×

‘ทีเส็บ’ ลมใต้ปีกที่ดัน ‘อุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ’ เมืองไทยให้ก้าวสู่เบอร์ 1 ของอาเซียน [PR NEWS]

โดย THE STANDARD TEAM
08.11.2024
  • LOADING...

เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับงาน ‘Exhibition Industry Summit 2024’ ภายใต้คอนเซปต์ See Tomorrow Now ซึ่งงานนี้เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้นำในอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าระดับโลกร่วมรับฟังวิสัยทัศน์ แลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าจากภาครัฐและภาคเอกชนของไทย นับเป็นเวทีสำคัญที่จะเชื่อมโยงนักธุรกิจระดับโลก สร้างโอกาสทางธุรกิจและการลงทุน โดยงานนี้จัดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมคาเพลลา กรุงเทพ

 

นายกพูดคุย

 

นอกจากจะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจัดประชุมสุดยอดผู้นำอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ (Exhibitions) ระดับโลกแล้ว งานนี้ยังถือเป็นเวทีให้ประเทศไทยได้แสดงศักยภาพที่โดดเด่นในด้านการจัดงาน ผสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติของไทยที่พร้อมผนึกกำลังร่วมมือกับพันธมิตรนานาชาติ ในการตอกย้ำประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางสำคัญของการจัดงานแสดงสินค้าระดับโลก

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ถึงบทบาทสำคัญของทีเส็บกับทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ (Exhibitions) 

 

จิรุตถ์ฉายภาพกว้างให้เห็นทิศทางการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศมากที่สุดในกลุ่มไมซ์ (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions: MICE) 

 

“ปี 2566 สมาคมการแสดงสินค้าโลก หรือ UFI จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นที่ 1 ในอาเซียน และเป็นที่ 4 ของเอเชีย ในด้านพื้นที่การจัดงานแสดงสินค้า และล่าสุด UFI เลือกไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมของสมาคมประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกในปี 2569 หรือ UFI Asia-Pacific Conference 2026”

 

“ขณะเดียวกัน ในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) อุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติสร้างรายได้ให้แก่ประเทศประมาณกว่า 23,038 ล้านบาท หรือเติบโตกว่า 24% จากปีงบประมาณ 2566 มีนักเดินทางชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศไทยจำนวนกว่า 345,623 คน เพิ่มขึ้น 28%” 

 

 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติของไทยเติบโต จิรุตถ์มองว่า ประเทศไทยมีความพร้อมและมีขีดความสามารถในฐานะศูนย์กลางของห่วงโซ่การผลิต 

 

“ต้องชื่นชมภาคเอกชนและผู้ลงทุนไทย จะเห็นได้ว่าศูนย์ประชุมขนาดใหญ่หลายแห่งเอกชนเป็นผู้ลงทุน อีกทั้งบุคลากรที่เชี่ยวชาญและมีความเป็นมืออาชีพในอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแสดงสินค้า ความพร้อมของสถานที่จัดงานที่สามารถรองรับการจัดงานได้ทุกรูปแบบ การเดินทางสะดวก ขาดไม่ได้เลยคือความมีน้ำใจในการให้บริการ ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะเป็นจุดหมายปลายทางของอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติที่สำคัญของภูมิภาค และจะสามารถต่อยอดได้ด้วยการสร้างเครือข่ายและพันธมิตรที่แข็งแรงมากขึ้น กว้างขวางมากขึ้น และการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีต่างๆ ในการจัดแสดงสินค้าเข้ามาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมให้ดียิ่งขึ้น”

 

จิรุตถ์มองว่า อุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติจะกลายเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ สามารถสร้างรายได้และดึงนักเดินทางชาวต่างชาติให้เข้ามาร่วมงานในประเทศไทยได้

 

“ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในเชิงเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดรายได้ทั้งทางตรงแก่ผู้จัดงาน ผู้แสดงสินค้า และก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศจากการจ้างงาน การบริการในส่วนต่างๆ เช่น การเดินทาง ที่พัก และอาหาร”

 

“สิ่งที่ตามมาคือจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล นวัตกรรม เทคโนโลยี และความร่วมมือระหว่างผู้จัดและผู้แสดงสินค้าในประเทศและต่างประเทศ ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศผ่านความร่วมมือที่เกิดจากการพบปะเจรจาระหว่างภาคธุรกิจ” 

 

 

ดร.ดวงเด็ด ย้วยความดี ผู้อำนวยการ ฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ ทีเส็บ กล่าวเสริมว่า “นอกจากงานแสดงสินค้าจะเป็นเครื่องมือดึงนักเดินทางต่างชาติให้เดินทางเข้ามาในประเทศ และเพิ่มโอกาสในการเดินทางท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ประเด็นที่น่าสนใจคือการเพิ่มโอกาสในการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ”

 

“ยกตัวอย่างในฐานะที่ประเทศไทยเป็นฮับในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า ก่อนหน้านี้เราต้องนำเข้าชิ้นส่วนแล้วมาประกอบ แต่พอเริ่มมีโรงงานผลิตก็จะเริ่มมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ดังนั้นทุกปีมีบริษัทนำเทคโนโลยีมาจัดแสดงโดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องออกเดินทางไปดูงานในต่างประเทศ และยังดึงให้นักลงทุนต่างชาติและผู้ที่สนใจเดินทางมาชมงานด้วย” 

 

ดร.ดวงเด็ด ยังบอกด้วยว่า งานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทยที่ทีเส็บร่วมผลักดันให้เกิดขึ้นยังต่อยอดไปกับยุทธศาสตร์ของประเทศ จึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้อุตสาหกรรมนั้นๆ เติบโตอย่างต่อเนื่อง 

 

“การจัด Exhibitions เปรียบเสมือนศูนย์กลางให้คนที่สนใจในเรื่องเดียวกันรวมตัวกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ต่อยอดธุรกิจ กลายเป็นคอมมูนิตี้ของอุตสาหกรรมนั้น” 

 

จิรุตถ์บอกว่า มีอีกหลายอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายหลักที่จะส่งเสริมการจัดแสดงสินค้านานาชาติ “หนึ่งในนั้นคือกลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้วิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND และอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโต ที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น ฟินเทค และการสื่อสารคมนาคม สิ่งที่ทีเส็บกำลังพยายามทำคือช่วงชิงโอกาสให้อุตสาหกรรมเหล่านี้เข้ามาที่ประเทศไทย ขณะเดียวกันเราก็มองกลุ่มอุตสาหกรรม E-Sports กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าเกษตร หรืองานเกี่ยวกับศิลปะ” 

 

 

เมื่อถามถึงความสำเร็จของงาน ‘Exhibition Industry Summit 2024’ ที่เพิ่งจบลง จิรุตถ์บอกว่า งานครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในประเทศไทยหลายมิติ 

 

“อย่างแรกคืองานนี้บรรดาผู้นำและผู้มีอำนาจในการตัดสินใจจากทั่วทั้งยุโรปและเอเชีย เช่น สหราชอาณาจักร, เนเธอร์แลนด์, เยอรมนี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสิงคโปร์ มาร่วมประชุมและรับฟังวิสัยทัศน์จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนโดยตรง ไม่เคยมีสิ่งนี้เกิดขึ้นมาก่อน และการที่นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลทีเส็บเข้าร่วมงาน ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญและจริงจังกับเรื่องนี้”

 

“เหนือสิ่งอื่นใด ยังเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้แสดงขีดความสามารถที่โดดเด่น และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติของไทยที่พร้อมผนึกกำลังสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรนานาชาติ ขณะเดียวกันยังสร้างประสบการณ์ร่วมกันให้กับคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทั้งในเชิงนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐ ความพร้อมและศักยภาพของภาคเอกชน เกิดการแลกเปลี่ยนโอกาสทางธุรกิจจากการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ”

 

 

คำถามสำคัญคือ ต่อจากนี้ทีเส็บจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติไปในทิศทางไหน จิรุตถ์กล่าวทิ้งท้ายว่า “สิ่งที่ต้องทำเพิ่มคือสร้างความตระหนักกับคนในประเทศถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมแสดงสินค้านานาชาติ โดยใช้งานแสดงสินค้านานาชาติเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญในการนำเสนอสินค้าและบริการ โปรโมตแบรนด์ในลักษณะ Below the Line ซึ่งสื่อต่างๆ ยังไม่สามารถตอบสนองการเข้าถึงได้ และกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือกันเพื่อขยายเครือข่ายทางธุรกิจ ทางฝั่งของทีเส็บเองจะเดินหน้าพัฒนาบุคลากร ทั้งความสามารถด้านภาษาและด้านเทคโนโลยีให้พร้อมสำหรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมแสดงสินค้านานาชาติ”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X