×

เจาะลึกวัคซีน Sputnik V ที่รัฐบาลดีลกับรัสเซียสำเร็จแล้ว

25.04.2021
  • LOADING...
เจาะลึกวัคซีน Sputnik V ที่รัฐบาลดีลกับรัสเซียสำเร็จแล้ว

HIGHLIGHTS

  • วัคซีน Sputnik V น่าจะเป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดที่ 4 ที่นำเข้ามาใช้ในประเทศไทย เพราะมีความชัดเจนแล้วว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ยินดีให้การสนับสนุนรัฐบาลไทย ภายหลังการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับรัฐบาลรัสเซียโดยตรง 
  • ขณะนี้มีมากกว่า 60 ประเทศที่อนุมัติให้ใช้วัคซีนนี้ในภาวะฉุกเฉิน รวมถึงลาว เมียนมา และเวียดนาม ล่าสุด (22 เมษายน) เยอรมนีได้สั่งซื้อวัคซีน Sputnik V จำนวน 30 ล้านโดส แต่องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะอนุมัติให้ใช้หรือไม่
  • วัคซีน Sputnik V ราคาโดสละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับวัคซีน J&J แต่ต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นปกติ อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้นาน 2 เดือน จึงนับว่าเป็นวัคซีนอีกบริษัทหนึ่งที่จะสามารถกระจายความเสี่ยงและเพิ่มความครอบคลุมในการฉีดวัคซีนได้

การระบาดระลอกใหม่ในเดือนเมษายน 2564 ทำให้ทั้งภาคเอกชนและประชาชนตื่นตัวเรื่องวัคซีนมากขึ้น 

 

วัคซีน Sputnik V น่าจะเป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดที่ 4 ที่นำเข้ามาใช้ในประเทศไทย เพราะมีความชัดเจนแล้วว่าประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูตินยินดีให้การสนับสนุนรัฐบาลไทย ภายหลังการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับรัฐบาลรัสเซียโดยตรง 

 

ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อวัคซีนทุกคนก็รู้ทันทีว่าเป็นของรัสเซีย เพราะ Sputnik 1 เป็นชื่อดาวเทียมดวงแรกของโลกที่สร้างขึ้นโดยสหภาพโซเวียต แปลว่า ‘เพื่อนร่วมทาง’ แต่ชื่อวัคซีนนี้อ่านว่า ‘สปุตนิก วี’ โดย V มาจากคำว่า ‘Vaccine’ ไม่ใช่เลข 5 โรมันแต่อย่างใด (ผมก็เคยอ่านผิด)

 

ส่วนชื่อในการวิจัย Gam-COVID-Vac มาจากชื่อ Gamaleya ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านระบาดวิทยาและจุลชีววิทยาของรัสเซีย 

 

วัคซีน Sputnik V ใข้เทคโนโลยีเวกเตอร์ไวรัส

วัคซีน Sputnik V เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเวกเตอร์ไวรัส (Viral Vector) เหมือนวัคซีน AstraZeneca (AZ) แต่มีความเหมือนกับวัคซีน Johnson & Johnson (J&J) มากกว่า เพราะใช้ไวรัสอะดิโนที่ก่อโรคในคน โดยเข็มแรกเป็นไวรัสอะดิโน 26 (Ad26) ส่วนเข็มที่ 2 เป็น Ad5

 

สำหรับผู้ที่เพิ่งเข้ามาอ่านเรื่องวัคซีนเป็นครั้งแรก เทคโนโลยี Viral Vector เป็นการใช้ไวรัสชนิดอื่นเป็นพาหะนำสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ร่างกาย เมื่อเข้าไปแล้วร่างกายจะถอดรหัสออกมาเป็นโปรตีนส่วนหนาม (Spike Protein) เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มโรค

 

ทั้งวัคซีน Sputnik V และวัคซีน J&J ใช้ไวรัส Ad26 เป็นพาหะเหมือนกัน แต่วัคซีน J&J ฉีดเพียงเข็มเดียว ในขณะที่วัคซีน Sputnik V ต้องฉีด 2 เข็ม เลยต้องเปลี่ยนไปใช้ไวรัส Ad5 เพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นจากเข็มแรก ส่วนวัคซีน AZ ใช้การเว้นระยะห่างระหว่างเข็มให้นานขึ้นแทน

 

 

ภาพอธิบายเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน Sputnik V ซึ่งตัดต่อสารพันธุกรรมที่จะถอดรหัสเป็นโปรตีนส่วนหนาม (Spike) ของไวรัสโควิด-19 ให้กับไวรัสอะดิโนเพื่อเป็นพาหะ (Vector) เข้าสู่ร่างกาย (อ้างอิง: sputnikvaccine.com)

 

ไทม์ไลน์การทดลองวัคซีน Sputnik V

การแข่งขันคิดค้นวัคซีนโควิด-19 ทำให้นึกถึงยุคสำรวจอวกาศเมื่อ 60 กว่าปีก่อน วันที่ 11 สิงหาคม 2563 ในขณะที่วัคซีนจาก 6 บริษัทกำลังทดลองเฟส 3 อยู่ ประธานาธิบดีปูตินก็ประกาศว่าวัคซีน Sputnik V มีประสิทธิภาพ และบุตรสาวของเขาก็ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว

 

ผลการทดลองในเฟส 1/2 ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Lancet เมื่อเดือนกันยายน 2563 ระบุว่า ทำการทดลองระหว่าง 18 มิถุนายน ถึง 3 สิงหาคม ในอาสาสมัคร 76 คน พบว่ามีความปลอดภัย ผลข้างเคียงส่วนใหญ่เป็นอาการเล็กน้อย และสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้

 

ต่อมาระหว่าง 7 กันยายน ถึง 24 พฤศจิกายนได้ทดลองเฟส 3 ใน 25 โรงพยาบาลและคลินิกในมอสโก ใช้อาสาสมัคร 16,501 คน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทุกคนได้รับการทดสอบว่าไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน ทดลองฉีดวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ พบว่ามี

 

  • ประสิทธิภาพ 91.6% เป็นประสิทธิภาพของการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ (ตัดกลุ่มที่ตรวจพบเชื้อแต่ไม่แสดงอาการออกจากการวิเคราะห์) และเป็นการประเมินประสิทธิภาพในวันที่ 21 หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก ต่างจากวัคซีนอื่นที่จะประเมินหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ไปแล้ว

 

  • ประสิทธิภาพในการป้องกันอาการปานกลางถึงรุนแรง 100% โดยกลุ่มที่ได้รับวัคซีนมีอาการเล็กน้อย ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีอาการปานกลางถึงรุนแรงจำนวน 20 ราย

 

  • ผลข้างเคียงส่วนใหญ่เป็นระดับเล็กน้อย ซึ่งในกลุ่มผู้สูงอายุจะพบอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ 15.2% ปวดบริเวณที่ฉีด 5.4% ปวดศีรษะ 2.9% อ่อนเพลีย 2.5% ส่วนผลข้างเคียงรุนแรง รวมถึงเสียชีวิต 4 รายพบทั้งในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนและกลุ่มควบคุม จึงสรุปว่าไม่มีความสัมพันธ์กับวัคซีน

 

ผลการทดลองเฟส 3 เบื้องต้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Lancet เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นอกจากนี้ยังมีการทดลองในเบลารุส สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เวเนซุเอลา และอินเดีย จนถึงปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าประสิทธิภาพหลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นอย่างไร 

 

แต่มีการทดลอง Sputnik Light หรือการฉีดเพียงเข็มเดียว พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกัน 4-5 เดือน ส่วนประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ยังไม่มีข้อมูล 

 

ขณะนี้มีมากกว่า 60 ประเทศที่อนุมัติให้ใช้วัคซีนนี้ในภาวะฉุกเฉิน รวมถึงลาว เมียนมา และเวียดนาม ล่าสุด (22 เมษายน) เยอรมนีได้สั่งซื้อวัคซีน Sputnik V จำนวน 30 ล้านโดส แต่องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะอนุมัติให้ใช้หรือไม่

 

วัคซีน Sputnik V กับประเทศไทย

การระบาดระลอกใหม่ในเดือนเมษายน 2564 ทำให้ทั้งภาคเอกชนที่ต้องการวัคซีนมาฉีพเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรม และโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องการนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนทั่วไป และประชาชนตื่นตัวเรื่องวัคซีนมากขึ้น โดยติดตามนโยบายการจัดหาวัคซีนและอัตราการฉีดวัคซีนอย่างใกล้ชิด

 

วัคซีน Sputnik V เป็น 1 ใน 5 วัคซีนที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 (คลิปที่มีการแชร์กันในสังคมออนไลน์ แต่ต่อมานายกรัฐมนตรีได้ขอโทษที่พูดเร็ว) ว่ามีการติดต่อกับรัสเซียเพื่อจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมนอกจากวัคซีน 2 ชนิดที่มีอยู่

 

ล่าสุด (22 เมษายน) นายกรัฐมนตรีได้โพสต์ Facebook ถึงความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า ประธานาธิบดีรัสเซียยินดีให้การสนับสนุน เนื่องด้วยไทยและรัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีมาอย่างยาวนานและดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงสาธารณสุขได้นัดตัวแทนบริษัทในประเทศไทยมาหารืออย่างเร่งด่วนแล้ว

 

แต่ก่อนหน้านั้น 2 วัน (20 เมษายน) กลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย ได้จัดกิจกรรมใน Clubhouse หัวข้อ ‘ฝ่าวิกฤตโควิด-19 กับ Tony Woodsome’ โดยอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร หรือ ‘พี่โทนี่’ ได้เสนอให้รัฐบาลรีบหาวัคซีน รีบกระจายการฉีด และยินดีช่วยคุยกับประธานาธิบดีปูตินให้

 

ทั้งนี้วัคซีน Sputnik V ราคาโดสละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับวัคซีน J&J แต่ต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นปกติอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้นาน 2 เดือน จึงนับว่าเป็นวัคซีนอีกบริษัทหนึ่งที่จะสามารถกระจายความเสี่ยงและเพิ่มความครอบคลุมในการฉีดวัคซีนได้

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X