×

หุ้นยั่งยืน: ธุรกิจดีที่โลกต้องการ

11.12.2020
  • LOADING...
หุ้นยั่งยืน: ธุรกิจดีที่โลกต้องการ

กระแสการลงทุนที่เรียกว่า ‘การลงทุนแบบมีความรับผิดชอบ (Responsible Investment)’ ปัจจุบันมาแรงมากๆ ความรับผิดชอบในที่นี้ก็หมายถึง รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพราะเงินทุนที่นักลงทุนเป็นเจ้าของจะตัดสินใจว่าจะลงไปในสินทรัพย์การเงินของกิจการใด ก็จะดูก่อนว่าธุรกิจที่ระดมทุนไปนั้น ทำธุรกิจแบบคำนึงถึงการปรับปรุงดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมหรือไม่ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการที่ธุรกิจผลิตสินค้าและบริการออกมาได้นั้น ต้องมีการจัดหาทรัพยากรมาเข้าสู่กระบวนการผลิตและจัดจำหน่าย ซึ่งตลอดทางได้ส่งผลกระทบทางบวกและลบต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ทั้งที่อยู่ใกล้และไกลกับกิจการ โดยเฉพาะผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้น เช่น ขยะ น้ำเสีย และมลพิษจากกระบวนการผลิต รวมไปถึงการจ้างแรงงานอย่างไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม หากเจ้าของธุรกิจไม่สนใจดูแล มุ่งแต่แสวงหาผลกำไรสูงสุด และตอบแทนเฉพาะผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ใกล้ตนเองอย่างผู้ถือหุ้นเพียงกลุ่มเดียว ธุรกิจดังกล่าวอาจอยู่บนความเสี่ยง ‘ความไม่ยั่งยืนในระยะยาว’ เพราะผลกระทบทางลบที่ไม่ได้รับการแก้ไขหรือใส่ใจปรับปรุงก็จะกลับมาส่งผลกระทบต่อตัวบริษัทเอง ทำให้เกิดแรงกดดันจากสังคมและนักลงทุนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรและเงินทุน เป็นผู้มีอำนาจที่จะเลือกหาหุ้นของกิจการที่ทำธุรกิจได้ดี มีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งมีความลึกซึ้งและประณีตที่จะดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกันไปด้วย หมายถึง กำไรก็ยังทำได้ และไม่ทำร้ายโลกด้วย หุ้นแบบนี้แหละที่เรียกว่า ‘หุ้นยั่งยืน (ESG Stocks)’ ที่ใครก็ตามหา และนักลงทุนที่ลงทุนตามสไตล์นี้ถูกเรียกว่า Responsible Investors นับวันก็จะมีจำนวนมากขึ้น

 

1. Sustainable Business: ต้นทางของหุ้นยั่งยืน

หุ้นยั่งยืนมาจากบริษัทที่ทำธุรกิจประสบความสำเร็จทั้งในระยะสั้นและระยะยาวบน Business Model ที่สร้างผลประโยชน์สุทธิในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แก่ผู้มีส่วนได้เสียทั้งใกล้และไกล ซึ่งจะส่งผลดีต่อมูลค่าของกิจการในระยะยาวเพราะถือว่ามีความเสี่ยงทางธุรกิจที่ลดลง

 

 

จากรูปที่ 1 อธิบายโมเดลความยั่งยืนกับมูลค่ากิจการ ดังนี้ โดยปกติธุรกิจจะเกิดขึ้นมาได้ต้องอาศัยจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Spirit) ซึ่งนักธุรกิจทุกคนจะมีจิตวิญญาณนี้ เพราะธรรมชาติของการสร้างธุรกิจต้องอาศัยความเป็นผู้ประกอบการ ทั้งลมหายใจ แรงบันดาลใจ รวมทั้งความอยากที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ถือเป็น Key Person หลักของการขับเคลื่อนธุรกิจ แต่จิตวิญญาณอย่างเดียวไม่พอ ต้องพึ่งพาทรัพยากร (Resources) ด้วย ทรัพยากรดังกล่าวอาจเป็น Know-How ในการผลิตสินค้า บริการ ทีมงานผู้บริหาร และพนักงานที่มีความรู้ความสามารถประสบการณ์ รวมทั้งเงินทุนทั้งส่วนที่มีมาจากผู้ประกอบการ เจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้น เป็นต้น แต่เดิมนั้นผู้ประกอบการอาศัยจิตวิญญาณมารวมกับทรัพยากร ใครบริหารจัดการได้กลมกล่อม ธุรกิจก็สามารถประสบความสำเร็จและสร้างกำไร รวมทั้งทำให้มูลค่ากิจการเพิ่มสูงขึ้นได้

 

แต่ในปัจจุบันนี้ต้องเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า ‘แนวคิดเกี่ยวกับความยั่งยืน (Sustainable Mindset)’ เข้าไปด้วยจึงจะครบถ้วน เพราะธุรกิจในยุคต่อไปทำหน้าที่แค่แปรรูปทรัพยากรเป็นสินค้าและบริการให้ผู้บริโภค ซึ่งเป็นคุณูปการทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่เพียงพอเสียแล้ว แต่ต้องบริหารจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจให้เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงจะเรียกได้ว่า ‘ธุรกิจยั่งยืน’ อย่างแท้จริง

 

ความยั่งยืนที่ไปสะท้อนมูลค่าของกิจการนั้น มีทั้งในรูปแบบมูลค่าที่เป็นตัวเงิน (Financial Value) เช่น ยอดขาย กำไรที่เพิ่มขึ้น และมูลค่าที่ไม่เป็นตัวเงิน (Non-financial Value) เช่น ความพึงพอใจของลูกค้าที่บริโภคสินค้าและบริการ ความสุขของพนักงานและครอบครัว ประโยชน์ที่ธุรกิจได้รับจากการดูแลคู่ค้า สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น บางธุรกิจแม้จะทำมูลค่าที่เป็นตัวเงินได้ดี แต่ไม่ดูแลและสร้างมูลค่าที่ไม่เป็นตัวเงิน ในระยะยาวก็จะกลับมาส่งผลกระทบทางลบที่ทำให้มูลค่าที่เป็นตัวเงินลดลง ซึ่งถือว่าเป็นการบั่นทอนความยั่งยืนของกิจการ

 

บริษัทที่ทำเรื่องความยั่งยืนได้ดีสามารถบอกเล่าต่อโลกการลงทุนได้ว่าเขาสร้างความสมดุลในด้าน Economic Impacts, Social Impacts และ Environmental Impacts ได้อย่างไร ซึ่งความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อสิ่งที่บริษัทได้ลงมือทำและเปิดเผยข้อมูลให้เห็นได้ จะยิ่งทำให้นักลงทุนอยากลงทุนในหุ้นของบริษัทนี้ ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้ก็จะสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ไม่ผันผวนมาก ไม่ว่าสภาพตลาดจะเป็นเช่นใด นี่แหละคือ ‘หุ้นยั่งยืน’ ที่เขาตามหากัน

 

2. ESG: สิ่งที่อยู่เบื้องหลัง ‘หุ้นยั่งยืน’

ในการสร้างธุรกิจให้มีความยั่งยืน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีหลักคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ซึ่งสรุปได้ดังนี้ 

 

 

จากรูป ถ้าเปรียบองค์กรเหมือนอาคารที่จะมั่นคงได้ต้องมีพื้นฐานที่แข็งแรง หมายถึงการที่บริษัทยึดมั่นในการดำเนินงานอย่างมีธรรมาภิบาล (Governance) ทำงานอย่างซื่อตรง โปร่งใส ตรวจสอบได้ นักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียจึงจะเกิดความเชื่อมั่น ถัดไป อาคารต้องมีเสาหลักที่แข็งแรง ใช้รับน้ำหนักและเชื่อมโยงกับปัจจัยในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เสาหลัก 3 ต้น ประกอบด้วย Economic หมายถึง บริษัทต้องอยู่รอดได้ในทางเศรษฐกิจ ต้องมีกำไร และเติบโตได้ ด้าน Social หมายถึง การดำเนินธุรกิจต้องมีส่วนช่วยดูแลผู้คนและสังคมใกล้ไกลให้มีคุณภาพ และด้านสุดท้ายคือ Environmental หมายถึง ในกระบวนการดำเนินธุรกิจต้องมีส่วนช่วยลดปัญหาหรือเสริมสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งใกล้และไกลให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้มีทรัพยากรเพียงพอตอบสนองการทำธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเสาหลักทั้งสามจะต้องคงอยู่ร่วมกันแบบกลมกลืนระหว่างการดำเนินธุรกิจ

 

ส่วนสุดท้ายคือหลังคาที่จะปกคลุมให้อาคารมีความปลอดภัย เปรียบเสมือนกับเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนของธุรกิจ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องมีโครงสร้างที่ดีตั้งแต่พื้นฐานและเสาหลักดังกล่าว

 

 

เนื่องจากการดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนในทางปฏิบัติ ต้องบูรณาการวิธีการไปพร้อมกัน แบ่งแยกไม่ได้ เราอาจอธิบายแบบง่ายๆ ด้วยรูป 3 ห่วงของ 3 คำหลัก คือ E (Environmental), S (Social) และ G (Governance) ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นและสะดวกในการอธิบาย โดยไม่ว่าใครจะอยู่ส่วนไหนหรือจะทำอะไรในกระบวนการทำธุรกิจ ก็ต้องคำนึงถึงความถูกต้องเกี่ยวกับ E, S, G ตลอดเวลา 

 

 

สำหรับส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าการที่บริษัทใดจะมีความยั่งยืนได้นั้น ธรรมาภิบาลของบริษัท (Corporate Governance) หรือ CG สำคัญที่สุด เพราะหากบริษัทไม่มีเรื่องนี้เป็นรากฐาน ความน่าเชื่อถือทั้งภายในและภายนอกจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้องค์กรไม่สามารถยืนอยู่ได้อย่างยาวนาน หรือไม่เกิดความยั่งยืนนั่นเอง

 

จากประสบการณ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนพัฒนา ESG in Practice เพื่อเข้าสู่การเป็นหุ้นยั่งยืนมากกว่า 2 ทศวรรษนั้น เราสังเกตเห็นได้ว่า บริษัทที่เป็นหุ้นยั่งยืน ทำสิ่งสำคัญ 2 อย่างคือ

 

1. การวางรากฐาน CG ในองค์กร (Fundamental CG)

คือ การวางระบบงานต่างๆ และเชื่อมโยงกันในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ มี Check and Balance มีการวางโครงสร้างการกำกับดูแลที่เหมาะสมทั้งในระดับกรรมการ อนุกรรมการ และฝ่ายจัดการ รวมสร้างวัฒนธรรม CG ในองค์กรให้มีความเข้มแข็ง

 

2. การบูรณาการ ESG เข้าไปในกระบวนการทำธุรกิจ (ESG Integration)

อันนี้สำหรับผมอยากเรียกว่าเป็น Advance CG ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานขั้นต่ำแล้ว บริษัทที่ทำเรื่องนี้เป็นจะมีความประณีตทุกขั้นตอนในการทำธุรกิจบน Value Chain ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และสิ่งแวดล้อมที่อยู่รายรอบบน Value Chain นั้น

 

จะดีไม่น้อยเลย ถ้าเราสามารถค้นหาหุ้นยั่งยืนจากบริษัทที่มีความสามารถเช่นนี้ นักลงทุนในยุคต่อไปจะตามล่าหาหุ้นแบบนี้กันมากขึ้น เพราะลงทุนทีไร สบายใจแน่นอน

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising