หากเราพูดถึงเกมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกมนุษย์เราทุกคนอาจจะคิดถึงมหกรรมกีฬาโอลิมปิก แต่ถ้าเราเจาะลึกลงไปถึงเกมกีฬาเพียงนัดนัดเดียวที่มีเม็ดเงินมาเกี่ยวข้องมากที่สุดในโลก ก็คงจะหนีไม่พ้นการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลรอบชิงชนะเลิศหรือศึก Super Bowl
ซูเปอร์โบวล์ สำหรับอเมริกันชนถือว่าเป็นกิจกรรมสำคัญประจำปี ครอบครัวจะกลับมาเจอกันประดุจวันรวมญาติ เพื่อนๆ ที่เชียร์ทีมเดียวกันจะนัดกันไปดูเกมที่บ้านของใครคนหนึ่ง ร้านอาหารและผับบาร์ต่างเต็มไปด้วยผู้คนที่จะแห่เข้ามาเชียร์ทีมโปรด บรรดาเครื่องดื่ม อาหาร รวมไปถึงแอลกอฮอล์จะขายดีขึ้นมากกว่าหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนในประเทศไทยเราก็จะมีการรวมตัวของผู้ที่ชื่นชอบอเมริกันฟุตบอลอยู่เป็นประจำ แม้ว่าเวลาการถ่ายทอดสดจะเป็นเช้าตรู่วันจันทร์ (ค่ำๆ วันอาทิตย์ตามเวลาอเมริกา) แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราเหนื่อยหน่ายกับการแหกขี้ตาตื่นเลยแม้แต่น้อย
แต่กับผู้ที่ไม่ได้ชื่นชอบในเกมกีฬา ซูเปอร์โบวล์ก็ยังมีความน่าสนใจอยู่เต็มเปี่ยม สินค้าทุกชนิดจะเลือกเปิดตัวโฆษณาตัวใหม่เจ๋งๆ กันในการถ่ายทอดสด หนังฮิตหลายๆ เรื่องก็จะเปิดตัวเทรลเลอร์กันตอนนี้ด้วย เพราะนี่คือช่วงเวลาที่มีเรตติ้งทีวีดีที่สุดของปี ถึงแม้ราคาสำหรับการออนแอร์โฆษณาของซูเปอร์โบวล์ปีนี้จะอยู่ที่ 5 ล้านดอลลาร์ต่อ 30 วินาทีก็ตาม!! นอกจากนั้นอีกหนึ่งไฮไลต์ของงานซูเปอร์โบวล์สำหรับผู้ที่ไม่ได้อินกับการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลก็คงหนีไม่พ้นการแสดงระหว่างพักครึ่ง หรือ Super Bowl Halftime Show นั่นเอง
การแสดงระหว่างพักครึ่งของซูเปอร์โบวล์นั้นมีมาตลอดนับตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการแข่งขันในปี 1967 แต่ในช่วงเกือบๆ 30 ปีแรกนั้นมักจะเป็นการแสดงของมาร์ชชิ่งแบนด์มหาวิทยาลัยหรือศิลปินเล็กๆ เท่านั้น เรียกได้ว่าไม่มีอะไรแปลกใหม่หรือน่าสนใจควรค่ากับการเป็นไฮไลต์
แต่ทุกๆ อย่างก็มาเปลี่ยนแปลงกันในปี 1991 ครับ
ระหว่างปี 1985-1990 นั้น เรตติ้งของซูเปอร์โบวล์ยังจัดได้ว่าสุดยอด แต่มันไม่ใช่ตัวเลขที่เติบโตขึ้นในระดับที่น่าพอใจ เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ที่ไม่ได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดจะงัดเอาทีเด็ดของช่อง เช่นหนังฮิตหรือรายการพิเศษขึ้นมาเพื่อช่วงชิงเรตติ้ง หลังจากผู้จัดการแข่งขันได้ทำการบ้านอย่างละเอียด พวกเขาก็เห็นได้ว่าซูเปอร์โบวล์นั้นทำได้ดีมากๆ กับผู้ชมอายุ 25 ปีขึ้นไป แต่กับเด็กๆ วัยรุ่นนั้นจัดได้ว่าไม่ดีเท่าไรนัก
ปี 1991 ซึ่งเป็นซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 25 จึงเป็นปีที่ทาง NFL ทำการแก้เกมได้อย่างยอดเยี่ยม และการแก้เกมครั้งนั้นทำให้พวกเขาครองเรตติ้งอันดับหนึ่งในอเมริกามาตลอด เพราะฮาล์ฟไทม์โชว์ในปี 1991 เป็นครั้งแรกที่มีศิลปินป๊อปชื่อดังขึ้นแสดง และศิลปินกลุ่มนั้นคือบิดาแห่งบอยแบนด์ยุคใหม่อย่าง New Kids on the Block นั่นเอง พอน้องๆ หนูๆ วัยรุ่นได้เห็นฮีโร่ของพวกเขาขึ้นไปร้องเพลง Step By Step กับ This One’s for the Children ช่วงพักครึ่งในปีนั้นเท่านั้นแหละ กลายเป็นว่าพวกเขาต่างเฝ้ารอว่าใครจะมาทำหน้าที่นี้ในปีต่อๆ ไป และนับตั้งแต่ปีนั้น ก็กลายเป็นว่าช่วงเวลา 12 นาทีระหว่างพักครึ่งที่เราเรียกกันว่าซูเปอร์โบวล์ฮาล์ฟไทม์โชว์กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนทั้งโลกเฝ้ารอ
สำหรับใครที่อาจจะไม่เคยได้ชม ผมขออนุญาตเลือกการแสดงที่น่าจดจำขึ้นมาแนะนำสัก 5 ครั้ง เป็นการอุ่นเครื่องก่อนที่เราจะได้ดู จัสติน ทิมเบอร์เลก ที่จะขึ้นแสดงในปีนี้ครับ
ปี 1993 ซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 27: Michael Jackson
เมื่อ NFL ประกาศออกไปว่าราชาเพลงป๊อปคือคนที่จะขึ้นแสดงในระหว่างพักครึ่งผู้คนก็ดีใจกันอย่างบ้าคลั่ง เพราะนี่คือการรวมเอากีฬาอันดับหนึ่งของประเทศเข้ากับป๊อปสตาร์ที่เป็นหมายเลขหนึ่งของโลกมนุษย์ ซึ่งสองปีก่อนหน้านั้นเพิ่งจะออกอัลบั้ม Dangerous ซึ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
การแสดงเริ่มขึ้นด้วยการที่ไมเคิลตัวปลอมโผล่ขึ้นมาด้านบนสกอร์บอร์ดของสนามทั้งสองฝั่ง เต้นหมุนไปมาให้คนกรี๊ดเล่น ก่อนที่ไมเคิลตัวจริงจะโผล่ขึ้นมายืนเท่อยู่บนเวที คนดูกรี๊ดเสียสติครับจุดนี้ หลังจากยืนซึมซับเสียงกรี๊ดอยู่ราวๆ 30 วินาที ไมเคิลก็เริ่มเต้นไปพร้อมกับเพลงแรกของการแสดงอย่าง Jam ทันที ก่อนจะลิปซิงก์ไปอย่างต่อเนื่องกับเพลงซูเปอร์ฮิตไม่ว่าจะเป็น Billie Jean, Black or White และ We Are the World ก่อนจะจบด้วยเพลง Heal the world ที่เขาถูกรายร้อมไปด้วยเด็กๆ
ถึงแม้เราจะรู้ว่าเป็นการลิปซิงก์ แต่การปรากฏกายของตำนานอย่าง ไมเคิล แจ็คสัน และความไหลลื่นของโชว์ก็ทำให้สื่อหลายๆ สำนักจัดการแสดงฮาล์ฟไทม์โชว์ของเขาอยู่ในอันดับต้นๆ เสมอมา
https://www.youtube.com/watch?v=EKnEIYOAALo
ปี 2002 ซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 36: U2
ตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา ผมคิดว่าการเลือกศิลปินนั้นมีความจับฉ่ายและไร้ซึ่งความขลังพอสมควร และมันก็น่าจะเป็นแบบนั้นต่อไปจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ September 11 เมื่อกันยายนปี 2001 ในเวลานั้นมีหลายๆ เสียงออกมาสนับสนุนให้ยกเลิกการจัดฮาล์ฟไทม์โชว์ รวมไปถึงยกเลิกการแข่งซูเปอร์โบวล์ไปเลยเพื่อเป็นการไว้อาลัย แต่ก็มีหลายเสียงมากกว่าว่าในช่วงเวลาน่าเศร้าแบบนี้ ชาวอเมริกันต่างต้องการสิ่งที่จะมาเยียวยาหัวใจ และทำให้ทุกๆ อย่างกลับมาสดใสเหมือนเดิม การแข่งขันกีฬาประจำชาติจึงยังต้องมีต่อไปเช่นเดียวกับฮาล์ฟไทม์โชว์
NFL รู้ดีว่าต้องมีการทริบิวต์ให้กับเหตุการณ์ 9/11 พวกเขาจึงติดต่อไปยัง Clear Channel Entertainment (ปัจจุบันคือ Live Nation บริษัทจัดคอนเสิร์ตอันดับ 1 ของโลก) ให้มาช่วยโปรดิวซ์การแสดงในปีนี้ให้ออกมายิ่งใหญ่สมเกียรติ ซึ่งผลที่ออกมาจัดได้ว่าเป็นโมเมนต์สุดประทับใจที่ไม่มีใครคาดคิด
U2 คือศิลปินที่ขึ้นแสดงในปีนั้น คลาสและบารมีของพวกเขานั้นมีแน่นอน แต่หลายๆคนก็ยังแอบเคืองว่าโชว์ที่ทริบิวต์ให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 9/11 แต่ทำไมเลือกศิลปินไอริช แต่ความน่ากังขาทุกอย่างก็จบไปเมื่อ U2 ขึ้นอินโทรเพลง Where the Streets Have No Name พร้อมๆ กับฉายชื่อผู้เสียชีวิตทุกคน! ย้ำว่าทุกคน! ขึ้นบนจอขนาดยักษ์ที่สูงไปถึงหลังคาของลุยเซียนาซูเปอร์โดม ผมจำได้ว่าระหว่างที่นั่งดูอยู่นั้นน้ำตาก็ไหลออกมาด้วยความทึ่งและอึ้งในเวลาเดียวกัน ทั้ง NFL และ U2 ได้ใจชาวอเมริกันไปเต็มๆ ในวันนั้น
ปี 2007 ซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 41: Prince
นี่คือการแสดงฮาล์ฟไทม์โชว์ที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ซูเปอร์โบวล์ในความคิดเห็นส่วนตัวของผมครับ
ปี 2007 ซูเปอร์โบวล์จัดขึ้นที่ไมอามี ฟลอริดา โดยสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนได้เกิดขึ้น นั่นก็คือฝนครับ ตามการพยากรณ์อากาศในวันที่มีการแข่งขันจะมีฝนตกลงมาห่าใหญ่
หลายๆ คนไม่เชื่อเพราะตั้งแต่มีการแข่งซูเปอร์โบวล์มาหลายต่อหลายปี มีเพียงแค่ไม่กี่ครั้งที่ฝนได้ตกลงระหว่างเกม และก็ยังเป็นฝนแบบกะปริดกะปรอย ไอ้เรื่องที่จะตกลงมาอย่างหนักนั้นเป็นแทบไม่ได้ แต่กรมอุตุฯ ของอเมริกานั้นโคตรแม่นครับ ฝนมาตามนัดจริงๆ
ศิลปินที่ขึ้นแสดงในปีนั้นก็ดันขึ้นชื่อเรื่องความเรื่องมากและอารมณ์ศิลปินซะด้วย NFL นั้นเสียวอยู่พอสมควรว่าปรินซ์จะไม่ขึ้นโชว์ท่ามกลางสายฝน Bruce Rodgers โปรดักต์ชันดีไซเนอร์ของเวทีซึ่งกำลังนอยด์สุดๆ วิ่งไปบอกปรินซ์ที่กำลังนั่งทำสมาธิอยู่ในห้องพักว่าฝนกำลังตกครับนาย
ปรินซ์เดินไปที่หน้าต่างเพื่อดูสภาพอากาศแล้วเดินกลับมาบอกบรูซว่า…
“ทำให้ตกแรงขึ้นอีกได้มั้ย” ครับ ปรินซ์ไม่กลัว ปรินซ์จะเล่น และกำลังจะสร้างโมเมนต์ที่สุดคลาสสิก
ฝนยังไม่หยุดตกอย่างที่พยากรณ์อากาศได้บอกไว้จริงๆ และปรินซ์ก็ขึ้นโชว์ท่ามกลางสายฝนจริงๆ อย่างที่เขาบอกเอาไว้ หนึ่งในสิ่งที่ทาง NFL ขอจากศิลปินทุกคนที่ขึ้นเล่นฮาล์ฟไทม์โชว์คือ การขอให้เล่นกับแบ็กกิ้งแทร็กครับ คือร้องสดได้ แต่ดนตรีต้องเป็นแบ็กกิ้งแทร็กเท่านั้น เนื่องจากทางโชว์ดีไซเนอร์จะได้คิวไฟกับแสงสีตามจังหวะเพลง อันนี้เป็นอันเข้าใจได้นะครับ เพราะโชว์ใหญ่ขนาดนี้แสงสีเสียงต้องเป๊ะ แต่ปรินซ์บอกว่าแบ็กกิ้งแทร็กได้ แต่ขอเขาร้องและเล่นกีตาร์สดๆ ได้มั้ย? ตอนแรกนั้น NFL บอกว่าไม่ยอม จะให้ร้องสดอย่างเดียว แต่ปรินซ์ยังยืนยังว่าถ้าไม่ให้เล่นกีตาร์สด ไปหาคนอื่น สุดท้าย NFL ก็ต้องยอม และปรินซ์ก็ได้โซโล่กีตาร์ได้อย่างหนักหน่วงสมกับที่เขาต้องการ
ปรินซ์เปิดโชว์ด้วยเพลง Let’s Go Crazy ซึ่งก็เครซีสมชื่อ แฟนๆ ท่ามกลางสายฝนเต้นกันลืมตาย จากนั้นก็มีอีกหลายเพลงฮิตทั้งออริจินัลและคัฟเวอร์ ซึ่งทั้งหมดถูกเรียงร้อยมาอย่างลงตัว และเพลงสุดท้ายในโชว์ของเขานั้นต่างเป็นเพลงที่ทุกๆ คนรวมทั้งผมที่นั่งอยู่หน้าจอทีวีต้องการ
เพลงเพลงนั้นมีชื่อว่า Purple Rain
ต่อให้ NFL กับ Live Nation แน่แค่ไหน ผมว่าพวกเขาก็ไม่สามารถนัดแนะคิวกับพระพิรุณให้ประทานฝนลงมาตามต้องการได้ครับ ฝนมันมาของมันเองจริงๆ แล้วมันก็ดันมาตกได้ลงตัวอย่างน่าขนลุก อินโทรเปียโนดังขึ้นท่ามกลางเสียงฟ้าร้อง เสียงกรี๊ดดังขึ้นทั่วสนามเรย์มอนด์เจมส์สเตเดียม ผู้ชายที่อยู่กลางเวทีเริ่มร้องเพลงที่ชื่อว่า Purple Rain ท่ามกลางไฟสีม่วงที่สาดส่องไปทุกทิศทางและสายฝนที่ตกลงมาหนักขึ้นตามที่เขาขอไว้ในตอนแรก
น้ำตาไหลครับ
ปี 2009 ซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 43: Bruce Springsteen and The E Street Band
หากจะมีศิลปินสักคนที่เป็นตัวแทนชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานอเมริกัน ซึ่งเป็นทาร์เก็ตหลักของซูเปอร์โบว์ลแล้วละก็ ศิลปินคนนั้นเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจาก บรูซ สปริงส์ทีน นักร้องชื่อดังที่เติบโตมากับไลฟ์สไตล์อเมริกันดรีมคนนี้ แต่งเพลงได้โดนใจคนหมู่มากรวมถึงมีการแสดงที่สุดยอด ผมยังแปลกใจเลยว่าทำไมต้องรอถึง 43 ปีกว่าบรูซจะได้มาเล่นในงาน
แต่ 43 ปีไม่สายครับ เพราะบรูซจัดเต็มจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดในช่วงอินโทร ซึ่งทั้งฮาและปลุกใจในเวลาเดียวกัน
“12 นาทีต่อจากนี้พวกนายจะได้รับพลังงานและความสะใจจากพวกเรา The E Street Band!!!! แต่ก่อนอื่นพวกนายช่วยถอยออกมาไกลๆ จากชามนาโชส์!! วางปีกไก่ที่กำลังกินลงก่อน!!! แล้วเปิดเสียงทีวีบ้านคุณให้ดังที่สุด!!!”
ประโยคด้านบนแสดงให้รู้เลยครับว่า บรูซรู้จักซูเปอร์โบวล์และธรรมชาติของคนอเมริกันขนาดไหน
เพลงที่ถูกเล่นในวันนั้นเป็นเมดเลย์เพลงฮิตทั้งใหม่และเก่า ซึ่งทุกๆ คนรู้จักเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น Tenth Avenue Freeze-Out ที่เปิดโชว์ได้ดีมากๆ เพราะมีอินโทรที่ยาวนานเหมาะกับการบิลด์ให้คนคึกคัก รวมไปถึง Born to Run เพลงฮิตตลอดกาล Working On a Dream ซิงเกิลล่าสุดในขณะนั้น และปิดท้ายด้วย Glory Days เพลงที่เกี่ยวกับเบสบอล แต่บรู๊ซเอาใจ NFL ด้วยการเปลี่ยนเนื้อเพลงทั้งหมดให้เกี่ยวกับอเมริกันฟุตบอล
สำหรับผมแล้วนี่คือฮาล์ฟไทม์โชว์ที่ทรงพลังมาก และเปี่ยมไปด้วยคาแรกเตอร์ของอเมริกันชนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาครับ
ปี 2015 ซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 49: Katy Perry
เป็นซูเปอร์โบวล์ที่แสนเจ็บปวด เนื่องจากทีมที่ผมเชียร์ Seattle Seahawks นั้นพ่ายแพ้ในวินาทีสุดท้าย แต่สิ่งที่ทำให้ผมจดจำการแข่งขันในปีนั้นได้แม่นยำไม่ใช่ความผิดหวัง แต่เป็นความประทับใจกับฮาล์ฟไทม์โชว์ ซึ่งในตอนแรกนั้นผมไม่ได้คาดหวังอะไรสักเท่าไร
ทุกๆ ครั้งที่มีศิลปินรุ่นใหม่ขึ้นแสดงผมจะมองบนแล้วทำหน้าเบื่อๆ เนื่องจากผมคิดว่าการที่คุณจะขึ้นแสดงฮาล์ฟไทม์โชว์ได้นั้นคุณต้องอยู่มานาน มีบารมี และเป็นตำนานของวงการเพลง ซึ่ง เคที เพอร์รี ยังไม่มีสักอย่างที่ผมว่ามา แต่สิ่งที่เธอมีคือความสด ความบ้าพลัง และความป๊อป ซึ่งซูเปอร์โบวล์ขาดหายไปหลายปี
การแสดงเริ่มต้นด้วยเคทีในชุดสีทองสลับประกายเพลิงขี่สิงโตยักษ์ ผมซึ่งไม่ได้อินอะไรนักหนาถึงกับร้อง เฮ้ยยยย!! เอางี้เลยเหรอ!!??
หลังจากนั้นเคทีก็แสดงให้เห็นว่าเธอเป็นร็อกเกอร์อย่างแท้จริง เพราะถึงแม้เพลงของเธอจะเบสอยู่บนดนตรีป๊อป แต่ท่าทางกับน้ำเสียงของเธอนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการแสดงสด เพลง Roar ที่เธอเลือกมาร้องเปิดนั้นเหมาะกับการอุ่นเครื่องอย่างยิ่ง และเมื่อถึงเพลง I Kissed A Girl ที่ได้ เลนนี แครวิตซ์ มาแจมนั่นแหละ เคทีถึงได้ปล่อยพลังสัตว์ป่าออกมาอย่างแท้จริง ก่อนจะพาเราไปลั้นลาบนชายหาดกับ California Gurls และดำดิ่งลงไปกับ Get Ur Freak On และ Wok it ที่มีเจ๊แม่อย่าง มิสซี เอลเลียต มาแจม
และเพลงปิดโชว์ก็เป็นเพลงไหนไม่ได้นอกจากเพลงสุดฮิตของเธออย่าง Firework ซึ่งเธอขึ้นไปยืนอยู่บนแพลตฟอร์มเล็กๆ ที่บินไปทั่วสนามโดยเสียงไม่สั่นแม้แต่น้อย
ในบรรดาฮาล์ฟไทม์โชว์ของซูเปอร์โบวล์ ผมว่าโชว์ของเคทีนี่แหละที่ทำได้หลากหลายที่สุดอย่างลงตัว และทำให้ผมซึ่งไม่ได้คาดหวังใดๆ กับโชว์นี้ประทับใจขึ้นมาได้อย่างมาก