×

นายกฯ ยินดี ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านสภาวาระแรก ยืนยันพร้อมส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพที่ทุกคนพึงได้รับอย่างเสมอภาค

โดย THE STANDARD TEAM
22.12.2023
  • LOADING...
เศรษฐา ทวีสิน

วานนี้ (21 ธันวาคม) ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมแสดงความยินดีที่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านวาระแรกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 

 

โดยนายกฯ ได้โพสต์ข้อความผ่าน X (Twitter) ระบุว่า “ผมขอแสดงความยินดีกับพี่น้อง LGBTQIA+ ทุกท่านที่ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ได้ผ่านการโหวตวาระที่หนึ่งด้วยคะแนนท่วมท้น วันนี้ ก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นแล้วครับ“

 

ชัยกล่าวต่อว่า การรับหลักการร่าง พ.ร.บ. ในครั้งนี้ ที่ประชุมสภาลงคะแนนเห็นด้วยถึง 369 เสียง โดยมีหลักการสำคัญคือ การรับรองการสมรสสำหรับบุคคลสองคนที่จะครอบคลุมบุคคลทุกเพศ จากเดิมที่อนุญาตให้แต่เฉพาะชายและหญิงจดทะเบียนสมรสได้เท่านั้น 

 

โดยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่องในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายรับรองเพศสภาพ การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ Bangkok World Pride และส่งเสริมงานพาเหรด Pride รวมทั้งการขยายสิทธิบัตรทองเพื่อคนข้ามเพศ 

 

อีกทั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นายกฯ ยังได้หารือและพบปะกับบุคคลสำคัญด้าน LGBTQIA+ และสมาชิกประธานผู้บริหารของ InterPride ซึ่งพร้อมเสนอให้กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Pride Event ในปี 2028 อีกด้วย

 

“รัฐบาลคำนึงถึงการสร้างความเท่าเทียมในสังคมเป็นหลักสำคัญ โดยเชื่อมั่นว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพที่พึงได้รับอย่างเสมอภาค ทุกเพศสภาพ เพศวิถี มีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน การลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ และสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และภาคประชาชน ให้เป็นกฎหมายเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง #LoveWins” ชัยกล่าว

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ขณะนี้มีการอนุญาตให้ใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้วใน 34 ประเทศและดินแดนทั่วโลก อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.hrc.org/resources/marriage-equality-around-the-world ซึ่งเมื่อ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของไทยมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นลำดับที่ 35 ของโลก และเป็นแห่งที่ 3 ในเอเชีย ต่อจากไต้หวันและเนปาล ที่อนุญาตให้ใช้กฎหมายดังกล่าวได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising