ร้านอาหารญี่ปุ่นหันบุกตลาดเอเชีย หลังเจออุปสรรคเงินเยนอ่อนค่า-ต้นทุนพุ่งสูง ผู้บริโภคอ่อนไหวเรื่องการขึ้นราคา ด้าน ‘Sushiro’ ลุยเปิดสาขาใหม่ 60 แห่ง มากกว่าในญี่ปุ่นที่มีอุปสรรครอบด้าน
Nikkei Asia รายงานว่า จากการสำรวจโดย Japan Food Service Association พบว่าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศชะลอการขยายสาขา จึงไม่เห็นความเคลื่อนไหวของการเปิดร้านใหม่ๆ เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘เงินเฟ้อ’ ฆ่าซูชิ 100 เยน! Sushiro ประกาศขึ้นราคาในญี่ปุ่นเป็นจานละ 120-150 เยน หลังต้นทุนพุ่งสูงจนอั้นราคาไม่ได้แล้ว
- Sushiro ร้านซูชิสายพาน 100 เยนจากญี่ปุ่น ตั้งเป้าขยายร้าน 22-24 สาขาใน ‘เมืองไทย’ ช่วง 3 ปีต่อจากนี้
- ร้านโอมากาเสะทั่วโลกขาดแคลน ‘เชฟซูชิชาวญี่ปุ่น’ แย่งตัวกันอุตลุด ยิ่งได้ภาษาจะถูกเสนอค่าจ้างสูงถึง 2.2 ล้านบาทต่อปี
แต่ในทางกลับกัน ร้านอาหารเหล่านั้นได้มุ่งไปขยายสาขาร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศแทน โดยเฉพาะในเอเชียเพื่อรองรับความต้องการของตลาด และที่สำคัญยังมีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่ใกล้เคียงกับญี่ปุ่น
เช่นเดียวกับ Sushiro อยู่ภายใต้การบริหารงานของ Food & Life Companies นับเป็นร้านซูชิสายพานอันดับต้นๆ ในญี่ปุ่น ในช่วงกลางปี 2022 มีการเปิดร้านกว่า 60 สาขาในต่างประเทศ
ในช่วงเวลาเดียวกันก็เปิดร้านในญี่ปุ่นประมาณ 18-22 สาขา ถือเป็นครั้งแรกที่เปิดร้านในต่างประเทศมากกว่าการขยายในญี่ปุ่น และปัจจุบันมีร้านทั้งหมด 100 สาขาในต่างประเทศ โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของสาขาในญี่ปุ่นที่มีประมาณ 630 สาขา
ขณะที่ ฮิโรยูกิ โอกาโมโตะ ผู้อำนวยการของ Kura Sushi ร้านซูชิสายพานอันดับ 2 ของญี่ปุ่น คาดว่าจะเปิดตัวร้านอาหารแห่งแรกในประเทศจีน โดยมีเป้าหมายเปิดสาขาอย่างรวดเร็ว 100 สาขาภายในระยะ 10 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ยังวางแผนขยายสาขาไปในตลาดอเมริกาและประเทศอื่นๆ ให้มีสาขา 400 แห่งภายในปี 2030 ซึ่งจะทำให้สัดส่วนร้านของ Kura Sushi ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 40% ของร้านค้าทั้งหมด
รวมถึง Zensho Holdings เจ้าของร้านอาหาร Hama-sushi วางแผนเปิดสาขา 469 แห่งในต่างประเทศ โฟกัสไปที่ตลาดจีน เพราะมีโอกาสการเติบโตสูง ขณะที่ในญี่ปุ่น มีแผนเปิดร้าน 124 แห่ง
อย่างไรก็ตาม หลังจากโควิดในญี่ปุ่นคลี่คลายลง ผู้คนออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน ร้านอาหารเริ่มกลับมาฟื้นตัวพร้อมเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่ในญี่ปุ่นยังต้องเจออุปสรรคเรื่องเงินเยนอ่อนค่า รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้กำไรร้านอาหารลดลง และไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ เพราะผู้บริโภคในญี่ปุ่นมีความอ่อนไหวเรื่องราคา
ขณะที่การทำตลาดในต่างประเทศอุปสรรคน้อยกว่า เพราะผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถกำหนดเรื่องของราคาขายได้ตามอัตราเงินเฟ้อ
อ้างอิง: