วันนี้ (30 กรกฎาคม) กลุ่มนักเรียนที่รวมตัวในนาม ‘กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท’ และตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางมายังศาลปกครองกลาง แจ้งวัฒนะ เพื่อเป็นโจทก์ยื่นเอกสารคำร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งมีกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
โดยขอให้ศาลปกครองพิจารณารับฟ้องและมีคำสั่งเพิกถอนกฎกระทรวงฉบับที่ 2 ลงวันที่ 6 มกราคม 2518 ออกตามประกาศคณะปฏิวัติ และอีกฉบับคือระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียนที่เพิ่งประกาศใช้เดือนมีนาคม 2563
สำหรับตัวแทนจากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลการยื่นฟ้องครั้งนี้ ระบุว่า การมาฟ้องต่อศาลครั้งนี้เป็นเพราะกฎที่กระทรวงออกมาขัดต่อสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของคน ซึ่งกฎระเบียบล่าสุดที่ออกมาในเดือนพฤษภาคมยังคงให้อำนาจกับโรงเรียนเด็ดขาดในการออกกฎหมาย ที่แม้จะมีการบอกว่าเปิดรับฟังเสียงของนักเรียนก็ตาม แต่ในความเป็นจริงถ้านักเรียนต้องการไว้ผมยาว ขณะที่โรงเรียนยังต้องการให้ไว้ผมสั้น ทางโรงเรียนก็จะยังมีอำนาจสั่งให้นักเรียนไว้ผมสั้นได้ เพราะตัวกฎยังให้สิทธิ์ขาดแก่โรงเรียนอยู่ และมองว่าความคิดเห็นของนักเรียนไม่มีน้ำหนักเท่าไร
“เรามาจากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งรับเรื่องร้องเรียนจากนักเรียนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะมีเด็กร้องเรียนเข้ามาว่า โรงเรียนไม่ยอมปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงฉบับล่าสุด ในเบื้องต้นเรายังทำได้แค่ให้นักเรียนไปแจ้งกับสายด่วนกระทรวงศึกษา แต่ครั้งล่าสุดที่ได้ไปยื่นหนังสือถึงกระทรวงฯ ก็มีการรับปากว่าจะจัดการ แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นมีเคสที่โรงเรียนฝ่าฝืนกฎน้อยลงเลย
“ตอนนี้ที่ยังมีปัญหา เพราะครูยังคงใช้กฎที่เป็นอยู่ในการตัดผมนักเรียน, กล้อนผมนักเรียนทั้งที่เด็กไม่ได้มีความสมัครใจ และอ้างว่าทุกที่ต้องมีกฎระเบียบ ซึ่งก็จริงที่ทุกแห่งต้องมีกฎระเบียบ แต่ถ้ากฎที่พูดถึงไปละเมิดเนื้อตัวเรา เราก็มีสิทธิที่จะพูดเหมือนกัน” ตัวแทนจากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กล่าว
ทางด้าน ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายศูนย์ความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า การออกกฎทั้ง 2 ฉบับ ประกอบด้วย กฎกระทรวงฉบับที่ 2 ลงวันที่ 6 มกราคม 2518 ออกตามประกาศคณะปฏิวัติ และระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียนที่เพิ่งประกาศใช้เดือนมีนาคม 2563 ได้ส่งผลกระทบต่อสิทธิของนักเรียน ซึ่งในประเด็นที่ได้ยื่นต่อศาลมีอยู่ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
- ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน
- สิทธิในชีวิตและเนื้อตัวร่างกาย ซึ่งเส้นผมถือเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย
- ประเด็นเรื่องของสิทธิเสรีทั่วไป ในส่วนที่พัฒนาบุคลิกภาพของนักเรียน ที่ควรปล่อยให้มีความสอดคล้องต่อตัวของนักเรียนเอง และไม่ควรให้รัฐกำหนดกรอบในการพัฒนาบุคลิกภาพให้เป็นไปตามที่รัฐกำหนด
“ทั้งหมดเป็นประเด็นที่เรายื่นต่อศาล ที่จะเป็นเรื่องของการขัดต่อสิทธิรัฐธรรมนูญของนักเรียน รวมถึงขัดต่อตัว พ.ร.บ. ซึ่งเป็นกฎหมายที่สูงขึ้นกว่ากฎข้อระเบียบทั่วไป โดยคำขอของเราคือ ขอให้ศาลเพิกถอนทั้งกฎกระทรวงและระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ในเรื่องการจัดการทรงผมนักเรียน” ศิริกาญจน์กล่าว
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า