เมื่อวันที่ 24-25 ตุลาคม 2567 สำนักงานประกันสังคมได้จัดงานประชุม “SSO Sustainable for All เพราะกองทุนประกันสังคมเป็นของพวกเราทุกคน” ขึ้น เพื่อระดมสมอง เชิญหน่วยงานต่างๆ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาช่วยกันคิดและแก้ไขปัญหาร่วมกัน พูดคุยถึงปัญหาที่ว่ากองทุนจะหมดใน 30 ปีจริงหรือไม่ และจะต้องแก้ไขอย่างไร โดยมีเป้าหมายหลักในการทำให้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน
ในงานประชุมครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้รับเกียรติจากวิทยากรจากหลายประเทศ มาถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี ไม่ว่าจะเป็นองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สมาคมประกันสังคมระหว่างประเทศ (ISSA) ผู้แทนจากสำนักงานบำนาญแห่งชาติประเทศเกาหลีใต้ (NPS) และผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศ
นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการประชุมเชิงอภิปรายกลุ่มย่อยขึ้น เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในหลายภาคส่วนในประเด็นความท้าทาย สรุปได้ดังนี้
- อนาคตระบบประกันสุขภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น [สรุป: ภาครัฐควรออกแบบระบบประกันสุขภาพโดยมุ่งเน้นการส่งเสริมและป้องกันโรค เพื่อโอกาสเจ็บป่วยและลดการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล โดยปัจจุบันมีหลายประเทศเริ่มบูรณาการเอาเทคโนโลยีมาใช้กับการดูแลสุขภาพ ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติที่ดี ควรนำมาปรับใช้ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยด้วยเช่นกัน]
- แนวทางการขยายความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ประกันสังคมที่ดีขึ้น [สรุป: ปัจจุบันมีแรงงานจำนวนมากที่ยังไม่เข้าระบบประกันสังคม หากต้องการขยายความคุ้มครองและสร้างความยั่งยืนให้ระบบประกันสังคม ควรพัฒนาการเงินการคลังของกองทุนร่วมด้วย โดยจะเห็นว่าในประเทศไทยยังใช้งบประมาณกับหลักประกันสังคมถือเป็นสัดส่วนน้อยมาก เทียบกับหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อมีงบประมาณเพียงพอ จะสามารถพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้มีเหมาะสมเพียงพอต่อผู้ประกันตนได้]
- การเปิดมุมมองแนวทางการบริหารการลงทุนที่เหมาะสมกับกองทุนประกันสังคม [สรุป: ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้จัดทำแผนการลงทุนเชิงกลยุทธ์ร่วมกับบริษัท Mercer Consulting จึงเริ่มปรับให้มีการลงทุนในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ภายใต้กรอบความเสี่ยงที่รับได้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนไม่ใช่ปัจจัยหลักในการสร้างความยั่งยืนให้แก่กองทุนได้ จำเป็นต้องมีมาตรการเชิงนโยบายและองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย]
- การสร้างความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยและนักวิชาการร่วมกันอภิปรายอย่างกว้างขวางถึงสถานะกองทุนในปัจจุบัน ตัวแปรที่มีผลต่อความยั่งยืน และข้อเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปที่เป็นธรรมและยั่งยืน [สรุป]
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว… หลายท่านอาจจะสงสัยถึงประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ เรื่องกองทุนจะหมดใน 30 ปีนั้น ข้อเท็จจริงอย่างไรกันแน่? วันนี้เราจะมาทราบคำตอบไปพร้อมๆ กัน
จริงๆ แล้วเลข 30 ปี ที่กองทุนจะหมดเป็นผลลัพธ์จากการประเมินค่าทางคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuarial Valuation) สำหรับสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมทำร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยคาดว่ากองทุนจะหมดลงในปี 2597 หากไม่มีการปฏิรูปเชิงนโยบายใดๆ ซึ่งในการประชุมที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญจากหลายส่วนได้รับทราบถึงสถานการณ์นี้ และได้ให้ความเห็นและอภิปรายถึงแนวทางการแก้ไขอย่างกว้างขวาง สรุปรายละเอียดได้ดังนี้
- กองทุนบำนาญประกันสังคมมีความสำคัญต่อประชาชน ถึงแม้ยังเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่ก็ช่วยให้มีเงินใช้รายเดือนในยามเกษียณไปตลอดชีวิต
- เงินสมทบที่ผู้ประกันตนนำส่งในอัตรา 5% ของค่าจ้างเป็นเพียงส่วนหนึ่ง โดยมีเงินสมทบจากนายจ้างอีก 5% และรัฐบาลอีก 2.75% รวมเป็น 12.75% ซึ่งปัจจุบันถูกจัดสรรสำรองไว้สำหรับจ่ายบำนาญชราภาพอยู่ประมาณ 6.2%
- การจ่ายบำนาญ คำนวณจากระยะเวลาและฐานเงินเดือนที่นำส่งเงินสมทบ ปัจจุบันผู้ส่งเงินสมทบสูงสุด 25 ปี ได้รับบำนาญ 35% ของเงินเดือนที่นำส่งเงินสมทบ 5 ปีสุดท้าย (เพดานคำนวณเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท) หรือ 5,250 บาท ทุกเดือน ตลอดชีวิต โดยรับได้ตั้งแต่อายุ 55 ปีและออกจากงาน
- การประเมินค่าทางคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuarial Valuation) คาดว่าเงินสมทบไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย และหากไม่ทำอะไรเลย เงินกองทุนจะเหลือ 0 ในปี 2597
- กองทุนประเทศอื่นก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน แต่ไม่เคยมีกองทุนประกันสังคมประเทศใดล้มละลาย เพราะมีการปฏิรูป (Reform) เพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง
- คนไทยมักไม่เชื่อว่าตนเองจะอายุยืน โดยจะคาดการณ์ต่ำกว่าสถิติ 5-10 ปี ดังนั้น การเปลี่ยนเป็นระบบบัญชีรายบุคคล ออมเท่าไหนได้เท่านั้น (Defined Contributions) ไม่ใช่ทางออก เพราะจะทำให้ความเสี่ยงตกอยู่กับผู้ประกันตน โดยเฉพาะความเสี่ยงการมีอายุยืนกว่าเงินออม และเมื่อเงินหมดจะเป็นภาระของรัฐบาลในการดูแล
- หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า การสร้างความยั่งยืนของระบบประกันสังคม ต้องเริ่มจากความยั่งยืนในมุมของผู้ประกันตน นั่นก็คือ บำนาญที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยเริ่มต้นจากปรับสูตรบำนาญให้ยุติธรรมมากขึ้น ปรับเพิ่มเพดานเงินเดือนซึ่งใช้คำนวณทั้งเงินสมทบและสิทธิประโยชน์เพิ่มจาก 15,000 บาท รวมถึงปรับเพิ่มบำนาญตามอัตราเงินเฟ้อ
- ร่วมกันสร้างแผนการสร้างความยั่งยืนทางการเงินในระยะยาว ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่าการเพิ่มรายรับจากผลตอบแทนการลงทุนอย่างเดียวไม่สามารถทำให้กองทุนยั่งยืนได้ จำเป็นต้องปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบ และอายุเกิดสิทธิรับบำนาญ อย่างค่อยเป็นค่อยไป
- หากยิ่งดำเนินการช้า ก็จะยิ่งเป็นภาระของคนรุ่นหลัง ที่จะต้องรับภาระอัตราเงินสมทบที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด หรือสิทธิประโยชน์ที่ถูกปรับลด
- การกำหนดเงื่อนไขการปฏิรูปมีผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย ไม่สามารถดำเนินการได้โดยสำนักงานประกันสังคมเพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยการพูดคุย และตกลงกัน เพื่อกำหนดแนวทางปฏิรูปที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับได้
“เพราะกองทุนประกันสังคมเป็นของพวกเราทุกคน”
ทั้งนี้ ผู้เขียน ซึ่งได้เข้าร่วมและเป็นวิทยากรในงาน มีมุมมองแนวทางการแก้ปัญหาดังนี้
- การปรับสูตรคำนวณบำนาญ ควรปรับสูตรการคำนวณบำนาญเพื่อให้ผลประโยชน์ที่ผู้ประกันตนได้รับมีความเหมาะสมและสะท้อนค่าครองชีพ โดยควรนำดัชนีเงินเฟ้อมาพิจารณา และเพิ่มเพดานเงินเดือนที่ใช้ในการ การใช้ดัชนีเงินเฟ้อในการปรับคำนวณจะช่วยให้บำนาญที่จ่ายให้แก่ผู้สูงอายุมีมูลค่าที่ใกล้เคียงกับการใช้จ่ายในชีวิตจริง และสามารถรักษามาตรฐานชีวิตของผู้เกษียณได้ดีขึ้น
- การขยายอายุเกษียณ การเพิ่มอายุเกษียณจาก 55 ปีเป็น 65 ปีแบบค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยลดภาระการจ่ายบำนาญในระยะสั้น และเพิ่มระยะเวลาการสะสมเงินสมทบในกองทุน การขยายอายุเกษียณจะช่วยให้มีการระดมเงินสมทบในระบบนานขึ้น และลดจำนวนปีที่ต้องจ่ายบำนาญให้กับผู้เกษียณ ซึ่งจะช่วยลดความกดดันต่อกองทุน และทำให้การจ่ายบำนาญมีความมั่นคงมากขึ้น
- การเพิ่มเพดานค่าจ้างและอัตราเงินสมทบ ควรปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ เพื่อให้รายรับของกองทุนมีความสมดุลกับรายจ่ายระยะยาว การปรับนี้ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อแรงงานและนายจ้าง การเพิ่มอัตราเงินสมทบสามารถช่วยเพิ่มปริมาณเงินที่ระดมเข้าสู่กองทุน ทำให้กองทุนมีฐานการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นในการจ่ายบำนาญในอนาคต
- การปรับกลยุทธ์การลงทุน การปรับกลยุทธ์การลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาว การลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย รวมถึงการขยายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศ เป็นวิธีที่สามารถเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนสูงขึ้นได้ โดยอยู่ภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบคอบ การลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ เช่น ตราสารหนี้ หุ้น หรือโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโต อาจช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงและลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดภายในประเทศเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม การลงทุนไม่ใช่ปัจจัยหลักในการสร้างความยั่งยืนให้แก่กองทุนได้ จำเป็นต้องมีมาตรการเชิงนโยบายและองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย
- การส่งเสริมการออมในภาคเอกชน การส่งเสริมการออมในภาคเอกชน การสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือผลิตภัณฑ์ประกันบำนาญ เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นวิธีที่ช่วยลดการพึ่งพาระบบประกันสังคมในระยะยาว อีกทั้งภาครัฐสามารถมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนแนวทางนี้ โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ที่ออมเงินในกองทุนดังกล่าว รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินในวัยเกษียณให้กับประชาชน การมีระบบการออมที่แข็งแกร่งในภาคเอกชนจะช่วยลดภาระงบประมาณของภาครัฐในอนาคต และทำให้ระบบประกันสังคมสามารถมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่มีรายได้ต่ำหรือผู้ที่ขาดโอกาสในการออมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลกระทบของการปฏิรูปต่อภาคส่วนต่างๆ
การปฏิรูปจะส่งผลต่อหลายกลุ่ม ทั้งลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ นายจ้างอาจต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นจากการปรับเพดานค่าจ้างและอัตราเงินสมทบ ซึ่งอาจส่งผลต่อการปรับลดต้นทุนอื่นๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน หรือการลดการจ้างงานใหม่เพื่อรักษาสมดุลทางการเงินของธุรกิจ การเพิ่มภาระนี้อาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงนี้จะช่วยส่งเสริมแรงงานที่มีคุณภาพในระยะยาว ซึ่งอาจนำไปสู่ผลผลิตและประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ในขณะที่ลูกจ้างอาจต้องเผชิญกับการหักเงินสมทบที่สูงขึ้นจากเงินเดือน ทำให้มีรายได้สุทธิน้อยลงในระยะสั้น แต่ผลลัพธ์ในระยะยาวจะช่วยให้ได้รับเงินบำนาญที่เหมาะสมกับค่าครองชีพ และลดความกังวลทางการเงินหลังเกษียณ
การปฏิรูประบบประกันสังคมมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการเงินให้กับกองทุนในระยะยาวและตอบสนองความต้องการของประชากรที่มีอายุยืนยาวมากขึ้น การปรับอัตราเงินสมทบ การปรับสูตรคำนวณบำนาญ และการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน จะช่วยให้ระบบนี้ยังคงเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงทางการเงินของสังคมไทย โดยจำเป็นต้องมีการร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้การปฏิรูปนี้ประสบผลสำเร็จ ในทำนองเดียวกัน การสร้างความยั่งยืนทางการเงินในระยะยาวจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาและการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้กองทุนประกันสังคมมีศักยภาพในการรองรับความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและการบริหารลงทุน ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับกองทุนในอนาคต
อ่านบทความเกี่ยวกับประกันสังคมเพิ่มเติมได้ที่ ปฏิรูปประกันสังคมสู่ไทยแลนด์ 4.0: https://actuarialbiz.com/th/knowledgedetails/85
ภาพ: Rawpixel / Getty Images