×

พูดคุยกับ ‘Phoenix’ กับคอนเสิร์ตครั้งแรกในไทย: Singha Light Live Series Vol 2.4 – Phoenix

18.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • วงดนตรีสัญชาติฝรั่งเศส Phoenix มาจัดคอนเสิร์ตครั้งแรกในประเทศไทย ‘Singha Light Live Series Vol. 2.4 – Phoenix’
  • “ผม crowd-surfing ลงน้ำด้วย (หัวเราะ) จริงๆ ผมไม่คิดจะกระโดดเลยนะ แต่พอเล่นไปเรื่อยๆ บรรยากาศมันได้ ห้ามใจไม่ไหว ผมก็กระโดดเลย เพราะรู้สึกว่าคนดูอินกับเราจริงๆ เหมือนตอนเด็กๆ เราเคยคิดว่านักร้องนักดนตรีบนเวทีมองไม่เห็นคนดูหรอก แต่จริงๆ ผมเห็นคนดูหมดเลยนะ”
  • Phoenix เริ่มโชว์ด้วยซิงเกิลแรกจากอัลบั้มใหม่ J-Boy ซึ่งก็เป็นการปลุกอารมณ์คนดูจนพีกแบบสุดขีดจริงๆ ‘Just because of you, these things I have to go through’ ท่อนที่ทั้งฮอลล์ร้องกระหึ่มพร้อมกันอย่างชัดเจนราวกับร้องบอกศิลปินเลยว่า พวกเราทนเบียดคนและตากฝนจนตัวเปียกเพื่อมาดูพวกคุณนี่แหละ

     ค่ำคืนวานนี้ถือเป็นการรวมตัวกันครั้งใหญ่ (เบียดกันจนแทบจะไม่มีที่เต้น) ของกลุ่มคนรักดนตรี และที่แน่นอนคือแฟนเพลงของวงดนตรีสัญชาติฝรั่งเศส Phoenix ที่มาจัดคอนเสิร์ตครั้งแรกในประเทศไทย หลังจากให้พวกเรารอคอยกันมากว่า 17 ปี ในงาน ‘Singha Light Live Series Vol. 2.4 – Phoenix’ ที่มูนสตาร์ สตูดิโอ 8

 

 

     สำหรับใครที่มีโอกาสได้ไปดูการแสดงสดของวงอินดี้ป๊อปรุ่นใหญ่วงนี้ คงเถียงไม่ได้ว่านี่คือวงที่มีการเล่นสดที่ดีที่สุดวงหนึ่ง และแน่นอนว่าเราคงได้เห็นบทความรีวิวคอนเสิร์ต Phoenix ในครั้งนี้จากหลายสำนักข่าว ได้เห็นภาพจากคอนเสิร์ตที่หลายๆ คนต่างแชร์ลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งต่างก็นำเสนอบรรยากาศและความรู้สึกที่ต่างกันออกไป ในบทความนี้ผู้เขียนจึงตั้งใจให้ตัวหนังสือทำหน้าที่ ‘เล่า’ บรรยากาศผ่านความทรงจำของแฟนเพลงคนหนึ่งตั้งแต่ต้นจนจบงาน ความรู้สึกของคนที่มีโอกาสได้ดูคอนเสิร์ต และยังได้พูดคุยอย่างสนุกสนานกับสมาชิกในวงที่ไม่คิดว่าชีวิตนี้จะมีโอกาสได้เจอด้วยซ้ำ

 

 

     เวลาประมาณ 18.25 น. สื่อหลายสำนักรวมตัวกันเพื่อสัมภาษณ์วง Phoenix ห้องที่ใช้สัมภาษณ์เป็นห้องแต่งตัวศิลปิน ทั้งนักข่าว ช่างภาพ ทีมงาน ที่อัดกันอยู่ในห้องต่างมองไปยังสมาชิกของวงที่เดินตามเข้ามาทีหลัง โธมัส มาร์ส (ร้องนำ), เด็ค ดาร์ซี (คีย์บอร์ด/เบส), คริสแตง มาซซาไล (กีตาร์/คีย์บอร์ด) และ โลรองต์ บรองโควิตซ์ (กีตาร์) สมาชิกแต่ละคนทักทายพวกเราอย่างเป็นกันเอง พวกเขาคงรู้สึกได้ถึงความตื่นเต้นของนักข่าวแต่ละคนอยู่หลังรอยยิ้ม

     เราสรุปแผนผังการนั่งสัมภาษณ์ด้วยการแบ่งให้ศิลปินนั่งที่โซฟาหลากสีตรงมุมห้อง ส่วนคนอื่นๆ ก็แยกย้ายไปยกเก้าอี้มานั่งล้อมรอบ โดยที่ช่างภาพจะอยู่ด้านหลังอีกทีเพื่อถ่ายภาพขณะสัมภาษณ์ เรามั่นใจว่าในมุมของสื่อที่ทำสัมภาษณ์ศิลปินมานาน ไม่ว่าจะเจนสนามแค่ไหน แต่เมื่อนั่งตรงข้ามศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบก็คงมีอาการตื่นเต้นไม่ต่างกัน และถึงอย่างนั้นพวกเราก็ยังคงผลัดกันส่งคำถามให้วง Phoenix

 

 

บัตรคอนเสิร์ตครั้งแรกในประเทศไทยขายหมดเกลี้ยง พวกคุณรู้สึกอย่างไรบ้าง

โลรองต์: พวกเราดีใจกันมาก เพราะเราก็รอกันมาตั้ง 17 ปีกว่าจะได้มาเล่นที่นี่ ตื่นเต้น แล้วก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะได้เจอกับอะไรบ้าง

 

งั้นถ้าจะให้คุณลองแต่งเพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากกรุงเทพฯ จะออกมาเป็นอย่างไร

โธมัส: จริงๆ เราได้แรงบันดาลใจก็ตอนออกทัวร์คอนเสิร์ตนี่ล่ะ เวลาออกทัวร์ ได้เดินทางไปแต่ละที่ มันเหมือนชีวิตกลับมาน่าตื่นเต้นอีกครั้ง ยิ่งเราได้มาที่นี่ก็เหมือนกัน เหมือนเราได้เจอการผสมผสานใหม่ๆ เป็นบางอย่างที่เกิดขึ้นเฉพาะที่นี่เท่านั้น ผมชอบเวลาได้เจออะไรที่ไม่เคยคาดคิดเอาไว้

 

คุณคิดว่าเพลงไหนของวงเหมาะที่จะเล่นให้กับแฟนเพลงชาวไทยที่สุด

โลรองต์: หืม ไม่รู้เลย

คริสแตง: พวกคุณอยากฟังเพลงอะไรกันล่ะ?

(จังหวะนี้เองที่นักข่าวแต่ละคนได้โอกาสแสดงรสนิยมและประสบการณ์การฟังเพลง Phoenix ของตัวเองออกมา 1901, Too Young, Honeymoon คือชื่อเพลงที่ทำเอาสมาชิกในวงถึงกับมองหน้ากัน พวกเขายิ้ม สีหน้าดูแปลกใจ)

โลรองต์: โห พวกเราเซอร์ไพรส์เหมือนกันนะเนี่ย

 

 

ทำไมคุณถึงเลือกคำว่า ‘Melted Gelato’ มานิยามอัลบั้มนี้ล่ะ

โลรองต์: เหตุผลมันชัดเจนมากเลยนะสำหรับผม

โธมัส: มันเหมือนการไหลรวมกัน การค่อยๆ จางหายไป แต่ก็มีความซัมเมอร์ผสมอยู่ด้วย อะไรแบบนั้น

 

อยากได้คำในภาษาฝรั่งเศสหนึ่งคำที่นิยามความเป็น Phoenix มากที่สุด

โลรองต์: พวกเรามีบริษัทที่ช่วยโปรดิวซ์เพลงให้ ชื่อว่า Loyauté ที่แปลว่า Loyalty ในภาษาอังกฤษ เพราะพวกเราอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่วัยรุ่น ทำงานด้วยกัน โชว์ด้วยกัน เป็นทั้งเพื่อนและครอบครัว เพราะฉะนั้นความจงรักภักดีน่าจะนิยามความเป็นเราได้มากที่สุด

 

Phoenix เริ่มฟอร์มวงกันมาตั้งแต่ปี 1997 อัลบั้มแรกก็เมื่อปี 2000 ซึ่งก็ 17 ปีเข้าไปแล้ว พวกคุณรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปกันบ้างไหม

โธมัส: เสียใจที่ต้องตอบแบบนี้นะ แต่เราไม่เปลี่ยนกันเลย (หัวเราะ) วันก่อนเพิ่งไปอ่านบทสัมภาษณ์ที่ผมเคยสัมภาษณ์ไว้เมื่อ 18 ปีที่แล้ว โรมัน คอปโปลา (พี่ชายของผู้กำกับ โซเฟีย คอปโปลา) เขาไปเจอมันอยู่ในคอมพิวเตอร์หรืออะไรสักอย่างนี่แหละ ฟังแล้วก็คิดว่าผมเหมือนเดิมมากเลย

 

ตอนทัวร์คอนเสิร์ต คุณรีเควสต์อะไรแบบร็อกสตาร์บ้างไหม

โลรองต์: เราก็พยายามไม่เป็นร็อกสตาร์ขนาดนั้นนะ ปกติเรากินน้ำขวดเอเวียง แต่พอมาที่นี่เราก็ต้องทำตัวร็อกสตาร์น้อยลงหน่อย กินแค่มิเนเร่ก็พอ อ้อ แล้วเราก็ชอบผลไม้มาก ต้องมีผลไม้ (อยู่ดีๆ เขาก็หยิบส้มที่ปอกเปลือกแล้วออกมาจากหมวกแก็ปของตัวเองที่วางอยู่)

โธมัส: ตอนที่เราไปเล่นคอนเสิร์ตที่เกาหลีใต้ พอเดินเข้าไปในห้อง เราเจอกล้วยเต็มไปหมด คือมีแต่กล้วยทั้งห้องเลย

โลรองต์: กล้วยก็อร่อยนะ

 

 

พวกคุณเคยเจออะไรที่บ้าที่สุดตอนทัวร์คอนเสิร์ตครั้งนี้บ้าง เพราะเห็นในเว็บไซต์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว คุณเล่าว่าเคยเจอคู่รักทำอะไรกันต่อหน้าต่อตาระหว่างที่คุณเล่นคอนเสิร์ตเลย

โธมัส: ใช่! ที่เดนมาร์ก

โลรองต์: แต่สำหรับทัวร์ครั้งนี้ก็อาจจะไม่มีอะไรช็อกเท่านั้นนะ เราเพิ่งไปเล่นคอนเสิร์ตที่บาหลีมา และบริเวณฟรอนต์โรว์เป็นสระว่ายน้ำ มันไม่น่าตกใจ แต่มันก็ดีทีเดียว

 

คนดูอยู่ในสระว่ายน้ำเลยเหรอ

โลรองต์: ใช่ พวกเขาก็ว่ายไป ดูพวกเราไป (ทำท่าว่ายน้ำประกอบไปด้วย)

 

พวกคุณได้กระโดดลงไปว่ายกับคนดูด้วยรึเปล่า

โลรองต์: โธมัสทำ! เขากระโดดลงไปในสระเลย

 

เราเห็นคุณ crowd-surfing ในคอนเสิร์ตครั้งที่ผ่านๆ มาตลอด จังหวะไหนที่คุณรู้สึกว่าต้องกระโดดแล้วล่ะ?

โธมัส: ใช่ ผม crowd-surfing ลงน้ำด้วย (หัวเราะ) จริงๆ ผมไม่คิดจะกระโดดเลยนะ แต่พอเล่นไปเรื่อยๆ บรรยากาศมันได้ ห้ามใจไม่ไหว ผมก็กระโดดเลย เพราะรู้สึกว่าคนดูอินกับเราจริงๆ เหมือนตอนเด็กๆ เราเคยคิดว่านักร้องนักดนตรีบนเวทีมองไม่เห็นคนดูหรอก แต่จริงๆ ผมเห็นคนดูหมดเลยนะ บางครั้งผมก็ไม่ได้ crowd-surfing อย่างที่ฟิลิปปินส์ก็ไม่ได้ทำ มันค่อนข้างอันตราย

 

แล้วครั้งนี้คุณจะทำหรือเปล่า

โธมัส: เวทีที่นี่สูงที่สุดตั้งแต่เล่นมาเลย! ถ้ากระโดดก็ต้องมีคนเตรียมหมอนรองคอให้ผมด้วยนะ

 

เวลาอยู่ในที่สาธารณะ มีคนจำพวกคุณได้หรือเปล่า

โลรองต์: ก็ถ้าอยู่ด้วยกันครบก็จำได้นะ

โธมัส: มีอยู่ครั้งหนึ่งผมนั่งเครื่องบินของ Southwest Airlines แล้วมีแฟนเพลงที่เปิดเพลง 1901 ดังมาก ดังจนคนในเครื่องบินได้ยินหมด ซึ่งมันก็มีคนร้องตาม มีคนที่ชอบ แต่บางคนก็ไม่ไง ผมนี่อายมากเลย (ทำหน้าเขิน แล้วเอามือปิดหูตัวเอง)

 

     สื่อแต่ละที่ผลัดกันถามคำถามกันไปเรื่อยๆ ทั้งรีบ ทั้งสนุก เพราะสมาชิกแต่ละคนดูเอ็นจอยกับการตอบคำถามอยู่เหมือนกัน อย่างน้อยเราก็ได้เห็นพวกเขายิ้มและหัวเราะ แต่ช่วงเวลาดีๆ มักผ่านไปรวดเร็วเสมอ ในที่สุดเวลาของการสัมภาษณ์ก็หมดลง

 

 

     20.00 น. คอนเสิร์ตใกล้เริ่มต้นแล้ว แต่ฝนก็ตกจนรอบงานเจิ่งนองไปหมด เมื่อถึงเวลาประมาณสองทุ่มครึ่ง คนดูบางส่วนเริ่มเคลื่อนเข้าไปในฮอลล์ Polycat วงดนตรีเปิดโชว์ก็มาพร้อมการแสดงสไตล์ใหม่ บีตช้าลง แต่เท่เหมือนเดิม จนไม่รู้ว่าตอนไหนที่คนก็เริ่มเข้ามารวมตัวกันในฮอลล์จนแน่น แล้วจอขนาดใหญ่บนเวทีเปิดวิดีโออินโทรของวง Phoenix วนไปเรื่อยๆ พร้อมเพลงภาษาอิตาลีตามธีมอัลบั้ม

     รอสักพัก วิดีโอบนจอก็ดับลงเป็นสัญญาณของการเริ่มโชว์ เสียงกรี๊ดดังขึ้นพร้อมกัน คอนเสิร์ต Phoenix ครั้งแรกอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นแล้ว!

 

 

This is showtime, this is showtime, this is showtime

     Phoenix เริ่มโชว์ด้วยซิงเกิลแรกจากอัลบั้มใหม่ J-Boy ซึ่งก็เป็นการปลุกอารมณ์คนดูจนพีกแบบสุดขีดจริงๆ ‘Just because of you, these things I have to go through’ ท่อนที่ทั้งฮอลล์ร้องกระหึ่มพร้อมกันอย่างชัดเจน ราวกับร้องบอกศิลปินเลยว่าพวกเราทนเบียดคนและตากฝนจนตัวเปียกเพื่อมาดูพวกคุณนี่แหละ

     เพลงต่อๆ มาก็ช่วยเร่งจังหวะให้โชว์ขึ้นเรื่อยๆ ทั้ง Lasso (Wolfgang Amadeus, 2009), Entertainment (Bankrupt!, 2013), Lisztomania (Wolfgang Amadeus, 2009) และ Trying To Be Cool (Bankrupt!, 2013) เรียกได้ว่า Phoenix ออกแบบโชว์มาแบบเป๊ะมากๆ อัดแน่น ทรงพลัง มีลูกเล่น และไม่มีจังหวะไหนที่คนดูจะหลุดโฟกัสออกจากเวทีได้เลย

     เราเคยได้ยินมาว่า visual ในคอนเสิร์ตของ Phoenix มักจะตระการตาเสมอ ทีแรกก็เข้าใจว่าอาจจะเป็นโมชันกราฟิกแปลกใหม่ หรือพร็อพที่ลอยไปลอยมา แต่เปล่าเลย visual ที่ว่ามันเกินสิ่งที่เรามองเห็น โมชันกราฟิกที่ไม่ได้ซับซ้อนเกินจริง แต่กลับทำงานกับโสตประสาทได้อย่างเหลือเชื่อ รวมถึงแสงที่ถูกออกแบบมาสอดคล้องกับทั้งดนตรีและอารมณ์ของคนดูเหมือนผ่านการทดลองมาแล้วอย่างดีที่สุด

 

 

Just because of you.

     หลายๆ คนคงทำการบ้านก่อนจะมาคอนเสิร์ตด้วยการเสิร์ชหาเพลง อ่านบทความเตรียมตัวว่าเพลงไหนบ้างที่ศิลปินจะเล่น ท่องเนื้อเพลงเด่นๆ และทำใจกับเพลงโปรดของตัวเองที่คิดว่า ‘เขาไม่น่าเล่นหรอก เพลงมันเก่าแล้ว’ หรือ ‘นี่มันแทร็กไซด์บี’ ถึงแม้จะตั้งใจมาดูคอนเสิร์ตด้วยความสนุกสนาน แต่เอาจริงๆ ก็ยังมีความคิดก้อนนี้อยู่ในหัวตลอด

     จนถึงประมาณช่วงกลางคอนเสิร์ตที่อินโทรเพลง Love Like a Sunset เพลงจากอัลบั้ม Wolfgang Amadeus ปี 2009 ที่แทบจะเป็นแทร็กเพลงบรรเลง ไม่ใช่เพลงโปรโมตของวงก็โผล่ขึ้นมา และกลายเป็นว่าพาร์ตการแสดงสดของสมาชิกแต่ละคนในช่วง instrumental ของเพลงนี้น่าจะเป็นพาร์ตที่ผู้เขียนชอบที่สุดในโชว์ การได้ฟังท่อนบรรเลงสดๆ จากพวกเขายิ่งทำให้เพลงนี้ทรงพลังเข้าไปใหญ่

     นอกจากนี้ก็ยังมีเพลงจากอัลบั้มแรก United อย่าง Funky Squaredance อีกหนึ่งเพลงบรรเลงสลับเนื้อร้องที่กินความยาวถึง 9 นาที 38 วินาที – เพลงนี้ถูกตัดมาเล่นในงานเช่นเดียวกัน แฟนเพลง Phoenix ตั้งแต่อัลบั้มแรกๆ คงถึงขั้นน้ำตาไหล

 

 

Melting Gelato

     ช่วงท้ายของคอนเสิร์ต โธมัสและโลรองต์โชว์สกิลร้องและเล่นกีตาร์แบบเท่สุดๆ ซาวด์ดนตรีเปลือยๆ ทำนองที่ถูกปรับให้ช้าลง ไฟทั้งฮอลล์เหลือแค่ไฟฟอลโลว์ คล้ายกับเราได้ฟังพวกเขาเล่นเพลงส่งเข้านอนอยู่ข้างเตียง คนดูร้องตามได้แม้จังหวะเพลงจะถูกปรับใหม่ จากบรรยากาศของแดนซ์ฟลอร์ที่ผ่านมากลายเป็น Melted Gelato ที่ค่อยๆ เลือนบรรยากาศลง เราเชื่อว่านี่คือการดีไซน์โชว์ขั้นเทพ การเรียบเรียงเพลงที่ฉลาดและเข้าถึงคนดูที่ต่างร้องตาม เคลิ้มตาม และ melt ตามแบบไม่รู้ตัว

     โธมัสตะโกนคำว่า ‘ขอบคุณครับ’ เป็นภาษาไทย ก่อนทั้งวงจะลงจากเวที แน่นอนว่าต้องตามมาด้วยพาร์ตอังกอร์ที่ยิ่งช่วยให้คอนเสิร์ตจบอย่างสวยงาม พวกเขาเลือกปิดท้ายด้วย Countdown (Wolfgang Amadeus, 2009), Goodbye Soleil (Ti Amo, 2017), Fior di latte (Ti Amo, 2017), 1901 (Wolfgang Amadeus, 2009) และ Ti Amo Di Piu เวอร์ชันพิเศษ ก่อนหน้านี้โธมัสบอกเอาไว้ว่าเวทีที่นี่สูงเกินไปที่จะกระโดด crowd-surfing ซึ่งก็เป็นอย่างที่เขาว่า โธมัสเลยเลือกที่จะเดินลงมาจากเวทีแทนซะเลย ทุกคนต่างกรูกันเข้าไปหา ใกล้เสียจนแทบจะเอามือจิ้มแก้มโธมัสได้ เขาเดินไปเรื่อยๆ จนเกือบกึ่งกลางฮอลล์ และพยายามส่งตัวเองขึ้นไปเพื่อทำ crowd-surfing จากบนพื้น ทำให้หลายๆ คนได้ภาพโธมัสที่ยืนทรงตัวแบบเกร็งๆ ในมือพันสายไมโครโฟนสีแดงที่ลากยาวมาตามทาง นี่อาจจะเป็นความหมายที่ว่าโธมัสต้องการจะ ‘ทำลายกำแพงระหว่างศิลปินและคนดู’

 

Melted Gelato

     เขียนสรุปยังไงก็คงบรรยายได้ไม่เท่ากับได้ไปยืนอยู่ในคอนเสิร์ตจริงๆ แต่เชื่อเถอะว่านี่คือการแสดงสดที่ดีมากๆ ครั้งหนึ่งในชีวิตของผู้เขียน (และแฟน Phoenix อีกหลายๆ คน) ทุกเพลงถูกซ้อมมาอย่างสมบูรณ์แบบ ไร้รอยต่อของอารมณ์ สนุกจนลืมคิดไปว่าพวกเขาอายุ 40 กว่ากันเข้าไปแล้ว และแน่นอนว่าเสียงเพลงที่ปกติเราฟังจากไฟล์ดิจิทัล เพลงที่เราว่าเพราะจนฟังวนอยู่ได้มาตั้งแต่ ม.ต้น ในคืนนั้นมันเหมือนจะเพราะกว่าเดิมเสียอีก

     แม้ไอศกรีมจะละลายหมดแล้ว แต่อารมณ์ของคนที่ได้ไปงานคอนเสิร์ต Phoenix ครั้งนี้คงจะยังค้างอยู่อีกนาน

เซตลิสต์เพลงในงานคอนเสิร์ตครั้งนี้ กดเช็กได้ที่นี่ (www.setlist.fm/setlist/phoenix/2017/moonstar-studio-bangkok-thailand-13e561b9.html)

FYI
  • คอนเสิร์ต Phoenix เป็นวงสุดท้ายของ Singha Light Live Series ในปีนี้แล้ว (ก่อนหน้านี้มีทั้ง Honne, Mew และ Cigarettes After Sex)
  • สมาชิก Phoenix วาดรูปหัวใจที่ใช้เป็นโลโก้ของอัลบั้ม Ti Amo เองด้วย
  • แม้ทุกเพลงของ Phoenix จะมาในมู้ดซัมเมอร์ แต่พวกเขาเคยมีซิงเกิลประกอบซีรีส์ Netflix ‘A Very Murray Christmas’ ที่กำกับโดย โซเฟีย คอปโปลา ภรรยาของนักร้องนำ โธมัส มาร์ส ชื่อเพลงว่า Alone on Christmas Day
  • Phoenix มีส่วนร่วมในการทำสกอร์ประกอบ The Beguiled ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของ โซเฟีย คอปโปลา ที่จะเข้าฉายวันที่ 27 สิงหาคมนี้
  • มีแฟนเพลงตั้งข้อสงสัยว่า Telefono เพลงสุดท้ายในอัลบั้ม Ti Amo นั้น โธมัสพูดถึงความสัมพันธ์ระยะไกลของตนเองกับภรรยาที่ต้องทำงานห่างกัน
  • HAVE YOU HEARD? คือโปรโมเตอร์ที่พาวงต่างชาติหาฟังยากมาเยือนประเทศไทย ทั้ง Beach Fossils, Blood Orange, Mac DeMacro, Cigarettes After Sex และอีกเพียบ ซึ่งก็ทำหน้าที่ได้ดีจนเป็นที่ประทับใจ
  • ถึงขั้นที่ Phoenix ออกปากว่า ‘Best Promoter!’
  • ขอขอบคุณ Warner Music Thailand และ HAVE YOU HEARD? 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising