×

ยกระดับคุณภาพของครู สอนในสิ่งที่เด็กอยากรู้ มุ่งสู่การศึกษาแห่งอนาคต [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
03.02.2022
  • LOADING...
ยกระดับคุณภาพของครู สอนในสิ่งที่เด็กอยากรู้ มุ่งสู่การศึกษาแห่งอนาคต [ADVERTORIAL]

HIGHLIGHTS

2 mins. read
  • นี่เป็นการปรับตัวครั้งใหญ่และเป็นข่าวดีในแวดวงการศึกษาไทย เพราะจุดเริ่มต้นของทางเลือกในการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่มีการพิสูจน์จนเชื่อมั่นแล้วว่าส่งผลดีต่อคุณภาพของผู้เรียนได้จริง กำลังนำมาปรับใช้ในเมืองไทย
  • โมเดลการเรียนการสอนนี้เรียกว่า ‘Phenomenon Based Learning’ หรือ ‘การเรียนรู้โดยมีปรากฏการณ์เป็นฐาน’ มีไฮไลต์อยู่ที่วิชา Arkki ซึ่งเป็นวิชา Design Thinking หรือการออกแบบความคิด ที่สอนให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น
  • นำร่องโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

นี่ไม่ใช่คำขวัญวันเด็ก แต่เป็นรูปแบบการศึกษาที่กำลังเป็นบริบทใหม่ในสังคมไทย ซึ่งเราได้ยินได้ฟังมาในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงเรียนเสริมทักษะเชิงสร้างสรรค์อาร์คกิ (Arkki) จากประเทศฟินแลนด์ จึงอยากบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจนี้ถึงทุกคนที่สนใจแวดวงการศึกษา หรือกำลังมองหาระบบการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ ไม่หมดอายุในอนาคต เพื่อลูกหลานที่กำลังจะเติบโตของเรา

 

รูปแบบการศึกษาที่กล่าวถึงนี้ เป็นโมเดลการเรียนการสอนผ่านกระบวนการที่เรียกว่า ‘Phenomenon Based Learning’ มีไฮไลต์อยู่ที่วิชา Arkki ซึ่งเป็นวิชา Design Thinking หรือการออกแบบความคิด ที่สอนให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น โดย Arkki แปลได้ 3 ความหมาย คือ

  1. กระดาษสีขาว ที่สามารถแต่งเติมและสร้างสรรค์สีอะไรเข้าไปก็ได้
  2. Ark เรือช่วยชีวิตของ Noah 
  3. Architect สถาปัตยกรรม เพราะในการส่งเสริมให้เด็กเข้าใจและเข้าถึง โจทย์ของสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่เด็กเข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย เช่น บ้าน รถ ห้อง สิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ต่างๆ และเป็นโจทย์ที่กระตุ้นให้เกิดการทำงานของสมอง 2 ข้างพร้อมกัน

 

Arkki จึงเป็นวิชาที่ว่าด้วยการคิดเชิงออกแบบ ส่งเสริมให้เด็กใช้สมองทั้ง 2 ด้านในการเรียนรู้และแก้ปัญหา เนื่องจากสมองของมนุษย์แบ่งเป็นซีกซ้ายและขวาที่จะทำงานแยกกันระหว่างการคิดคำนวณและศิลปะ โดยมีระบบ Phenomenon Based Learning เป็นดั่งหัวใจในการขับเคลื่อน ทว่า Phenomenon Based Learning ไม่ใช่เรื่องใหม่ของโลกใบนี้ หากแต่เป็นองค์ความรู้ในการสอนของครูในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ถูกยกให้เป็นอันดับ 1 ด้านการศึกษาสำหรับอนาคต โดย ‘Phenomenon Based Learning’ หรือ ‘การเรียนรู้โดยมีปรากฏการณ์เป็นฐาน’ เป็นการศึกษาภาคบังคับของประเทศฟินแลนด์ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามาตั้งแต่ปี 2016

 

มาถึงตรงนี้หลายคนคงกำลังตั้งคำถามว่า แล้วรูปแบบการสอนแบบ Phenomenon Based Learning คืออะไร แตกต่างจากการเรียนการสอนรูปแบบอื่นอย่างไร คงไม่มีใครบอกเล่าให้เราเข้าใจง่ายมากไปกว่า ผศ.ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเสริมทักษะเชิงสร้างสรรค์อาร์คกิประเทศไทย

 

“Phenomenon Based Learning คือการสอนให้เด็กรับประสบการณ์นอกห้องเรียน และให้เด็กรู้จักตั้งคำถามด้วยตัวเองเพื่อให้เกิดความกระหายใคร่รู้ ซึ่งแตกต่างจากระบบการศึกษาดั้งเดิมที่ครูเป็นคนป้อนความรู้และตั้งคำถามแทนนักเรียน ทำให้คำถามเหล่านั้นไม่สอดรับกับความสนใจของเด็ก แต่สำหรับ Phenomenon Based Learning เป็นการนำปัญหานอกห้องเรียน มาเรียนรู้วิธีแก้ร่วมกันภายในห้องเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เด็กจะเข้าใจกระบวนการแก้ปัญหาที่ถูกต้องไปในตัวด้วย ซึ่งการศึกษารูปแบบนี้เหมาะสมกับสถานการณ์ในยุคปัจจุบันและอนาคต ที่ข้อมูลมีจำนวนมหาศาล เป็นไปได้ยากที่จะเรียนรู้ทั้งหมดแล้วจดจำได้” ผศ.ดร.พิชญ์วดีกล่าว

 

ผศ.ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเสริมทักษะเชิงสร้างสรรค์อาร์คกิ ประเทศไทย

 

แน่นอนว่าการนำรูปแบบ Phenomenon Based Learning มาใช้ในบ้านเรา ต้องได้รับการปรับประยุกต์ให้เข้ากับบริบทแวดล้อมของประเทศไทยด้วย รวมถึงต้องผ่านการวิจัยและพิสูจน์ผลลัพธ์จนมั่นใจในระดับหนึ่ง จึงนำมาใช้กับเด็กไทย และนำไปจัดการอบรมต่อให้ครู เพื่อนำไปจัดรูปแบบการศึกษาให้กับนักเรียนอีกต่อหนึ่ง เวลานี้รูปแบบการศึกษาดังกล่าวได้ถูกนำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแล้วในเมืองไทย นำร่องโดยคณาจารย์ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ และนับว่าเป็นสถาบันการศึกษาแรกที่นำรูปแบบนี้ไปใช้จริง 

 

ดร.พินิติ รตะนานุกูล นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

 

“สำหรับโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ พันธกิจข้อหนึ่งที่เรานับว่าสำคัญมาก คือการค้นหาระบบการเรียนการสอนที่ดี ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนได้จริง ปรากฏโมเดลที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เพื่อนำมาพัฒนาการเรียนการสอน อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของเด็กตามที่ควรจะเป็น ซึ่ง Phenomenon Based Learning เป็นโมเดลที่เราค่อนข้างให้ความสนใจ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็จะต้องดูความสัมฤทธิ์ผลเป็นหลัก ซึ่งจะสะท้อนผ่านตัวผู้เรียน ถ้าปรากฏผลดี มีคุณภาพ ภายในระยะเวลา 5 ปี ก็จะเกิดการขยายผลต่อโรงเรียนอื่นๆ ต่อไปแน่นอน” ดร.พินิติ รตะนานุกูล นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ กล่าวถึงความท้าทายของการเป็นสถาบันแม่แบบในครั้งนี้

 

การเป็นสถาบันนำร่องในการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้วยระบบการเรียนการสอน Phenomenon Based Learning ที่เป็นเรื่องใหม่ในบริบทการศึกษาไทย นับว่าเป็นความท้าทายครั้งสำคัญและเป็นการพลิกโฉมสร้างความเปลี่ยนแปลงทางระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ สะท้อนให้เห็นถึงความกระตือรือร้นในการพัฒนาศักยภาพครู ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบการศึกษา ทั้งยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสถาบันที่ปวารณาเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้สังคม

 

“เราคาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาของเยาวชนไทย โดยเน้นการเติมนวัตกรรมการเรียนรู้ ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะใหม่ สามารถนำไปตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของชาติ หรือแก้ไขวิกฤตต่างๆ ในสังคมได้” รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ เผยถึงความคาดหวังในฐานะสถาบันต้นแบบ

 

“จุดสำคัญในการที่ดิฉันตัดสินใจให้สถาบันของเราเป็นแม่แบบในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โควิด ที่ทำให้การเรียนการสอนเปลี่ยนไป จุดนี้เองที่เรามองว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงในการเรียนการสอนเกิดขึ้น จากเดิมที่เคยเน้นเนื้อหา ควรต้องเปลี่ยนมาเรียนโดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน หรือ Phenomenon Based Learning และนำเอา Design Thinking มาปรับใช้ในการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อค้นหาศักยภาพแต่ละคนมาพัฒนาตามความถนัดต่อไป ประกอบกับโมเดลนี้สามารถปรับใช้กับชุมชนรอบมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ได้ด้วย ซึ่งเชื่อมโยงกับงานยุทธศาสตร์ ‘ราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น’ ด้วยความลงตัวนี้เราจึงมองว่าเป็นจังหวะที่ดีที่จะนำการศึกษาในรูปแบบใหม่ๆ มาพัฒนาบุคลากรและท้องถิ่นของเรา โดยมีคณะครุศาสตร์ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนี้” รศ.ดร.ดวงพร ให้เหตุผลถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญ

 

รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

 

เป็นเวลากว่า 2 ปีที่คณะครุศาสตร์คร่ำหวอดอยู่กับการส่งเสริมพัฒนาคณาจารย์ให้สอดคล้องกับระบบการเรียนการสอนแบบ Phenomenon Based Learning โดยออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับคณะครูจากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จริงอยู่ ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการเรียนการสอนแบบเนื้อหามาเป็นการจัดกิจกรรมเป็นหลักอาจเป็นเรื่องยากและท้าทายในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมเนื้อหาไปพร้อมกัน แต่ท้ายที่สุดครูทุกคนก็พร้อมใจกันขานรับระบบใหม่นี้ เมื่อได้สังเกตเห็นผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจจากความสุขของผู้เรียน รวมถึงเมื่อได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การศึกษาในบ้านเราที่หลายคนยังวิตกกังวล โดยเฉพาะความเท่าทันต่อสถานการณ์โลกยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ คณะครูต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานนั้นจะสัมฤทธิ์ผลได้ยาก หากปราศจากการสนับสนุนของผู้ปกครอง

 

“สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นในการเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน คือการได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองด้วย เพื่อออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่บ้าน จึงเป็นแนวคิดในการสร้างครู 3 เส้า คือ ครูที่โรงเรียน ครูพ่อแม่ และครูชุมชน เพราะการเรียนรู้แบบอาร์คกิจำเป็นจะต้องใช้สภาพแวดล้อมของชุมชนมาเป็นส่วนหนึ่งของผู้เรียนด้วย ซึ่งหลังจากที่ทดลองใช้การจัดการเรียนการสอนแนวใหม่สักระยะหนึ่ง เราได้รับผลตอบรับไปในทิศทางที่ดีมาก ทั้งจากกลุ่มผู้ปกครองและกลุ่มผู้เรียน จากที่ในอดีตเราเน้นแต่เนื้อหาสาระ พอปรับเปลี่ยนมาเน้นกิจกรรม ส่งผลให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากประสบการณ์จริง ทำให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น” คณบดีและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ เปิดเผยความรู้สึกเมื่อได้อบรมเชิงปฏิบัติการกับระบบ Phenomenon Based Learning ด้วยตัวเอง

 

 

ศ.นพ.รัฐกร วิไลชนม์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ในส่วนของการวิจัยและยืนยันผลลัพธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รับหน้าที่ในการการันตีว่าการเรียนการสอนในรูปแบบ Phenomenon Based Learning พร้อมแล้วที่จะพัฒนาศักยภาพการศึกษาของเด็กไทย

 

“ในโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นค่อนข้างมาก ทุกคนต้องมีการปรับตัว การศึกษาก็เช่นกัน โดยเฉพาะระบบการเรียนการสอน ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเยาวชนให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีปณิธานแน่วแน่ในการวิจัยสำหรับทุกคนและทุกระดับชั้น เมื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์และโรงเรียนเสริมทักษะเชิงสร้างสรรค์อาร์คกิ มีโครงการที่ดีที่ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมีความยินดีมากที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ โดยหน้าที่หลักของเราคือ การวิจัยกลุ่มตัวอย่างโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ซึ่งถ้าผลลัพธ์ออกมาดีก็จะเป็นการปูทางไปสู่การบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับประถมและมัธยมต่อไปในอนาคต ซึ่งสิ่งสำคัญในการทำวิจัยครั้งนี้คือ ระเบียบวิธีวิจัยและการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่ดี เราไม่รีบเร่ง ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เพื่อให้ผลลัพธ์ของการวิจัยออกมามีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง รวมถึงเราก็จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำงานวิจัยดังกล่าวไปนำเสนอในเวทีระดับประเทศและนานาชาติด้วย” ศ.นพ.รัฐกร วิไลชนม์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความร่วมมือของธรรมศาสตร์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของจุดเริ่มต้นระบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่

 

พิธีมอบประกาศนียบัตรแก่คุณครูโรงเรียนสาธิตราชภัฏราชนครินทร์

 

หมดยุคแห่งการจด ท่องจำ ทำตาม นี่คือยุคใหม่ของการเรียนการสอนแบบ Phenomenon Based Learning เพื่อการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพของเยาวชนในอนาคต

 

“ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประเทศฟินแลนด์ ประเทศที่เป็นอันดับหนึ่งด้านการศึกษา ผมอยากบอกว่า Phenomenon Based Learning เป็นโมเดลการเรียนการสอนที่ยอดเยี่ยม อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าการศึกษารูปแบบเดิมที่เราได้รับมานั้นไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันอีกต่อไป อยากให้มองว่า Phenomenon Based Learning ก็เป็นทางเลือกหนึ่งของการศึกษาที่ได้รับการพิสูจน์และวิจัยมาแล้วว่าสามารถนำไปใช้ได้ในสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิต เมื่อเยาวชนของเราเติบโต” ยูริ ยาร์วียาโฮ เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทยและกัมพูชา ในฐานะตัวแทนของประเทศที่เป็นอันดับหนึ่งด้านการศึกษากล่าวทิ้งท้าย

 

ยูริ ยาร์วียาโฮ เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทยและกัมพูชา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising