Starbucks เชนร้านกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในโลกถึงจุดตึงเครียด เร่งหาทางออก เมื่อภาพลักษณ์ที่สะสมมานานเริ่มสั่นคลอน หลังผลสำรวจพนักงานไม่มีความเชื่อมั่น จริยธรรมองค์กรลดลง ‘ต่ำสุดในประวัติศาสตร์’ พร้อมถูกร้องเรียนด้านแรงงานมากกว่า 10 ครั้ง
Bloomberg รายงานว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานองค์กร Starbucks พบว่า เริ่มไม่มีความเชื่อมั่นในด้านจริยธรรมขององค์กร โดยในปีนี้ถือว่าลดลง ‘ต่ำสุดในประวัติศาสตร์’ พร้อมยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการตอบสนองต่อแคมเปญของสหภาพแรงงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- งานวิจัยใหม่ชี้ การดื่มกาแฟ วันละ 2-3 แก้ว อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ‘อายุขัย’ ยืนยาวขึ้น
- เกิดอะไรขึ้นกับ Starbucks? เมื่อร้านกาแฟหัวก้าวหน้าอาจกำลังเริ่มหลงทาง สูญเสียมนต์เสน่ห์ และ Brand DNA ของตัวเอง
- มีดีตรงไหน? เปิดนัยสำคัญเรื่องเชื้อชาติผู้บริหาร จาก Microsoft ถึง Starbucks ที่เลือก ‘ซีอีโอใหม่’ เป็น ‘คนอินเดีย’ อย่าง สัตยา นาเดลลา และ ลักซ์แมน นาราซิมฮัน
สำหรับการสำรวจเป็นวิธีการรวบรวมความคิดเห็นของพนักงานที่องค์กรทำเป็นประจำ หวังต้องการมีส่วนร่วมกับพนักงาน ซึ่งพนักงานในสำนักงานอเมริกามีเพียง 48% ที่ต่อว่าองค์กร ขณะที่อีก 52% ซึ่งเป็นพนักงานน้อยกว่า 1 ใน 4 คน เห็นด้วยกับบทบาทองค์กรในการปฏิบัติตัวตามพันธกิจและค่านิยม
เรียกได้ว่าสร้างความกังวลให้กับองค์กรที่สะสมชื่อเสียงด้านมุมมองความก้าวหน้าในประเด็นต่างๆ เช่น การเหยียดเชื้อชาติ, สิทธิของ LGBTQ และสิ่งแวดล้อมมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ
โฮเวิร์ด ชูลท์ซ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Starbucks เสนอให้ Starbucks เป็นผู้นำเทรนด์ส่งเสริมค่านิยมอย่างมีมนุษยธรรมควบคู่กับการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อพนักงานบริการ เนื่องจากการออกมาต่อสู้กับสหภาพแรงงานอาจเป็นบ่อนทำลายแบรนด์ได้
โดย ซาร่า เคลลี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพันธมิตรดูแลความสัมพันธ์ของ Starbucks กับพนักงานระบุว่า การให้คะแนนเกี่ยวกับการตอบสนองของบริษัทต่อแคมเปญการจัดตั้งสหภาพแรงงานที่ลดลงเริ่มกลายเป็นจุดตึงเครียด
ด้วยเหตุนี้ Starbucks จึงเตรียมจัดประชุมเพื่อสื่อสารให้พนักงานสร้างความเชื่อมั่นในการตัดสินใจขององค์กร และจากนี้จะทำการสำรวจทุกๆ 6 เดือน จากเดิมที่จะทำการสำรวจทุกๆ 1 ปี
เช่นเดียวกับคำตอบจากการสำรวจของพนักงาน 86% แสดงให้เห็นว่ามุมมองของคนนอกมีอิทธิพลต่อความคิดของพนักงานอย่างมาก
ดังนั้น Starbucks จึงได้หารือกับพนักงานอยู่บ่อยครั้งเพื่อรับฟังข้อเสนออย่างตรงไปตรงมาและจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น รวมถึงยังได้นำผลการสำรวจไปให้พันธมิตร รวมถึงเจ้าหน้าที่สำนักงานอื่นๆ ในสหรัฐฯ ให้ช่วยสนับสนุน
สิ่งที่น่าสนใจคือคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ในอเมริกาได้พบคำร้องเรียน Starbucks ตั้งแต่ปี 2021 ที่ผ่านมานับ 10 ครั้ง ซึ่งอยู่ระหว่างรอดำเนินการ โดยระบุว่า Starbucks พยายามไม่ให้มีการรวมตัวของสหภาพแรงงานที่ร้าน อีกทั้งยังมีการละเมิด การข่มขู่ สอบปากคำและไล่พนักงานที่สนับสนุนสหภาพแรงงาน
ด้านผู้พิพากษาหน่วยงานที่รับผิดชอบเพิ่งออกคำตัดสินเกี่ยวกับข้อร้องเรียนดังกล่าว โดยสั่งให้ Starbucks คืนสถานะพนักงานที่ถูกไล่ออกในสาขามิชิแกนและแคนซัส
หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ สหภาพแรงงาน Starbucks Workers United ได้ยื่นคำร้องกล่าวหา Starbucks ว่าเลิกจ้างพนักงานที่ออกมาเคลื่อนไหวมากกว่า 80 คน ถือว่าผิดกฎหมาย แม้การยื่นคำร้องได้ชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ขณะที่รองประธานฝ่ายทรัพยากรพันธมิตร Starbucks กล่าวในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า พวกเขารู้ว่าพนักงานกำลังต่อสู้กับสถานการณ์ของสหภาพแรงงาน และเห็นว่าร้านค้าที่ยื่นคำร้องรวมกลุ่มเป็นเพียงส่วนน้อย และยังมีพนักงานจำนวนมากไม่ได้ลงคะแนนให้สหภาพแรงงาน
อย่างไรก็ตาม พนักงานอดีตผู้จัดการ Starbucks นิวยอร์กตั้งคำถามว่า ทำไมองค์กรจึงต้องพยายามต่อต้านการรวมตัวของสหภาพแรงงาน และแสดงความกังวลว่าข้อพิพาทด้านแรงงานจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กร
ที่ร้ายแรงกว่านั้นตัวเขาเองก็ได้รับคำสั่งให้แยกตัวออกมาและลงโทษพนักงานที่มาจากสหภาพแรงงานด้วยความไม่สมเหตุสมผล
อีกด้านหนึ่ง ทิม ไอแซคสัน ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์ทางธุรกิจ กล่าวว่า ในผลสำรวจบางหัวข้อ องค์กรก็สามารถทำคะแนนสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งรวมถึงความสบายใจของพนักงานในองค์กรที่มีความเชื่อมั่นในทีม
อ้างอิง: