็นเพราะบริษัทไม่สามารถบรรลุข้อตกลงภายในกรอบเวลาที่กำหนด ก่อนแสดงความหวังว่าจะสามารถขายได้ในราคาที่สะท้อนถึงมูลค่าของสินทรัพย์ของบริษัทได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising