×

Tequila 101: จากต้นกำเนิดถึงอุตสาหกรรมสร้างชาติเม็กซิกัน ที่ทำให้หันกลับมามองเหล้าไทยตาละห้อย

04.12.2019
  • LOADING...
Tequila

HIGHLIGHTS

7 MINS. READ
  • ข้อมูลจาก Technavio บริษัทวิจัยระดับโลกคาดว่าในปี 2021 มูลค่าการตลาดของเตกีลาอาจจะพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 272,424,245,166 บาท (สูงกว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมไทยปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 233,353,433,300 บาท เสียอีก) 
  • เตกีลาเป็นชื่อสมัยใหม่ของสุรากลั่นท้องถิ่นของเม็กซิโก ซึ่งตั้งชื่อตามเมืองเล็กๆ ในรัฐฮาลิสโก เตกีลาต้องผลิตจากอะกาเวสายพันธุ์สีฟ้า หรือ Blue Agave เท่านั้น ทั้งยังต้องผลิตอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น เพราะเป็นสินค้าที่ได้รับการจดทะเบียนการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
  • ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานั้นต้องถือว่าเตกีลาเป็นอุตสาหกรรรมที่มีบทบาทสำคัญในการค้ำจุนเศรษฐกิจของเม็กซิโกด้วยการส่งออก ซึ่งนำเงินเข้ามาสู่ประเทศเม็กซิโกอย่างมหาศาล นอกจากโรงกลั่นกว่าร้อยแห่งแล้วยังเกี่ยวข้องกับชีวิตของเกษตรกรจำนวนมาก รวมถึงธุรกิจการท่องเที่ยวและภาคบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

เชื่อแน่ว่าค็อกเทลแก้วโปรดลำดับต้นๆ ที่ใครหลายคนต่างนึกถึงนั้นต้องมีชื่อของ ‘มาร์การิตา’ (Margarita) ซึ่งใช้เหล้าเตกีลาเป็นเบสอยู่ด้วยแน่ๆ นี่ยังไม่นับประสบการณ์ ‘ตบช็อต’ ที่ขาปาร์ตี้ตัวจริงต่างก็เคยดวลเตกีลากันจนร่วงมานักต่อนัก และรู้หรือไม่ว่ามีเซเลบริตี้หลายคนที่หลงใหลรสเหล้ากลั่นจากต้น ‘อะกาเว’ (Agave) มากเสียจนลุกขึ้นมาผลิตแบรนด์เตกีลาของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น จอร์จ คลูนีย์ นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้าของแบรนด์ ‘Casamigos’ ก่อนจะขายกิจการให้กับ Diageo หรือแม้แต่ อดัม เลวีน นักร้องนำของวง Maroon 5 ก็เป็นเจ้าของแบรนด์ ‘Santo Mezquila’ ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา สุราท้องถิ่นจากประเทศเม็กซิโกชนิดนี้ได้รับความนิยมจากชาวโลกขึ้นเรื่อยๆ รายงานวิจัยการตลาดจากหลายสำนักต่างระบุตรงกันถึงมูลค่าทางการตลาด ของเหล้าเตกีลาในตลาดโลกว่ามีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี 

 

THE STANDARD ขอพาทุกคนละเลียดจิบเรื่องราวของสุราประจำชาติเม็กซิกันชนิดนี้ เพื่อให้เห็นทั้งประวัติศาสตร์ กระบวนการผลิต ไปจนถึงการที่ประเทศเม็กซิโกเขาใช้เหล้าท้องถิ่นในการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งนอกจากจะช่วยให้คุณจิบเหล้าชนิดนี้ด้วยสายตาที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ยังต้องย้อนกลับมาพิจารณาอุตสาหกรรมเหล้าไทยตาละห้อย 

 

Tequila

Photo: Wikimedia

 

Tequila History Timeline 

ประวัติศาสตร์น่ารู้ในครึ่งวินาทีเกี่ยวกับเตกีลา 

  • ราว 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ในคริสต์ศักราชที่ 200: ชาวแอซเท็กรู้วิธีการหมักเครื่องดื่มจากอะกาเวที่เรียกว่า ‘ปูลเก’ (Pulque) ซึ่งมีแอลกอฮอล์อยู่ที่ประมาณ 4-8% สันนิษฐานว่าอารยธรรมในยุคเดียวกันอย่างชาวโอลเมค และชนเผ่าที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกัน ก็น่าจะรู้จักวิธีการหมักเครื่องดื่มชนิดเดียวกันนี้
  • ราวศตวรรษที่ 15-16: หลังจากชาวสเปนได้เข้ามามีชัย ยึดเอาเม็กซิโกเป็นอาณานิคมเมื่อปี ค.ศ. 1521 ก็ได้นำวิทยาการกลั่นมาใช้กลั่นเหล้าจากต้นอะกาเว ซึ่งเรียกกันว่า ‘เมซคาล’ (Mezcal) การผลิตอย่างเป็นอุตสาหกรรมเริ่มต้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เมื่อขุนนางชาวสเปน ‘ดอน เปโดร ซานเชซ’ (Don Pedro Sánchez de Tagle Marquis of Altamira) ตั้งโรงงานที่รัฐฮาลิสโก เขาได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของเตกีลา
  • ราวศตวรรษที่ 18-19: เตกีลาสมัยใหม่อย่างที่รู้จักกันในทุกวันนี้ถือกำเนิดขึ้น โดยแตกแขนงมาจากเมซคาล
  • ค.ศ. 1936: มาร์การิตาค็อกเทลเบสจากเตกีลาที่ทั่วโลกต่างก็หลงรักได้ถือกำเนิดขึ้น
  • ค.ศ. 1974: รัฐบาลเม็กซิโกประกาศ และยกย่องให้เตกีลาเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศเม็กซิโก 

 

 

Tequila

 

‘เตกีลา’ กับ ‘เมซคาล’ ต่างกันอย่างไร 

เตกีลาเป็นชื่อสมัยใหม่ของสุรากลั่นท้องถิ่นของเม็กซิโก ซึ่งตั้งชื่อตามเมืองเล็กๆ ในรัฐฮาลิสโก ที่บอกว่าเป็นชื่อสมัยใหม่ก็เพราะแต่เดิมนั้นมีเหล้าเมซคาล ซึ่งผลิตจากอะกาเวพันธุ์ต่างๆ หลากหลาย แต่ภายหลังมีข้อกำหนดอย่างเคร่งครัดที่ทำให้เตกีลาแตกแขนงออกมา คือเตกีลาต้องผลิตมาจากอะกาเวสายพันธุ์สีฟ้า (Blue Agave หรือ Agave Azul มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Agave Tequilana Weber) เท่านั้น ทั้งยังต้องอยู่ในพื้นที่กำหนดเท่านั้น พูดง่ายๆ ก็คือ เตกีลาคือเมซคาลอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่เมซคาลคือเตกีลา และตั้งแต่ปี ค.ศ.1974 ด้วยข้อกำหนดที่ชัดเจนของเตกีลา ก็ทำให้มันแตกแขนงออกมาเป็นเหล้าอีกชนิด ซึ่งโด่งดังและเป็นที่รู้จักนอกเม็กซิโก 

 

เตกิลาต้องปลูกในพื้นที่เฉพาะเท่านั้น

เช่นเดียวกับ ‘สกอตช์’ ที่ใช้เรียกวิสกี้ที่ผลิตในสกอตแลนด์ หรือ ‘คอนญัก’ ซึ่งเป็นบรั่นดีที่ผลิตในแคว้นคอนญักของฝรั่งเศส และ ‘แชมเปญ’ ไวน์พรายฟองที่ผลิตในแคว้นชองปาญ (Champagne) ของฝรั่งเศส การให้นามตามถิ่นกำเนิดของเตกีลานั้นชอบด้วยกฎหมายที่ระบุให้ผลิตในเฉพาะพื้นที่เจาะจงเป็นสินค้าที่ได้รับการจดทะเบียนการบ่งบอกชี้ทางภูมิภาศาสตร์ ประเทศเม็กซิโกเป็นเจ้าของคำว่า ‘เตกีลา’ และกำหนด DO (Denomination of Origin) ว่าเตกีลาต้องผลิตขึ้นครอบคลุมพื้นที่ เขตฮาลิสโก (Jalisco) ทั้งหมด รวมถึงหลายพื้นที่ของรัฐกวานาวาโต (Guanajuato) มิโชอากัง (Michoacán) นายาริต (Nayarit) และ ตาเมาลีปัส (Tamaulipas) อย่างไรก็ตาม รัฐฮาลิสโกถือได้เป็นบ้านเกิดของเตกีลา และส่วนใหญ่กว่า 90% ของเครื่องดื่มประจำชนชาติเม็กซิกันชนิดนี้ก็ผลิตมาจากที่นั่น

 

กฎเหล็กสำหรับเตกีลา

เตกีลาเป็นหนึ่งในสปิริตที่มีหลักเกณฑ์ในการผลิตชัดเจนที่สุด ซึ่งแบ่งแยกมันออกจากเมซคาล ทั้งข้อกำหนดดังกล่าวยังแยกย่อยแบ่งเกรดและสไตล์ให้กับสุรากลั่นชนิดนี้ ข้อกำหนดในการควบคุมการผลิตเตกีลาเรียกว่า ‘NOM’ (Norma Oficial Mexicana) ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเม็กซิโก ได้รับการควบคุมอย่างเคร่งครัดจากหน่วยงาน CRT (Consejo Regulador de Tequila) หรือสภาระเบียบเตกีลาที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและควบคุมคุณภาพ มาตรฐานการผลิตเหล้าเตกีลาอย่างละเอียด ตั้งแต่การปลูกอะกาเวไปจนถึงบรรจุลงขวด 

 

Tequila

 

 

หลักๆ เราสามารถแบ่งเตกีลาออกได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. ‘Plain ol’ Tequila’ หรือ ‘Mixto’ ซึ่งหมายถึงเตกีลาที่ผลิตจากบลูอะกาเว 100% มีแนวโน้มที่จะรสดี และทำให้เกิดอาการแฮงน้อยกว่า กับ 2. เตกีลาแบบผสมหรือ ‘Mixtos’ ซึ่งใช้แหล่งน้ำตาลอย่างอื่นนอกเหนือจากอะกาเวมาผสมร่วมด้วย หากต้องไม่มากไปกว่า 49% ซึ่งแหล่งน้ำตาลที่นำมาผสมก็มักจะมาจากน้ำตาลอ้อย น้ำตาลบีต คอร์นไซรัป ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะทำมาจากอะกาเวเพียวๆ หรือผสมน้ำตาลจากวัตถุดิบอื่น เตกีลาล้วนแบ่งได้ 5 เกรดหรือสไตล์ดังต่อไปนี้ 

 

1. เตกีลาสีเงิน หรือเตกีลาขาว (Blanco/Plata/White/Silver)

โดยทั่วไปจะได้รับการบรรจุขวดหลังจากกลั่นไม่นานนัก โดยไม่ได้รับการบ่ม หรือถ้าได้รับการบ่มก็ต้องไม่มากไปกว่า 2 เดือน เตกีลาสีเงินมีกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของอะกาเว กับกลิ่นสมุนไพรที่ชัดเจน เหมาะสำหรับนำไปดื่มผสมค็อกเทล

 

2. เตกีลาสีทอง (Joven/Abocado/Oro/Gold) 

เตกีลาส่วนใหญ่ในเกรดนี้มักจะเป็นเตกีลาจากอะกาเวบริสุทธิ์ ซึ่งสีทองของมันอาจได้มาจากคาราเมล หรือการผสมเตกีลาสีเงินกับเตกีลาชนิดอื่น

 

3. เตกีลาเรโปซาโด (Reposado/Rested)

หมายถึงเตกีลาที่บ่มในภาชนะไม้โอ๊ก โดยจะเป็นถังไม้หรือแทงก์ก็ได้เป็นเวลาอย่างน้อย 2 เดือน แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มบุคลิกให้ซับซ้อนขึ้น เสริมกลิ่นวานิลลา และคาราเมลให้มากไปกว่าเตกีลาสีเงิน 

4. เตกีลาอันเยโฮ (Añejo/Aged)

เตกีลาชนิดนี้จะต้องได้รับการบ่มในถังไม้โอ๊กขนาดไม่ใหญ่กว่า 600 ลิตร เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 3 ปี โดยทั่วๆ ไปถังไม้ที่ใช้เป็นถังเก่าที่เคยบ่มวิสกี้มาก่อน ซึ่งจะช่วยมอบบุคลิกให้ซับซ้อนและมอบกลิ่นโอ๊กให้หอมนาน คนที่ชอบดื่มวิสกี้จึงมักจะชอบเตกีลาชนิดนี้ แต่ละแบรนด์ผู้ผลิตอาจจะเลือกใช้ถังไม้โอ๊กที่แตกต่างกันออกไป เช่น ถังไม้โอ๊กจากอเมริกา ฝรั่งเศส แคนาดา หรือฮังการี ซึ่งเป็นเทคนิคเพื่อทำให้มีคาแรกเตอร์ของกลิ่นและรสชาติที่แตกต่างกัน

 

5. เตกีลาเอ็กซ์ตร้าอันเยโฮ (Extra Añejo/Ultra Añejo)

เตกีลาชนิดนี้ได้รับการบ่มยาวนานเป็นพิเศษ มีกำหนดระยะเวลาบ่มในถังไม้โอ๊กอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป กลิ่นของโอ๊กจะยิ่งช่วยเสริมกลิ่นของอะกาเวให้ยิ่งชวนหลงใหล และภายหลังจาก 3 ปีผ่านไป ปริมาณของเหล้าที่ระเหยหายไป หรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ ‘Angels’ Share’ ก็จะยิ่งทำให้เตกีลามีกลิ่นรสหอมนุ่มนวลซับซ้อน และแน่นอนว่ายิ่งมีราคาแพงขึ้นตามไปด้วย 

 

Tequila

บรรยากาศภายในไร่อะกาเวที่รัฐฮาลิสโก

 

ขั้นตอนการผลิตเตกีลา

การปลูกและเก็บเกี่ยวอะกาเว

เตกีลาใช้อะกาเวสีฟ้าที่มีอายุระหว่าง 5-10 ปี ซึ่งจะมีความฉ่ำน้ำเก็บเกี่ยวโดยคนงานในไร่ผู้เชี่ยวชาญเรียกว่า ‘ฮิมาดอร์’ (Jimador) ซึ่งใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า ‘โกเดฮีมา’ (Coa de Jima) พลั่วจับด้ามยาวปลายโลหะที่ใช้สำหรับปลิดก้านของอะกาเว จนเหลือเพียงหัวซึ่งเรียกว่า ‘ปีญ่า’ (Piña) ที่ดูคล้ายกับสับปะรดขนาดยักษ์ หัวอะกาเวซึ่งโตเต็มที่สามารถหนักได้มากกว่า 100 ปอนด์ หรือราว 45 กิโลกรัม 

 

Tequila

ฮิมาดอร์’ ใช้ ‘โกเดฮีมา’ ปลิดก้านของอะกาเว จนเหลือเพียง ‘ปีญ่า’ 

 

 

ย่อยให้เกิดน้ำตาล (Hydrolysis)

บลูอะกาเวนั้นเต็มไปด้วยอินูลิน ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทหนึ่ง ที่สามารถนำไปย่อยสกัดเป็นนำ้ตาลเพื่อนำไปหมักเป็นแอลกอฮอล์ได้ กระบวนการนี้ทำได้ด้วยการนำหัวอะกาเวอบในเตาอิฐ หรือหม้อนึ่งสเตนเลสสตีล บ้างก็ทำตามกระบวนการดั้งเดิมในสมัยก่อน คืออบให้ระอุอยู่ในหลุมดิน ซึ่งเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่ทำให้เมซคาลหรือเตกีลาที่ผลิตด้วยวิธีนี้กรุ่นกลิ่นสโมกหรือออกแนวเอิร์ธตี้ 

 

สกัด (Extraction)

เมื่อย่อยน้ำตาลเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงขั้นตอนในการสกัดคั้นน้ำตาลออกมาจากกากใย โดยเครื่องบดหรือโม่หิน เพื่อให้ได้น้ำหวานที่สกัดออกมาจากหัวอะกาเวที่เรียกว่า ‘อะกัวมีล’ (Aguamiel) ซึ่งแปลว่า น้ำหวานน้ำผึ้ง (Honey Water) 

 

 ‘ปีญ่า’ หัวอะกาเวหลังจากอบให้ความร้อนภายในเตา โม่หินบดปีญ่า และ อะกัวมีล’ น้ำหวานน้ำผึ้งจากหัวอะกาเวที่ถูกนำไปหมัก 

 

หมัก (Fermentation)

น้ำหวานน้ำผึ้งจะถูกทำให้เจือจางแล้วนำไปใส่ในถังหรือแทงก์ขนาดใหญ่ ที่ยีสต์จะทำการหมักให้น้ำตาลกลายเป็นแอลกอฮอล์ ซึ่งจะได้ออกมาเป็นของเหลวแอลกอฮอล์ต่ำ ว่ากันว่าเคล็ดลับในขั้นตอนนี้คือการทำให้ ‘ยีสต์มีความสุข’ เตกีลาบางแบรนด์นั้นถึงขั้นเปิดเพลงคลาสสิกให้ยีสต์ฟังด้วย (เอากับเขาสิ!)

 

กลั่น (Distillation)

การกลั่นรอบแรกเพื่อแยกน้ำและส่วนไม่พึงประสงค์ออก โดยในครั้งแรกจะได้แอลกอฮอล์ที่ไม่แรงนักคือประมาณ 20-25% จำเป็นต้องกลั่นครั้งที่สองเพื่อให้ดีกรีแรงขึ้น เตกีลา Blanco ซึ่งไม่ถูกนำไปบ่มต่อจะถูกนำไปบรรจุขวดถัดจากนี้ 

 

บ่ม (Aging)

สำหรับการบ่มเตกีลาสไตล์ Reposado, Añejo, และ Extra Añejo นั้นต้องบ่มในภาชนะไม้โอ๊ก เตกีลาส่วนใหญ่มักบ่มในถังอเมริกันวิสกี้ซึ่งถูกใช้เพียงแค่ 1 ครั้ง แต่กฎการผลิตเตกีลายังยืดหยุ่นให้ใช้ไม้โอ๊กชนิดใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นโอ๊กจากฝรั่งเศส แคนาดา หรือฮังการี การบ่มในถังไม้โอ๊กช่วยให้ทั้งสี กลิ่น และรสชาติ ระยะเวลาในการบ่มเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รสชาตินุ่มลื่นขึ้น 

 

Tequila

 ขั้นตอนการผลิตเตกีลา

 

เตกีลา เหล้าที่สร้างงาน อาชีพ และรายได้ กับสถานการณ์เติบโตในตลาดโลก

  • ปัจจุบันมีโรงกลั่นเตกีลาดำเนินการอยู่กว่า 100 แห่ง และมีเหล้าเตกีลามากกว่า 900 แบรนด์ จำหน่ายตั้งแต่ราคาถูกประมาณ 100 เปโซ (30 บาท) ต่อขวดลิตร ไปถึงขวดละ 100,000 เปโซ (300,000 บาท) ต่อขวด
  • ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานั้นต้องถือว่าเตกีลาเป็นอุตสาหกรรรมที่มีบทบาทสำคัญมากในการค้ำจุนเศรษฐกิจของเม็กซิโกด้วยการส่งออก ซึ่งนำเงินเข้ามาสู่ประเทศเม็กซิโกอย่างมหาศาล นอกจากโรงกลั่นกว่าร้อยแห่งแล้วยังเกี่ยวข้องกับชีวิตของเกษตรกรจำนวนมาก รวมถึงธุรกิจการท่องเที่ยวและภาคบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย 
  • เส้นทางรถไฟด่วนพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว Jose Cuervo Express ที่เปิดให้บริการเมื่อปี ค.ศ.2012 โดยได้รับการสนับสนุนจาก ‘โฮเซ กูเอร์โบ’ (Jose Cuervo) แบรนด์เตกีลาเก่าแก่อันเลื่องชื่อ ระยะทางรวมประมาณ 60 กิโลเมตร ตลอด 2 ชั่วโมงที่เดินทางออกจากเมืองกวาดาลาฮารา (Guadalajara) ไปสิ้นสุด ณ เมืองเตกีลา ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วราคาราว 130 ดอลลาร์ สามารถดื่มเตกีลาและอาหารได้อย่างไม่อั้น ช่วยกระตุ้นทั้งการท่องเที่ยว และภาคงานบริการที่เกี่ยวข้องให้คึกคักตามไปด้วย 
  • เตกีลาเมืองเล็กๆ อันเป็นบ้านเกิดของสุราประจำชาติ ตั้งอยู่ห่างจากเมืองกวาดาลาฮารา เมืองเอกของรัฐฮาลิสโกประมาณ 45 ไมล์ ได้รับการแต่งตั้งจาก Secretariat of Tourism หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลเม็กซิโก ให้เป็น ‘Pueblo Magico’ หรือ ‘เมืองที่มีมนต์ขลัง’ นอกจากนี้ยังเป็น World Heritage Site ของ UNESCO ที่ช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือนในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก มีทั้งพิพิธภัณฑ์ ไร่อะกาเว และโรงกลั่น ที่อยู่ใน ‘เส้นทางการท่องเที่ยวสายเตกีลา’ ดึงดูดให้ผู้คนมาสัมผัสประสบการณ์ของวัฒนธรรมเตกีลา อันเป็นจิตวิญญาณของเม็กซิโก 
  • แม้จะเป็นผู้ผลิตเตกีลา แต่การบริโภคเตกีลาของเม็กซิโกก็ยังเป็นรองประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งครองแชมป์บริโภคเตกีลา และมีแนวโน้มในการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี เช่นเดียวกับประเทศสเปนและจีน ที่นำเข้าเตกีลาเพิ่มขึ้นในอัตราค่อนข้างสูง 
  • Tequila Market 2019 Industry Research Report ระบุว่ามูลค่าในตลาดเตกีลาโลกในปี 2018 นั้นอยู่ที่ 4,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มถึง 6,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025 
  • ในขณะที่ ข้อมูลจาก Technavio บริษัทวิจัยระดับโลกคาดว่าในปี 2021 มูลค่าการตลาดของเตกีลาอาจจะพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 272,424,245,166 บาท (สูงกว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมไทยปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 233,353,433,300 บาท เสียอีก) โดยมีภูมิภาคที่เป็นตลาดสำคัญที่สุดคือ อเมริกา คิดเป็น 87.40% รองลงมาคือ ยุโรปตะวันออกกลาง และแอฟริกาอยู่ที่ 9.80% ส่วนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก นั้นอยู่ที่ร้อยละ 2.8%

 

เพียงแค่รับทราบข้อมูลเพียงเท่านี้ก็อดรู้สึกทึ่งและชื่นชมไม่ได้ ที่รัฐบาลประเทศเม็กซิโกเขาช่างมองการณ์ไกลใช้สุราท้องถิ่นของประเทศเป็นเครื่องมือในการสร้างงานสร้างเงินให้กับประชาชนภายในชาติได้อย่างมหาศาล แต่ก็อดรู้สึกสะท้อนใจไม่ได้ว่ารัฐบาลไทยเกือบทุกยุคสมัย มองสุราว่าเป็นสิ่งไม่ดีด้วยเหตุผลต่างๆ นานัปการ พลางปล่อยให้สุราไทยอันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นซบเซาล้มหายตายจากไปอย่างน่าเสียดาย ขณะที่ประเทศอื่นไม่เฉพาะแต่เม็กซิโก กลับมองเห็นเป็นคุณค่าทรัพย์สินทางปัญญา และวัฒนธรรมส่วนรวมของชาติอันสมควรได้รับการอนุรักษ์ พัฒนา สนับสนุน ต่อยอดอย่างเท่าเทียมกับศาสตร์อื่นๆ ทั้งยังสร้างกลไกทางกฎหมายเพื่อกระจายผลประโยชน์ สร้างได้ทั้งอาชีพ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและส่งออก หาใช่เพียงเอื้อแต่บริษัทใหญ่ที่ผูกขาดอยู่ชั่วนาตาปีเช่นนี้จน…เอวัง

 

อ่านเรื่อง เหล้ารัม 101: ทาส ปฏิวัติ สีสันแห่งประวัติศาสตร์ของเหล้ารัม ได้ที่นี่

 

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising