×

ผู้เสียชีวิตและผู้ฆ่าตัวตายจากโควิด-19 กราฟชีวิตสองเส้นที่ความหนา-บางไม่เท่ากัน

25.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • กราฟแต่ละเส้นควรมี ‘จุดอ้างอิง’ ว่าถ้าไม่มีมาตรการในการควบคุมโรคแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะถ้าไม่มีมาตรการต่างๆ จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จะมากกว่าจำนวนผู้ฆ่าตัวตายอย่างมาก
  • การนำกราฟสองเส้นนี้มาเปรียบเทียบกันโดยมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้ไม่สามารถโน้มน้าวประชาชนอีกส่วนหนึ่ง (และอาจรวมถึงรัฐบาล) ได้ เมื่อรัฐบาลประสบความสำเร็จในการกดกราฟจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ลงได้ สิ่งที่ต้องทำคู่กันก็คือกดกราฟอีกเส้นให้ลงไปกว่านี้ เพราะตัวเลขที่เห็นล้วนเคยมีลมหายใจมาก่อน

กราฟสองเส้นวิ่งคู่ขนานกันจากต้นเดือนเมษายน 2563 จนมาบรรจบกันที่ตัวเลข 38 ในวันที่ 21 เมษายน 2563 เส้นบนคือ ‘จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมจากโควิด-19’ ส่วนเส้นล่างคือ ‘จำนวนผู้ฆ่าตัวตายสะสม*’ ซึ่งมีเครื่องหมายดอกจันขยายความต่อว่าเป็นจำนวนที่รวมทั้งคนที่เสียชีวิต + ไม่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย และต้องเข้าไปอ่านรายละเอียดในแถลงการณ์เพิ่มอีกว่าเป็นการรวบรวม ‘ข่าว’ การฆ่าตัวตายที่สื่อมวลชนระบุว่าเป็นผลกระทบจากนโยบายและมาตรการของรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน

 

ผู้วิจัยสรุปจากกราฟนี้ว่า “จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายมีจำนวนไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลับให้ความสำคัญเฉพาะการเสียชีวิตจากโควิด-19 โดยตรงดังที่มีการแถลงข่าวรายวัน การประกาศใช้มาตรการอย่างเข้มงวด การทุ่มเททรัพยากรอย่างมหาศาล แต่แทบไม่ให้ความสำคัญต่อผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากนโยบายหรือมาตรการของรัฐ การฆ่าตัวตายเป็นโศกนาฏกรรมที่สามารถป้องกันได้ หากรัฐบาลมีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ”

 

THE STANDARD ได้นำกราฟของโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปทำซ้ำให้น่าสนใจและเผยแพร่ต่อเป็นวงกว้าง ทว่าเป็นที่น่าเสียดายที่กราฟนี้ไม่สามารถโน้มน้าวประชาชนบางส่วนให้คล้อยตามได้ ดังจะเห็นได้จากในการแสดงความเห็นท้ายโพสต์ว่ามีการถกเถียงกันระหว่างประชาชนสองฝ่าย คือฝ่ายหนึ่งที่เห็นว่ากราฟเส้นล่างผิด กับอีกฝ่ายที่ให้ความสำคัญกับกราฟเส้นล่าง หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือข้อเสนอของผู้วิจัยกลับถูกลดทอนด้วยข้อจำกัดของกราฟ

 

 

 

กราฟชีวิตและข้อเสนอของผู้วิจัย

ก่อนที่จะถกเถียงกันต่อ ผมไม่แน่ใจว่าทุกคนจะรู้สึกเหมือนกันกับผมหรือไม่ว่ากราฟนี้แสดง ‘จำนวนผู้เสียชีวิต’ ทำให้ ‘ตัวเลข’ ที่เห็นในกราฟเป็นตัวเลขที่เคยมีชีวิตมาก่อน ความสูงหนึ่งหน่วยแทนชีวิตของ ‘คน’ หนึ่งคน ไม่ใช่ตัวเลขที่แทนจำนวนนับ ‘สิ่งของ’ ที่เมื่อสูญเสียไปหนึ่งหน่วยแล้วก็สามารถสร้างทดแทนขึ้นมาใหม่ได้ 

 

ดังนั้นไม่ว่ากราฟเส้นใดก็ไม่ควรเพิ่มขึ้น เพราะหนึ่งในตัวเลข 38 x 2 = 76 นั้นอาจเป็นคนในครอบครัวของเรา เป็นคนในหมู่บ้าน ในอำเภอ หรือในจังหวัดเดียวกับเรา หรือบางทีอาจเป็นตัวเราในอนาคต

 

ผมจะขอข้ามกราฟนี้ไปก่อน – ข้ามไปที่ข้อเสนอที่คณะผู้วิจัยเขียนประกอบกราฟนี้ หรือในทางกลับกันคือคณะวิจัยใช้กราฟนี้ประกอบข้อเสนอ 4 ประการ ได้แก่

 

1. รัฐบาลควรตระหนักว่าการฆ่าตัวตายเป็นผลจากมาตรการในการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด แต่กลับไม่มีมาตรการในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงทีและครอบคลุมประชาชนที่เดือดร้อนทุกกลุ่ม 

 

2. รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนการให้เงินเยียวยาในโครงการเราไม่ทิ้งกันให้กว้างขวางและรวดเร็วบนฐานคิด ‘ช่วยเหลือให้ถ้วนหน้า’ ไม่ใช่ ‘สงเคราะห์เพียงบางคน’ 

 

3. ในพื้นที่ที่ไม่ได้มีความเสี่ยงในระดับสูง จำเป็นต้องมีการ ‘เปิดพื้นที่แบบมีการจัดการ’ เพื่อให้ประชาชนพอมีพื้นที่ทำมาหากินเลี้ยงชีวิตของตนเองและครอบครัวได้ 

 

4. รัฐบาลต้องยกเลิกการใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่สร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น (สามารถอ่านรายละเอียดได้ในเฟซบุ๊ก ‘คนจนเมืองในภาวะวิกฤตโควิด-19’)

ท่านผู้อ่านอาจไม่เห็นด้วย เห็นด้วยเพียงบางส่วน หรือเห็นด้วยกับทั้ง 4 ข้อเลยก็ได้ เพียงแต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่ากราฟนี้ไม่ใช่ภาพแทนของข้อเสนอทั้งหมด

 

กราฟเส้นบน: ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19

ทั้ง ‘จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมจากโควิด-19’ และ ‘จำนวนผู้ฆ่าตัวตายสะสม*’ ที่แสดงในกราฟต่างก็เป็นผลมาจากมาตรการในการควบคุมโรคอย่างเข้มงวดทั้งคู่ คือโดยสมมติฐานแล้ว แนวโน้มจำนวนผู้เสียชีวิต ‘โดยตรง’ จากโควิด-19 น่าจะลดลง เพราะผู้ป่วยลดลง ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิต ‘โดยอ้อม’ จากโควิด-19 น่าจะเพิ่มขึ้น เพราะผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ดังนั้นการจับมาเปรียบเทียบคู่กันเช่นนี้อาจทำให้มีความลำเอียงหรือ ‘สองมาตรฐาน’ ในการแปลผลได้ โดยเฉพาะถ้าบอกว่าจำนวนทั้งคู่ไม่แตกต่างกัน 

 

กราฟแต่ละเส้นจึงควรมี ‘จุดอ้างอิง’ ว่าถ้าไม่มีมาตรการในการควบคุมโรคแล้วจะเป็นอย่างไร หรืออาจเปรียบเทียบ ‘ก่อน’ และ ‘หลัง’ มีมาตรการว่ามีการเปลี่ยนแปลงเท่าไร โดยจากการคาดการณ์การระบาดระยะที่ 3 ของกรมควบคุมโรค กราฟเส้นบนจะสูงขึ้นกว่านี้มากถ้าไม่มีมาตรการใดเลย จำนวนผู้ป่วยที่แสดงอาการจะเป็นหลักล้านคน หากคูณอัตราป่วยตายในปัจจุบันประมาณ 2% (ซึ่งถือว่าควบคุมโรคได้ดี ทำให้โรงพยาบาลมีทรัพยากรเพียงพอในการรักษาผู้ป่วย) จะมีตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมเป็นหลักหมื่นคน

 

จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมจากโควิด-19 ที่เห็นในกราฟนี้จึงเป็นตัวเลขที่ลดลงมาจากจุดอ้างอิงเยอะมากแล้ว ซึ่งถ้าจะวัดกันเป็นจำนวน สัดส่วนของจำนวนผู้ฆ่าตัวตายสะสมก็น่าจะเทียบกันไม่ติดเลย และจะเห็นว่ามาตรการที่เข้มงวดสามารถรักษาชีวิตได้มากกว่า (ก็จะมีคำถามตามมาอีกว่า ‘ใครควรจะเสียชีวิตมากกว่ากัน’ ระหว่างผู้ป่วยโรคโควิด-19 กับผู้ป่วยโรคแทรกซ้อนจากมาตรการของรัฐ) ดังนั้นสำหรับผมแล้วไม่อยากให้คณะผู้วิจัยนำมาเปรียบเทียบกัน ยิ่งในเชิงระบาดวิทยา ผู้ที่เสียชีวิตจากโรคจะเริ่มป่วยมาแล้ว 2-8 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น ทำให้ไม่สามารถเทียบกันวันต่อวันได้

 

กราฟเส้นล่าง: ผู้เสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนจากมาตรการของรัฐ

กราฟเส้นล่างในกราฟต้นฉบับไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าเป็นผู้ฆ่าตัวตายที่มีสาเหตุมาจากมาตรการในการควบคุมโรค การระบุแต่เพียงว่า ‘ผู้ฆ่าตัวตาย*’ ทำให้ผู้ที่เห็นกราฟนี้นึกถึงจำนวนผู้ฆ่าตัวตายทั้งหมด ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับสถิติอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จจากเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิตย้อนหลัง 5 ปี (ล่าสุดที่มีข้อมูลคือปี 2561) มีค่ามัธยฐานเท่ากับ 6.32 รายต่อแสนประชากร เมื่อคูณ 66 ล้านคนกลับเข้าไป เท่ากับประมาณ 4,000 ราย หรือเฉลี่ย 12 รายต่อวัน หากคูณ 21 วัน เท่ากับ 252 ราย ทำให้ตัวเลขในกราฟน้อยกว่า ‘จุดอ้างอิง’ ก่อนมีมาตรการควบคุมโรคเสียอีก

 

แต่ถ้าอ่านวิธีการรวบรวมข้อมูลของคณะผู้วิจัยที่ใช้ ‘สื่อมวลชน’ เป็นแหล่งข้อมูล ย่อมทำให้จำนวนผู้ฆ่าตัวตายน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะการฆ่าตัวตายบางเหตุการณ์ไม่ถูกรายงานเป็นข่าว ส่วนการระบุความเชื่อมโยงกับนโยบายหรือมาตรการของรัฐก็เป็นข้อจำกัดของการศึกษาที่คณะผู้วิจัยไม่ได้ปกปิด แต่ผู้เห็นกราฟจะต้องคำนึงถึงความถูกต้องของข้อมูลในการแปลผลด้วย เพราะการฆ่าตัวตายมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นถ้าคิดเสมือนว่าตัวเลขในกราฟเป็นจำนวนผู้ฆ่าตัวตายที่ ‘เพิ่มขึ้น’ จากจุดอ้างอิงก็จะคิดเป็น 15% (38/252) ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว

 

ทั้งนี้การฆ่าตัวตายเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของผู้ได้รับผลกระทบเท่านั้น (ยอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ก็เช่นกัน) ในรายงานสรุปผลการสำรวจ ‘คนจนเมืองในภาวะวิกฤตโควิด-19’ และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 ยังได้สรุปข้อค้นพบที่สำคัญใน 3 ประเด็น ได้แก่

 

1. สภาพความเป็นอยู่และการดูแลตนเองของคนจนเมือง เช่น ที่พักไม่มีพื้นที่ให้กักตัวเองที่บ้านได้ (44%) 

 

2. ผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ไม่สามารถประกอบอาชีพ ทำให้รายได้ลดลงเกือบทั้งหมด (60%) ส่งผลให้ไม่มีเงินชำระหนี้สินรถยนต์ ผ่อนบ้าน (54%) จ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัย (26%) หรือซื้ออาหารประจำวัน (30%) นอกจากนี้ยังประกอบอาชีพที่ไม่สามารถปรับตัวมาทำงานที่บ้านได้ (79%)

 

3. การเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐ เช่น โครงการรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ส่วนใหญ่ (66%) อยู่ระหว่างรอผล ณ วันที่ตอบแบบสอบถาม แสดงให้เห็นว่ามาตรการเยียวยาของรัฐออกมาล่าช้า บางส่วนไม่ได้ประโยชน์จากการผ่อนปรนหนี้สินของสถาบันการเงิน เพราะเป็นหนี้นอกระบบ (30%)

 

กราฟสองเส้นที่มีความหนา-บางไม่เท่ากัน

ผมเข้าใจว่าคณะผู้วิจัยแถลงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลผ่านพื้นที่สาธารณะ โดยใช้กราฟนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้น้ำหนักกับกราฟเส้นบนหรือกราฟเส้นล่างมากกว่ากัน ในแง่หนึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของประชาชนเพื่อร่วมกันกดดันรัฐบาลให้เร่งดำเนินมาตรการเยียวยาที่เป็นนโยบายออกมาอย่างเร่งด่วน และนโยบายใหม่ที่ครอบคลุมประชาชนมากขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่ง การนำกราฟสองเส้นนี้มาเปรียบเทียบกันโดยมีข้อจำกัดหลายอย่างก็ทำให้ไม่สามารถโน้มน้าวประชาชนอีกส่วนหนึ่ง (และอาจรวมถึงรัฐบาล) ได้

 
แต่เมื่อรัฐบาลประสบความสำเร็จในการกดกราฟเส้นบนจนมีแนวโน้มดีขึ้นแล้ว ด้วยมาตรการในการควบคุมโรคทั้งระดับบุคคลและระดับชุมชน-สังคม สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันก็คือกดกราฟอีกเส้นไม่ให้พุ่งสูงขึ้นไปกว่านี้ เพราะตัวเลขที่เห็นต่างก็เป็นตัวเลขที่เคยมีลมหายใจมาก่อนทั้งสิ้น

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising