×

ประท้วงต้านรัฐบาลซีเรียลามหลายเมือง ประชาชนเดือดเงินเฟ้อพุ่ง รัฐตัดงบหนุนเชื้อเพลิง

25.08.2023
  • LOADING...

การประท้วงต่อต้านรัฐบาลและแสดงความไม่พอใจต่อภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของชาวซีเรียปะทุขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 2 และแพร่ขยายไปยังหลายเมืองทางตอนใต้ ท่ามกลางความโกรธแค้นของประชาชน หลังรัฐบาลตัดสินใจตัดงบประมาณอุดหนุนเชื้อเพลิง ในขณะที่ประชาชนทั่วประเทศกำลังเผชิญภาวะยากลำบากจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น

 

ที่เมืองซูไวดา (Suweida) มีประชาชนนัดชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิในการดำรงชีวิต ขณะที่ป้ายขนาดใหญ่ที่แสดงภาพของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด บริเวณจัตุรัสใจกลางเมือง ถูกประชาชนที่โกรธแค้นจุดไฟเผา โดยมีผู้เผยแพร่คลิปวิดีโอในโซเชียลมีเดียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

 

“เราอยากให้ทุกคนออกมาเดินขบวนตามถนนทั่วซีเรีย เราอยู่ที่นี่เพื่อต่อต้านความยากจนและความอัปยศอดสู เรียกร้องสิทธิของเรา ทุกคนควรออกมาประท้วง” ผู้ประท้วงชายคนหนึ่งกล่าว

 

ขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจของซีเรียเลวร้ายลงหลังการล่มสลายของค่าเงินที่กระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ส่งผลให้ประชากรเกือบ 90% อยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน ในขณะที่ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างกะทันหันทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น

 

เงินเดือนของพนักงานภาครัฐบางส่วนอยู่ที่เพียง 20 ดอลลาร์ (ราว 700 บาท) ตามอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืด ทำให้พวกเขาไม่สามารถแม้แต่จะซื้ออาหารหรือสิ่งของที่จำเป็นให้กับครอบครัวได้

 

โดย ‘ขบวนการ 10 สิงหาคม’ ที่ตั้งขึ้นในวันเดียวกับชื่อกลุ่ม ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของชาวซีเรีย ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อเดือนอย่างน้อย 100 ดอลลาร์ และจัดให้มีไฟฟ้าใช้อย่างน้อยวันละ 20 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยปัจจุบันที่ 3 ชั่วโมงในพื้นที่ส่วนใหญ่ รวมทั้งออกหนังสือเดินทางใหม่ได้ภายในหนึ่งเดือน ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการของคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่อยากเดินทางออกนอกประเทศ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองด้วย

 

ขณะที่หลายคนที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มนี้เชื่อว่าเป็นชาวมุสลิมนิกายอะลาวีต์ (Alawite) ซึ่งเป็นมุสลิมชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกับประธานาธิบดีอัสซาด และก่อนหน้านี้ให้การสนับสนุนเขาอย่างแน่วแน่ในช่วงที่เกิดสงครามภายในประเทศ

 

ภาพ: SWEIDA 24 via REUTERS

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising