นอกจากรัฐบาลจะเข้าสู่ยุค 4.0 แล้ว ร่างทรงของไทยยังไปไกลถึงยุค 4G อีกด้วย นี่ยังไม่นับรวมร่างทรงอีกมากมายก่ายกองที่ปรากฏตัวในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นร่างทรงบ็อบ มาร์เลย์ พอล วอล์กเกอร์ รวมไปถึงข่าวเกี่ยวกับอะไรใกล้ๆ กันในทำนองนี้ เช่น ความนิยมในหมอผีที่เพิ่มขึ้น คนดื่มน้ำมนต์เพื่อรักษาโรคแล้วตาย
แน่นอนครับว่าเรื่องพวกนี้ฟังดูเป็นเรื่องตลก หลอกลวง และไร้สาระสำหรับใครหลายคน แต่กลับมีคนจำนวนหนึ่งเชื่อในร่างทรงและหมอผีพวกนี้อย่างจริงจัง คำถามของเราจึงไม่ควรหยุดอยู่ที่ร่างทรงหรือหมอผีพวกนี้เป็นของจริงหรือไม่จริง แต่เราควรตั้งคำถามต่อว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำไมจึงเกิดขึ้นอย่างมากมายในสังคมไทยช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ร่างทรง 4G ในยุครัฐบาล คสช.
น่าสนใจนะครับว่า ถ้าย้อนกลับไปในอดีต เราไม่เคยมีร่างทรงที่ทรงดารา นักร้อง หรือตัวการ์ตูนกันเลย จะมีก็ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เท่านั้น เพราะดั้งเดิมแล้วร่างทรงจะทรงเฉพาะสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์และมีอำนาจเหนือธรรมชาติอย่างมหาศาลเท่านั้น
ย้อนกลับไปในสมัยโบราณ สังคมในอุษาคเนย์ อินเดีย และจีน ต่างมีความเชื่อเรื่องร่างทรงด้วยกันทั้งนั้น ร่างทรงมีหน้าที่เป็นตัวกลาง (medium) ให้วิญญาณ ผี หรือเทพเจ้า ลงมาจับร่างหรือทรงร่าง เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีบันทึกว่า ‘ชาวภูไท’ มีการ ‘เชิญผีและเจ้า’ ให้มาลงทรงที่ ‘หมอลำเหยา’ หรือ ‘หมอลำส่อง’ เพื่อทำนายอาการป่วยของคนไข้ เป็นต้น
การทรงเจ้าเข้าผีในสมัยโบราณมีเป้าหมายหลักๆ เพื่อสอบถามสารทุกข์สุขดิบของบรรพบุรุษ สอบถามชะตาของชุมชนบ้านเมือง หรือรักษาโรคภัยไข้เจ็บ อยากให้สังเกตด้วยว่าร่างทรงพวกนี้มักมีหน้าที่โดยตรงกับชุมชนมากกว่ามีหน้าที่ต่อปัจเจก
แน่นอนว่าความเจ็บป่วยเป็นเรื่องของบุคคล แต่ความเจ็บป่วยในสมัยโบราณก็เป็นหน้าที่ที่เครือญาติต้องช่วยเหลือกัน ทำให้มักเชิญผีบรรพบุรุษมาลงในร่างทรง เพื่อสอบถามว่าลูกหลานทำผิดผีอะไรหรือไม่ ควรแก้ไขอย่างไร
เพศของผู้ที่เป็นร่างทรงพบว่ามีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเพศที่สาม (เพศทางเลือก / Non-binary) มาแต่ไหนแต่ไร แต่ผู้หญิงและเพศที่สามมักจะมากกว่า เพราะวิญญาณมาลงทรงได้ง่ายกว่า เนื่องจากจิตอ่อนกว่า หรือในกรณีของเพศที่สาม ซึ่งเป็นคนที่มีส่วนผสมทั้งความเป็นชายและเป็นหญิง ทำให้เป็นเหมือนคนที่อยู่ระหว่างกึ่งกลาง จึงเหมาะกับการเป็น medium อย่างมาก ซึ่งพบในหลายสังคม เช่น ทางล้านนา หรือพวกบิสซู บนเกาะสุลาเวสี อินโดนีเซีย
ดังเห็นได้จากกรณีของร่างทรงที่มีชื่อว่า ‘เจ้าแม่อุไรทอง’ เริ่มทรงเจ้าเมื่อราว พ.ศ. 2480 เศษ ร่างทรงนี้มีเจ้ามาจับร่างเป็นจำนวนเกือบ 20 องค์ เช่น เจ้าแม่อุไรทอง, เจ้าแม่ตะเคียนทอง, พระนางเรือล่ม, เจ้าแม่กวนอิม, พระนารายณ์, พระนเรศวร, ฤๅษีลิงดำ, องค์จุก และเจ้าพ่อหนูแดง เป็นต้น โดยภาษาที่ใช้เวลาเข้าทรงส่วนใหญ่จะเป็นภาษาไทย แต่มีบางครั้งพูดภาษาจีนด้วย หลักๆ แล้วคนที่มาหาร่างทรงเจ้าแม่อุไรทองมักจะมาขอให้ตนเองร่ำรวย ขอเลขเด็ดไปแทงหวยกัน
ความน่าสนใจของร่างทรงที่เจ้าแม่อุไรทองทรงคือ มีบุคคลในประวัติศาสตร์คือ พระนเรศวรและพระนางเรือล่ม ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญของประเทศไทย
คำถามคือ ทำไมจึงปรากฏการทรงบุคคลเหล่านี้
คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือ เพราะอิทธิพลของประวัติศาสตร์ชาติในช่วงที่มีการปลุกกระแสชาตินิยมในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งทำให้บุคคลต่างๆ มีทั้งอนุสาวรีย์ เกิดพิธีกรรมบูชา เกิดการสร้างเรื่องราวผ่านประวัติศาสตร์ และสื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ ทำให้บุคคลเหล่านี้เป็นที่รู้จักจนเกิดเป็น ‘ลัทธิ’ (cult) ในการบูชากันมากมาย ซึ่งส่งเสริมให้กลายเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ในสังคมเป็นวงกว้าง ทั้งๆ ที่วีรบุรุษในประวัติศาสตร์นั้นเดิมเคยเป็นบุคคลที่บูชากันเฉพาะในราชสำนัก ไม่ใช่ของชาวบ้านทั่วไป
ร่างทรงรัชกาลที่ 5 แต่งกายในชุดสีชมพู
Photo: news.mthai.com
ในปัจจุบันมีร่างทรงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยกันหลายองค์ที่นิยมมากๆ ได้แก่ พระเจ้าตากสิน เสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพร หรือพระปิยมหาราช (รัชกาลที่ 5)
จะสังเกตได้อย่างว่า วีรบุรุษที่ถูกอัญเชิญมาทรงนี้มีคุณสมบัติร่วมกันอยู่อย่างคือ เป็นกษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องว่ายิ่งใหญ่และเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างใหญ่หลวง แต่ที่แน่ๆ ด้วยคือ บุคคลสำคัญเหล่านี้ได้รับการยกย่องในประวัติศาสตร์ชาติไทย
เท่าที่สอบถามจากคนในตำหนักทรง คนที่มาหาร่างทรงกษัตริย์โดยมากมักมาขอให้ตนเองประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เลื่อนขั้นตำแหน่งงาน แต่ที่แน่ๆ คือมาขอเลขเด็ด แต่ก็อยากให้สังเกตว่าทั้งหมดเป็นเรื่องประโยชน์เฉพาะบุคคลเป็นหลัก
แน่นอนครับว่าทั้ง ไบรอัน โอ’คอนเนอร์ และบ็อบ มาร์เลย์ คือดาราที่ตายไปแล้ว ส่วนไจแอนท์และโดราเอมอนไม่มีตัวตนจริง คำถามคือ ทำไมคนจำนวนหนึ่งจึงได้เชื่อร่างทรงแบบนี้ หรือตั้งคำถามในอีกทางหนึ่งคือ ทำไมร่างทรงพวกนี้จึงสามารถเกิดขึ้นในสังคมได้
ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจอธิบายได้ด้วยแนวคิด ‘ป๊อป คัลเจอร์’ (Pop Culture) หรือ ‘วัฒนธรรมประชา’ คือ ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่คนในสังคมทั่วไปให้ความนิยมอย่างสูง ความนิยมชมชอบนี้บางครั้งก็มีระดับการพัฒนาไปสู่ความคลั่งไคล้และกลายเป็นลัทธิอย่างอ่อนๆ ซึ่งนำไปสู่ความนิยมชมชอบในศิลปิน ด้วยเหตุผลแบบนี้ จึงทำให้ ‘ผี’ นักร้อง นักแสดง และการ์ตูนข้างต้น ซึมลึกเข้าไปในความรู้สึกของร่างทรง และพัฒนาเป็น ‘วิญญาณ’ ในที่สุด
ผมเคยพยายามอธิบายอะไรให้ดูเป็นวิชาการแบบนี้ แต่ก็มีคนบอกว่า จริงๆ แล้วคนที่ไปบูชาไม่ได้สนใจว่าจะทรงอะไรหรอก ขอแค่ให้ใบ้หวยได้ก็พอ แต่ผมคิดว่า ถ้าเราอธิบายอะไรแบบนี้มันอาจไม่เพียงพอต่อการเข้าใจสังคมเท่าไรนัก
ผมคิดว่าปรากฏการณ์ร่างทรงนี้สะท้อนปัญหาสำคัญ 2 อย่างในสังคมไทยคือ
อย่างแรก สะท้อนปัญหาและความตกต่ำของเศรษฐกิจไทย จึงทำให้คนต้องพึ่งพาเงินที่อาจได้เพราะโชคช่วย แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือมันสะท้อนว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยนั้นไม่เอื้อให้คนจนหรือชนชั้นกลางสามารถหาช่องทางเพื่อจะเพิ่มฐานะได้ ก็ในเมื่อชนชั้นบนครอบครองเศรษฐกิจจนไม่เปิดช่องให้พวกเขาโตได้ง่ายๆ
อย่างที่สอง สะท้อนปัญหาการเลื่อนขั้นของตำแหน่งงานที่ทำอยู่ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมในระบบอุปถัมภ์และอาวุโส ทำให้คนมีความสามารถไม่อาจเลื่อนขั้นได้ง่ายๆ ดังนั้น จึงต้องพึ่งพาอำนาจของผี เจ้า หรือวิญญาณกษัตริย์ เพื่อเกื้อหนุนให้ได้เลื่อนตำแหน่งงานที่สูงขึ้นหรือให้นายรัก
ร่างทรงพระนเรศวรได้รับความนิยมมากถึงขั้นเปิดตำหนักของตนเองมีชื่อว่า ‘ตำหนักเรือนไทยศรีนเรศ’
Photo: board.postjung.com
โอมเพี้ยง! น้ำมนต์หมอ ยาผีบอก และหมอแสง
จริงๆ แล้วมีปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงกับสังคมในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาหลายอย่างมาก เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่า มีหญิงสาววัย 18 ดื่มน้ำมนต์เพื่อรักษาโรคแล้วเสียชีวิต ตามข่าวของเนชั่นบอกว่ามีกลุ่มพระสงฆ์และฆราวาสอ้างตัวว่ามีคุณวิเศษช่วยล้างมนต์ดำได้ และมาทักว่าเด็กผู้หญิงคนนี้ต้องคุณไสยมนต์ดำ ต้องเสียเงินค่าครูให้กับพระกลุ่มนี้ 300 บาท เพื่อเข้าพิธีดื่มน้ำมนต์ 2 บาตรจึงจะหาย แม่เด็กก็หลงเชื่อ จึงให้เด็กดื่มน้ำมนต์ แต่กลับกลายเป็นว่าเด็กคนนี้ต้องมาตายหลังจากดื่มน้ำมนต์ไป
ความเชื่อที่ว่าน้ำมนต์สามารถรักษาโรคได้นั้น มีรากมาจากความเชื่อในพุทธศาสนามหายานในเรื่องมนตราที่ผสมผสานกับความเชื่อท้องถิ่นดั้งเดิมเรื่องน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยคนสมัยก่อนเชื่อว่าความเจ็บป่วยนั้นเกิดขึ้นจากผี ไม่ใช่เชื้อโรคในความคิดแบบการแพทย์สมัยใหม่ ดังนั้น ทำให้เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมนตราจะชนะผีที่เป็นเหตุแห่งโรคภัยไข้เจ็บได้ ถ้าพูดแบบคนสมัยนี้ก็คือ น้ำมนต์จึงเป็นการรักษาทางใจมากกว่าทางกายครับ
เรื่องนี้ทำให้ผมนึกอีกเรื่องหนึ่งคือ ‘ยาผีบอก’ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นข่าวให้ได้ยินกันอยู่บ่อยครั้ง เช่น เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีการทลายแหล่งผลิตยาผีบอกที่มหาสารคาม ซึ่งอวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถรักษาได้ทุกโรค แต่เอาเข้าจริงแล้ว ยาผีบอกนี้มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย
ตามที่แม่ผมเล่าให้ฟัง ยาผีบอก คือสูตรยาที่ผีมาเข้าฝันว่าต้องไปหาสมุนไพรอะไรมากินแล้วจะหายจากการเจ็บป่วย บางคนโชคดี เอายาที่ผีบอกมากินแล้วหาย ก็เอาสูตรยานั้นไปบอกต่อกับคนอื่น ทำให้ยาผีบอกโด่งดังขึ้นมา แต่โดยมากแล้วคนที่ใช้สูตรผีบอกคือคนที่ไปรักษากับหมอยาหรือหมอแผนปัจจุบันแล้ว แต่ไม่หาย จึงต้องมาพึ่งยาผีบอกแทน
เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องยาหมอแสงที่รักษาโรคมะเร็ง แล้วคนแห่ไปเข้าคิวขอยากัน อย่างที่ทราบกันว่า ในตอนหลังกระทรวงสาธารณสุขได้ทดสอบยาแล้วพบว่า ยาของหมอแสงไม่มีฤทธิ์ในการต่อต้านมะเร็งชนิดที่สามารถรักษาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผู้ป่วยมะเร็งหลายคนก็ยังเลือกที่จะเชื่อมั่นในยาของหมอแสงเช่นเดิม
ทั้งสามเรื่องที่ยกมากำลังบอกอะไรกับเรา แน่นอนครับว่าคนป่วยทุกคนต้องการความหวัง สักเล็กน้อยก็ยังดี ถึงบางครั้งจะรู้ว่ามันอาจจะไม่ได้ผลก็ตาม แต่ถ้าเราอธิบายอะไรแบบนี้ก็ดูจะเบสิกมากเกินไป
ผมคิดว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ข้างต้นทั้งหมดนี้มันสะท้อนปัญหาถึงการที่ชาวบ้านหรือประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการสาธารณสุขที่มากเพียงพอหรือดีพอ อีกปัญหาคือเรื่องของค่าใช้จ่าย ซึ่งเราจะพบว่าคนจนและคนแก่จำนวนมากไม่อยากไปหาหมอ ไม่ใช่เพราะกลัวเจ็บ แต่เพราะกลัวแพง ซึ่งนี่เองผมว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ยาหมอแสงตอบโจทย์ผู้ป่วย
เมื่อสิ้นหวังจึงพึ่งไสยศาสตร์
ผมมักมีข้อสมมติฐานอย่างง่ายๆ ว่า คนที่สิ้นหวังต่อตัวเองหรืออะไรสักอย่างมักหันไปพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เพราะเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะดลบันดาลสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ ทั้งๆ ที่พวกเขาก็คิดว่ามันอาจเป็นไปไม่ได้หรอก แต่อย่างน้อยก็ได้ลองดู เผื่อฟลุก เผื่อจะมีโอกาสขึ้นมาบ้าง
มีงานวิจัยทางด้านมานุษยวิทยาหลายชิ้นที่อธิบายว่า หมอผี (shaman) และร่างทรง (spirit medium) มีหน้าที่ช่วยเยียวยาและสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้กับปัจเจกชนและชุมชนในยามที่สังคมปั่นป่วนไม่สงบ
ตัวอย่างเช่น เมอร์เทิล เอส. แลงเลย์ (Myrtle S. Langley) ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนา ได้ให้ความเห็นว่า ในสังคมมาเลเซีย หมอผีจะทำหน้าที่ช่วยธำรงให้สังคมเกิดความมั่นคงและนิ่ง (stability) ขึ้นในยามที่เกิดวิกฤต ดังนั้น นักมานุษยวิทยาจึงมองว่า หมอผีและร่างทรงมีบทบาทและหน้าที่ทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ใช่เรื่องหลอกลวงอย่างที่คิดกันง่ายๆ
ถ้าเชื่อตามแนวคิดข้างต้นจะเห็นได้ว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ภายใต้สังคมไทยที่เต็มไปด้วยปัญหาทางการเมือง การรัฐประหาร การเลือกตั้ง เศรษฐกิจที่ตกต่ำลง (จะด้วยความรู้สึกหรือด้วยตัวเลข) คนจนที่หาเงินลำบากขึ้น ปัญหาของระบบสาธารณสุข (เห็นได้จากกรณีที่พี่ตูนต้องออกมาวิ่ง) ปัญหาการคอร์รัปชัน ตำรวจที่ถูกสร้างภาพว่าพึ่งพาไม่ได้เท่ากับทหาร หรือปัญหาของพระสงฆ์องค์เจ้าที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ
สังคมแบบนี้เองจึงแทบไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมผู้คนจำนวนมากและชาวบ้านร้านตลาดจึงต้องหันไปพึ่งร่างทรง ไหว้ผี ไหว้เจ้า หายาผีบอก หรือกระทั่งบนบานพระเจ้าทันใจ เพราะโครงสร้างทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจของเรากำลังมีปัญหาอย่างหนักนั่นเอง