หลังจากเปิดขายผ่านตัวแทนจำหน่ายมานาน ดูเหมือนว่าในที่สุด Tesla อาจตัดสินใจเปิด ‘โชว์รูม’ ด้วยตัวเอง เพราะพบการจดทะเบียนตั้งบริษัทในไทยอย่างเป็นทางการ ระบุ ‘ประกอบกิจการขายรถยนต์ไฟฟ้า’
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 โดยทุนทะเบียน 3 ล้านบาท
วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียนคือ ประกอบกิจการขายรถยนต์ไฟฟ้า ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้งและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง ระบบผลิตพลังงานและอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบพลังงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- วิเคราะห์ Tesla ลงทุนในไทย มีโอกาสเกิดขึ้นแค่ไหน
- เป็นธรรมเนียมไปแล้ว? ‘อีลอน มัสก์’ โชว์ลีลา ‘การเต้น’ ในการเปิดโรงงานใหม่ของ Tesla ในเยอรมนี ตั้งเป้าผลิต 5 แสนคันต่อปี
- Tesla คว้าแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่ถูก ‘คนไทย’ พูดถึงมากที่สุดบนโลกโซเซียลมีเดีย ตามมาติดๆ ด้วย ORA Good Cat
การตั้งบริษัทนี้อาจเป็นข่าวดีสำหรับคนไทยที่อยากได้ Tesla เพราะที่ผ่านมารถ Tesla ที่ขายในไทยมาจากผู้นำเข้าอิสระ ด้วยภาษีต่างๆ ทำให้ราคาพุ่งไปอยู่ที่ 3 ล้านกว่าบาท จากราคารถที่จำหน่ายในอเมริกาที่ 1 ล้านต้นๆ
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ Tesla ระบุราคาของ Model S ที่ 99,900 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.4 ล้านบาท, Model Y ราคา 62,990 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.2 ล้านบาท และ Model 3 ราคา 46,990 หรือ 1.6 ล้านบาท
ดังนั้นคาดว่าหาก Tesla เข้ามาขายเองอาจทำให้ราคาที่ขายในไทยวันนี้ลดลงได้มากถึง 50% ซึ่งจะเป็นราคาที่คนไทยเอื้อมถึงมากขึ้น และแน่นอนเข้ามาชนกับแบรนด์จีนและญี่ปุ่นที่กำลังทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างคึกคัก
ส่วนการตั้งบริษัทในครั้งนี้จะขยายไปถึงการตั้งโรงงานผลิตในไทย เพื่อให้เข้าข่ายมาตรการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐเลยไหม เรื่องนี้ยังคงต้องรอกันต่อไป เพราะ Tesla เพิ่งเปิดโรงงานแห่งใหม่ในเยอรมนี ซึ่งตั้งเป้าผลิตรถยนต์ได้มากถึง 5 แสนคันต่อปี และกำลังสร้างโรงงานในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส ซึ่งจะเปิดดำเนินการเร็วๆ นี้
ที่สำคัญใครๆ ก็อยากให้ Tesla เข้ามาตั้งโรงงาน อย่างล่าสุด อีลอน มัสก์ กำลังพิจารณาไปเยือนอินโดนีเซีย หลังจากได้พบกับ โจโก วีโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนปัจจุบันที่โรงงานผลิตจรวดในเมืองโบคาชิกา รัฐเท็กซัส
ก่อนหน้านี้ กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) สะท้อนความเห็นต่อแนวโน้มที่ Tesla จะเข้ามาลงทุนในไทยกับ THE STANDARD โดยเขาเชื่อว่า จริงอยู่ที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก แต่ความหมายคือไทยไม่ใช่ประเทศเดียวเท่านั้นที่ Tesla เล็งจะขยายฐานการผลิตแห่งใหม่
แต่จุดตัดที่จะทำให้ Tesla ตัดสินใจเลือกประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นฐานการผลิตเพื่อตั้งโรงงานแห่งใหม่ของพวกเขา คือการที่ประเทศนั้นๆ มีฐานรากด้านตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มั่นคงเป็นทุนเดิมมากพอ กล่าวคือเป็นประเทศที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มโตมาได้สักระยะโดยไม่ต้องสร้างจากศูนย์ใหม่ (ตัวอย่างเช่นประเทศจีน)
รวมถึงการที่นโยบายการส่งเสริมในประเทศนั้นๆ เป็นนโยบายพิเศษที่มีกลิ่นหอมหวนเย้ายวนพวกเขาให้เข้าไปลงทุนได้มากพอ เหมือนกับข้อเสนอที่อินโดนีเซียได้เสนอให้ในรูปแบบ Tailor-Made ซึ่งต่างจากข้อเสนอที่ค่ายรถยนต์เจ้าอื่นๆ ได้รับ
อย่างไรก็ตามข้อมูลจาก Wisesight ชี้ว่า Tesla นั้นเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่ถูก ‘คนไทย’ พูดถึงมากที่สุดบนโลกโซเชียลมีเดีย ดังนั้นการตั้งบริษัทในครั้งนี้คงเป็นที่ตั้งหน้าตั้งตารอของใครหลายคนแน่นอน
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP