×

คู่มือเลือกตั้ง 101: รวมสิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับเลือกตั้งไต้หวัน 2024

โดย THE STANDARD TEAM
10.01.2024
  • LOADING...

งวดเข้ามาทุกขณะกับการเลือกตั้งไต้หวัน ที่ไม่เพียงสำคัญสำหรับชาวไต้หวันเท่านั้น แต่ยังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก เพราะนอกจากจะชี้ชะตาอนาคตของไต้หวันเองแล้ว ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ยังกำหนดภูมิรัฐศาสตร์โลกอีกด้วย ท่ามกลางความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันระหว่างสองชาติมหาอำนาจจากสองขั้วที่เฝ้ารอดูผลเลือกตั้งครั้งนี้อย่างใจจดใจจ่อ

 

นอกจากปัญหาปากท้อง เช่น เศรษฐกิจที่ซบเซา ราคาที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูง และนโยบายพลังงานแล้ว ประเด็นที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ความสำคัญไม่แพ้กัน หรืออาจจะมากกว่า รวมทั้งทำให้การเลือกตั้งไต้หวันถูกจับตามองจากนานาประเทศ ก็คือสถานะทางการเมืองของไต้หวัน ชาวไต้หวันจะต้องตัดสินใจว่า พวกเขาต้องการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการฟื้นฟูการค้าและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับปักกิ่งตามที่พรรคฝ่ายค้านหลักอย่าง ก๊กมินตั๋ง (KMT) ชูนโยบายหาเสียง หรือพวกเขายังคงต้องการยืนหยัดอยู่คนละฟากกับปักกิ่งต่อไป แม้จะต้องเสี่ยงกับการเผชิญการรุกรานเหมือนที่เป็นมาตลอด 8 ปีที่พรรคหมินจิ้นตั่ง (DPP) เป็นรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน

 

เรารวมทุกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับศึกเลือกตั้งไต้หวัน 2024 มาไว้ที่นี่ที่เดียว 

 

เลือกตั้งเมื่อไร

 

  • วันที่ 13 มกราคม 2024 โดยคูหาเลือกตั้งจะเปิดให้ลงคะแนนตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (07.00-15.00 น. ตามเวลาไทย) 

 

รู้ผลเมื่อไร

 

  • เจ้าหน้าที่สถานกงสุลไต้หวันเปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า การนับคะแนนอาจรู้ผลเร็วสุดภายใน 1 ชั่วโมงนับจากเวลาปิดหีบ แต่หากยืดเยื้ออาจใช้เวลามากกว่านั้น แต่คาดว่าการนับคะแนนจะเสร็จสิ้นและรู้ผลภายในวันนั้น

 

ระบบเลือกตั้งของไต้หวันเป็นอย่างไร เลือกใครบ้าง

 

  • ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในไต้หวันที่ลงทะเบียนใช้สิทธิประมาณ 19.5 ล้านคน จะออกไปคูหาเลือกตั้งเพื่อหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี และเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งเป็นการเลือก สส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ โดยสภานิติบัญญัติของไต้หวันประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 113 คน แบ่งเป็น 73 คนตามเขตเลือกตั้ง 34 คนตามบัญชีรายชื่อพรรค และ 6 ที่นั่งที่สงวนไว้สำหรับชาวพื้นเมืองไต้หวัน (ชาวจีนฮากกาและฮกเกี้ยน) โดยมีวาระดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี พรรคที่จะได้ครองเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติจะต้องได้จำนวนที่นั่ง สส. เกินกึ่งหนึ่ง หรือ 57 ที่นั่งขึ้นไป ปัจจุบัน DPP ครองเก้าอี้อยู่ 63 ที่นั่ง รองลงมาคือก๊กมินตั๋ง 38 ที่นั่ง

 

ระบบเลือกตั้งสภานิติบัญญัติเป็นอย่างไร

 

 

พรรคการเมืองของไต้หวันที่ลงชิงชัยมีพรรคไหนบ้าง

 

  • ไต้หวันมีพรรคการเมืองหลัก 2 พรรค ได้แก่ พรรคก๊กมินตั๋ง (KMT / 国民党) ซึ่งจัดเป็นพรรคสายอนุรักษนิยม และพรรคหมินจิ้นตั่ง (DPP / 民进党) ที่จัดเป็นพรรคแนวกลาง-ซ้าย ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคทางเลือกที่ 3 อย่างพรรคไถวันหมินจ้งตั่ง (TPP / 台湾民众党) ที่ชูนโยบายสายกลางโดดเด่นขึ้นมา โดยได้รับความนิยมสูงขึ้นจากคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่จับตาว่าอาจเป็นม้ามืดในครั้งนี้
  • KMT ได้ชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออก โดยย้อนอดีตไปในปี 1949 พรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) ทำให้พรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งนำโดยเจียงไคเชกในเวลานั้นนำผู้คนกลุ่มหนึ่งลี้ภัยจากแผ่นดินใหญ่หนีไปเกาะไต้หวันและตั้งรัฐบาลขึ้นที่นั่น ด้วยความตั้งมั่นว่าจะกลับคืนสู่แผ่นดินใหญ่และโค่นล้มคอมมิวนิสต์ให้จงได้ 
  • ต่อมาพรรคก๊กมินตั๋งประกาศใช้กฎอัยการศึกและห้ามจัดตั้งพรรคการเมืองในไต้หวัน (สาธารณรัฐจีน) ส่งผลให้มีกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการของพรรคก๊กมินตั๋ง และจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวส่งเสริมประชาธิปไตย จนนำไปสู่การก่อตั้งพรรคหมินจิ้นตั่งในปี 1986 โดยพรรคหมินจิ้นตั่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Democratic Progressive Party หรือชื่อย่อที่คนไทยคุ้นเคยว่า DPP ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า ประชาธิปไตยก้าวหน้า ซึ่งสะท้อนอุดมการณ์ของพรรคได้เป็นอย่างดี
  • ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เริ่มเกิดพรรคการเมืองเล็กๆ ขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย หนึ่งในนั้นคือ ไถวันหมินจ้งตั่ง (TPP) ซึ่งชูนโยบายสายกลาง ทำให้พรรคได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมชมชอบพรรค DPP ที่พวกเขามองว่าเป็นพรรค ‘สถาบัน’ ขณะเดียวกันก็ไม่เอาพรรค KMT เพราะคิดว่าไม่ทันกระแสสมัยใหม่
  • นับตั้งแต่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกเมื่อปี 1996 พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคของไต้หวัน ได้แก่ KMT และ DPP สลับกันครองอำนาจทุกๆ 8 ปี (ยกเว้นหลี่เติงฮุยของก๊กมินตั๋งที่ชนะเลือกตั้งโดยตรงเพียงสมัยเดียวในปี 1996) ซึ่งใน 8 ปีหลังที่ผ่านมาเป็นพรรค DPP ที่ได้เป็นรัฐบาล โดยมีไช่อิงเหวินเป็นประธานาธิบดี 2 สมัย

 

ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีมีใครบ้าง

 

 

แนะนำผู้สมัคร

 

  • ไล่ชิงเต๋อ อายุ 64 ปี รองประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบันจากพรรค DPP เคยเป็นแพทย์อยู่นานหลายปีก่อนผันตัวมาเล่นการเมืองสังกัดพรรค DPP จนกระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นรองประธานาธิบดีในปัจจุบัน เขาเป็นที่จดจำจากการแสดงความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการสนับสนุนการเป็นเอกราชของไต้หวัน อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสูงขึ้น รวมถึงในช่วงของการหาเสียง ไล่ได้เปลี่ยนท่าทีหันมาสนับสนุน ‘สถานะเดิมที่เป็นอยู่’ กับจีน ซึ่งการตัดสินใจเลือก เซียวเหม่ยฉิน ทูตโดยพฤตินัยของไต้หวันประจำสหรัฐฯ วัย 52 ปี เป็นคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีนั้น ดูเหมือนจะทำให้ไล่ชิงเต๋อได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเซียวได้รับการสนับสนุนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อายุน้อย

 

  • โหวโหย่วอี๋ วัย 66 ปี เป็นอดีตนายกเทศมนตรีเมืองนิวไทเป เขามาจากภูมิหลังที่อาจเรียกว่าด้อยกว่าผู้นำ KMT คนอื่นๆ โดยเริ่มชีวิตการทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในช่วงทศวรรษ 1980 จนกระทั่งไต่เต้าถึงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก่อนเข้าสู่การเมืองในปี 2010 และคว้าชัยเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองนิวไทเป คู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของโหวคือ จ้าวเซ่าคัง วัย 73 ปี ซึ่งในอดีตเคยเป็นบุคคลในแวดวงสื่อ และเป็นผู้สนับสนุนการรวมชาติกับจีนอย่างแข็งกร้าว 

 

 

  • เคอเหวินเจ๋อ อดีตนายกเทศมนตรีกรุงไทเป วัย 64 ปี ลงสนามพร้อมคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีอย่าง ซินเทีย วู (อู๋ซินอิ๋ง) นักการเมืองและบุตรสาววัย 45 ปีของหนึ่งในนักธุรกิจชั้นนำของไต้หวัน เคอเหวินเจ๋อ ก่อตั้ง TPP ขึ้นในปี 2014 เพื่อต่อต้าน KMT แต่เขากลับสร้างความประหลาดใจเมื่อเดือนพฤศจิกายน ด้วยการประกาศว่าจะร่วมมือกับ KMT เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งร่วมกัน อย่างไรก็ดี การเจรจาเป็นพันธมิตรล้มเหลวเมื่อทั้งสองพรรคไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะส่งใครลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

 

เทียบนโยบายต่อจีนของ 3 ผู้สมัคร

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันหลังรัฐธรรมนูญ 1947 มีใครบ้าง

 

 

นโยบายหาเสียงที่ชาวไต้หวันให้ความสำคัญ

 

  • ความสัมพันธ์กับจีน: เป็นเรื่องยากที่จะพูดถึงการเลือกตั้งไต้หวันโดยไม่เอ่ยถึงจีน โดยพรรคใหญ่แต่ละพรรคพยายามสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่านโยบายจีนของพรรคตนนั้นถูกต้อง ไล่ชิงเต๋อยืนยันว่าเขาจะไม่แสวงหาเอกราชตามที่ KMT กล่าวหา แต่จะยังคงสถานะที่เป็นอยู่ของไต้หวันต่อไป ขณะที่โหวโหย่วอี๋ให้คำมั่นว่า หากชนะเลือกตั้ง KMT สามารถเพิ่มผลประโยชน์สูงสุดให้กับไต้หวันด้วยการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีน
  • ปัญหาสังคม: คนหนุ่มสาวที่ไม่ได้ทำงานในภาคเทคโนโลยีสารสนเทศกังวลว่าพวกเขาจะไม่ได้งานดีๆ หรือได้แต่งงานและมีครอบครัว ขณะที่ปัญหาสังคมสูงวัยทำให้เกิดความตึงเครียดด้านทรัพยากรและการคลัง ส่วนประชากรกลุ่มชายหนุ่มไม่พอใจเรื่องการขยายเวลาเกณฑ์ทหารจากเดิม 4 เดือนเป็น 1 ปีเต็ม เพื่อรับมือภัยคุกคามจากจีน
  • ปัญหาเศรษฐกิจ: ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน ทั้งปัญหาค่าครองชีพสูง ราคาที่อยู่อาศัยแพง และค่าแรงต่ำ ดังนั้นหลายพรรคจึงพยายามงัดนโยบายเศรษฐกิจมาหาเสียง นอกเหนือจากนโยบายความสัมพันธ์กับจีน 

 

คะแนนนิยมช่วงโค้งสุดท้าย ใครนำ

 

  • โพลของ TVBS เผยว่า ไล่ชิงเต๋อมีคะแนนนำอยู่ที่ 33% โหวโหย่วอี๋ตามมาติดๆ ที่ 30% และเคอเหวินเจ๋อ ตามมาเป็นอันดับ 3 ที่ 22%
  • โพลของ ETtoday ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาชี้ว่า ไล่ชิงเต๋อนำอยู่ด้วยคะแนน 38.9% ตามด้วยโหวโหย่วอี๋ 35.8% และเคอเหวินเจ๋อ 22.4%
  • ผลสำรวจจากบางสำนัก เช่น My Formosa และ M.News พบว่า ไล่ชิงเต๋อนำห่างโหวโหย่วอี๋อยู่ถึงราว 10 แต้ม 
  • นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้สมัครจาก KMT และ TPP อาจแย่งคะแนนกันเองจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ต่อต้าน DPP ขณะที่ในทางกลับกัน ผลสำรวจหลักๆ ทุกโพล ปรากฏว่าไล่ชิงเต๋อไม่เคยได้คะแนนเกิน 50% ดังนั้นผลการเลือกตั้งยังคงคาดเดาได้ยากจนถึงเวลานี้

 

บทบาทของจีนและสหรัฐฯ ต่อการเลือกตั้งไต้หวัน

 

ที่ผ่านมาจีนอ้างสิทธิเหนือเกาะไต้หวันมาโดยตลอด โดยระบุว่าเกาะที่ปกครองตนเองแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของจีน และไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะใช้กำลังเพื่อรวมไต้หวันเป็นหนึ่งเดียวกับแผ่นดินใหญ่หากจำเป็น 

 

ในขณะที่สหรัฐฯ แม้ไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แต่มีกฎหมายที่เปิดทางให้วอชิงตันสามารถช่วยสนับสนุนไทเปในการป้องกันตนเองจากปักกิ่งได้ โดยเมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อนุมัติงบประมาณจัดหาอาวุธมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบสั่งการและควบคุมการรบร่วมของไทเป ส่งผลให้ปักกิ่งไม่พอใจอย่างมาก

 

ทั้งนี้ ปักกิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อไต้หวันนับตั้งแต่ ไช่อิงเหวิน จากพรรค DPP ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกเมื่อปี 2016 โดยอ้างว่าไช่ต้องการแบ่งแยกไต้หวันเป็นเอกราชจากจีน และเตือนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกระหว่าง ‘สงคราม’ กับ ‘สันติภาพ’ ในช่องแคบไต้หวัน โดยปักกิ่งปฏิเสธการเจรจากับไช่หลังจากที่เธอได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก พร้อมยกระดับกิจกรรมทางทหารทั้งในและรอบๆ เกาะ และกดดันให้ประเทศที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน ซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่ประเทศ หันมาตัดสัมพันธ์กับไต้หวัน เพื่อทำให้ไต้หวันถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น 

 

โดยหาก DPP และไล่ชิงเต๋อชนะการเลือกตั้ง ผู้สังเกตการณ์มองว่ามีแนวโน้มที่จีนจะจัดการซ้อมรบในช่องแคบไต้หวันเพื่อประท้วง ดังเห็นได้จากการที่ปักกิ่งใช้กลยุทธ์นี้ 2 ครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ การประท้วงการเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในขณะนั้น เมื่อเดือนสิงหาคม 2022 และเมื่อประธานาธิบดีไช่พบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ขณะเดินทางผ่านสหรัฐอเมริกาในเดือนเมษายนปีที่แล้ว

 

ทำความรู้จักไต้หวัน

 

 

ไต้หวันสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไร

 

รู้หรือไม่ว่า แม้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันภายใต้รัฐบาลไช่อิงเหวินจะเกิดความตึงเครียดมานาน 8 ปี แต่ไต้หวันก็เป็นคู่ค้าสำคัญของจีน เช่นเดียวกับที่จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไต้หวัน

 

ในเชิงภูมิศาสตร์ ช่องแคบไต้หวันยังเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าที่สำคัญของโลกที่ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุน และถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่มหาอำนาจจับจ้อง

 

นอกจากนี้ไต้หวันยังเป็นผู้ผลิตชิปและเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นหัวใจของเทคโนโลยีขั้นสูงรายใหญ่ คิดเป็นสัดส่วน 60% ของโลก

 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งว่าไต้หวันสำคัญต่อเศรษฐกิจและห่วงโซ่เทคโนโลยีโลกอย่างไร

 

 

ประเทศใดบ้างที่มีสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน

 

 

 

ภาพ: Getty Images 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X