×

Taxonomy นัยต่อการปรับตัวของภาคการเงินและภาคธุรกิจ

12.05.2023
  • LOADING...
Taxonomy

สถานการณ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงถือเป็นประเด็นสำคัญที่กำลังมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้นต่อเนื่อง ในส่วนของประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายระยะยาวในการประชุม COP26 หรือการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ซึ่งทุกภาคส่วนตระหนักและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะภาคการเงินและภาคธุรกิจที่มีความคืบหน้าในการดำเนินธุรกิจภายใต้มาตรการสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้นเป็นลำดับ

 

Thailand Taxonomy คือการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามนโยบายที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมหรือสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Mitigation) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับภาคการเงิน เพื่อให้เกิดมาตรฐานกลางที่ภาคส่วนต่างๆ สามารถนำไปอ้างอิงหรือเป็นแนวทางปฏิบัติได้ โดยจัดแบ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือกลุ่มธุรกิจเป็น 3 ระดับ 

 

  1. สีเขียว (Green) ได้แก่ ธุรกิจที่ดำเนินกิจกรรมลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 
  2. สีเหลือง (Amber) ได้แก่ ธุรกิจที่อยู่ระหว่างปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในปัจจุบันมีแผนการปรับตัวเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง ตัวอย่างเช่น การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ  
  3. สีแดง (Red) ได้แก่ ธุรกิจที่ไม่เข้าข่ายตามเงื่อนไขกิจกรรมสีเขียวและสีเหลือง หรือธุรกิจที่ไม่สามารถถูกประเมินได้ว่าเป็นมิตรต่อการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิได้ ตัวอย่างเช่น ถ่านหิน น้ำมัน  

 

ทั้งนี้ ความคืบหน้าล่าสุด ธปท. ได้จัดทำร่างกรอบ Thailand Taxonomy แล้วเสร็จและอยู่ในระหว่างขั้นตอนพิจารณาความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ โดยการนำ Thailand Taxonomy ไปใช้ในภาพรวมยังเป็นไปตามความสมัครใจ ซึ่ง ณ ปัจจุบันภาคส่วนต่างๆ ได้เริ่มนำแนวนโยบาย Thailand Taxonomy ไปปรับใช้ในการดำเนินงานในหลายมิติ ดังนี้

 

ในมิติภาคธุรกิจ Thailand Taxonomy สามารถนำมาใช้ประเมินความเสี่ยง สถานะ และความพร้อมของตนเองในการลดก๊าซเรือนกระจก จากการที่ธุรกิจทั่วโลกเผชิญมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในระดับที่เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดส่งออกสหภาพยุโรปที่นำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาเชื่อมโยงกับการค้ามากขึ้น โดยเตรียมทดลองใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ในเดือนตุลาคม 2023 ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อกีดกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ได้แก่ อะลูมิเนียม เหล็กและเหล็กกล้า ปูนซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน และอุตสาหกรรมปลายน้ำที่เกี่ยวเนื่อง เช่น พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐอเมริกาที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาใช้มาตรการ CBAM จากสินค้านำเข้าในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้น 

 

ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับการผลิตสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกระแสการทำธุรกิจรักษ์โลกหรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาสทางการตลาด นอกจากนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยภาคธุรกิจที่ถูกจัดให้อยู่ในกิจกรรมสีเขียวหรือสีเหลืองสามารถนำไปอ้างอิง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ได้รับต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ปรับธุรกิจเป็นสีเขียวมีแนวโน้มดึงดูดเงินทุนทั้งในประเทศและเงินลงทุนจากต่างประเทศที่จะสนับสนุนการปรับตัวในอนาคต ในขณะที่ธุรกิจในกลุ่มสีแดงอาจเผชิญข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ทั้งนี้ พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้กับภาคธุรกิจต่างๆ ในเบื้องต้นคาดว่าจะประกาศใช้ภายในปี 2023 พร้อมทั้งมีการจัดสรรโควตาปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ทุกภาคธุรกิจ

       

ในมิติภาคการเงิน ธนาคารถือเป็นต้นน้ำที่ส่งผ่านทำให้ภาคธุรกิจได้ปรับตัว ข้อมูลจาก Moody’s ประเมินตัวเลข 15-30% ของยอดสินเชื่อทั้งหมดของระบบธนาคารพาณิชย์ในอาเซียนเป็นสินเชื่อที่ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากมาตรการสิ่งแวดล้อม (Transition Risk) นอกจากนี้ ข้อมูลจาก ธปท. พบว่า 30% ของอุตสาหกรรมในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมเก่า ในจำนวนนี้มี 13% ของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ CBAM ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นในภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) สุดท้ายก็ส่งผลกระทบต่อภาคการธนาคารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจธนาคารมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศ ผ่านการดำเนินนโยบายที่ผนวกแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานอย่างมีมาตรฐานภายใต้กรอบ Thailand Taxonomy โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญในหลายด้าน เช่น การจัดกลุ่มธุรกิจ พิจารณาสินเชื่อ จัดสรรเงินทุน การบริหารความเสี่ยงพอร์ตสินเชื่อ รวมถึงมีผลิตภัณฑ์และบริการรองรับการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจ

  

สถาบันการเงินสามารถใช้ Thailand Taxonomy ประเมินความเสี่ยงและบริหารความเสี่ยงในพอร์ตสินเชื่อ โดยอาจเริ่มจากการพิจารณาจัดกลุ่มสินเชื่อ โดยแบ่งตามกลุ่มสีเขียว เหลือง หรือแดง เพื่อดูสถานะของพอร์ตปัจจุบัน และสามารถจัดสรรเงินทุนเข้าไปช่วยสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่กลุ่มที่ระดับสูงขึ้นหรือเข้าสู่กลุ่มสีเขียว (Transition Path) บริหารความเสี่ยงในพอร์ตสินเชื่อที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งผลกระทบทางตรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม (Physical Risk) และผลกระทบของกฎระเบียบเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม (Transition Risk) นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์การปรับตัวของธุรกิจในแต่ละกลุ่ม ทั้งในแง่ต้นทุน ความเพียงพอของเงินทุน รวมถึงเงื่อนไขอื่นๆ ที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน รวมถึงสนับสนุนโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เช่น การลงทุนตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่หรือ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) และการสนับสนุนให้กลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสามารถปรับตัวดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้และการมีมาตรการเพื่อสนับสนุนทางการเงินให้แก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่มีความเปราะบางมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

 

การนำความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินนโยบายของภาคส่วนต่างๆ ถือได้ว่าเป็นแรงส่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่เป็นความรับผิดชอบที่อาจทำให้ภาคการเงินและภาคธุรกิจมีต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงการปรับตัวและเปลี่ยนผ่าน อย่างไรก็ดี เชื่อว่ามาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกจะนำมาใช้มากขึ้นในอนาคตจะเป็นแผนงานที่มีกรอบระยะเวลา ที่ทำให้มิติของจังหวะการปรับตัวของภาคธุรกิจและภาคการเงินเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป มองวิกฤตเป็นโอกาส และไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising