‘มาชูปิกชู’ (Machu Picchu) เป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก และยังคงเป็นที่ทำงานของนักวิจัยตั้งแต่ร้อยปีก่อนจวบจนปัจจุบัน หลักฐานการศึกษาครั้งใหม่พบว่า แท้จริงแล้ว มาชูปิกชู อาจไม่ได้ชื่อ มาชูปิกชู และมนุษย์อาจเรียกชื่อผิดมานานกว่าร้อยปี
การศึกษานี้ตีพิมพ์ในาวารสารวิชาการ Ñawpa Pacha: Journal of Andean Archaeology โดยนักวิจัยสรุปว่า เดิมชาวอินคาเรียกมาชูปิกชูว่า ‘Huayna Picchu’ (ฮวยนาปิกชู) ซึ่งเป็นชื่อของยอดเขาที่อยู่ใกล้กับที่ตั้งมากที่สุด ไม่ใช่ Machu Picchu ซึ่งเป็นชื่อภูเขาสูงที่สุด ใกล้เมืองโบราณ
Donato Amado Gonzales นักประวัติศาสตร์ สังกัดกระทรวงวัฒนธรรมเปรู (Cusco) และ Brian S. Bauer นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ชิคาโก (UIC) พวกเขาได้ศึกษาบันทึกภาคสนามดั้งเดิมของ Hiram Bingham นักสำรวจและวุฒิสมาชิกชาวอเมริกันผู้ค้นพบมาชูปิกชู รวมถึงแผนที่และเอกสารโบราณอื่นๆ และพบว่าในยุคนั้นมีคนรู้จักมาชูปิกชูน้อยกว่าที่คาด
“เราเริ่มต้นด้วยความไม่แน่นอนของชื่อซากปรักหักพัง หลัง Bingham ไปเยี่ยมชมครั้งแรก จากนั้นจึงตรวจสอบบันทึก เอกสาร และแผนที่หลายฉบับที่พิมพ์ออกมาก่อนที่ Bingham จะไปเยือนซากปรักหักพัง” Bauer ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาของ UIC กล่าว “มีข้อมูลสำคัญที่บ่งชี้ว่าเมืองอินคาจริงๆ แล้วถูกเรียกว่าปิกชู หรือมีความเป็นไปได้มากกว่านั้นคือ ฮวยนาปิกชู”
นักวิจัยพบว่าซากปรักหักพังของเมืองอินคา ‘Huayna Picchu’ ถูกกล่าวถึงในแผนที่ปี 1904 ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ 7 ปีก่อนที่ Bingham มาถึงเปรู พวกเขายังให้รายละเอียดว่า Bingham ได้รับการบอกเล่าในปี 1911 เกี่ยวกับซากปรักหักพังที่เรียกว่า Huayna Picchu ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ Urubamba ก่อนที่เขาจะออกจาก Cusco เพื่อค้นหาสถานที่ดังกล่าว
ตามรายงานของ Bauer ความเชื่อมโยงที่ชัดเจนที่สุดกับชื่อดั้งเดิมของเมืองอินคาอยู่ในบันทึกชาวสเปน ซึ่งเขียนขึ้นไม่นาน หลังจากที่ภูมิภาคนี้อยู่ภายใต้การปกครองของสเปนในปลายศตวรรษที่ 16
“เราจบลงด้วยเรื่องราวน่าทึ่งที่ว่าในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ชนพื้นเมืองในภูมิภาคนี้กำลังพิจารณาที่จะกลับไปยึดพื้นที่ซึ่งพวกเขาเรียกว่า Huayna Picchu”
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้ค้นพบข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับที่ตั้งของชาวอินคา เมื่อปีที่แล้วนักวิจัยเพิ่งค้นว่าซากเมืองเก่าไม่ได้ถูกสร้างขึ้นหลังปี ค.ศ. 1440 อย่างที่พวกเขาเชื่อในตอนแรก แต่กลับเป็นหลายทศวรรษก่อนหน้านั้น
ภาพ: Shutterstock
อ้างอิง: