“วิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกได้เข้าสู่ระดับสีแดง (Code Red) หรือภาวะฉุกเฉินสำหรับมนุษยชาติแล้ว” นี่คือคำกล่าวของ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ หลังรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติถูกเผยแพร่
เมื่อภาวะโลกร้อนกำลังเข้าขั้นวิกฤต และแทบไม่เหลือเวลาให้แก้ไขอีกต่อไป การเร่งเครื่องสู่ Net Zero ภายในปี 2050 จึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่มนุษยชาติต้องร่วมมือกัน
สถานการณ์ในประเทศไทยกำลังถูกจับตามอง เพราะปัจจุบันประเทศไทยติดอันดับ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ไทยจะเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero และรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตได้อย่างไร” สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP บอกว่านี่คือคำถามที่เป็นหัวใจหลักของ ‘TCP Sustainability Forum 2023’ งานประชุมด้านความยั่งยืนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แนวคิด Net Zero Transition…from Commitment to Action หรือ ‘การเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero จากพันธสัญญาสู่การปฏิบัติ’ ในปีนี้
ทุกภาคส่วนทั้งนักธุรกิจ นักคิด และนักปฏิบัติ ได้ร่วมกันหาแนวทางที่เป็นประโยชน์กับการพัฒนานวัตกรรม กลยุทธ์ ตลอดจนแผนงานการดำเนินธุรกิจ เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero
ดร.วิรไท สันติประภพ ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ มองว่า ความยั่งยืนเป็นเรื่องกลยุทธ์ทางธุรกิจ ธุรกิจไหนที่ทำเรื่องความยั่งยืนให้เป็นรูปธรรมจะเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้เหนือคู่แข่งแบบ ‘ธุรกิจชนะและสังคมวัฒนา’
“การทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนต้องปรับรูปแบบให้เท่าทันกับความท้าทายและความคาดหวังของสังคม แต่ต้องไม่เบียดเบียนและสร้างปัญหาให้คนรุ่นหลัง หากธุรกิจไหนไม่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง ต้องเตรียมรับมือกับความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ ด้านปฏิบัติการและเชิงกลยุทธ์”
ข้อเสนอแนะข้างต้นยังสอดคล้องกับทิศทางการค้าโลกยุคใหม่ที่มีกฎระเบียบทางการค้าที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเป็นข้อกำหนดที่เป็นทางการ เพื่อผลักดันให้คนทำธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อโลก
สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เผยวิสัยทัศน์ในการผ่านสู่ Net Zero ต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตวิธีทำธุรกิจ ‘เป็นตัวเราที่ดีกว่าเดิม’
“สำหรับกลุ่มธุรกิจ TCP เราไม่ได้มองการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero เท่านั้น แต่ต้องการรวมพลังภาคส่วนต่างๆ เปลี่ยนพันธสัญญาไปให้ถึงการ ‘ลงมือปฏิบัติ’ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง โดยต้องมีความชัดเจนในการเดินไปสู่เป้าหมายเพื่อเป็นตัวเร่ง เราพยายามมองหาจุดร่วมระหว่าง ‘สิ่งที่ต้องเปลี่ยนกับตัวเรา’ เพื่อจะได้เห็นทิศทางที่จะเดินไป”
โจทย์สำคัญที่กลุ่ม TCP ตั้งไว้คือ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตควบคู่กับการลดผลกระทบเชิงลบ และเพิ่มผลกระทบเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยให้ความสำคัญกับการ ‘ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม (Caring)’ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักที่ขับเคลื่อนภายใต้เป้าหมายใหญ่ ‘ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า’
เป้าหมายย่อยและแผนงานรองรับ รวมถึงวิธีประเมินผลการทำงาน ได้แก่
- เดินหน้าเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าภายในปี 2024 พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้รีไซเคิลได้ 100% และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ลดความหนาของกระป๋องอะลูมิเนียม หรือลดน้ำหนักบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วและขวดพลาสติก เพื่อลดการใช้ทรัพยากร
- ตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 จากทุกกระบวนการทำงานในธุรกิจ ทั้งในไทยและต่างประเทศ
- จัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าลดการใช้ทรัพยากรน้ำ และคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนให้มากกว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต (Net Water Positive) ภายในปี 2030
ทั้งนี้ การประชุม TCP Sustainability Forum 2023 แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. การเปลี่ยนผ่านด้านความยั่งยืนของประเทศไทย โดย ดร.วิรไท สันติประภพ ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉายภาพรวมสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ Net Zero ทั้งระดับนโยบายและการปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน
2. มุมมองเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม (Climate Positive) โดย สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP, อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล และ ธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองต่อเศรษฐกิจหมุนเวียน แนวทางการปรับตัวขององค์กร และภาคธุรกิจจะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านได้อย่างไร
พร้อมด้วยปาฐกถาโดย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กฎระเบียบการค้า และภูมิรัฐศาสตร์ใหม่
3. ความท้าทายในการขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม (Climate Positive) ในประเทศไทย จากผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่าน ได้แก่
- ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว พูดถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมอัปเดต 3 วิกฤตหลักที่โลกกำลังเผชิญ เรียนรู้แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สร้างผลกระทบต่อประเทศไทย และรับฟังแนวทางของประเทศไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า หัวหน้าศูนย์เฝ้าระวังอุทกภัยและดินโคลนถล่มเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่ออนาคตของสถานการณ์น้ำ เอลนีโญและผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมแนวการบริหารจัดการน้ำ และแนวทางการปรับตัวรับมือความเสี่ยงสำหรับภาคเอกชน
ปิดท้ายการประชุม TCP Sustainability Forum 2023 ด้วยวงเสวนาเรื่อง ‘ความท้าทายในการขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม (Climate Positive) ในประเทศไทย’ ที่ได้ ดร.ธนพงศ์ ดวงมณี ผู้อำนวยการด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์, ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สุปราณี กำปงซัน หัวหน้าแผนงานประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) มาร่วมอภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจหมุนเวียน โอกาสและอุปสรรคสำหรับประเทศไทย พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับกลไกคาร์บอนเครดิต โมเดลนำร่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และบทเรียนจากพื้นที่การใช้คาร์บอนเครดิตในงานพัฒนา
“ประชุมครั้งนี้จะเป็นแรงบันดาลใจและปลุกพลังให้ทุกภาคส่วนลงมือทำ เพื่อให้เป้าหมายความยั่งยืนที่เรามีร่วมกันนั้นเป็นไปได้ และทันต่อการรับมือความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก มาเริ่มกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อวันที่ดีกว่าไปด้วยกัน” สราวุฒิกล่าวทิ้งท้าย
อ้างอิง: