สำนักข่าว Central News Agency ของทางการเกาะไต้หวัน เปิดเผยว่า รัฐบาลไต้หวันได้ยื่นใบสมัครขอเข้าร่วมเป็นภาคีกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP อย่างเป็นทางการต่อชาติสมาชิกของ CPTPP ที่มี 11 ประเทศแล้วเมื่อวันพุธ (22 กันยายน) ที่ผ่านมา โดย ซูเจินชาง นายกรัฐมนตรีไต้หวันได้ขอให้กระทรวงต่างๆ เตรียมดำเนินการสำหรับการเจรจาแล้ว
รายงานระบุว่า หวังเหมยฮัว รัฐมนตรีเศรษฐกิจของไต้หวันจะเปิดเผยรายละเอียดในประเด็นดังกล่าวในวันนี้ (23 กันยายน) ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีเศรษฐกิจของไต้หวันรายนี้เพิ่งแสดงความกังวลต่อกรณีที่จีนสมัครเข้าร่วม CPTPP ที่ไต้หวันหวังว่าจะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการยื่นสมัครเข้าร่วมของไต้หวัน ที่แสดงจุดยืนมานานแล้วว่าต้องการเข้าร่วมกับความตกลงฉบับนี้
ทั้งนี้แต่เดิม CPTPP คือความตกลงที่ปรับเปลี่ยนมาจากความตกลงหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (TPP) ที่มีสมาชิก 12 ประเทศ และมีสหรัฐฯ ในยุคอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา เป็นแกนนำในการก่อตั้ง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ามีเป้าหมายความร่วมมือเพื่อคานกับอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อนที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะถอนตัวออกไปในปี 2017 ทำให้ข้อตกลงเปลี่ยนจาก TPP เป็น CPTPP และเหลือสมาชิก 11 ประเทศ คือ แคนาดา, ออสเตรเลีย, บรูไน, ชิลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์ และเวียดนาม
ก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายน อังกฤษก็แสดงความสนใจเข้าร่วม CPTPP และได้เริ่มการเจรจาไปบ้างแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
หลายฝ่ายต่างจับตามองความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ด้วยเกรงว่าอาจเป็นชนวนให้เกิดความตึงเครียดภายในภูมิภาค เนื่องจากสถานะของไต้หวัน โดยขณะนี้ไต้หวันไม่ได้เป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร เนื่องจากจีนยืนกรานว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของ ‘จีนเดียว’ กระนั้นในแง่ของเศรษฐกิจ ไต้หวันเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกและกลุ่มเอเปกด้วยเช่นเดียวกับจีน
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP