×

FETCO เล็งชงรัฐบาลตั้งกองทุนใหม่ Sustainability Equity Fund หวังหนุนการออมระยะยาว-ปั้นธุรกิจเป้าหมายโตแบบยั่งยืน

17.05.2023
  • LOADING...
Sustainability Equity Fund

FETCO เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่พัฒนาตลาดทุนใช้ประโยชน์เป็นแหล่งเงินออมระยะยาวของประเทศ ชงตั้งกองทุน Sustainability Equity Fund ให้สิทธิประโยชน์ภาษีคล้าย LTF จูงใจคนออมเงิน เร่งพัฒนาทำให้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนที่มีประสิทธิภาพ

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่าภาคตลาดทุนมีข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศให้มีการพัฒนาในด้านตลาดทุนทั้งฝั่งดีมานด์ มีแนวคิดการเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการออกกองทุนรวมใหม่เป็นรูปแบบกองทุน Sustainability Equity Fund โดยมีรูปแบบคล้ายกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ยกเลิกไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจะมีแรงจูงใจในการลงทุนด้วยการให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี

 

โดยกองทุนใหม่จะมีการออกแบบให้เป็นกองทุนที่ตอบโจทย์ภาพรวมความต้องการและเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจของประเทศ โดยกำหนดให้สิทธิการลดหย่อนทางภาษีคล้ายกับ LTF ซึ่งกำหนดนโยบายให้ลงทุนตลาดหุ้นไทยเท่านั้น แต่จะมีการเพิ่มเงื่อนไขกำหนดหลักเกณฑ์กลุ่มหุ้นที่จะเข้าลงทุนดังนี้

 

  1. กำหนดให้ลงทุนหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET THSI (SETTHSI) ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนปีล่าสุดซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในบริษัทที่มีนโยบายการทำธุรกิจแบบยั่งยืน

 

  1. กำหนดให้ลงทุนในหน่วยลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ที่ออกขายโดยรัฐบาล เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนของรัฐบาลในการนำไปใช้ลงทุนต่อในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศโดยไม่ต้องกู้ยืมเงิน

 

  1. กำหนดให้ลงทุนในอุตสาหกรรม New S-Curve ที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการพัฒนาหรือผลักดันในอนาคต

 

“หากดำเนินนโยบายแบบนี้เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ข้อแรกเป็นการสนับสนุนให้คนมาออมมากขึ้นผ่านตลาดหุ้น เพื่อให้มีเงินเพียงพอใช้หลังเกษียณ และข้อสอง กลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพที่รัฐบาลสนับสนุนก็มีโอกาสเติบโต ส่วนข้อมูลการซื้อขายตอนนี้เห็นชัดเจนว่าหลังไม่มีกองทุน LTF ปริมาณการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันลดลงไปค่อนข้างเยอะ”

 

เนื่องจากแม้ปัจจุบันจะมีกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) มาทดแทน แต่อาจยังไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการทั้งหมดของผู้ลงทุน เพราะในแง่ของวงเงินที่ใช้เพื่อลดหย่อนภาษียังน้อย อีกทั้งสิทธิในการลดหย่อนของวงเงิน SSF ยังถูกนำไปนับรวมกับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีอื่นๆ ด้วย ทั้งกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ส่งผลให้ผู้ออมยังไม่ได้รับประโยชน์ในส่วนนี้

 

ขณะที่การลงทุน LTF ในอดีต ผู้ลงทุนจะสามารถได้สิทธิลดหย่อนเฉพาะแยกออกมาโดยไม่มีการนำไปนับรวมกับวงเงินลดหย่อนรวมสิทธิลดหย่อนของการลงทุนในกองทุนรวมประเภทอื่นๆ อีกทั้งยังสร้างแรงจูงใจในการออมเพื่อขยายฐานดึงดูดจำนวนนักลงทุนรายใหม่ๆ ให้หันมาออมเงินผ่านตลาดหุ้นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว เพราะปัจจุบันมีจำนวนนักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้นที่ยังน้อยเพียงประมาณ 3 ล้านราย และนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมเพียงประมาณ 2 ล้านราย ซึ่งมีจำนวนนักลงทุนบางส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่ด้วยระหว่างตลาดหุ้นกับกองทุนรวม

 

นอกจากนี้จะเสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุนประเภทใหม่ๆ ให้มีความครบถ้วนและหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจของประเทศที่ปัจจุบันยังไม่มีในประเทศไทย เช่น กองทุน Venture Capital (VC), Private Equity เพื่อลงทุนในกิจการที่ยังมีขนาดไม่ใหญ่แต่มีศักยภาพเติบโต รวมถึงกองทุนที่เข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีปัญหาเหมือนในต่างประเทศ

 

ส่วนในฝั่งของซัพพลายตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันถือว่าเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญ ตอบโจทย์ธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ยังต้องศึกษาเพื่อหาทางสนับสนุนในกลุ่มธุรกิจ SMEs หรือสตาร์ทอัพ ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในตลาดทุนได้ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับประเทศได้ และเพื่อเร่งพัฒนาทำให้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

 

“คิดว่าหลังรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศคงนำข้อเสนอเหล่านี้ร่วมพูดคุย ทำการศึกษาร่วมกันกับรัฐบาลเพื่อให้เข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดทุนทั้งในฝั่งของการส่งเสริมการออมระยะยาวว่ากองทุนควรอายุยาวแค่ไหน วงเงินลดหย่อนได้เท่าไร รวมถึงเป็นแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจที่มีศักยภาพเป็นอนาคตของประเทศ”

 

ด้าน พิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และรองประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่าต้องการเสนอให้รัฐบาลพัฒนาตลาดทุนใน 3 เรื่องหลัก เรื่องแรกคือเสนอให้มีนโยบายพัฒนาความสามารถการแข่งขันของตลาดทุนไทย เช่น ก่อนหน้านี้มีประเด็นที่รัฐบาลมีแนวคิดภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (Transaction Tax) ซึ่งถือเป็นตลาดหุ้นเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคที่เก็บภาษีส่วนนี้ ทำให้อาจกระทบต่อการแข่งขันของตลาดหุ้นไทยที่เคยเข้มแข็งอาจลดลงจากเดิม เนื่องจากในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นถือเป็นแหล่งลงทุนที่สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนทั่วไป และยังเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญของภาคธุรกิจเพื่อใช้สร้างการเติบโต รวมถึงการพัฒนาตราสารลงทุนใหม่ๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ

 

เรื่องที่สอง เสนอให้รัฐบาลเปิดระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (NDID) ซึ่งปัจจุบันกรมการปกครองเป็นผู้ดูแลข้อมูลในระบบส่วนกลางนี้ ให้ภาคเอกชนทั้งหมดเข้ามาร่วมใช้งานได้ด้วย ซึ่งหากสามารถทำได้จะช่วยให้กระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (KYC) ในการทำธุรกิจสามารถทำได้ง่ายขึ้น

 

เรื่องที่สาม เสนอให้ส่งเสริมให้ประชาชนออมในระยะยาวผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ คล้ายกับประเทศญี่ปุ่นหรือออสเตรเลีย เพื่อเพิ่มช่องทางในการลดภาระด้านงบประมาณที่จะใช้ดูแลประชาชนกลุ่มที่เกษียณผ่านการออมในกองทุนรวมรูปแบบต่างๆ โดยขณะนี้ FETCO มีแนวคิดในการเสนอการจัดตั้ง Sustainability Equity Fund ซึ่งมีเงื่อนไขบางส่วนคล้ายกับ LTF เดิม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising