×

สำรวจอาณาจักรใหม่ของ Swatch จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมล้ำสมัยในเรือนนาฬิกาพลาสติก

05.04.2019
  • LOADING...
Swatch

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • Swatch ให้ความสำคัญกับการสื่อสาร ทั้งการออกแบบอาคารที่สามารถสื่อสารกับพนักงานและผู้มาเยือน รวมถึงการออกแบบนาฬิกาที่แสดงให้เห็นถึงตัวตนและคาแรกเตอร์ของผู้สวมใส่ ไม่ว่าจะเป็นความขี้เล่น รักสนุก เคร่งขรึม อ่อนไหว จริงจัง ช่างแต่งตัว รักศิลปะ ลุ่มลึก หรือแม้แต่แข็งกร้าว
  • สำนักงานใหญ่แห่งนี้ไม่ใช่แค่บ้าน แต่ต้องเป็นแลนด์มาร์กสำคัญ ดังเช่น Icon Destination ที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมืองเบียนน์ ผู้ให้กำเนิดนาฬิกาสวิส
  • ล่าสุด พวกเขาเปิดตัวนาฬิการุ่นใหม่ที่ต่อยอดความสำเร็จของ Sistem51 ด้วยการสร้างปรากฏการณ์ Upside down ไปกับนาฬิกาที่ผลิตออกมาเพียง 500 เรือนทั่วโลกอย่าง ‘Flymagic’ ที่ถือเป็นหลักไมล์ใหม่ของค่ายนี้

หากพูดถึงแบรนด์นาฬิกาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่มีอายุอานามหลายทศวรรษ แต่ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ในปัจจุบัน หนึ่งในนั้นต้องยกให้ Swatch แบรนด์นาฬิกาเรือนพลาสติกที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงขาลงของอุตสาหกรรมนาฬิกาของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังโดนแบรนด์นาฬิกาจากทวีปเอเชียตีตลาดด้วยนาฬิการะบบควอตซ์ (Quartz) ที่ราคาเป็นมิตรกับเงินในกระเป๋ามากกว่า ส่งผลให้ภายในปี 1977-1982 ยอดการผลิตนาฬิกา Swiss Made จึงตกต่ำลงมาก จาก 43 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนแรงงานจากที่เคยมีราว 900,000 คน ก็ลดลงเหลือไม่ถึง 400,000 คน

 

Swatch

มิสเตอร์นิโคลัส จี ฮายัก CEO คนปัจจุบันของ Swatch

 

การฟื้นฟูตลาดนาฬิกาให้กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้งจึงไม่ใช่การเดินตามความสำเร็จเดิมในอดีต ที่มุ่งเน้นไปที่ความประณีต หรูหรา และความเที่ยงตรง หากแต่เข้าถึงยากด้วยราคา นิโคลัส ฮายัก (Nicolas Hayek) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Swatch จึงเลือกที่จะสร้างแบรนด์นาฬิกาขึ้นมาใหม่ โดยฉีกขนบเดิมๆ ของนาฬิกา Swiss Made ที่มีคาแรกเตอร์ที่ขึงขังจริงจังสู่ความสนุกสนานขี้เล่น โดยหยิบเอาเทคโนโลยีล้ำสมัย ณ เวลานั้นมาใส่ในเรือนนาฬิกาที่ทำจากพลาสติกหลากสีสัน จนเกิดเป็นนาฬิกาพลาสติกคุณภาพสูง ที่ไม่ใช่แค่บอกเวลา หากแต่ยังสามารถ ‘สื่อสาร’ กับผู้คนได้โดยที่ผู้สวมใส่ไม่จำเป็นต้องพูดอะไรเลยสักคำ

 

ความคิดสร้างสรรค์และความสนุกคือหัวใจของคนทำงาน

บทความชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นหลังจากที่ผู้เขียนได้ไปเยือนสำนักงานใหญ่ของ Swatch Group ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเบียนน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่พวกเขาตั้งใจให้เป็นศูนย์รวมของความคิดสร้างสรรค์ แหล่งค้นคว้าวิจัยและคัดสรรนวัตกรรมใหม่ๆ ในการออกแบบและผลิตนาฬิกาเรือนสวิสที่คนทั่วโลกไว้ใจในเรื่องคุณภาพและความเที่ยงตรง

 

swatch

(ซ้าย) ฝั่งด้านในที่เข้าสู่ตัวอาคาร (ขวา) ประตูด้านหน้าที่เปิดสู่ Omega Museum

 

swatch

ทางเชื่อมระหว่างอาคารสองหลัง

 

“สถานที่แห่งนี้จะเป็นบ้านใหม่ของ Swatch และเป็นครั้งแรกที่ทีมดีไซเนอร์จะนั่งทำงานร่วมกับพนักงานคนอื่นๆ (ก่อนหน้านี้ทีมออกแบบประจำอยู่ที่กรุงซูริก) ที่นี่เยี่ยมมาก แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่มีครบครัน การสื่อสารที่คล่องตัว ขนาดแสงธรรมชาติที่เล็ดลอดผ่านกระจกเข้ามายังเต็มไปด้วยสีสัน ที่นี่เราให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมควบคู่กับงานดีไซน์ ดูได้จากการนำแผงโซลาร์เซลล์มาเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร ซึ่งต่างจากอาคารอื่นๆ ที่แค่วางไว้รับแสงด้านบน” กล่าวโดย คาร์โล จิออร์ดาเน็ตติ (Carlo Giordanetti) ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของ Swatch

 

swatch

คนกลางได้แก่ คาร์โล จิออร์ดาเน็ตติ

 

หลังจากที่ได้ใช้เวลาอยู่ในออฟฟิศแห่งนี้ (แม้ว่ามันยังไม่เสร็จสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม) สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตและรับรู้ได้อย่างชัดเจนคือ การพยายามสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำงานในโลกยุคปัจจุบัน ที่ทุกอย่างต้องสดใหม่ ฉับไว เอาใจคนรุ่นใหม่ ความครีเอทีฟจึงถือเป็นหัวใจสำคัญอีกประการของพนักงานทุกระดับ

 

พื้นที่ภายในของฝั่งออฟฟิศ

 

Swatch

สัญลักษณ์กากบาทถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญ

 

“เบื้องหลังอาคารแห่งนี้เป็นความร่วมมือของทีม Swatch และนักออกแบบชาวญี่ปุ่น ชิเงรุ บัน (Shigeru Ban) ผู้ออกแบบสำนักงาน Swatch ในกินซ่า ประเทศญี่ปุ่น เราคุยกันว่าสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่แค่บ้าน แต่ต้องเป็นแลนด์มาร์กสำคัญ เราอยากสร้างสิ่งที่เป็น Icon Destination สะท้อนถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมืองเบียนน์ ผู้ให้กำเนิดนาฬิกาสวิส อาคารแห่งนี้จึงแบ่งพื้นที่เป็นสองส่วนเชื่อมโยงกัน ส่วนแรกเป็นบริเวณสำนักงานที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ อีกส่วนอยู่ฝั่งตรงข้ามเป็นพิพิธภัณฑ์ บอกเล่าเรื่องราวและจิตวิญญาณของ Swatch Group ที่แสดงให้เห็นถึงพลังขับเคลื่อนของแบรนด์”

 

จากจุดนี้เรามองเห็นกระจกใสโดยรอบที่โค้งรับแสงแดด สีเขียวๆ ของต้นไม้ใหญ่ที่แทรกตัวอยู่ตามพื้นที่ทำงานและมุมพักผ่อน สนุกด้วยสีสันต่างๆ ที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์นำพาไปสู่นวัตกรรมใหม่ โครงไม้ทิมเบอร์ที่ผลิตในประเทศถูกนำมาใช้จำนวนมาก บางส่วนถูกดีไซน์ให้มีลักษณะคล้ายกากบาทอันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศนี้ สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงชั้นดีให้กับคนทำงาน ที่ไม่ใช่แค่วิ่งให้ทันกระแส แต่ต้องล้ำหน้ากระแสโลกอยู่เสมอ

 

ปรัชญาในการออกแบบ ไม่ใช่แค่สวย แต่ต้องสื่อสารกับผู้อื่น

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าแบรนด์นี้ให้ความสำคัญกับการสื่อสาร ทั้งการออกแบบอาคารที่สามารถสื่อสารกับพนักงานและผู้มาเยือน รวมถึงการออกแบบนาฬิกาบนข้อมือที่มิสเตอร์ฮายักได้วางแผนไว้ตั้งแต่ต้นว่า Swatch จะไม่ได้เป็นนาฬิกาที่มีไว้เพียงเพื่อบอกเวลา หากต้องเป็นนาฬิกาที่แสดงให้เห็นถึงตัวตนและคาแรกเตอร์ของผู้สวมใส่ รวมถึงสะท้อนอารมณ์ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ไม่ว่าจะเป็นความขี้เล่น รักสนุก เคร่งขรึม อ่อนไหว จริงจัง ช่างแต่งตัว รักศิลปะ ลุ่มลึก หรือแม้แต่แข็งกร้าว

 

จวบจนปัจจุบันที่ยังคงมีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยสะสมนาฬิกา Swatch และพร้อมจับจองเป็นเจ้าของทุกเมื่อที่คอลเล็กชันใหม่ออกวางจำหน่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคอลเล็กชันพิเศษที่ราคาขายต่อพุ่งสูงตามดีมานด์ในตลาด  

 

“เราชอบทำงานร่วมกับคนที่มีดีเอ็นเอใกล้เคียงกับเรา ต้องเป็นคนที่มีอารมณ์ขัน ไม่จริงจังเกินเหตุ ช่างหัวเราะ ขี้เล่น พร้อมเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ มีความสด คนที่มีใจเปิดกว้างรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลาย” ครีเอทีฟไดเรกเตอร์คนสำคัญกล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการเลือกศิลปินที่จะมาร่วมงานกับแบรนด์

 

คอลเล็กชันที่ Swatch ร่วมงานกับศิลปินชาวอังกฤษอย่าง Damien Hirst ที่ขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว

 

Swatch

Swatch Pay นาฬิกาที่สามารถใช้แทนบัตรเครดิต เปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคม 2018     

 

“บางครั้งลูกค้าของเราไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร มันเลยยากในการออกสินค้าใหม่ๆ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้คือความหลากหลาย หากดูในแต่ละคอลเล็กชัน คุณจะเห็นทั้งดีไซน์บ้าบิ่นสุดโต่ง แต่ในขณะเดียวกันคุณก็ยังสามารถค้นหาความเรียบง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้สินค้าของเราน่าสนใจ ถูกใจคนรุ่นใหม่ที่มีรสนิยมที่แตกต่าง”  

 

หลักไมล์ใหม่ของเรือนบอกเวลา

ในปี 2013 Swatch ได้ปฏิวัติวงการด้วยการเปิดตัว Sistem51 ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติวงการนาฬิกากลไกอัตโนมัติที่ไม่ต้องไขลาน เพราะประกอบขึ้นด้วย 51 ชิ้นยึดด้วยน็อตตัวเดียว ลูกเล่นอยู่บริเวณฝาหลังของนาฬิกาที่โชว์กลไกการทำงานอันชาญฉลาด และเนื่องในโอกาสที่เปิดบ้านใหม่ พวกเขาจึงขอเปิดตัวนาฬิการุ่นใหม่ที่ต่อยอดความสำเร็จของ Sistem51 ด้วยการสร้างปรากฏการณ์ Upside down ไปกับนาฬิการุ่นพิเศษที่ผลิตออกมาเพียง 500 เรือนทั่วโลกอย่าง Flymagic ที่นำกลไก Sistem51 มาพลิกกลับด้าน แต่แทนที่เข็มนาฬิกาจะหมุนทวนไปทางซ้าย พวกเขาได้ออกแบบกลไกพิเศษเพื่อปรับเข็มนาฬิกาให้เดินไปทางขวาดังเดิม จากนั้นประกอบโรเตอร์เข้าไปใหม่อีกครั้ง ทำให้เราเห็นทั้งเข็มนาฬิกาและโรเตอร์อยู่ฝั่งด้านหน้าตัวเรือนซึ่งเป็นฝั่งเดียวกัน  

 

Flymagic ที่มีเพียง 500 เรือนทั่วโลก

 

นอกจากนี้พวกเขายังเปลี่ยนสายใยสปริงตัวใหม่มาเป็น Nivachon ที่ทำจากไทเทเนียม-อัลลอย มีคุณสมบัติต้านทานต่อสนามแม่เหล็กได้ดีกว่าวัสดุเก่า ส่งผลให้นาฬิกาเดินได้อย่างเที่ยงตรงยิ่งขึ้น แน่นอนว่าราคาของนาฬิการุ่นนี้โดดไปไกล ซึ่งเรามองว่า Flymagic อาจไม่ใช่สินค้าที่พวกเขาหมายมั่นปั้นมือว่าจะโกยรายได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือจุดยืนของแบรนด์ ที่งานดีไซน์ต้องเดินควบคู่ไปกับนวัตกรรม

 

 

ถึงตอนนี้ที่เรามีโอกาสได้มาเยือนความยิ่งใหญ่ของอาณาจักร Swatch เมื่อมองไปก็ยังไม่เห็นว่าจะมีแบรนด์นาฬิกาไหนที่สามารถแทรกซึมเข้าสู่ลูกค้าได้ทุกช่วงอายุ เหมือนอย่างที่ Swatch ทำได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักสะสมนาฬิการุ่นใหญ่ คนทำงาน หรือแม้แต้กลุ่มมิลเลนเนียลที่ยังคงมองว่า Swatch เป็นนาฬิกาที่สามารถหยิบมาใส่ได้เรื่อยๆ อย่างไม่ล้าสมัย ไม่มีเส้นแบ่งทางเพศ และที่สำคัญยังสามารถสวมใส่ได้ทุกวาระโอกาส หากว่าใจคุณบอกว่า ‘ใช่’ ก็ไม่จำเป็นต้องสนใจสายตาใคร

 

ภาพ: Courtesy of Swatch และ ภัทรศยา เชาว์รัศมีกุล

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising