หลังจากช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนชาวศรีลังกาจำนวนมากบุกเข้าไปยังบ้านพักประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา รวมถึงเผาที่พักของ รนิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกาคนปัจจุบัน ในกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของประเทศ เป็นเหตุให้ทั้งสองจำต้องหาที่หลบภัยเป็นการชั่วคราว โดยประชาชนต่างเรียกร้องให้ผู้นำลาออกจากตำแหน่งและเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองครั้งใหม่
ก่อนหน้านี้ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมประท้วงต่างเคยเรียกร้องให้ มหินทรา ราชปักษา อดีตประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีศรีลังกา ผู้เป็นพี่ชายของประธานาธิบดีโกตาบายา รวมถึงสมาชิกในครอบครัวตระกูลราชปักษา ที่ครอบงำการเมืองของศรีลังกามาอย่างยาวนาน ก้าวลงจากอำนาจ
แต่ดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งก่อนยังไม่ทำให้สถานการณ์โดยรวมในประเทศดีขึ้น ศรีลังกายังคงเผชิญหน้ากับวิกฤตทางการเมืองอย่างหนักตลอดช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา จนทั้งประธานาธิบดีโกตาบายาและนายกรัฐมนตรีรนิลแสดงความประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศในท้ายที่สุด
โดยขณะนี้เชื่อว่าโกตาบายากำลังซ่อนตัวอยู่ในที่หลบภัยที่แคมป์ฐานทัพเรือที่สร้างขึ้นตั้งแต่ขณะที่มหินทรา ผู้เป็นพี่ชาย ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของศรีลังกา ขณะที่รนิลเองก็อยู่ภายใต้การคุ้มกันของกองกำลังด้านความมั่นคง ซึ่งยังคงมาปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีท่ามกลางความโกหลาหลทางการเมือง
รนิลแถลงการณ์ว่า โกตาบายาเตรียมลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของศรีลังกาในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ในขณะที่ตัวเขาเองคาดการณ์ว่าจะก้าวลงจากตำแหน่งหลังจากที่ศรีลังกามีรัฐบาลชุดใหม่แล้ว เพื่อป้องกันความไม่สงบทางการเมืองที่อาจจะบานปลายในช่วงที่ศรีลังกาประสบกับภาวะสุญญากาศทางการเมือง ดังเช่นช่วงที่มหินทราก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนที่รนิลจะเข้ามารับตำแหน่งนี้ภายหลังจากนั้น 2-3 วัน ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ในระหว่างนี้โกตาบายาจะสื่อสารผ่านประธานรัฐสภาเท่านั้น โดยให้ถือว่าคำประกาศหรือคำสั่งของประธานรัฐสภาที่เกี่ยวข้องกับประธานาธิบดีมาจากประธานาธิบดีโกตาบายาโดยตรง
แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนชาวศรีลังกาจำนวนไม่น้อยต่างไม่เชื่อมั่นในคำพูดของโกตาบายา อีกทั้งยังมองว่าการที่ยังไม่ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีศรีลังกาในทันที ตั้งแต่ถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการประวิงเวลา เพื่อรอให้อารมณ์และโมเมนตัมทางการเมืองมีการเปลี่ยนแปลง หากสถานการณ์เกี่ยวกับการขาดแคลนเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองศรีลังกาเผยว่า รนิลเองก็เคยสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีศรีลังกา แต่ยังไม่เคยประสบผลสำเร็จ ก็เฝ้ารอเวลาที่จะเข้ารับช่วงต่อแทน หากโกตาบายาก้าวลงจากอำนาจ
โดยรัฐธรรมนูญศรีลังกาให้อำนาจนายกรัฐมนตรีขึ้นเป็นประมุขของรัฐ (Head of State) เป็นการชั่วคราว หากประธานาธิบดีลาออกจากตำแหน่ง หลังจากนั้นรัฐสภาสามารถให้สัตยาบันรับรองหรือเลือกตั้งสมาชิกภายในรัฐสภาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ให้ปฏิบัติหน้าที่จนครบวาระที่เหลืออยู่
แต่ถ้าหากประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีตัดสินใจลาออกพร้อมกันหรือในเวลาใกล้เคียงกัน ประธานรัฐสภาจะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีศรีลังกาในทันที
โดยผู้เชี่ยวชาญยังเผยอีกว่า ครอบครัวราชปักษาไม่ต้องการที่จะเปิดทางให้กับรนิล แม้จะแค่เพียงชั่วคราวก็ตาม โดยมีแนวโน้มที่จะสนับสนุน มหินทา ยาปา อาเบย์วาร์เดนา ประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปมากกว่า เนื่องจากมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตระกูลราชปักษา
มหินทาประกาศว่า รัฐสภาศรีลังกาจะประชุมกันในวันศุกร์นี้ และจะลงมติเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ อีกทั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลชุดเดิมจะลาออกจากตำแหน่งหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ที่มาจากทุกพรรคการเมืองสำเร็จ
ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งใหม่ครั้งสำคัญนี้ จะนำพาศรีลังกาให้ผ่านพ้นวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่นี้อย่างไร ต้องติดตาม
ภาพ: Sri Lanka President Media Division / Handout / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: