วันนี้ (21 เมษายน) เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เรื่องเหล็กตกคุณภาพที่ผลิตโดย บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (SKY) ซึ่งโรงงานได้ถูกปิดไปเมื่อเดือนธันวาคม 2567 พบข้อพิรุธหลายประเด็นในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่อง ฝุ่นแดง ซึ่งได้ขยายผลไปสู่การเพิกถอนสิทธิประโยชน์ BOI และการสืบสวนร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยขอหมายศาลเข้าเก็บหลักฐานเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
ส่วนการทบทวนให้ยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็กที่ผลิตโดยกระบวนการใช้เตาอินดักชัน (Induction Furnace: IF) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ดึงสิ่งสกปรกออกจากน้ำเหล็กได้ยาก รวมทั้งเป็นเตาแบบระบบเปิด สร้างมลภาวะฝุ่นและก๊าซพิษจากการผลิตเหล็ก รวมถึงกระบวนการผลิตควบคุมคุณภาพให้สม่ำเสมอนั้นทำได้ยากนั้น
เอกนัฏกล่าวอีกว่า ประเทศไทยออกมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก. เหล็กข้ออ้อย มารับรอง IF ตั้งแต่ปี 2559 ผู้ผลิตอย่าง SKY ได้รับ มอก. ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งนับตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอย ออกตรวจสอบ ระงับการผลิตและจำหน่าย รวมทั้งอายัดเหล็กจากหลายบริษัทที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งทั้งหมดพบว่าเป็นเหล็ก IF รวมถึงทาง SKY ด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่ผลิตเหล็กจากเตา IF ไม่สามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบให้มีคุณภาพที่ดีได้
ประกอบกับปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ผลิตเหล็กด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า Electric Arc Furnace (EAF) ที่ใช้ไฟฟ้าในการหลอมเหล็ก จะสามารถดึงสิ่งสกปรกออกจากน้ำเหล็กได้ดีกว่าเตา IF และเป็นเตาแบบระบบปิด สร้างมลภาวะฝุ่นและก๊าซพิษน้อยกว่า ควบคุมคุณภาพได้ง่ายและสม่ำเสมอกว่า
เอกนัฏกล่าวว่า การหารือกับสมาคมผู้ผลิตเหล็กและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทราบว่าปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีกำลังการผลิตเหล็กด้วย EAF ถึง 4.3 ล้านตัน เพียงพอต่อความต้องการเหล็กเส้นในประเทศ 2.8 ล้านตัน จึงเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะพิจารณายกเลิกเหล็กที่ผลิตแบบ IF ซึ่งตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หากมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือระบบเศรษฐกิจ คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) สามารถพิจารณาและมีมติ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมสามารถออกประกาศกระทรวงปรับแก้ไขยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็ก IF ได้ โดยดำเนินการตามกรอบกฎหมายต่อไป
“ผมได้ลงนามในหนังสือ ขอให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธาน กมอ. บรรจุวาระเพื่อพิจารณาทบทวนยกเลิก IF แล้ว และจนกว่าจะยกเลิก IF ก็คงจะต้องออกสำรวจตรวจจับ เสมือนแมวจับหนู สู้แก้ปัญหาแบบถอนราก จะได้ไปจัดการอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญอื่นๆ ให้สิ้นซากต่อไป” เอกนัฏกล่าว