โรนัลโด หลุยส์ นาซาริโอ เดอ ลิมา หรือโรนัลโด อดีตดาวยิงชาวบราซิลเกือบต้องหันหลังให้กับอาชีพนักเตะ หลังบาดเจ็บครั้งใหญ่ด้วยอาการเอ็นลูกสะบ้าเข่าฉีกขาด
ความเสี่ยงจากการบาดเจ็บของนักกีฬาหรือแม้แต่คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ทำได้ดีที่สุดก็แค่ ‘ลดความเสี่ยง’ ให้เกิดการบาดเจ็บน้อยที่สุด
การเตรียมร่างกายให้พร้อม วอร์มอัพ และคูลดาวน์ ทุกครั้งก่อนและหลังเล่นกีฬา หรือแม้แต่การวางแผนการออกกำลังกายที่เหมาะสม ช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ก็จริง แต่อุบัติเหตุก็ยังเป็นเรื่องที่เกินจะคาดการณ์ ขณะที่อาการบาดเจ็บบางอย่างก็ไม่ได้แสดงอาการทันที
กรณีของโรนัลโดคือตัวอย่างที่ชัดเจน นิลตัน เปโตรเน นักกายภาพบำบัดประจำสโมสรอินเตอร์ มิลาน เผยว่า โรนัลโดมีอาการเจ็บหน้าเข่าทั้ง 2 ข้างหลังจบฟุตบอลโลกปี 1998 เพียงแต่ยังไม่แสดงอาการรุนแรงจนน่ากังวล การใช้งานซ้ำ ใช้งานหนักเกินความเหมาะสม รวมถึงโรนัลโดเองมีภาวะกระดูกต้นขาผิดรูป (Trochlear Dysplasia) ทำให้ข้อเข่าบริเวณลูกสะบ้าไม่มั่นคง กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆ ต้องทำงานหนักกว่าปกติ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เอ็นลูกสะบ้าบาดเจ็บและฉีกขาดในที่สุด
ถ้าคุณคือนักกีฬาหรือเป็นคนที่ชอบออกกำลังกายหนักๆ ถึงเวลาที่ต้องเพิ่มทางเลือกในการดูแลร่างกายให้พร้อมก่อนลงสนาม ค้นหาความผิดปกติของร่างกายที่อาจเป็นสาเหตุให้คุณบาดเจ็บทุกครั้งที่ออกกำลังกายโดยไม่ทราบสาเหตุ และควรคิดเผื่อไปถึงแนวทางการฟื้นฟูร่างกายหลังใช้งานโดยที่ไม่ต้องรอให้บาดเจ็บหนัก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการออกกำลังกายของคุณ
เป็นอีกครั้งที่ ‘โรงพยาบาลรวมใจรักษ์’ ออกแบบแนวคิดใหม่ในการดูแลสุขภาพ ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อคนต่างกันย่อมต้องการการดูแลรักษาที่แตกต่างกันไป แทนที่จะยึดตำราเล่มเดียวรักษาโรคเดียวกัน โรงพยาบาลจะออกแบบการรักษาที่ต่างกันไปในแต่ละบุคคล ไม่เว้นแม้แต่การดูแลสุขภาพของนักกีฬาและผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย
เป็นที่มาของการรวมพลังทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์จากหลากหลายสาขา ทั้งแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู, แพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือหมอกระดูกและข้อ, นักกายภาพบำบัด รวมไปถึงทีมแพทย์ศัลยกรรมต่างๆ ก่อตั้ง ‘ศูนย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา’ (Sport Health Innovation) ครอบคลุมการดูแลรักษาองค์รวมแบบครบวงจร, ตรวจวินิจฉัย, ให้คำปรึกษาทุกชนิดกีฬาตั้งแต่มือสมัครเล่นจนถึงนักกีฬามืออาชีพ, ออกแบบการรักษาอาการอักเสบและบาดเจ็บ ตลอดจนดูแลฟื้นฟูร่างกายให้สุขภาพดีด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำสมัย
นพ.อี๊ด ลอประยูร ศัลยแพทย์ ศูนย์กระดูกสันหลังและข้อ และเวชศาสตร์การกีฬา โรงพยาบาลรวมใจรักษ์ และเป็นหนึ่งในแพทย์ประจำทีมชาติไทย กล่าวว่า ศูนย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬาให้บริการหลักๆ 3 ด้าน ได้แก่ การตรวจร่างกาย การรักษาอาการอักเสบ/บาดเจ็บ และการดูแลฟื้นฟูร่างกาย
“การเตรียมความพร้อมจำเป็นต้องเตรียมทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะนักกีฬาที่ใช้ร่างกายอย่างหนัก ต้องรีดศักยภาพและความสามารถในระดับสูง ซึ่งโดยปกตินักกีฬาที่ลงแข่งจะต้องตรวจสภาพร่างกายก่อนอยู่แล้ว แต่ถ้าอยู่ในช่วงที่แข่งขันติดต่อกัน การตรวจสภาพร่างกายโดยละเอียดด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยและโปรแกรมที่ออกแบบมาให้เหมาะกับกีฬาแต่ละประเภทจะช่วยให้การตรวจร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
นพ.อี๊ด อธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากกีฬาแต่ละประเภทมีจุดเน้นในการดูแลที่ต่างกัน จึงจำเป็นต้องออกแบบการดูแลและโปรแกรมตรวจความพร้อมที่ไม่เหมือนกัน
“ศูนย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬาเรามีโปรแกรมที่ออกแบบมาเฉพาะประเภทกีฬา แต่ทุกเคสจะเริ่มจากซักประวัติ, ตรวจร่างกายเบื้องต้น, เจาะเลือด และแยกเฉพาะเจาะจงไปตามความเสี่ยงของกีฬาแต่ละประเภท อย่างนักวิ่งมาราธอน ปอดต้องแข็งแรง เพราะต้องวิ่งระยะไกล จึงต้องตรวจความแข็งแรงของปอดและหัวใจ ตรวจเลือดว่าขาดวิตามินหรือไม่ มีภาวะเลือดจางหรือเปล่า หรืออาจมีโรคไต โรคตับ ซ่อนอยู่ เพราะการออกกำลังกายเป็นเวลานาน โดยเฉพาะนักวิ่ง กล้ามเนื้อจะสลายตัว ทำให้ไตทำงานหนัก อีกจุดที่สำคัญคือเข่าและเท้า
“ถ้าเป็นนักฟุตบอลจะเน้นไปที่กล้ามเนื้อก้น กล้ามเนื้อขา และกล้ามเนื้อลำตัว แต่ถ้าเป็นผู้รักษาประตูจะโฟกัสไปที่เอ็นไหล่ว่ามีอาการบาดเจ็บหรือฉีกขาดหรือเปล่า ถ้าเป็นนักกีฬากอล์ฟต้องตรวจความยืดหยุ่นของแกนลำตัวและหลัง เวลาหมุนและบิดตัวมีอาการบาดเจ็บหรือไม่ ถ้าเป็นนักมวยอาจต้องตรวจสมองเพิ่มว่ามีเลือดออกหรือไม่ จอตาลอกหรือเปล่า ในขณะที่วอลเลย์บอลเป็นกีฬาอีกประเภทที่มีความเสี่ยงบาดเจ็บได้หลายส่วน เพราะต้องกระโดดและย่อตัวเพื่อรับแรงกระแทกของลูกบอล มีการเคลื่อนย้ายร่างกายไปมา ใครเล่นตำแหน่งตัวตบต้องใช้ไหล่เยอะก็เสี่ยงบาดเจ็บ สุดท้ายคือแกนกลางลำตัวที่เสี่ยงเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อได้เช่นกัน
“และไม่ว่าจะตรวจพบความผิดปกติหรือไม่ก็ตาม นักกีฬาทุกประเภทต้องเอ็กซเรย์เพื่อตรวจมวลกระดูก วัดมวลกล้ามเนื้อว่ามีกล้ามเนื้อและไขมันในสัดส่วนที่เหมาะสมหรือไม่ หากพบความผิดปกติหรืออาการบาดเจ็บเบื้องต้นจะส่งต่อไปยังแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูให้ออกแบบโปรแกรมการรักษาและฟื้นฟูต่อไป”
นพ.อี๊ด กล่าวว่า ไม่แต่เฉพาะนักกีฬา โปรแกรมนี้ยังออกแบบมาให้เหมาะกับคนที่ชอบเล่นกีฬาสามารถเข้ามาปรึกษาหาแนวทางการออกกำลังกายที่ถูกต้อง เพราะการตรวจสภาพร่างกายจะทำให้แพทย์รู้ว่ากล้ามเนื้อส่วนไหนต้องเน้นเป็นพิเศษและจุดไหนที่เสี่ยงบาดเจ็บ ไปจนถึงคำแนะนำระดับการออกกำลังกายที่ดีต่อหัวใจและปอดของแต่ละบุคคล
“สำหรับคนที่ออกกำลังกายเบาหรือวิ่งปกติก็ไม่น่ากังวล แต่ถ้าเมื่อไรที่เริ่มออกกำลังกายหนักขึ้นควรมาตรวจความพร้อมของร่างกายก่อน เพราะถ้าเผลอออกกำลังกายหนักโดยไม่รู้ว่ามีโรคร้ายแรงซ่อนอยู่ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดไม่ทัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือบางคนมีโครงสร้างเท้าที่ไม่ปกติ เช่น เท้าแบน, เข่าโกง, เท้าบิด ก็อาจทำให้เกิดบาดเจ็บได้ การตรวจจะทำให้เห็นปัญหาและสามารถป้องกันก่อนเกิดการบาดเจ็บได้ ยิ่งตรวจเจอเร็วก็ยิ่งดี เพราะจะได้หาทางป้องกัน แม้ว่าอาการกล้ามเนื้อฉีกขาดจากการออกกำลังกายจะเป็นเรื่องปกติ และร่างกายก็สามารถซ่อมแซมตัวเองได้หากพักผ่อนเพียงพอและรับประทานอาหารที่มีโปรตีน จากนั้นก็ค่อยๆ ปล่อยให้เซลล์ต่างๆ เชื่อมต่อกัน แต่สำหรับนักกีฬาที่ต้องซ้อมและแข่งสลับกันไปตลอดเวลาจนแทบไม่มีเวลาหยุดพักฟื้นฟูร่างกายจริงจังก็อาจนำไปสู่อาการบาดเจ็บเรื้อรังได้
“ในกรณีของคนที่บาดเจ็บ เอ็นในข้อที่ฉีกขาดน้อยๆ และยังทนเล่นต่อ ก็เสี่ยงที่จะฉีกขาดรุนแรง หรือมีกระดูกร้าวเล็กๆ คิดว่าแค่เจ็บธรรมดาและเล่นต่อ วันดีคืนดีอาจทำให้กระดูกแตกได้
“สิ่งสำคัญคืออาการบาดเจ็บเดิมที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี รวมถึงอาการบาดเจ็บบางกรณีที่นักกีฬาเองก็ไม่ทราบแต่มาพบตอนตรวจร่างกายก็มี เพราะบางอาการนักกีฬาอาจคิดว่าเป็นอาการปวดเมื่อยธรรมดาหรือเป็นความล้าจากการแข่งขัน หรือกรณีที่เข้าใจว่าเจ็บปวดจุดหนึ่งแต่สาเหตุจริงๆ เกิดจากจุดอื่นของร่างกายก็เยอะ เช่น ปวดเข่าแต่สาเหตุมาจากสะโพก ปวดหลังสาเหตุมาจากคอ บางที่เจ็บไหล่เป็นเพราะข้อมือใช้งานได้ไม่ดีก็มาใช้ไหล่เยอะ บางครั้งนักกีฬาก็โฟกัสการรักษาไปที่จุดจุดนั้นเลยไม่หายสักที”
สำหรับนักกีฬาที่ต้องการฟื้นฟูร่างกายเร่งด่วนหรือรักษาอาการอักเสบและบาดเจ็บก่อนที่จะเกิดเป็นอาการเรื้อรังจนส่งผลต่ออาชีพในอนาคต นพ.อี๊ด กล่าวว่า ปัจจุบันมีนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยให้การฟื้นฟูและรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจะรับไม้ต่อและดูแลอย่างใกล้ชิด
“แม้ว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยให้การฟื้นฟูร่างกายของนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายหนักๆ และมีอาการบาดเจ็บ ฟื้นตัวเร็วขึ้น แต่สำคัญที่สุดคือการพักผ่อนให้เพียงพอและรับประทานอาหารที่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการซ่อมแซมร่างกาย” นพ.อี๊ด กล่าว
พญ.สวรส แสงชโยสวัสดิ์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลรวมใจรักษ์ กล่าวเสริมว่า หลังจากที่แพทย์ออร์โธปิดิกส์ตรวจแล้วพบว่าคนไข้มีปัญหาหรือบาดเจ็บตรงไหน ก็จะส่งไม้ต่อมาให้แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูประเมิน วางแผนโปรแกรมการฟื้นฟู ทำกายภาพบำบัด หรือบางครั้งก็ทำงานร่วมกับนักกายอุปกรณ์
“บทบาทของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูคือประเมินว่าอาการแบบนี้เหมาะกับการใช้เครื่องมือไหนในการรักษา นอกจากนั้น ยังต้องวางแผนโปรแกรมการฟื้นฟูไปตามแต่ละอาการของบุคคล เช่น ถ้าหายเจ็บแล้วควรเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อส่วนไหนเป็นพิเศษ หรือแนะนำว่าการออกกำลังกายแบบไหนจะลดความเสี่ยงบาดเจ็บ
“ปัจจุบันศูนย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬามีเครื่องมือที่ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่าง Hyperbaric Oxygen Therapy หรือออกซิเจนบำบัด เป็นการเติมออกซิเจนบริสุทธิ์เข้าไปในร่างกาย ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดและการทำงานของสมองดีขึ้น กระตุ้นการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อและฟื้นฟูส่วนที่สึกหรอหรือชำรุด
“Ultrasound Therapy เป็นการรักษาด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงลงลึกถึงเนื้อเยื่อ เข้าไปกระตุ้นการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อ, ลดอาการปวด, ลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ, เพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อในชั้นลึก, ลดอาการบวม, ช่วยเร่งการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ รวมทั้งคลายการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ นอกจากนั้นยังมีเลเซอร์ เป็นการใช้คลื่นความร้อนลงไประดับลึก เหมาะกับคนไข้ที่เจ็บปวดเฉียบพลัน ใช้ได้ทั้งกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ เส้นเอ็น ส่วนใหญ่อาการปวดจะลดลงทันทีหลังทำ”
“PMS หรือ Peripheral Magnetic Stimulation เครื่องนี้จะไปกระตุ้นระบบประสาทด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ารักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ, โรคเอ็น, โรคปวดข้อต่อ และอาการชาจากเส้นประสาท นอกจากนั้น ยังมี Radial Shock Wave เป็นคลื่นกระแทกที่ทำงานผ่านชั้นผิวหนังลงไปถึงบริเวณเอ็นและกล้ามเนื้อเพื่อคลายกล้ามเนื้อในวงกว้าง จะลงในบริเวณที่ตื้นกว่า Focus Shock Wave ซึ่งจะเฉพาะเจาะจงไปที่อาการปวดเส้นเอ็น เช่น เอ็นข้อเท้าอักเสบ เอ็นร้อยหวายอักเสบ เอ็นข้อไหล่ที่ไม่ได้ถึงขั้นผ่าตัด ช่วยกระตุ้นการซ่อมแซมของเส้นเอ็น บางคนเห็นความแตกต่างเลยว่าปวดลดลงหลังยิง”
พญ.สวรส กล่าวว่า นวัตกรรมเหล่านี้เหมาะสำหรับนักกีฬาหรือคนที่บาดเจ็บเฉียบพลัน หรือในเคสที่บาดเจ็บจุดที่ลึกและการกายภาพไม่สามารถช่วยได้ “การลดความเจ็บปวดของคนไข้ด้วยเครื่องมือในขั้นแรกแล้วค่อยๆ ปรับมาใช้การรักษาด้วยกายภาพต่อเนื่อง จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ ร่างกายฟื้นฟูได้เร็ว และลดระยะเวลาการรักษาได้มากขึ้น
“มีเคสหนึ่งคนไข้เป็นนักวิ่งมาราธอน มาด้วยอาการเอ็นร้อยหวายอักเสบและพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ รักษาด้วยการยิง Focus Shock Wave สัปดาห์ละครั้งติดต่อกัน 4-6 สัปดาห์ พบว่าอาการปวดเหลือเพียง 1-2% เท่านั้น”
พญ.สวรส ฝากถึงคนที่อยากจะออกกำลังกายรวมถึงนักกีฬา โดยเฉพาะคนที่ไม่แน่ใจว่ามีโรคประจำตัวที่อาจได้รับความเสี่ยงจากการออกกำลังกายหักโหมหรือผิดวิธี ควรเข้ามาปรึกษาหรือตรวจร่างกายก่อนออกกำลังกาย
“ในฐานะแพทย์เวชศาสตร์อยากให้ทุกคนป้องกันมากกว่ารักษา การตรวจความพร้อมของร่างกายเป็นวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บได้อย่างมาก เพราะแพทย์จะแนะนำได้ว่าควรออกกำลังกายแบบไหนหรือจุดไหนที่ต้องเสริมความแข็งแรงเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการบาดเจ็บในอนาคต ไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการหรือบาดเจ็บถึงจะมาพบแพทย์ เพราะเมื่อนั้นอาจสายเกินไป”
บาห์เรน-ธนทัต ทวีรัตน์ นักกีฬาวอลเลย์บอลทีมชาติไทย คือตัวอย่างของนักกีฬาที่มีอาการบาดเจ็บเรื้อรังจากการเล่นวอลเลย์บอล
ถ้านับตั้งแต่เริ่มเล่นวอลเลย์บอลครั้งแรกตอนอายุ 13 ปี ด้วยตำแหน่งบอลสั้น ก่อนมาเล่นในตำแหน่งบอลหลัก สังกัดสโมสรวอลเลย์บอลเกาะกูดคาบาน่า จนได้เป็นนักกีฬาเยาวชนทีมชาติไทย และติดทีมชาติตอนอายุ 21 ปี ด้วยตำแหน่ง Opposite Spiker ธนทัตบอกว่า “ผมบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเข่าทั้งสองข้าง, ข้อเท้า, หลัง, ไหล่ อาจเพราะช่วงแรกที่เริ่มกีฬายังขาดความรู้เรื่องการดูแลร่างกาย พอมีอาการบาดเจ็บก็ไม่รู้วิธีฟื้นฟูร่างกายที่ถูกต้อง
“จริงๆ แล้ววินัยในการฝึกซ้อมและเตรียมความพร้อมให้ร่างกายแข็งแรงก็มีส่วนช่วยให้อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาน้อยลงในระยะหลัง พอเริ่มมีความรู้และได้รับคำแนะนำจากนักกายภาพ ทำให้เราออกกำลังกายได้อย่างถูกต้องมากขึ้น”
ธนทัตเล่าว่า ก่อนแข่งจะเริ่มเตรียมความฟิตด้วยการเล่นฟิตเนสสลับกับฝึกเล่นเทคนิควอลเลย์บอล ใน 1 วันต้องซ้อมประมาณ 5-6 ชั่วโมง หากเกิดอาการบาดเจ็บเล็กน้อยระหว่างฝึกซ้อมจะมีทีมนักกายภาพคอยดูแลและให้คำแนะนำ
“เคยพักร่างกายนานสุดเดือนกว่าๆ ไม่ออกกำลังกายเลย ช่วงที่ต้องกลับมาออกกำลังกายใหม่เป็นช่วงอีกช่วงที่ต้องระวังอย่างมาก เพราะเสี่ยงที่จะบาดเจ็บเช่นกันเพราะร่างกายหยุดพักไปนาน ถ้าออกกำลังกายผิดวิธีหรือหักโหมเกินไปก็เสี่ยงบาดเจ็บได้”
แต่ต่อให้เตรียมร่างกายมาดีก็อาจเสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บได้ “ที่เป็นบ่อยคือข้อเท้าพลิกหรือนิ้วซ้นจากการบล็อกบอล ถ้ายังอยู่ในช่วงแข่งขันต่อเนื่องจะมีนักกายภาพประเมินและรักษาเบื้องต้น หากยังบาดเจ็บอยู่ก็จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยเครื่องมืออย่าง Focus Shock Wave ที่ช่วยรักษาได้อย่างตรงจุดและทำให้อาการปวดดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หรือมีอยู่ครั้งหนึ่งเจ็บหลังก้มไม่ได้หลังจากเล่นฟิตเนส ก็ใช้เครื่อง Focus Shock Wave ช่วยให้กลับไปออกกำลังกายต่อได้ บางครั้งก็ฝังเข็ม นวดกระตุ้น และแช่น้ำแข็งร่วมด้วยสำหรับอาการเจ็บปวดจุดอื่นๆ
“ส่วนตัวคิดว่าวินัยของนักกีฬาในการเตรียมความพร้อมของร่างกายก็ช่วยป้องกันการบาดเจ็บได้ระดับหนึ่ง แต่เราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอาการบาดเจ็บสะสมหรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างฝึกซ้อมและแข่งขันเมื่อไร หรือไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วอาการบาดเจ็บเกิดจากอะไร ผมเคยเจ็บเข่า แต่พอไปตรวจอย่างละเอียดถึงพบว่ามันเชื่อมโยงมาจากกล้ามเนื้อส่วนสะโพกตึง จึงไปดึงรั้งให้เกิดอาการบาดเจ็บ ทำให้การรักษาทำได้ตรงจุดมากขึ้น นี่คือข้อดีของการมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูแล บางทีรักษาเองอาจหายแค่ระยะสั้นๆ แต่ส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บเรื้อรังได้ ไม่คุ้มแน่นอนครับ”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโปรแกรมตรวจสุขภาพของศูนย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา โรงพยาบาลรวมใจรักษ์ คลิก
หรือ Facebook: โรงพยาบาลรวมใจรักษ์ สุขุมวิท 62
ติดต่อสอบถาม หรือนัดหมายแพทย์ โทร. 0 2768 9999 หรือสายด่วน 1504
อ้างอิง: