×

การลงทุนอย่าง ‘ยั่งยืน’ อาจไม่จำเป็นต้องเสียสละผลตอบแทน

18.11.2020
  • LOADING...
การลงทุน

ท่ามกลางสภาวะความเปลี่ยนแปลงและผันผวนด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ นักลงทุนทั่วโลกต่างหันมาให้ความสนใจกับแนวทางการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investing) มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นรูปแบบการลงทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืนในระยะยาวของเงินที่ลงทุนไป โดยให้ความสำคัญต่อปัจจัยที่ส่งผลต่อความอยู่รอดและความสามารถในการเติบโตของธุรกิจ ควบคู่ไปกับความยั่งยืนของสังคมภายนอกในระยะยาว อาทิ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม (Environment) หรือความรับผิดชอบของบริษัท (Corporate Responsibility) ที่มีต่อสังคมส่วนรวม

รูปแบบหนึ่งของการลงทุนแบบดังกล่าวอาจเริ่มจากวิธีการคัดเลือกหุ้น (Stock Selection) เพื่อให้ได้มาซึ่งธุรกิจที่มีความยั่งยืน คือนำแนวทางปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) มาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยมีอยู่หลายแนวทางด้วยกัน เช่น 

 

  • การใช้การคัดกรองปัจจัยเชิงลบ (Negative Screening) เช่น จะไม่ลงทุนในธุรกิจที่ขัดต่อศีลธรรมจรรยาที่ดีของสังคมและสิ่งแวดล้อม 
  • การใช้การคัดกรองเชิงบวก (Positive Screening) เช่น จะเน้นลงทุนในธุรกิจที่ให้ความสำคัญหรือมีความโดดเด่นในการดำเนินงานด้านปัจจัย ESG
  • อาจเข้มข้นไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วม (Stewardship) กับการกำหนดนโยบายบริษัท เพื่อส่งเสริมบริษัทให้มีความใส่ใจต่อการปรับปรุงการดำเนินงานที่เกี่ยวกับปัจจัยด้าน ESG อาจเรียกว่าก่อให้เกิด Impact Investing ซึ่งมีหลายวิธี โดยหนึ่งในนั้นคือการเข้าทำ Positive Engagement กับบริษัท ด้วยการขอเข้าพบผู้บริหารเพื่อชี้แจงข้อกังวล และแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 

 

ในรายละเอียดกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น หลายองค์กรมักอ้างอิงถึง UN’s Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย เช่น โลกต้องปราศจากความยากจน ต้องไม่มีผู้หิวโหย ต้องมีสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดี ต้องมีการศึกษาที่ดี มีความเท่าเทียมสำหรับทุกเพศ มีน้ำดื่มสะอาด มีพลังงานสะอาดในราคาที่เหมาะสม มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน สิ่งมีชีวิตในน้ำและบนบกได้รับการดูแล ฯลฯ (ในรายละเอียดผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก https://www.un.org/sustainabledevelopment/) โดยมีการกำหนด Target Indicators ไว้ 169 ข้อเพื่อให้วัดผลที่เป็นรูปธรรมได้มากขึ้น

ทั้งหมดนี้จะกลายเป็น Framework ที่ทำให้การวิเคราะห์การลงทุนอย่างยั่งยืนมีมิติในการวิเคราะห์ที่หลากหลายมากไปกว่าแค่ผลประกอบการที่เป็นตัวเงิน โดยมักมีมิติทางเวลา หรือ Time Horizon ที่สั้นกว่าการใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม ฯลฯ  ซึ่งถ้าทุกฝ่ายช่วยกัน ตั้งแต่นักลงทุน นักวิเคราะห์ ผู้จัดการกองทุน ย่อมส่งผลกดดันเชิงบวกให้บริษัทมองเห็นความสำคัญและลงมือปรับตัวเพื่อความยั่งยืนของสังคม สิ่งแวดล้อม และใส่ใจทุก Stakeholders ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งบริษัทเองตลอดจนสังคมในระยะยาว

ปัจจุบันการลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นที่ยอมรับจากผู้ลงทุนทั่วโลกและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

สำหรับในประเทศไทย การลงทุนอย่างยั่งยืนก็เป็นที่นิยมเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ซึ่ง บลจ. ไทยพาณิชย์ฯ เองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้มีการจัดตั้ง ‘กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย’ โดยมีนโยบายลงทุนในบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมุ่งหวังผลตอบแทนแบบยั่งยืนในระยะยาวด้วยเช่นกัน

โดยหุ้นที่จะได้รับการคัดเลือกมาอยู่ใน Thai CG Universe ต้องผ่านตะแกรงร่อนหลายชั้น เช่น เป็นกลุ่มหุ้นที่สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ให้เรตติ้ง 4 ดาวขึ้นไป (ซึ่งบ่งบอกถึงบรรษัทภิบาลที่ดี) และได้รับการรับรอง (Certified) เป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition หรือ CAC) และต้องมีคุณสมบัติด้าน ESG ที่ดีด้วย โดยดูจากข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ การปลอดจากคดีฟ้องร้องต่างๆ (ในด้านที่เกี่ยวข้อง)

นอกจากนี้ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนยังใช้แบบประเมินด้าน ESG และข่าวสารที่เกี่ยวกับปัจจัย ESG มาพิจารณาเป็นคะแนนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทที่เข้าข่ายการลงทุนแบบยั่งยืนของเรานั้นมีคุณสมบัติที่เพียบพร้อม

ทั้งนี้เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อผู้ลงทุน ทางผู้จัดการกองทุนจะนำปัจจัยด้าน ESG ดังกล่าวมาผสมผสานการวิเคราะห์ด้านปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจ ความแข็งแกร่งทางการเงิน ตลอดจนคุณภาพและมูลค่าที่เหมาะสมของกิจการ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่เพียงแต่สังคมและบริษัทจะได้ประโยชน์จากการส่งเสริมคุณสมบัติด้าน ESG ที่ดีเท่านั้น แต่นักลงทุนยังได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมคุ้มค่าอีกด้วย

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างกองทุน SCB THAI CG ที่เน้นการลงทุนอย่างยั่งยืนตาม Framework ดังกล่าวข้างต้น เท่าที่ผ่านมาตั้งแต่จัดตั้งในช่วงปลายปี 2560 ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับดัชนีชี้วัด (Benchmark) อย่าง SETTRI (SET Index Total Return ซึ่งก็คือ SET Index ที่รวมผลตอบแทนจากเงินปันผล) พบว่าให้ผลตอบแทนที่มีส่วนเพิ่มจากดัชนีชี้วัด (Alpha Contribution เป็นบวก) ซึ่งแม้ผลการดำเนินงานในอดีตจะไม่สามารถยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต แต่อย่างน้อยภาพด้านล่างนี้ก็บ่งบอกว่ากองทุนที่เน้นความยั่งยืนของบริษัท สังคม สิ่งแวดล้อม ก็อาจไม่จำเป็นต้องเสียสละผลตอบแทนต่อนักลงทุน จึงน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่ต้องการมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ควบคู่ไปกับโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่ดี

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising