×

ใครเป็นใครในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน 2020

10.01.2020
  • LOADING...
เลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน

ไต้หวันจะจัดการเลือกตั้งครั้งสำคัญในวันที่ 11 มกราคม 2020 โดยผู้ที่ชนะการเลือกตั้งจะนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีและมีสิทธิ์กำหนดแนวทางการดำเนินนโยบายสำคัญของไต้หวันในช่วงเวลาอีก 4 ปีนับจากนี้ ซึ่งการเมืองไต้หวันยังคงเป็นการขับเคี่ยวกันของผู้สมัครจากสองพรรคใหญ่อย่าง ไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวันที่ลงสมัครอีกครั้งในนามพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) และ หันกั๋วอวี๋ นายกเทศมนตรีเมืองเกาสงที่สังกัดพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) โดยทั้งสองพรรคต่างได้อดีตนายกรัฐมนตรีไต้หวันมาลงสมัครชิงเก้าอี้รองประธานาธิบดี 

 

เลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน

 

จุดยืนสำคัญของไช่อิงเหวินคือการดำเนินนโยบายและท่าทีที่แข็งกร้าวต่อจีนแผ่นดินใหญ่ ต่อต้านแนวคิดการเป็นส่วนหนึ่งของจีนเดียว สนับสนุนเอกราชของไต้หวัน อีกทั้งยังเคยประกาศจุดยืนสนับสนุนกฎหมายผู้ลี้ภัย พร้อมอ้าแขนรับชาวฮ่องกงที่ต้องการเข้ามาลี้ภัยทางการเมืองในไต้หวัน เธอจึงชูประเด็นที่ว่าการลงคะแนนเลือกตั้งให้กับเธอคือการลงคะแนนเพื่อต่อต้านไม่ให้ไต้หวันกลายเป็นฮ่องกงแห่งที่สอง

 

ในขณะที่ หันกั๋วอวี๋ มีจุดยืนสำคัญที่จะเยียวยาความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไต้หวัน แม้ว่าเขาจะปฏิเสธหลักการหนึ่งประเทศสองระบบของจีนก็ตาม นอกจากนี้ยังสนับสนุนกฎหมายผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะในกรณีของชาวฮ่องกงเช่นเดียวกับไช่อิงเหวิน

 

นอกจากนี้ยังมีผู้สมัครจากพรรคประชาชนมาก่อน (PFP) อย่าง เจมส์ ซ่ง อดีตผู้ว่าการไต้หวันที่ลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีไต้หวันเป็นครั้งที่ 4 หลังจากที่แพ้การเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครจากพรรคใหญ่มาทุกครั้ง นี่จะเป็นการลงสนามเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของนักการเมืองวัย 77 ปีรายนี้ โดยซ่งมีแนวโน้มที่จะประนีประนอมกับจีน โดยมองว่าสันติภาพบริเวณช่องแคบไต้หวันเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด

 

โดยผลโพลหลายสำนักจาก Green Party, Formosa, ETtoday และ United Daily ยังคงยกให้ไช่อิงเหวินมีโอกาสนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีไต้หวันเป็นสมัยที่ 2 แม้ว่าความนิยมในตัวเธอและพรรค DPP จะลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากการแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่นในหลายเมืองสำคัญเมื่อช่วงปลายปี 2019 ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้เธอตัดสินใจลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค DPP เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ตามมาด้วยหันกั๋วอวี๋และเจมส์ ซ่ง ตามลำดับ คาดการณ์ว่าผู้ชนะการเลือกตั้งจะเข้าดำรงตำแหน่งในวันที่ 20 พฤษภาคม 2020

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X