×

Tesla บรรลุข้อตกลงเปิดโรงงานแห่งแรกในจีนสะท้อนอะไร ใครได้ประโยชน์?

25.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • สำนักข่าว The Wall Street Journal เปิดเผยว่า ‘เทสลา’ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลจีนบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกขึ้นในย่านเขตการค้าเสรี เมืองเซี่ยงไฮ้
  • เทสลาอาจต้องจ่ายภาษีนำเข้า 25% (ของราคารถ) ให้กับรัฐบาลจีน แต่อาจไม่ต้องเสียค่าขนส่งและช่วยให้ลดต้นทุนการผลิตได้ถูกลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคารถยนต์เทสลาที่วางขายในจีนถูกลงด้วย
  • เชื่อว่าสาเหตุหลักที่ทำให้เทสลาเลือกจีนเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ เพราะรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้รับความนิยมเป็นอย่างมากกับผู้บริโภคจากจีน โดยปีที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายได้มากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 15% ของยอดขายรถทั้งบริษัทในปีดังกล่าว

     ช่วงประมาณวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่นประเทศสหรัฐอเมริกา สำนักข่าว The Wall Street Journal ได้เปิดเผยว่า ‘เทสลา’ (Tesla) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลจีนบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกขึ้นในย่านเขตการค้าเสรี เมืองเซี่ยงไฮ้

     แม้ทางเทสลาจะไม่ได้ออกมาตอบรับหรือยืนยัน แต่ข่าวลือดังกล่าวก็มีเค้าความเป็นไปได้สูง เนื่องจากก่อนหน้านี้เทสลาแสดงเจตจำนงชัดเจนมาตลอดว่าต้องการจะบุกไปตั้งถิ่นฐานสาขาใหม่ในแดนมังกร เพราะเชื่อว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและราคาวางจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของเทสลาในประเทศจีนได้

     อย่างไรก็ดี เทสลาอาจต้องจ่ายภาษีนำเข้า 25% (ของราคารถ) ให้กับรัฐบาลจีน แต่อาจไม่ต้องเสียค่าขนส่งและช่วยให้ลดต้นทุนการผลิตได้ถูกลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคารถยนต์เทสลาในจีนถูกลงด้วย

 

 

ราคาจำหน่ายที่ถูกลง ยอดขายที่สูงขึ้น ฯลฯ กับสารพัดสิ่งที่เทสลาจะต้องเผชิญ

     ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงปี 2015 อีลอน มัสก์​ (Elon Musk) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเทสลา เคยออกมาแสดงความเห็นว่าการจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์ในจีนน่าจะช่วยให้ราคาขายรถของพวกเขาถูกลง เพราะบริษัทไม่ต้องจ่ายภาษีนำเข้าและค่าขนส่งอีกต่อไป

     ในเวลานั้นมัสก์บอกกับสำนักข่าว Xinhua ไว้ว่า การจัดตั้งโรงงานในประเทศจีนน่าจะบรรลุผลและเกิดขึ้นจริงได้ภายในระยะเวลา 3 ปี

     ขณะที่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตัวแทนของเทสลาก็ออกมายืนยันว่าสนใจจะขยายฐานการผลิตมาที่ประเทศจีนจริงๆ และเชื่อว่าดีลความร่วมมือในครั้งนี้น่าจะได้บทสรุปชัดเจนในช่วงปลายปี 2017

     เทสลากล่าวในอีเมลแถลงการณ์ไว้ว่า “เทสลามีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากในการเจาะตลาดประเทศจีน และพวกเราก็ยังคงประเมินศักยภาพการตั้งถิ่นฐานการผลิตในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอยู่เรื่อยๆ เพื่อที่จะผลิตสินค้าให้รองรับความต้องการของตลาดท้องถิ่น

     “แม้พวกเรายังคงคาดหวังว่าฐานการผลิตส่วนใหญ่จะยังอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก แต่พวกเราก็ต้องการกระจายจัดตั้งโรงงานต่างถิ่นอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้บริโภคในท้องถิ่นจะมีกำลังจ่ายไหว”

     อย่างไรก็ดี ถึงจะยังไม่มีการเปิดเผยข้อตกลงร่วมกันระหว่างจีนและเทสลาออกมา แต่ทาง The Wall Street Journal ก็เชื่อว่าเทสลาน่าจะยังต้องจ่ายภาษีนำเข้า 25% (ของราคารถ) ให้กับรัฐบาลอยู่ เพื่อแลกกับการไม่ต้องจ่ายค่าขนส่งตัวรถและแชร์เทคโนโลยีของพวกเขาให้กับจีน รวมถึงต้นทุนในการผลิตที่จะถูกลงกว่าเดิม

 

 

     เว็บไซต์ Fortune ระบุว่า ที่ผ่านมากรณีที่ค่ายรถยนต์ต่างประเทศต้องการเลี่ยงจ่ายภาษีรถนำเข้าสามารถทำได้โดยร่วมทุนกับผู้ประกอบการและโรงงานในประเทศ ซึ่งอาจรวมถึงการต้องแบ่งปันข้อมูลความรู้เทคโนโลยีซึ่งกันและกันด้วย

     เชื่อกันว่าสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เทสลาเลือกจีนเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ เพราะรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของพวกเขากำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากกับผู้บริโภคประเทศนี้ โดยปีที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายได้มากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 33,190 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงมากๆ คิดเป็น 15% ของยอดขายรถทั้งบริษัทในปีดังกล่าว

     ส่วนในปีนี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่ายอดขายเทสลาจะเพิ่มสูงขึ้นอีกเท่าตัว หรือประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพราะเพียงแค่ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2017 เทสลาก็นำเข้ารถยนต์รุ่น Model S และ Model X มาขายในจีนรวมกว่า 4,799 คันแล้ว ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสแรกของปี 2016 ถึง 350% เลยทีเดียว

     นอกจากนี้มัสก์ก็ต้องการเร่งกำลังการผลิตรถให้มากที่สุดเพื่อให้ทันกับเป้าหมายการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจำนวน 500,000 คันภายในปี 2018 นี้ ซึ่งการขยายฐานผลิตไปยังประเทศจีนก็น่าจะช่วยตอบโจทย์เทสลาได้เป็นอย่างดี

 


จีนกับภาพลักษณ์การเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

     ด้วยจำนวนการผลิตรถยนต์ในปี 2016 ราว 28 ล้านคัน ซึ่งถือเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของจำนวนรถยนต์ที่ผลิตทั้งโลก จีนจึงถือเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกในตลาดรถยนต์แบบไร้ข้อโต้แย้งไปโดยทันที

     ในทางกลับกัน นอกจากจะเป็นผู้นำการผลิตรถยนต์ของโลกแล้ว จีนก็ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นด้วย โดยเตรียมผลักดันนโยบายเลิกใช้รถยนต์เชื้อเพลิงน้ำมันในอนาคตอันใกล้นี้เพื่อลดปริมาณมลพิษทางอากาศที่จีนกำลังเผชิญอยู่ ก่อนที่ในปี 2030 นี้จะมีการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

     ครั้งหนึ่ง THE STANDARD เคยนำเสนอเทรนด์ความนิยมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก โดยพบว่าตลอดทั้งปี 2016 มีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า EV (Electric Vehivle) ที่จดทะเบียนในจีนจำนวน 352,000 คัน มากกว่ารถยนต์ EV ที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาเท่าตัว (159,000 คัน) โดยนักการตลาดวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นเพราะคนจีนรุ่นใหม่หันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ส่งผลให้จีนกลายเป็นตลาดรถ EV อันดับหนึ่งของโลก และน่าจะทำให้ค่ายรถยนต์ในอเมริกาและยุโรปหันมาลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น (คลิกเพื่ออ่านต่อ)

 

 

     การที่เทสลาเลือกจีนเป็นฐานทัพการผลิตแห่งใหม่ นอกจากจะช่วยให้บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากอเมริการายนี้มีกำลังในการผลิตที่เพิ่มขึ้นแล้ว ประเทศจีนและประชาชนก็จะได้ประโยชน์จากราคารถยนต์ที่ถูกลงด้วยเช่นกัน ซึ่งจะช่วยจูงใจให้ผู้คนหันมาใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าเดิม

     แม้ล่าสุดสำนักข่าว Bloomberg จะอ้างคำให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ของนายกั๋วเล่ย (Guo Lei) เจ้าหน้าที่ประจำคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศและเศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้ ที่บอกว่าดีลระหว่างจีนและเทสลายังไม่บรรลุข้อตกลง แต่ทาง The Wall Street Journal ก็เชื่อว่า ที่สุดแล้วทั้งสองฝ่ายซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนความคืบหน้าของการเจรจาอยู่ก็น่าจะหาข้อสรุปได้ไม่ยากในเร็ววันนี้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising