×

Creative Hub สร้างโลกใหม่ด้วยความคิดสร้างสรรค์

30.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • British Council และ TCDC ได้จัดงานสัมมนา ‘การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์และศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์’ ที่อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก
  • ภายในงานได้นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้าน Creative Economy (เศรษฐกิจสร้างสรรค์) จากองค์กรต่างๆ ทั่วโลกร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้าง Creative Hub และความสำคัญของ Creative Economy
  • Creative Hub หรือศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนจากหลากหลายอุตสาหกรรมมารวมความคิดเชิงบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมด้วยนวัตกรรม ซึ่ง Creative Hub ถือว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการผลักดัน Creative Economy
  • ความสำคัญของการสร้าง Creative Economy คือการพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ซึ่งมีปัจจัยสำคัญ คือกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการในอนาคตอันใกล้นี้ กลุ่มแรงงานอาจได้รับผลกระทบจากปัญญาประดิษฐ์และแรงงานหุ่นยนต์ที่เตรียมเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ในอุตสาหกรรมการผลิตและอาชีพอื่นๆ

     Creative Hub เป็นสิ่งที่หลายคนได้ยินแล้วอาจจะเข้าใจตรงกันว่าเป็นสถานที่รวมผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ บางคนอาจจะเข้าใจว่าเป็น Co-working Space หรือบางคนอาจจะมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรที่ชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาเรายังไม่ได้เห็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นจาก Creative Hub ที่เป็นรูปธรรม

     ความคิดดังกล่าวนั้นเป็นเพียงความเข้าใจที่เกิดขึ้นก่อนจะมีโอกาสได้เข้าร่วมงานสัมมนา ‘การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์และศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์’ ที่จัดขึ้นโดย British Council องค์กรนานาชาติเพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักร ร่วมกับ TCDC จัดขึ้นที่อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันพุธที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา

     ซึ่งคงไม่มีสถานที่ใดเหมาะสมไปกว่าอาคารเก่าอายุมากกว่า 80 ปีที่วันนี้รับหน้าที่เป็นศูนย์กลางความสร้างสรรค์ หรือ Creative Hub ที่บริหารจัดการโดย TCDC หรือศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ที่กำลังพัฒนาเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งสะท้อนแนงทางของประเทศไทยในการเดินหน้าใช้ความคิดสร้างสรรค์นำการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ

     หัวข้อการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์และศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ในวันนี้ได้ตอบคำถามที่มีอยู่ในใจผู้คนหลากหลายองค์กรและอุตสาหกรรม โดยทางฝ่ายผู้จัดได้นำบุคลากรที่มีทั้งประสบการณ์และความรู้มาร่วมกันพูดถึงโอกาสที่ Creative Hub และ Creative Economy สามารถนำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในแต่ละชุมชนได้

 

 

Creative Hub คืออะไร

     หลายคนอาจจะสงสัยว่า Creative Hub คืออะไร และอาจจะสงสัยมากเป็นพิเศษว่าต่างกับสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปในกรุงเทพฯ อย่าง Co-working Space อย่างไร Creative Hub เป็นหนึ่งในเครืองมือสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนมากที่สุดอย่างหนึ่ง  

     โดย Creative Hub ไม่จำเป็นจะต้องเป็นมหาวิทยาลัย ห้องสมุด หรือองค์กรรัฐบาล แต่เป็นพื้นที่ทั้งแบบออนไลน์และพื้นที่จริง ที่รวมผู้คนที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน นักการตลาด นักออกแบบ นักประดิษฐ์ นักอนุรักษ์ และชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ให้มาร่วมกันแสดงความคิดเห็นและแชร์ประสบการณ์ความรู้เพื่อให้เกิดไอเดียและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงสร้างแผนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

     ภายในงานสัมมนามีตัวแทน Creative Hub จากทั่วโลกเข้ามาให้ความรู้ โดยหนึ่งในนั้นเป็น Knowledge Capital จากพื้นที่สร้างสรรค์ทางปัญญาของ Grand Front Osaka คอมเพล็กซ์ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลายในบริเวณ Umekita ใจกลางเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น

 

 

Grand Front Osaka และ Songshan Cultural and Creative Park สองต้นแบบ Creative Hub จากญี่ปุ่นและไต้หวัน

     ทาคุยะ โนมุระ (Takuya Nomura) ตัวแทนจาก Knowledge Capital ได้นำเสนอโครงการต่างๆ ภายใน Knowledge Capital โดยเฉพาะ The Lab ซึ่งเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวเทคโนโลยีล้ำสมัยสำหรับผู้คนทุกเพศทุกวัย  

     โรงหนัง Knowledge Theater เปิดเป็นพื้นที่สำหรับจัดการแสดงและจัดการประชุมทางธุรกิจ และ Congres Convention Center ที่เป็นพื้นที่สำหรับการจัดงานมหกรรมต่างๆ

     ส่วนหัวใจสำคัญที่สุดของ Knowledge Capital คือ Knowledge Salon, Collabo Office และ Knowledge Office พื้นที่สำหรับสมาชิกที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างนักธุรกิจ นักประดิษฐ์ (Creator) และนักวิจัย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนเหล่านี้ได้แลกเปลี่ยนแปรความคิดและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับสังคม

     หากจะดึงเรื่อง Creative Hub ให้เข้ามาใกล้ตัวมากขึ้น ที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นการพัฒนาพื้นที่หรืออาคารโบราณให้กลายเป็น Creative Center ไม่ว่าจะเป็นศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ Thailand Creative and Design Center, ช่างชุ่ย, The Jam Factory, Lhong 1919 หรือการพัฒนาย่านสร้างสรรค์หรือ Creative Distric ในบริเวณเจริญกรุง หนึ่งในถนนสามเส้นแรกของประเทศไทย ที่ผ่านมาจะเห็นการพัฒนาให้พื้นที่เหล่านี้กลับมามีชีวิตอีกครั้งด้วยความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่

     โดยการพัฒนารูปแบบนี้คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไต้หวันที่คนรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของชุมชนและอาคารโบราณมากขึ้น

     จัสมิน ชู (Jasmine Chou) ผู้อำนวยการ Songshan Cultural and Creative Park ซึ่งแปลเป็นไทยคือศูนย์วัฒนธรรมและศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ในประเทศไต้หวัน ซึ่งจัสมินมาร่วมสัมมนาภายใต้หัวข้อ Dynamics Between Hubs & DNA of a City

     ภายในหัวข้อสัมมนาเต็มไปด้วยความคิดของคนรุ่นใหม่ในประเทศไต้หวันที่ส่งเสริมคุณค่าและวัฒนธรรมของชุมชนภายในประเทศ โดยให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมโบราณที่มีอยู่

 

 

     จัสมินได้ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD โดยเปิดเผยถึงความสำคัญของการอนุรักษ์อาคารและชุมชนโบราณว่า

     “อาคารโบราณเป็นตัวแทนประวัติศาสตร์ของเรา ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความทรงจำในอดีตเท่านั้น แต่เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรักษาอาคารโบราณต่างๆ ไว้เพื่อใช้งานโดยการบูรณะซ่อมแซม ผู้คนในไต้หวันพยายามอนุรักษ์มรดกที่ตกทอดมาจากรุ่นก่อน พยายามใส่ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ และมอบพลังใหม่ๆ ให้กับสถานที่อีกครั้ง

     “ความสำคัญของการฟื้นฟูสภาพบ้านเมืองโดยคนรุ่นใหม่คือการหาคนมาดูแลรักษาอาคารเก่า เพราะรัฐบาลไม่สามารถดูแลได้ทั้งหมด ดังนั้นองค์กรและคนรุ่นใหม่จึงขยับเข้ามาทำงานในพื้นที่เหล่านี้ พวกเขาก็จะมีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาอาคารเหล่านี้ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองด้าน”

 

“ไม่มีต้นแบบการสร้างศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ที่สมบูรณ์แบบ”

     เป็นคำพูดของ ดร.ทอม เฟลมมิง (Tom Fleming) ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติในด้านเศรษฐกิจ สร้างสรรค์ นโยบายวัฒนธรรม และศิลปะ รวมไปถึงเรื่องเมืองและภูมิภาคแห่งการสร้างสรรค์ หนึ่งในผู้บรรยายของวันที่มีโอกาสได้เดินทางไปสำรวจศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ทั่วโลก

     ดร.ทอมได้พูดคุยกับ THE STANDARD โดยเน้นย้ำว่า การสร้างศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเดียวกันหมด เพราะส่วนใหญ่แต่ละศูนย์ต้องการมีงานวิจัยและออกแบบเฉพาะสำหรับสถานที่ ปัญหา และชุมชนนั้นๆ เพื่อผลักดันให้เกิดประโยชน์สูงสุด

     แต่ความคิดหนึ่งที่เรามักจะเห็นตามจินตนาการคือภาพในศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์นั้นต้องเต็มไปด้วยวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ที่พร้อมพัฒนาสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ

     แต่แท้จริงแล้วจากประสบการณ์ของดร.ทอม เขาเปิดเผยว่า Creative Hub ทั่วโลกเต็มไปด้วยผู้คนทุกเพศทุกวัย แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันหมดคือพลังที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องการพัฒนาชุมชนและแก้ปัญหาสังคมต่างๆ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นคนรุ่นใหม่หรือเยาวชนเท่านั้น

     แต่ปัญหาที่ Creative Hub พบเจอเหมือนกันทั่วโลกคือทุนการสนับสนุนที่ทุกที่ต่างก็มีวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไป

 

Creative Industries คือทางออกของการแก้ปัญหาแรงงานและเศรษฐกิจของโลกอนาคต

     ภายในงานสัมมนาที่เต็มไปด้วยไอเดียความคิดสร้างสรรค์จากทั่วโลกอัดแน่นเข้าสู่งานการสัมมนาภายในวันเดียว แสดงให้เห็นว่าทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับ Creative Hub ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการผลักดันภาคส่วนที่เรียกว่า Creative Industries ‘อุตสาหกรรมสร้างสรรค์’

     แต่ทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องการผลักดัน? นี่เป็นคำถามที่เราได้คำตอบจาก ศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ ครอสซิก (Geoffrey Crossick) ประธาน Crafts Council หน่วยงานดูแลด้านการพัฒนาผลงานหัตถกรรมของสหราชอาณาจักร และ อดีตรองอธิการบดีของ University of London ซึ่งเป็นผู้เปิดสัมมนาหัวข้อ การประเมินคุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรม’

     ศาสตราจารย์เจฟฟรีย์เชื่อว่า การพัฒนา ‘อุตสาหกรรมสร้างสรรค์’ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกอนาคตที่หุ่นยนต์กำลังเข้ามาทดแทนแรงงานการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นเดียวกับ ปัญญาประดิษฐ์ที่จะเข้ามาทดแทนคนในแต่ละอุตสาหกรรม ดังนั้นทางออกของแรงงานในอนาคตคือการใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือในการผลักดันเศรษฐกิจ

     “เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของโลกตะวันตกและทั่วโลกที่กำลังเติบโต เราเห็นกระแสสองรูปแบบคือ หนึ่ง แรงงานการผลิตไม่ใช่กำลังสำคัญของเศรษฐกิจในอนาคต เหตุผลก็เพราะว่าประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้แรงงานน้อยลงเรื่อยๆ

     “สอง เรารู้ว่าในอนาคตปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์จะมาทดแทนตำแหน่งในหลายอาชีพ นั่นแปลว่าเราต้องการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในอนาคต โดยเฉพาะในจุดที่ไม่ใช่แรงงานการผลิตและอาชีพที่ไม่ต้องพึ่งพาปัญญาประดิษฐ์   

     หากเราไม่โฟกัสในความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์และ Creative Industries ในอนาคต 30-40 ปีข้างหน้า เราจะประสบปัญหาอย่างหนักจากปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคม นั่นคือสาเหตุว่าทำไม Creative Industries จึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

 

     อุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม หรือ Creative Industry ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นความคิดที่เชื่อมโยงกับ Knowledge Economy เศรษฐกิจแห่งความรู้ และ Creative Economy เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งตัวอย่างที่เราได้พูดถึงในวันนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่น่าสนใจในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่าน Creative Hub ในแต่ละประเทศ

     ความสำเร็จต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ แบรนด์ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก หรือแม้กระทั่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนในแต่ละชุมชนมักจะเกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ที่พร้อมจะศึกษาความรู้ความเข้าใจของสิ่งที่มีอยู่เพื่อหาทางพัฒนาแก้ไขปัญหาและก้าวไปสู่ทางออกในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องดึงความรู้จากหลายฝ่ายเข้าด้วยกันจึงจะสามารถเห็นภาพรวมของปัญหาได้

     โดยประโยคที่เราชื่นชอบที่สุดจากการนั่งฟังผู้บรรยายจากหลากหลายภาคส่วนของ Creative Economy คือคำที่ดร.ทอม เฟลมมิง ได้ทิ้งท้ายในช่วงการบรรยายองเขา โดยอ้างถึงคำพูดของศาสตราจารย์จอน โดวีย์ (Jon Dovey) จาก University of West England ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของ REACT (Research & Enterprise for Arts and Creative Technologies) an AHRC Creative Economy Hub หรือศูนย์วิจัยและวิสาหกิจสำหรับศิลปะและวิทยาศาสตร์การสร้างสรรค์ ที่เคยได้กล่าวว่า

     “A creative hub is an insurgent process.”

     ดร.ทอมได้อธิบายประโยคดังกล่าวว่า ศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์คือสิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะศูนย์แห่งนี้มีหน้าที่สร้างความคิดใหม่ๆ ให้กับสังคมที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งนั่นเอง

     วันที่โลกกำลังก้าวไปข้างหน้า แน่นอนว่าไม่มีใครสามารถหยุดรอทุกคนให้ก้าวตามขึ้นมาเท่ากัน แต่หากคนภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เอกชน องค์กรต่างๆ หรือชุมชน หากทุกคนหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาและหาทางพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน การพัฒนาของเราก็จะก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กันได้ และ Creative Hub ก็จะกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เราสามารถหยิบใช้เป็นตัวกลางให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising