ถ้าให้เอ่ยชื่อนักการเมืองหญิงของประเทศนี้ เชื่อว่าชื่อของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ น่าจะเป็นหนึ่งในชื่อนักการเมืองที่หลายคนจะไม่พลาดเอ่ยถึง แต่ถ้าหากได้ยินใครเรียกแบบง่ายๆ ว่า ‘หญิงหน่อย’ ที่มักปรากฏตามพาดหัวข่าว โปรดจงเข้าใจตรงกันว่าหมายถึงคนเดียวกันนี้
ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ชื่อของสุดารัตน์แจ้งเกิดในสนามการเลือกตั้ง ได้เป็น ส.ส. กรุงเทพมหานครสมัยแรก สังกัดพรรคพลังธรรม นับเป็นจุดเริ่มต้นทางการเมืองในฐานะผู้แทนราษฎร แต่เชื่อว่าความคิดอ่านและความสนใจด้านนี้ซึมซับในสายเลือดมานานก่อนหน้านั้น เพราะเธอเกิดและเติบโตในครอบครัวที่มีบิดาเป็นนักการเมือง
สุดารัตน์เคยสร้างตำนานเป็นนักการเมือง ของพรรคพลังธรรมเพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับการเลือกตั้งในปี 2539 ก่อนที่ในปี 2541 จะย้ายมาบุกเบิกพรรคไทยรักไทยเป็น ‘รุ่นก่อตั้ง’ เคยลงสมัครเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ผ่านการเป็นรัฐมนตรีมาหลายกระทรวง ผ่านการยุบพรรค ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ผ่านอุปสรรคขวากหนามต่างๆ มานับไม่ถ้วน กระทั่งวันนี้สังกัดอยู่ที่ ‘พรรคเพื่อไทย’ อันมีฐานรากมาจากพรรคไทยรักไทยในอดีต
วันที่ THE STANDARD ได้รับการยืนยันคิวสัมภาษณ์จากสุดารัตน์ เราบอกกับเธอว่าคำถามที่จะยิงตรงไปคือคำถามที่ประชาชนคาใจในมิติต่างๆ ภายใต้เวลาอันจำกัดเท่าที่จะสามารถพูดคุยกับเราได้
และต่อไปนี้คือ ‘สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์’ ในอีก 25 ปีต่อมา
นี่คือสิ่งที่อยากจะบอกว่ามันเป็นทางรอด และเป็นโอกาส ถ้าเราไม่ทำเช่นนี้ ไม่นานแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ของเราจะต้องมีต่างชาติเขามาเช่า และทิ้งไว้ให้เราเพียงสารพิษในดิน
หลังการรัฐประหาร ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน 3 ปีนี้เหมือนพักร้อนนักการเมือง คุณใช้ชีวิตทำอะไรบ้าง
หลังการรัฐประหารก็ยังคงทำงานการเมือง แต่เปลี่ยนรูปแบบออกไป แต่ถ้าให้พูดถึงการทำงาน ต้องบอกว่าตัวเองทำงานมาตั้งแต่สมัยมัธยม มีร้านเป็นของตัวเอง สนุกสนานตามประสาวัยรุ่น ขยายร้านจนใหญ่โต แล้วก็ไปเป็นภาระในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ทำงานจนมาถึงตอนที่ทำการเมืองก็ยุ่งมากเลย
ส่วนการทำงานการเมืองนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่อายุ 30 ต้นๆ พอมาถึงช่วง 3 ปีนี้เราก็อยากจะกลับไปใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่เราขาดหายไป ช่วงแรกนั้นก็ใช้เวลาพาคุณพ่อคุณแม่ไปท่องเที่ยว เพราะสนิทกับคุณพ่อคุณแม่มาก ที่ผ่านมาเวลาอยู่ด้วยกันจะทำตัวเหมือนเด็กๆ แบบก่อนไปทำงานก็หอมแก้ม เย็นกลับมาจากทำงานก็หอมแก้ม กอดกัน แต่เราก็มีเวลานิดเดียว พอมีเวลาได้โอกาสก็พาท่านไปเที่ยว เป็นเรื่องที่ได้ทำชดเชย ต่อมาคุณแม่ก็เริ่มป่วย อีกสักปีกว่าก็เสีย ตรงนั้นก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตจริงๆ จากชีวิตที่ไม่เคยทุกข์เลย จากชีวิตที่ไม่เคยมีความเครียดหนักๆ เลย ก็มาเป็นตอนนั้นแหละที่รู้จักทุกข์และเครียดมากจนถึงขนาดที่ต้องกินยานอนหลับ เพราะไม่เคยกินยานอนหลับมาก่อน วันแรกที่กินก็ไปหลับอยู่ในตู้เสื้อผ้า ทุกคนก็งงหมด นึกว่าเป็นลม เราก็ไม่ได้บอกครอบครัวว่าตอนนั้นเครียดเรื่องคุณแม่ ก็ไปขอยามาจากหมอ แต่หมอก็ให้มาน้อยมาก ด้วยความกลัวที่ว่าจะไม่หลับ เราก็กินไปเกินกว่าที่เขาสั่ง ตอนนั้นไปเปิดตู้เสื้อผ้าเหมือนว่าจะไปเอาอะไรสักอย่าง แล้วก็ไปล้มอยู่ในตู้เสื้อผ้า ก็ตกใจกันมาก ทั้งบ้านนึกว่าเป็นอะไร ตอนที่คุณแม่ป่วยหนักก่อนที่จะเสียคือช่วงที่เริ่มทุกข์ที่สุดในชีวิต
ช่วงที่คุณแม่ป่วยนี่ คุณแม่ป่วยนาน ญาติผู้ใหญ่ก็เอาหนังสือธรรมะมาให้สวดมนต์ให้คุณแม่ แต่เราเรียนที่เซนต์โยเซฟคอนเวนต์ สวดมนต์ไม่เป็น แต่ก็นับถือศาสนาพุทธ เพราะว่าคุณยายสอนมา เด็กๆ เราก็ท่องไป ไม่ได้เข้าใจอะไร ก็เลยไม่ได้ศึกษาศาสนาพุทธอย่างลึกซึ้ง
แต่เมื่อคุณแม่ป่วย คนเขาก็เอาหนังสือมาให้อ่านให้คุณแม่ฟัง สวดให้คุณแม่ฟัง เราเลยได้เรียนไปด้วย จึงเป็นที่มาของความสนใจ อยากรู้มากขึ้น จึงได้ไปเรียนที่บัณฑิตวิทยาลัย สาขาพุทธศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร. ตอนนี้ก็กำลังทำดุษฎีนิพนธ์ กำลังจะจบแล้ว
ดังนั้นหลังรัฐประหารก็ใช้ชีวิต มีความสุขกับสิ่งที่ไม่เคยเจอ คือการที่เราเข้าไปทำงานศาสนาแล้วก็ได้รู้ว่ามันสุข จะว่าเราปลีกวิเวกจนเข้าสังคมไม่ได้ก็ไม่ใช่ เรายังคงใช้ชีวิตปกติ เพียงแต่มีหลักมากขึ้น รู้ว่าทำอย่างไรให้เรามีความสุข ทำอย่างไรให้เราพบกับความเจริญจากหลักธรรมคำสอน
เห็นว่าช่วงที่ไปเรียนได้เข้าไปทำโครงการกับเกษตรกรด้วย เล่าให้ฟังหน่อย
พอไปเรียนก็ได้ไปทำงานที่มันถูกจริตเดิม แล้วก็เป็นเรื่องคาใจเดิม คือช่วงก่อนรัฐประหารปี 2549 ได้ไปอยู่กระทรวงเกษตรฯ เกือบๆ 1 ปี มาตอนนี้ก็ได้ไปช่วยทำโครงการหมู่บ้านศีล 5 พยายามที่จะให้ทุกหมู่บ้านรักษาศีล 5 คือคอนเซปต์ของการลดละเลิกอบายมุข จริงๆ พระท่านก็ทำในเรื่องของการให้คนมีศีลมีธรรม แต่คนเราจะมีศีลมีธรรมไม่ได้หรอก หากว่าปากท้องยังหิวอยู่ ยังต้องหวังกับหวย เครียดมายังต้องไปกินเหล้าอยู่ จึงอยากให้เราไปช่วยที่การสร้างอาชีพ และบอกได้ว่านี่เป็นเรื่องที่คาใจ คือเมื่อตอนอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ประมาณ 1 ปี เราก็พยายามคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรหายจากความยากจน
พอได้ไปดูแล้วเราก็ได้เห็นปัญหาที่ว่ามันต้องปรับโครงสร้างการเกษตร เรียกได้ว่าต้องปฏิรูปเลย คือต้องการให้เกษตรกรช่วยเหลือตัวเองได้ จากเดิมที่เราเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมเมื่อหลายปีก่อน ดังนั้นสินค้าที่เป็นการเกษตรจึงเป็นการผลิตแบบจำนวนมาก แล้วขายเป็นคอมมูนิตี้ เกษตรกรจึงกำหนดราคาซื้อขายเองไม่ได้ ต้องมีพ่อค้าคนกลาง จึงกลายเป็นปัญหามาจนถึงทุกวันนี้ เราเลยคิดว่าจริงๆ แล้วมันต้องทำให้คนตัวเล็ก หรือเกษตรกรเป็นคนตัวเล็กที่แข็งแรง ปรากฏว่ามันก็เกิดการรัฐประหารปี 2549 ไปก่อน มันจึงกลายมาเป็นเรื่องคาใจ เป็นสิ่งที่ยังอยากทำ
เริ่มจากเรื่องข้าวก่อน พระท่านก็ทำเรื่องคุณธรรม ศีล 5 ลดละเลิกอบายมุข เราก็ไปทำเรื่องของการผลิต การเพิ่มมูลค่า และการนำออกมาทำการตลาด เราเรียกว่า ‘ข้าวสานธรรม’ เริ่มตั้งแต่การผลิต คอนเซปต์ของเราก็คือเมื่อลดละเลิกอบายมุขแล้วก็ลดละเลิกสารเคมีด้วย และจะเป็นออร์แกนิกได้เมื่อผ่าน 3 ปี มีบางที่ก็ได้ผ่านแล้ว บางที่ก็กำลังอยู่ในการดำเนินการ แล้วเราก็เข้าไปช่วย
เราได้เห็นปัญหาเลยว่าชาวบ้านเกิดมาทั้งชีวิตไม่เคยขายข้าวสาร ขายแต่ข้าวเปลือกให้โรงสี เราสีข้าวขายเองโดยที่ใช้วัดเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากเราไปทำโครงการศีล 5 วัดเขาก็มีลาน มีอาคาร เราก็มาทำเป็นยุ้งฉางได้ บางที่เขาก็มีโรงสีชุมชน บางที่ไม่มี เราก็ขอภาคเอกชนร่วมลงทุน สร้างเป็นโรงสีชุมชน ซึ่งเขาจะขัดสีไม่ได้ขาวจั๊ว แต่จะเป็นข้าวที่มีวิตามินดี และเป็นข้าวที่คนถือศีลเป็นคนผลิต ร่วมใจกันลดการใช้ปุ๋ย ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง คุณภาพข้าวก็ดีขึ้น อาจจะยังไม่ใช่ออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์และขัดสีน้อย เพราะใช้โรงสีชุมชน จึงเป็นข้าวที่มีวิตามินอุดม และเราก็ใช้ตรงนี้เป็นจุดขาย เป็นการเพิ่มมูลค่าภายใต้แบรนด์ ‘ข้าวสานธรรม’ จับมาทำแพ็กเกจให้ดูสวยงาม บอกคุณสมบัติว่าข้าวแต่ละชนิดที่มาจากแต่ละที่มีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนกัน เช่น ข้าวมาจากจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นดินภูเขาไฟ ก็จะมีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ข้าวที่มาจากมหาสารคามที่ลุ่มน้ำเค็ม ทำนาเกลือ ข้าวก็จะมีความอร่อย มีแร่ธาตุที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเราก็เอาสตอรีเหล่านี้มาเพิ่มมูลค่า บวกกับความที่ว่าเป็นข้าวที่ผลิตมาจากคนที่รักษาศีล ลดละเลิกการใช้สารเคมี ทำเรื่องนี้มาร่วม 4 ปีแล้ว ก็เป็นฝันของเราที่จะทำในเรื่องการแก้ไขปัญหาเกษตรกร
ปัญหาเกษตรกรมันยืดเยื้อเรื้อรังในประเทศเรามาก จะแก้ไขอย่างไร
ปัญหาเรื่องเกษตรมันไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่เราขายไม่ได้ เพราะเขาไม่ค้าขายกับเรา เพราะเรายังอยู่ในการรัฐประหาร ไม่ใช่เพราะค่าเงินบาทแข็งอย่างเดียว ไม่ใช่เพียงแค่ 2-3 ประเด็นนี้ แต่มันเป็นที่ว่าเราต้องปรับตัวด้วย
วันนี้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือในภาคเกษตรมีแต่แรงงานที่เป็นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุทั้งนั้น อย่างที่บอก ถ้าเราไปบ้านนอก เราจะได้เจอแต่คนแก่กับเด็กเล็ก คนหนุ่มสาวเข้ามาทำงานในเมืองหมด คนมีกำลังเรียนก็เข้ามาทำงานในเมือง คนไม่มีกำลังเรียนก็เข้ามาเป็นแรงงานในเมือง ฉะนั้นพอเป็นอย่างนี้แล้วมีข่าวว่าจะมีการให้เช่าที่ มันก็เหมือนเราจะเดินตามทางประเทศเพื่อนบ้านที่แผ่นดินทองของเรา ที่ที่ควรจะหวงแหน ที่ที่ควรจะอุดมสมบูรณ์ก็จะถูกต่างชาติเข้ามาเช่าเพื่อที่จะปลูกพืชส่งไปให้ประเทศเขากิน หรือส่งไปขายต่างประเทศ สิ่งที่เหลืออยู่บนดินก็คือสารพิษที่เขาทิ้งไว้ให้ เหมือนกับที่ประเทศเพื่อนบ้านโดน เรากำลังจะเดินไปสู่จุดนั้น ถ้าเราไม่แก้อะไรเลย
เราเลยเอาความรู้เก่าที่เคยทำแผนการปฏิรูปเกษตรมาทำโมเดลเล็กๆ โมเดลหนึ่ง ประเด็นของโลกในตอนนี้กำลังพูดถึงเรื่องของ Food Security กับ Food Safety เขากำลังแสวงหาอาหาร เพราะประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นประเทศผู้ผลิตถูกภาวะโลกร้อนทำลาย ฉะนั้นเรื่องของอาหารก็เริ่มไม่มั่นคงแล้ว ต่อมาคือความปลอดภัยของอาหาร ประเทศของเราเป็นประเทศที่มีสารเคมีน้อย แม้ว่าจะใช้ปุ๋ย ใช้ยา แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นก็ถือว่ายังน้อย เรายังสามารถกู้ได้
และวันนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าเราไม่ทำอะไรเลยคือ หนึ่ง ถ้าแรงงานคนหนุ่มสาวไม่กลับมา เหลือแต่ผู้ใหญ่ พ่อแม่สอนลูกให้ไปทำอย่างอื่น รอพ่อแม่ตาย ขายที่ดิน อย่ากลับมาทำ เพราะยิ่งทำยิ่งจน ยิ่งทำยิ่งเจ๊ง ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ เพราะฉะนั้นแรงงานในภาคเกษตรจึงมีแต่คนแก่เลี้ยงหลานที่เป็นเด็กเล็ก นี่คือข้อที่อันตรายแล้ว เท่ากับว่าเมื่อคนรุ่นนี้เสียชีวิต ที่ดินเหล่านี้ก็อาจไปเป็นของนายทุนต่างชาติเพื่อที่จะใช้ผลิตสินค้าไปป้อนเขา แล้วก็เหลือสารพิษไว้
ปัญหาที่สอง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วมีกฎหมายให้เช่าที่ดินได้ก็จะยิ่งทำให้แผ่นดินทองของเรามันหมดไป แต่ตอนนี้ยังมีโอกาสสำหรับประเทศอย่างเราที่มีความโดดเด่นทางด้านการเกษตร อย่างที่บอกว่าเขากำลังแสวงหาความปลอดภัยทางด้านอาหาร เราต้องรีบพลิกบทบาทของประเทศ เราจะไปสู้ทางอุตสาหกรรม เราไม่มีคน ไม่มีทางสู้เขาได้ แต่เรามีคนอยู่ภาคเกษตร แต่เราจะทำอย่างไรที่จะสามารถทำให้เขาผลิตสินค้าเกษตรให้กลายเป็นสินค้าคุณภาพ ขายราคาแพง นี่คือโอกาส และเทรนด์ของคนรุ่นใหม่เขาจะใส่ใจในเรื่องของสุขภาพ กินอาหารเพื่อสุขภาพ กินอาหารคลีน และออกกำลังกาย เมื่อเทรนด์มาเช่นนี้ เราก็ต้องเปลี่ยนจุดขายของประเทศให้ผลิตอาหารคุณภาพ ไม่ต้องขายเยอะ ขายราคาแพง แล้วก็น้อมนำเอาแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้กับพื้นที่ ใช้พื้นที่ส่วนที่เหลือไว้ปลูกกินเอง ทำไว้ขายสักพื้นที่หนึ่ง ทำเป็นของแพง ของที่มีคุณภาพไปเลย
แต่พอจะปรับเปลี่ยนเช่นนี้ เราไปทำงานกับเกษตรกรมา 4 ปีก็ได้เห็นว่ามีแต่คนแก่ พอมีแต่คนแก่แล้วเราอยากให้เขาทำเรื่องแปรรูป หรือแม้แต่แพ็กเกจจิ้ง เขาก็ไม่มีทางไป ไม่เข้าใจ ไม่รู้จะไปขายใคร แล้วพอหันมาดูในเมือง เด็กรุ่นใหม่นี่เก่งมาก เป็นคนรุ่นใหม่ที่รู้เทคโนโลยี มีรสนิยมดี รู้ทันโลก แต่เมื่อเป็นอย่างนี้เขาก็ไม่อยากมาทำงานประจำ ไม่อยากเป็นมนุษย์เงินเดือน เขาก็อยากแสวงหาอาชีพของตัวเอง ก็ไปเปิดร้านขายของกันอยู่ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเขาไม่มีวัตถุดิบ แต่เกษตรกรเขามีวัตถุดิบ แต่ขาดไอเดีย ไม่มีช่องทาง ไม่มีครีเอทีฟ ถ้าเราสามารถเอามาแมตช์กันได้ สองสิ่งนี้ก็จะเกื้อกูลกัน ทำให้เกษตรกรอยากจะให้ลูกหลานเกษตกรกลับมาสานต่อ เราจะต้องมีตัวอย่างก่อน ถ้าหากเราสามารถทำอย่างนี้ได้ ลูกหลานเกษตรกรเขาก็กลับไป
นี่คือสิ่งที่อยากจะบอกว่ามันเป็นทางรอด และเป็นโอกาส ถ้าเราไม่ทำเช่นนี้ ไม่นานแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ของเราจะต้องมีต่างชาติเขามาเช่า และทิ้งไว้ให้เราเพียงสารพิษในดิน
แล้วรูปธรรมที่คิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ ได้คิดเริ่มต้นไว้อย่างไรบ้าง
เรามีไอเดียที่จะตั้งเป็นกองทุนขึ้นมา จากเรื่องข้าวสานธรรมที่เอาผลิตผลของเกษตรกรมาแปรรูป มาเพิ่มมูลค่าก็ทำมาเยอะแล้ว แต่ด้วยกำลังของมูลนิธิที่จะไปจัดการสินค้าของคนอื่น มันก็ไม่สามารถที่จะไปเกินกว่าที่ทำอยู่เพียง 20-30 หมู่บ้านที่ทำอยู่นี้ได้
อยากจะขายไอเดียเรื่องกองทุน Next AGRI คือกองทุนที่จะนำเด็กรุ่นใหม่ไปจับคู่กับเกษตรกรที่ผลิตอะไรก็ตามที่เขาจะนำไปขาย และเราก็จะช่วยซัพพอร์ตในเรื่องของเงินทุน จะมีลักษณะคล้ายๆ กับ Venture Capital หรือการระดมทุนจากบริษัทต่างๆ และให้มีเจ้าภาพเป็นเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นธุรกิจของเขา เพราะฉะนั้นโครงการนี้จะเป็นการ Venture Capital สามฝ่าย ก็คือผู้ที่มาร่วมทุน เกษตรกร และเด็กรุ่นใหม่ สร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาและนำออกขาย เราก็จะเข้าไปช่วยเรื่องการตลาด ช่วยเรื่อง R&D ซึ่งเราจะมีมหาวิทยาลัยและบริษัทที่ทำเรื่องการแปรรูปสินค้าเข้ามาช่วยด้วย เป็น CSR มาทำด้วยกัน
ตอนนี้เราได้ไปเปิดตลาดที่จีน เปิดตลาดที่ญี่ปุ่น กองทุน Next AGRI นี้ก็จะเป็นโมเดลหนึ่ง ถ้าเราสามารถทำให้เห็นได้ว่าการที่เด็กรุ่นใหม่ กำลังหาแนวทาง เป็นคนเก่ง มีไอเดีย รสนิยมดี มาจับคู่กับผู้ผลิตซึ่งเป็นเกษตรกรผู้สูงอายุ แล้วช่วยนำสินค้าเหล่านี้ออกมาขายให้ได้ ลูกหลานเขาเห็นประโยชน์ก็จะมีระบบตามกัน และถ้าใครจะทำกองทุนตามคอนเซปต์นี้ ยิ่งทำออกมาเหมือนกันและมีจำนวนมากเท่าไรก็จะยิ่งดี
มองว่ามันเป็นแค่การจุดประกายจากคนตัวเล็กๆ มูลนิธิเล็กๆ ที่อยากจะทำในเรื่องนี้ นี่คือสิ่งที่อยากจะบอกว่ามันเป็นทางรอด และเป็นโอกาส ถ้าเราไม่ทำเช่นนี้ ไม่นานแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ของเราจะต้องมีต่างชาติเขามาเช่า และทิ้งไว้ให้เราเพียงสารพิษในดิน สองก็คือแรงงานที่มีคุณค่า คือแรงงานในภาคเกษตรนี้ก็จะหมดไป ดังนั้นถ้าไม่ทำตรงนี้มันจะเสียโอกาสมาก เสียโอกาสที่เทรนด์ของทั้งโลก ผู้คนทั้งโลกต้องการเรื่องของสุขภาพเป็นหลัก อาหารออร์แกนิกขายดี ขายแพง
ประเทศไทยควรจะเป็นแหล่งผลิตอาหารคุณภาพ แหล่งผลิตอาหารออร์แกนิกออกไปขายทั่วโลก แต่ถ้าให้เกษตรกรไปทำร่วมกับระบบราชการ มันไม่มีทางเป็นไปได้ จะต้องเป็นเด็กรุ่นใหม่ ช่วยออกแบบ วางแผนการตลาด ถ้าเขาสามารถทำให้คนตัวเล็กแข็งแรงได้ เราจะมีคนตัวเล็กเกิดขึ้นอย่างมาก เราจะรักษาแผ่นดินทองของเราไว้ได้ และเราจะได้โอกาสในการตักตวงรายได้จากต่างประเทศ จากประชากรของโลกที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพในปัจจุบันที่จะต้องมาซื้อสินค้าจากประเทศไทย
เราคือคนของความสำเร็จในอดีต แต่ความสำเร็จในอนาคตมันคือคนรุ่นใหม่ เราไม่ใช่คนของอนาคต แต่เรากำลังเอาคนในอดีตมาคิดให้กับคนในอนาคต
ทำไมถึงเชื่อในพลัง ‘คนรุ่นใหม่’ ขนาดนั้น แล้วหน้าตาของกลุ่มคนนี้เป็นอย่างไร
ต้องบอกว่าตัวเองเชื่อในพลังและความสามารถของคนรุ่นใหม่ การที่เราได้เห็นและสัมผัสคนรอบตัว บอกเลยว่าวันนี้คนรุ่นใหม่เก่งกว่าคนรุ่นเก่าเยอะ เขามีโอกาสเรียนรู้เยอะ แต่ก่อนนี้เราอยากรู้เรื่องอะไร เราต้องไปหาครู แต่เดี๋ยวนี้ไม่ว่าเรื่องอะไรเราก็สามารถค้นหาได้ในกูเกิล และคนรุ่นใหม่เขารู้โลก พวกเขาเกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว และเขาสามารถที่จะติดตามมันไปได้ คนรุ่นเราบางทีตามไม่ทันแล้ว ทั้งไอเดีย ทั้งความรู้ด้านเทคโนโลยี
เราต้องยอมรับและเชื่อในศักยภาพของคนรุ่นใหม่กับอนาคตของประเทศ ปล่อยให้คนรุ่นใหม่เขาทำ คนรุ่นเก่าเพียงแค่คอยประคับประคองเอาไว้ และคอยช่วยเหลือในเรื่องของประสบการณ์
ส่วนตัวเข้าใจ ‘คนรุ่นใหม่’ มากขนาดไหน
ด้วยความที่เราทึ่งในคนรุ่นใหม่ ก็ได้ไปเรียนหลักสูตรหนึ่ง คือเอาตัวเองไปเรียนกับเด็กเลย ไปคลุกคลีกับเขา เพราะเราอยากเรียนรู้ว่าเขาคิดอย่างไร และเมื่อได้เข้าไปเรียนรู้ก็ยิ่งอะเมซิงแต่ละคนเป็นนักธุรกิจสตาร์ทอัพที่ได้รางวัล และวิธีคิดของเขาเก่ง รู้เทคโนโลยี เหมือนเป็นพยัคฆ์ที่ติดปีก คนรุ่นเก่าบางทีไม่สามารถตามทันได้แล้ว
คิดอย่างไรกับการขีดเส้นให้อนาคตของพวกเขาต้องเดินตามแผนที่คนพยายามวางไว้ล่วงหน้า 20 ปี
ขอยืนยันคำพูดของเราที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า ไม่เห็นด้วย และกังวลกับกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี ไม่ได้อคติใดๆ แต่ในวันนี้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 นี้ได้กลายเป็นเครื่องพันธนาการที่จะทำให้ผู้บริหารประเทศไม่ได้มีอำนาจใดในการทำงานอย่างแท้จริง และยังมีกฎหมายอื่นที่มารัดไว้ให้ไม่สามารถทำอะไรได้อีก
ดังนั้นคนอื่นที่เข้ามาเป็นฝ่ายบริหารหลังเลือกตั้งนั้นจะสบายมาก เพราะเขาจะสามารถอ้างได้อย่างเดียวเลยว่าเขาไม่ให้ทำ ทำไม่ได้ กินเงินเดือนอย่างเดียว ฉะนั้นนักการเมืองรุ่นต่อไปจะไม่ต้องทำอะไร กินเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ไม่ก่อเกิดประโยชน์อะไรต่อประเทศชาติบ้านเมือง เพราะมันทำอะไรไม่ได้
การมีกรอบยุทธศาสตร์ชาติในขณะที่โลกเทคโนโลยีไปเร็วมาก แต่ก่อน 2 ปีเปลี่ยนมือถือเครื่องหนึ่ง เดี๋ยวนี้ปีหนึ่งออกมา 3 รุ่น ไอโฟนออก 2 รุ่นติดกัน ดังนั้นเทคโนโลยีมันเปลี่ยนเร็วมาก มันเกิดการ disrupt ขึ้นในทุกอย่าง ไม่เพียงแต่ในภาคธุรกิจ ไลฟ์สไตล์ของเรานั้นก็เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี
แต่เรากำลังเอาคนรุ่นอาวุโสไปเขียนอนาคตให้กับคนรุ่นใหม่ที่ไดนามิกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทั้งความคิด ทั้งเทคโนโลยี แค่ 3 ปียังไม่ไหว 20 ปีมันเป็นปัญหาแน่
ท่านรองนายกฯ วิษณุ ก็บอกมาแล้วว่าถ้าไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติจะติดคุก ถามว่ามันตอบโจทย์กันไหม ด้วยความเคารพ มันไม่ใช่ยุคสมัยที่จะไปคิดให้กับคนในอนาคต เราคือคนของความสำเร็จในอดีต แต่ความสำเร็จในอนาคตมันคือคนรุ่นใหม่ เราไม่ใช่คนของอนาคต แต่เรากำลังเอาคนในอดีตมาคิดให้กับคนในอนาคต แค่เทคโนโลยีเราก็ไม่รู้จักแล้ว และนี่จะเป็นสิ่งที่จะทำให้ประเทศเจริญยาก เป็นห่วงจริงๆ ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีอคติเลย
ในฐานะที่เรามีลูกเหมือนกัน เราก็อยากให้บ้านเมืองมีนักการเมืองที่ดี จะทำอย่างไรให้นักการเมืองดีๆ เข้ามา มันจะมีดีไม่ได้เลยถ้าคุณไปเขียนภาพว่าเป็นอาชีพของคนเลว คนดีที่ไหนจะเข้ามา
ช่วงหลังมานี้ ‘คนรุ่นใหม่’ กับการเมืองใหญ่แทบจะไม่เห็น ภาพลักษณ์นักการเมืองมันส่งผลต่อคนกลุ่มนี้อย่างไร
ต้องบอกว่าเป็นคำถามที่ตรงจุดมาก และเป็นสิ่งที่เราคิดอยู่ตลอด วันนี้ภาพนักการเมืองถูกทำให้เป็นอาชีพที่เลวร้าย อาชีพที่เป็นมหาโจร มันคือสิ่งที่เป็นปัญหาของส่วนรวมต่อไป
บางคนพูดว่าจะไม่เอา ไม่เป็นนักการเมือง นั่นเท่ากับว่าคุณจะไม่เอาระบบการปกครองแบบตัวแทนหรือเปล่า แต่คุณก็ยังเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้ง
ในขณะที่คุณบอกว่าเลือกตั้งแล้ว อาชีพนักการเมือง ผู้แทนคืออาชีพของคนเลว มันจะมีคนดีที่ไหนเข้ามาเป็นตัวเลือกให้เรา อันนี้ต้องแก้ก่อน
นักการเมืองก็เหมือนกับทุกอาชีพ มีทั้งคนดี และคนเลว ไม่มีคนดีทั้งหมดหรือเลวทั้งหมดในองค์กรนั้น และแม้ในหมู่โจรก็ยังมีโจรอย่างโรบินฮู้ด ดังนั้นมันไม่ใช่ว่าคุณคิดว่านักการเมืองเป็นคนเลวแล้วก็พูดสนุกกันไปใหญ่
ตรงนี้เราไม่ได้พูดเพื่อนักการเมืองเก่า แต่พูดเพื่อคนใหม่ที่อยากให้เข้ามา ในฐานะที่เรามีลูกเหมือนกัน เราก็อยากให้บ้านเมืองมีนักการเมืองที่ดี จะทำอย่างไรให้นักการเมืองดีๆ เข้ามา มันจะมีดีไม่ได้เลยถ้าคุณไปเขียนภาพว่าเป็นอาชีพของคนเลว คนดีที่ไหนจะเข้ามา อันนี้คือสิ่งที่ต้องแก้
เราต้องส่งเสริมคนดี อย่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 บอก แต่ในทุกวันนี้ยังไม่เห็นเลยว่ามีการปฏิรูปไหนที่จะทำให้เห็นว่ามันไม่ใช่อาชีพเพื่อคนเลว แต่เราต้องส่งเสริมให้เป็นอาชีพที่คนดีต้องนิยมเข้ามา เราเป็นคนส่งเสริมให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาในการเมืองตั้งแต่สมัยที่เริ่มทำงาน และอย่างที่บอกไป ส่วนตัวเป็นคนที่เชื่อในศักยภาพคนรุ่นใหม่ แม้เทคโนโลยียังไม่มา แต่ถ้าย้อนไปดูในสมัยที่ทำการเมือง เราได้พยายามสร้างคนรุ่นใหม่มาตลอด บอกเลยว่าต้องแก้ที่แนวคิดก่อน
คุณไปตัดสินไว้ว่าอาชีพนักการเมืองคือคนเลว คนที่อยู่ในการเมืองก็เสียหาย แต่ที่เสียหายต่อคือประเทศชาติ อนาคต คือมันจะหาคนดีเข้าอาชีพนี้ไม่ได้
ส่วนที่สองคือเราจะต้องส่งเสริม ทั้งในเรื่องของการปฏิรูปก็ยังไม่เห็นโครงการไหนที่จะส่งเสริมให้คนดีเข้ามา คนรุ่นใหม่เข้ามา วันนี้ผู้บริหารในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่เขาใช้คนรุ่นใหม่กันหมดแล้ว คนรุ่นเก่าก็เป็นพี่เลี้ยง ไม่ใช่ว่าคนรุ่นเก่าไม่ดี แต่เราต้องอยู่ด้วยกันอย่างเกื้อกูล เราต้องยอมรับว่าเรามีวิสัยทัศน์ เรามีประสบการณ์ แต่ความคิดริเริ่ม หรือการรู้โลกเทคโนโลยีเราไม่มี เราต้องรวมตัวกันให้สมบูรณ์ แต่คนรุ่นใหม่ต้องช่วยนำ เราเชื่ออย่างนี้
‘พรรคการเมือง’ ก็ไม่ได้เป็น ‘สถาบันการเมือง’ ที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นด้วยหรือเปล่า
นี่คือขั้นต่อไปที่จะพูดถึง จากขั้นแรกในแง่ของอาชีพ จากอาชีพต่อมาก็ต้องดูที่องค์กร สาขาอาชีพนี้อยู่ในองค์กรไหน ส่วนตัวจะพูดอยู่เสมอว่าพรรคการเมืองจะต้องปฏิรูปตัวเอง อย่างพรรคเพื่อไทย ที่เคยอยู่เป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งพรรคไทยรักไทยจนกระทั่งถูกตัดสิทธิ์การเมือง หลังจากเกิดมรสุมเช่นนี้แล้วต้องปฏิรูปตัวเอง ปฏิรูปจุดอ่อนทั้งหลายที่เขาเห็นว่าเป็นจุดอ่อน
ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องที่ใครผิดคนเดียว มันก็มีทั้งส่วนผิด ส่วนถูก ส่วนที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีก็มี ส่วนที่พลาดเองก็มี เราต้องเริ่มที่ตัวเอง กำจัดจุดอ่อนออกไป เสริมจุดแข็งตัวเอง ต้องชนะ เพราะว่ามันเป็นพรรคที่ตอบโจทย์ประชาชน แก้ปัญหาให้ประชาชนได้ ซึ่งเราต้องเสริมจุดแข็งตรงนี้ และกำจัดจุดอ่อนออกไปโดยที่เราไม่ต้องไปโทษอะไร
ถามตรงๆ แล้ว ‘จุดอ่อน’ ของพรรคเพื่อไทยคืออะไร
จุดอ่อนก็เป็นอย่างที่สังคมมองว่า หนึ่ง ต้องบอกว่าในสมัยที่เราทำงานอยู่ เรื่องของการครอบงำมันก็ไม่ได้มีมากเท่าไร เพียงแต่อย่างไรก็ตาม คนก่อตั้งก็ต้องเสียงดังหน่อย และทุกพรรคต่างก็มีผู้ก่อตั้ง มีผู้อาวุโสของพรรค บางครั้งเขาพูดอะไรเราก็ต้องเงี่ยหูรับฟัง แต่มันต้องยังอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงนะ นี่ก็อาจเป็นจุดอ่อนหนึ่ง
ส่วนจุดอ่อนที่เป็นเรื่องของความวุ่นวายหรือความขัดแย้งนั้นก็ต้องแก้ ถ้าเปรียบว่าองค์กรนี้เป็นบริษัทจำกัดที่จะต้องเปลี่ยนเข้าสู่การเป็นบริษัทมหาชน ความเป็นตัวตนของผู้ก่อตั้งหรือผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งก็ต้องถือว่าเขาก็มีคุณูปการที่ทำให้ขายสินค้าจากแบรนด์นี้ได้ ก็ต้องยอมรับว่าเขามีบทบาท แต่จากบริษัทจำกัดเข้าสู่มหาชน คนที่เคยเป็นเถ้าแก่ก็อาจจะไม่สามารถที่จะยึดความเห็นของตัวเองคนเดียว มันจะต้องเป็นไปตามระบบ มันจะต้องมีบอร์ด มีอะไรที่ต้องมาถกเถียงกันเพื่อหาตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับองค์กร
มันจะต้องมีระบบที่จะทำให้คนสบายใจว่าสิ่งที่ถกกันนั้นมันมีกรอบการเดิน และที่องค์กรนี้มันรุ่งเรืองมาได้ก็ต้องยอมรับว่าคนก่อตั้งเขามีส่วน แล้วก็กินบุญเก่าเขามา แล้วถ้าถามว่าใครแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้มากที่สุด คนก็จะคิดมาถึงตรงนี้
ดังนั้นเราก็แค่เอาความจริงมาอยู่บนระบบบริหารจัดการที่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และกฎหมาย ก็ไม่ได้ยากอะไร
อย่างไรก็ตาม วันนี้พรรคเพื่อไทยเขาก็ได้รับความนิยม มีคนที่ฝากความหวังไว้ ในเมื่อเป็นพรรคใหญ่ที่ยังได้รับความนิยมอยู่ เมื่อทำให้เป็นองค์กรที่แข็งแรง เราต้องปฏิรูปตัวเองเพื่อให้พรรคเป็นผู้ที่สามารถสนับสนุนให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้น นี่คือหน้าที่ของพรรคที่อาสาเข้าเป็นผู้สร้างโอกาสและสนับสนุนให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความสุขบนสังคมแห่งคุณธรรม
พูดมาขนาดนี้ พร้อมไหมที่จะเข้ามาเป็น ‘เบอร์ 1’ เพื่อทำเรื่องที่ว่ามาทั้งหมด
ขอตอบแบบนี้ว่า ถ้าเราจะปรับองค์กรกันจริงๆ ก็จะต้องเสนอเรื่องการปฏิรูปพรรคแน่นอน ในโอกาสที่เขาเปิดให้เราทำกิจกรรมทางการเมืองได้ก็จะได้หารือกัน พรรคมีมวลสมาชิกเยอะ ก็คงจะต้องดูว่าเราจะปฏิรูปแนวทางไหน เขาอาจไม่ได้เห็นด้วยกับแนวที่เราพูด แล้วมาดูกันว่าส่วนใหญ่เห็นแนวไหน
แล้วถ้ามีแนวทางว่าจะทำอะไรอย่างไร ก็ต้องไปแสวงหาผู้นำที่เข้ากับแนวทางที่เลือก
เราไม่ควรที่จะเลือกผู้นำก่อน เพราะถ้าแนวทางมันไม่เข้ากัน มันจะกลายเป็นการสร้างปัญหาความขัดแย้งขององค์กร มันจะต้องให้เข้ากับสภาพ
แล้วกระแสข่าวที่มีการวางตัวให้เป็น ‘เบอร์ 1’ มองอย่างไร
สำหรับเราเองก็เสนอว่าพรรคต้องประชุม ต้องคุยเรื่องของการปฏิรูปพรรคและแนวทางในการเดินงานต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้พรรคเป็นองค์กรการเมืองที่สามารถสนับสนุนการทำมาหากินให้กับชาวบ้านได้ ช่วยเหลือชาวบ้านได้
เมื่อมีทิศทางแล้วค่อยไปหาผู้นำ ขอยืนยันว่าเป็นเช่นนั้น ถ้าให้เราเสนอก็จะเสนอแบบนี้
นักการเมืองและพรรคการเมืองมีหน้าที่รักษาระบบประชาธิปไตย ไม่ใช่กวักมือเรียกอำนาจพิเศษมาแก้ไข และเมื่อมาถึงจุดหนึ่งในวันนี้ เราจะต้องรักษาเวทีประชาธิปไตย ปิดช่องทาง ช่องว่างของข้ออ้างว่านักการเมืองตีกัน เลยต้องมีอำนาจพิเศษ
ก่อนหน้านี้อาจารย์นิธิเขียนบทความวิจารณ์ตัวคุณหญิงว่าถ้าขึ้นมาเป็นผู้นำจริงๆ อาจจะเป็นผู้นำที่มีข้อเสียเปรียบ เพราะมีภาพลักษณ์เกี่ยวข้องกับทหาร
อันนี้ก็เป็นอย่างหนึ่งที่เราถูกคนอื่นพูดถึง และเราก็ปฏิเสธมาตลอด คือเราอาจมีความรู้จักกันบ้าง แต่เราไม่เคยมีแนวทางในด้านอุดมการณ์ที่ตรงกัน และเราก็อยู่กันคนละองค์กร
เราเดินอยู่คนละเส้นทาง ความรู้จักอาจจะมีบ้าง แต่ไม่ได้มีมากนัก ยืนยันว่าไม่ได้รู้จักอะไรกันมากมาย และที่แน่นอน อุดมการณ์เราก็ต่างกันอยู่แล้ว
เราเกิดมาบนฐานการเลือกตั้ง เราลงสู่สนามการเลือกตั้งมาทั้งชีวิต ไม่เคยอยากเข้ามาด้วยวิธีพิเศษใด
ขอยืนยันว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นระบบที่ทำให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันได้มากกว่าระบบอื่น
ขอยืนยันว่าระบบที่ดีที่สุดที่เราต้องรักษาคือประชาธิปไตย โดยในแบบของประเทศไทยนั้นมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และแน่นอนว่าการที่จะให้ประชาธิปไตยเดิน ไม่มีการเข้ามาขัดจังหวะ บ้านเมือง มันไปได้ เราต้องไม่เป็นเหยื่อของความขัดแย้ง วันนี้มันมีคนหากินกับความขัดแย้ง
ระบบพิเศษจะมาไม่ได้ ถ้าไม่สร้างผีของความขัดแย้ง วันนี้ส่วนตัวยังตำหนินักการเมือง และพรรคการเมืองหลายคนที่ยังไม่มองจุดนี้
นักการเมืองและพรรคการเมืองมีหน้าที่รักษาระบบประชาธิปไตย ไม่ใช่กวักมือเรียกอำนาจพิเศษมาแก้ไข และเมื่อมาถึงจุดหนึ่งในวันนี้ เราจะต้องรักษาเวทีประชาธิปไตย ปิดช่องทาง ช่องว่างของข้ออ้างว่านักการเมืองตีกัน เลยต้องมีอำนาจพิเศษ
หน้าตาการเลือกตั้ง หรืออนาคตหลังเลือกตั้งของประเทศนี้ คิดว่าจะเป็นอย่างไร
การเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้จะพูดเป็นสองทาง หนึ่งคือไม่ค่อยแน่ใจว่ามันจะเป็นการเลือกตั้งที่จะแฟร์แอนด์ฟรี เพราะมันจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทยที่อยู่ภายใต้มาตรา 44 และผู้ที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ยังคุมอยู่
สอง ความหวังที่ทุกคนตั้งไว้ว่าการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ แก้ไขปัญหาที่มันหมักหมมอยู่ในทุกวันนี้ได้ ส่วนตัวก็ไม่แน่ใจว่ามันจะแก้กันได้ เพราะอย่างที่ทราบว่ามันมีทั้งรัฐธรรมนูญ มีทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีทั้งกฎหมายลูกต่างๆ ที่ออกมารัดตรึงจนไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้
มีคนพูดถึง ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ หลังเลือกตั้ง ก็ต้องถามว่ามันคืออะไร ในเมื่อเรามีการเลือกตั้งแล้ว ส่วนตัวคงไม่สนับสนุนอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ได้มาตามวิถี จะมีพรรคการเมืองหรือมีนักการเมืองมาเป็นนายกฯ ก็ควรเป็นไปตามวิถีให้ประชาชนเลือก
ส่วนตัวคงรับไม่ได้ถ้าปล่อยให้เลือกตั้งแล้วจะมีระบบพิเศษเข้ามา ถึงแม้เราจะพูดอะไรไม่ได้มากก็ตาม แต่มันก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
โครงการ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ มีอะไรที่คาใจไหมกับสภาพปัจจุบัน
เรื่องของประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ปัจจุบันทำผิดคอนเซปต์ ผิดวัตถุประสงค์จนมันเสียหาย เราก็รู้สึกว่ามันเป็นเบบี้ที่เราทำมา เราอยากจะให้มันเป็นประโยชน์จริงๆ คือมันเป็นโครงการรักษาสุขภาพ ไม่ใช่แข่งกันรักษาฟรี แต่ตอนนี้มันกลายมาเป็นการแข่งกันรักษาฟรี
ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศตอนนี้มีทางออกไหม มีคำแนะนำอะไรบ้าง
ขณะนี้เศรษฐกิจมี 3 ส่วนที่เป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน หนึ่งคือการส่งออก ส่งออกแบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ ส่งออกอุตสาหกรรม ซึ่งตอนนี้ก็เหลืออย่างเดียวที่พอเชิดหน้าชูตาได้คือชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งชิ้นส่วนรถยนต์ในตอนนี้มันก็มีอีลอน มัสก์ มาแล้ว รถยนต์กำลังจะเป็นรถไฟฟ้ากันหมดแล้ว อีก 3 ปี 5 ปี ซึ่งตรงนี้การรองรับของเราก็ยังไม่มี ฉะนั้นเราก็จะเอาต์แล้ว
ส่งออกอีกอย่างคือพืชผลการเกษตรที่มีปัญหาความยุ่งเหยิงต่างๆ นี้มันก็ทำให้ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ รวมถึงราคาเงินบาทเราก็แข็ง ขายได้น้อย ราคาถูกกด ระบบไม่ได้ถูกแก้ ชาวนาก็แย่ เพราะฉะนั้นเครื่องยนต์ส่วนที่หนึ่งของการส่งออกนี้ก็แย่
ต่อมาเครื่องยนต์ส่วนที่สองคือการบริโภคภายใน เมื่อเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีกำลังในการบริโภคน้อยลง ดังนั้นก็หมดแรงที่จะไปจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจมันก็ไม่ดี หรือเครื่องยนต์ตัวที่สาม การท่องเที่ยว ก็ยังดีในช่วงที่มีคนจีนเข้ามา แต่มันก็เป็นเครื่องยนต์ที่เล็กที่สุด เมื่อเครื่องยนต์สองตัวดับ เหลือเครื่องยนต์ที่เล็กที่สุด มันก็ได้แค่พอเลี้ยงชีวิตเท่านั้นเอง และเทคโนโลยีก็ยังเปลี่ยนใหม่
ทุกวันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมาก เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเราก็เปลี่ยนแล้ว จากที่เราเคยมีชีวิตอีกแบบหนึ่ง วันนี้มันก็เปลี่ยน เพราะฉะนั้นที่มัน disrupt ตัวเองไปทุกวันมันก็มีอยู่เหมือนกัน คนที่ปรับตัวเท่านั้นที่จะอยู่รอด ประเทศไทยต้องปรับตัว
ทำไมจะต้องสนใจการเมือง ทำไมอ้างนักหนาว่า ‘ประชาธิปไตย’ สำคัญมาก
ก็อยากจะฝากถึงคนรุ่นใหม่ บ้านเมืองนี้เป็นของคุณ คุณจะต้องอยู่ในประเทศนี้ไปอีกยาวไกลมากกว่าคนรุ่นเรา (หมายถึงตัวเอง)
คุณจะต้องสนใจสิ่งที่เป็นไปและสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง การเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเรา กฎหมายต่างๆ สิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นมันคือตัวชี้อนาคตว่าจะทำให้เราอยู่ดีมีสุขหรือเปล่า เพราะแน่นอนว่าการที่เราอยู่ในบ้าน มันก็จะต้องมีกฎเกณฑ์ของบ้าน ในเมื่อกฎเกณฑ์ต่างๆ ออกมาแล้ว มันจะทำให้เรามีความสุขหรือเปล่า อาจไม่ได้รู้สึกโดยตรง แต่ท้ายที่สุดทุกอย่างมันก็ย้อนกลับมามีผลต่อตัวเราเองทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องปากท้อง เรื่องการทำมาหากิน เรื่องเศรษฐกิจ
ระบอบประชาธิปไตยจะทำให้เศรษฐกิจเสรีและสร้างความเท่าเทียม สร้างโอกาสให้กับทุกคน ให้ทุกคนมีอำนาจในการกำหนดความเป็นไปร่วมกันของประเทศผ่านผู้แทนที่เขาเลือก แต่เมื่อมันไม่ใช่ประชาธิปไตย มันจึงมีปัญหาเกิดขึ้น