ใน Project S The Series ตอน SOS skate ซึม ซ่าส์ ที่ว่าด้วยอาการของ ‘บูรณะ’ หรือบู (รับบทโดย เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธ์ุภิญโญ) ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่หวังจะใช้การเล่นสเกตบอร์ดเป็นเครื่องบำบัดให้เขาหายเป็นปกติอีกครั้ง จะเห็นว่าลำพังเพียงใจสู้ของบูเพียงคนเดียวยังไม่พอ ต้องอาศัยกำลังใจจากคนที่อยู่ข้างๆ เป็นปัจจัยสำคัญให้เขาผ่านพ้นอาการที่เป็นอยู่ไปได้
และคนที่เข้ามารับหน้าที่นั้นก็คือ แพต-ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช ในบท หมอเบลล์ จิตแพทย์ที่ดูแลบูอย่างใกล้ชิด และ แพรว-นฤภรกมล ฉายแสง ในบท ใบเฟิร์น สเกตเกิร์ลที่เข้ามาเป็นเพื่อนสนิทคนสำคัญของบู ไม่ใช่แค่บทบาทในหน้าจอเท่านั้นที่ทั้งสองสาวทำได้อย่างน่าชื่นชม เพราะการเข้ามารับเล่นเรื่องนี้ยังช่วยเปลี่ยนทัศนคติหลายอย่างเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าไปอย่างสิ้นเชิง และยังใช้ความเข้าใจที่ได้มาส่งต่อให้กับผู้คนรอบตัวในชีวิตจริงได้ด้วย
เพราะสำหรับพวกเธอแล้ว ‘ความเศร้า’ คือภาวะทางอารมณ์ที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ และถ้ามองให้ลึกลงไปมากกว่านั้น ในความเศร้าก็ยังมีความซับซ้อน สวยงาม และลึกซึ้งซ่อนอยู่ ถ้าเราค้นหามันเจอ
พื้นฐานของทั้งสองคนถือว่าเป็นคนที่สนิทสนมกับความเศร้ามากขนาดไหน
แพต: เป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ หลีกเลี่ยงมันไม่ได้เลย อยู่ที่ว่าเราจะจัดการกับมันยังไง อย่างแพตเป็นคนเศร้าง่ายมาก แค่เดินหกล้ม ดินสอตก เพื่อนยืมยางลบไม่คืน ลืมเติมเงินโทรศัพท์ เน็ตหมด แค่นี้ก็ทำให้เศร้าได้แล้ว แต่แพตจะโชคดีที่จัดการความเศร้าได้ค่อนข้างง่าย ด้วยการพูดออกมา โวยวาย โทรหาใครสักคนที่เราสบายใจ อย่างแพรวก็โดนบ่อย บางครั้งแค่โทรไปพูดคำเดียว ‘มึง’ (เน้นเสียง) เพื่อนก็จะรู้แล้ว “อะ มีอะไรว่ามา” ทำให้แพตไม่ค่อยจมกับความเศร้าเท่าไหร่
แพรว: ตรงข้ามกันเลย เพราะแพรวจัดการความเศร้าไม่เก่ง ถ้าเศร้าแล้วจะจมอยู่นานมาก แล้วเป็นคนคิดมากกับทุกเรื่อง บางทีรู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนคนเสพติดความเครียดด้วยนะ เพราะชอบดึงทุกอย่างมาไว้กับตัว บางทีออกไปอยู่กับเพื่อนก็จะลืมได้แป๊บหนึ่ง พออยู่คนเดียวก็จะกลับมาคิดอีก หลังๆ ต้องใช้วิธีหาคลิปอะไรตลกๆ ดู ก็ช่วยได้ประมาณหนึ่ง แทบจะเรียกว่าเป็นคลังของคลิปตลกได้เลย
ขยับขึ้นมาที่คำว่า ‘โรคซึมเศร้า’ ก่อนหน้าที่จะมาเล่นเรื่องนี้ เคยรู้สึกกับคำนี้อย่างไรบ้าง
แพต: ตั้งแต่มัธยม แพตมีเพื่อนสนิทที่เป็นโรคซึมเศร้า ก็เลยทำให้เข้าใจมาก่อนในระดับหนึ่ง พอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา สาเหตุมาจากอะไร อาจจะไม่ได้เข้าใจทั้งหมด แต่พอจะรู้วิธีว่าเราจะอยู่กับคนกลุ่มนี้ได้ยังไง
แพรว: ตอนแรกแพรวมีความรู้ประมาณไซม่อน (รับบทโดย โทนี่ รากแก่น) ในเรื่องเลย คือแค่สงสาร แต่ไม่รู้ว่าเกิดมาจากอะไร คิดว่าเขาคงเครียดมาก เฟลกับตัวเองมาก อยู่กับตัวเองแล้วเศร้า แค่นั้นเลย
แต่มันจะมีช่วง 6 เดือนที่ต้องซ้อมสเกตบอร์ดก่อนเริ่มถ่ายทำเรื่องนี้ ตอนนั้นมีหลายปัจจัยเกิดขึ้น พักผ่อนน้อย วิตกกังวลเรื่องซ้อม ต้องอยู่หอคนเดียว เพราะเพื่อนที่อยู่ด้วยกันกลับบ้านต่างจังหวัด ไม่มีคนให้แชร์ความรู้สึก กลายเป็นนอนหลับตอนกลางคืนไม่ได้ ต้องมานอนตอน 9 โมงเช้า แล้วการเล่นสเกตบอร์ดคือการเอาชนะตัวเอง ต้องทำซ้ำๆ จนกว่าจะได้ แล้วพอเราทำไม่ได้ก็ยิ่งบี้ปมให้เรานอยด์เข้าไปอีก ตอนนั้นหน้าอมทุกข์ เหมือนมีราหูเกาะอยู่ตลอดเวลา ถ้าสมมติแบ่งระดับความหม่นเป็น 6 เลเวล แพรวอัพขึ้นมาเดือนละเลเวลเลย ตอนแรกมาแบบสว่างมาก แล้วค่อยๆ มืดจนครึ้มไปเลย (หัวเราะ)
แต่พอเริ่มถ่ายทำก็ดีขึ้น ได้ทำงาน ได้แชร์กับคนในกองถ่าย ได้ทำความเข้าใจกับความเศร้ามากขึ้น แล้วพอได้ทำงาน กลับบ้านมาก็เหนื่อย หลับเลย ไม่มีเวลาให้คิดอะไร แล้วเพื่อนก็กลับมาอยู่หอด้วยพอดี ทุกอย่างเลยดีขึ้น ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าตอนนี้ถ้าไปเจอเรื่องเหนื่อยๆ เครียดๆ ที่รุนแรงแล้วอาการจะกลับมาอีกหรือเปล่า
พอถ่ายทำเรื่องนี้จบแล้ว ความรู้สึกเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
แพต: โห แพตรับบทเป็นจิตแพทย์ ต้องซื้อหนังสือมาอ่าน ต้องคุยกับจิตแพทย์ตัวจริงแบบลงลึกเลย คิดว่าตอนนี้แพตเข้าใจคนเป็นโรคซึมเศร้าแบบสุดยอดมากเลยนะ เวลาเห็นคนเป็นแบบนั้นแล้วเราอยากเข้าไปกอดเขามากเลย
ที่เปลี่ยนไปอีกอย่างคือเรื่องการฟังคน เมื่อก่อนเราฟังแล้วตัดสินจากความคิดเห็นของเรา ทำไมถึงไม่ทำแบบนี้วะ ทำไมถึงรู้สึกแบบนี้วะ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ทุกคนมีสิทธิ์จะถาม มีสิทธิ์ที่จะคิด แต่พอได้เล่นเรื่องนี้ มันคือการฟังที่เราไม่ต้องไปออกความคิดเห็นอะไรเลย แพตเปลี่ยนจากฟัง ตัดสิน แล้วแก้ปัญหา กลายเป็นฟังเพราะต้องการฟังเขาจริงๆ แค่นั้นก็พอ
แพรว: แพรวไม่ได้ลงลึกเท่าพี่แพต เพราะบทใบเฟิร์นที่แพรวเล่นเป็นคนที่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรขนาดนั้น แต่พอได้คุยกับทีมงานทุกคน ได้ถ่ายทำไปเรื่อยๆ เลยรู้ว่าจริงๆ โรคซึมเศร้ามันมีหลายปัจจัยมากที่ทำให้เกิดขึ้นได้ ไม่ได้มีแค่ความเศร้าอย่างที่เราคิด มันเกิดจากสารเคมีในสมอง จากสภาพแวดล้อม จากอะไรต่างๆ เต็มไปหมด ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมเขาถึงเครียด
แพต: เราจะได้ยินคนพูดบ่อยๆ ว่าฆ่าตัวตายเท่ากับโง่ แต่มันไม่ใช่แบบนั้น คนกลุ่มนี้เขาไม่สามารถต่อสู้กับตัวเองได้โดยลำพัง เขาไม่ได้อยากตาย ไม่มีใครบนโลกใบนี้ที่อยากตาย แต่เขาแค่รู้สึกว่าไม่อยากอยู่ เพราะการอยู่ของเขามันเจ็บปวดมากกว่าที่จะตายไปเสียอีก แล้วคนพวกนี้ส่วนใหญ่เขาไม่ได้พยายามฆ่าตัวตายแค่ครั้งเดียว เขาพยายามมาหลายครั้ง แต่ล้มเหลว นั่นก็เพราะว่าจริงๆ แล้วเขาไม่ได้อยากตายไง คนเป็นโรคนี้น่าสงสารมากจริงๆ ควรไปหาหมอเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง และคนรอบข้างก็ควรจะเข้าใจเขาให้มากๆ
อะไรคือสิ่งที่ง่ายที่สุดที่เราพอทำได้เวลาพบคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ใกล้ตัว
แพรว: เข้าไปปลอบ ไปกอด ไปถามว่าเขามีอะไรจะพูดกับเราไหม
แพต: จริงๆ ประโยคต้องห้ามคือคำว่าสู้ๆ คำนี้เหมือนเป็นคำที่ดีสำหรับคนทั่วไป แต่รู้ไหมว่าเป็นคำที่คนป่วยโรคซึมเศร้าฟังแล้วจะเศร้ามาก เพราะการบอกว่าสู้ๆ เหมือนบอกให้เขาไปสู้อยู่เพียงลำพัง สิ่งที่ง่ายที่สุดก็คือเข้าไปคุยกับเขา แล้วให้เขาได้พูดในสิ่งที่อยากพูดออกมา หรือถ้าจะบอกให้เขาสู้ ก็ให้บอกว่าเราจะสู้ไปด้วยกัน เราจะสู้ไปพร้อมๆ กันกับเขา
แพรว: เรื่องคำพูดที่ใช้นี่ต้องคิดเยอะมากเลยนะ เราชอบบอกกันว่า “โถ เรื่องนี้เอง” ซึ่งมันแค่นี้สำหรับเรา แต่สำหรับเขามันอาจจะใหญ่กว่านั้น หรือการพูดว่า “ไม่เห็นยากเลย” คนฟังอาจจะรู้สึกว่า “ใช่สิ มันไม่ได้ยากสำหรับมึง แต่มันยากมากสำหรับกูไง”
หลังจากซีรีส์ SOS ออกอากาศ มีคนมาเล่าเรื่องหรือมาปรึกษาทั้งสองคนเพิ่มขึ้นบ้างไหม
แพต: เยอะขึ้นมากเลยนะ บางคนบอกว่าดูแล้วรู้สึกว่าอยากให้มีหมอแบบนี้ แล้วก็เล่าเรื่องให้เราฟัง บางคนเป็นเพื่อนที่เคยเห็น เคยคุยกัน แต่เขายังไม่เปิดใจ แต่เรื่องนี้ทำให้หลายคนเปิดใจกับเรา เขาคิดว่าเราคือหมอเบลล์จริงๆ ซึ่งแพตดีใจมากเลยนะ
แพรว: ของแพรวมีคนมาปรึกษาเยอะอยู่แล้ว ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าเขามองเห็นอะไรในตัวเราถึงคิดว่าจะช่วยเขาได้ ขนาดตัวเองยังไม่ค่อยรอดเลย (หัวเราะ) แต่ด้วยนิสัยแพรวเป็นคนที่เห็นใครโพสต์สเตตัสอะไรก็จะคิดตลอดว่าเขาเป็นอะไรวะ จะทักไปถาม คือเราอยากรู้เองด้วยแหละ (หัวเราะ) บางทีทักไป เฮ้ย เป็นอะไรวะ เล่าให้ฟังได้นะ แล้วเขาบอกกลับมาว่าไม่มีอะไร กูแค่หิวเฉยๆ ก็มี (หัวเราะ)
แพต: เวลามีคนที่ปรึกษาเรา แล้วอีกวันเขาทักมาบอกว่าเมื่อคืนคุยกับมึงแล้วนอนหลับเลยว่ะ เราจะน้ำตาคลอทุกครั้งเลยนะ มันดีถึงขนาดไม่อยากให้เขาต้องมาขอบคุณด้วยซ้ำ เพราะรู้สึกว่าการที่คุยกับเขามันไม่ใช่เรื่องเสียเวลาในชีวิตเราเลย เรายินดีที่จะคุยกับเขามากๆ จริงๆ
มีความเศร้าครั้งไหนที่สุดท้ายกลายเป็นบทเรียนที่สำคัญในชีวิตของเราบ้าง
แพต: เยอะนะ มันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ค่อยๆ เรียนรู้ สมมติวันนี้ทะเลาะกับแม่หนักมาก ปิดประตูใส่กัน ตอนนั้นเสียใจมาก แต่หลังจากนั้นเราจะรู้จักกันมากขึ้น หรือเลิกกับแฟน ทะเลาะกับเพื่อน มันคือความเศร้าที่ทำให้เรารู้สึกดีใจในภายหลังว่าสุดท้ายเรายังรักกันอยู่ การทะเลาะกันหนักมากในวันนั้น มันช่วยยืดความรักและความสัมพันธ์ของเราในวันนี้ได้
อะไรที่เรื่องทำให้ทั้งสองคนรู้สึกเศร้าและเสียใจมากที่สุดในชีวิต
แพต: โห พูดแล้วยังขนลุก ทุกวันนี้ยังเศร้าอยู่เลยนะ ให้แพรวพูดก่อนแล้วกัน
แพรว: ของแพรวตั้งแต่เด็กๆ ป.3-4 พี่สาวเสียชีวิต แล้วหลังจากนั้นไม่นานพ่อแม่ก็เลิกกัน ตอนนั้นคิดว่าเรายังไม่รู้จักความเศร้าดีพอหรอก เพราะว่ายังเด็ก แต่มันเป็นเรื่องที่แรงมากที่ได้เจอทั้งสองเรื่องในเวลาเดียวกัน ซึ่งแพรวโชคดีที่คุณแม่พยายามทำให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เขาทำให้เห็นว่าอยู่กับเขาแล้วทุกอย่างโอเค ทุกอย่างไม่ใช่ปัญหา แค่นั้นก็ทำให้เราผ่านมาได้
แพต: ของแพตเป็นเหตุการณ์ช็อกที่ทำให้เศร้ามากๆ ตอนปี 1 แพตขับรถแล้วจอดให้คนข้ามถนน พอเขาเดินผ่านรถเราไป แต่รถอีกเลนหนึ่งไม่จอด แล้วเขาก็โดนชนต่อหน้าต่อตาเลย ยังจำชุดที่เขาใส่ รองเท้าแตะ ถุงที่เขาถือ จำได้ทุกอย่าง แล้วโทษตัวเองตลอดชีวิต ทุกวันนี้ก็ยังโทษอยู่ เพราะถ้าเราไม่จอดรถวันนั้น เขาก็คงไม่โดนชน
หลังจากเหตุการณ์นั้น เราช็อกไปเลย ต้องไปเข้าหาธรรมะ ปรึกษาพระ เรียนแอ็กติ้งเพิ่ม ทำทุกอย่างเพื่อให้เราสามารถจัดการกับความรู้สึกนั้นได้ ซึ่งสุดท้ายเราก็พอจะจัดการได้ อย่างที่เล่าให้ฟังตอนนี้ก็เป็นเทคนิคที่ได้จากการเรียนแอ็กติ้งที่ทำให้เล่าเรื่องได้โดยที่ไม่แสดงออกข้างใน แต่สุดท้ายในใจเรายังรู้สึกอยู่เสมอ ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่าไม่ใช่ความผิดของเรา จริงๆ ตัวเราเองก็พอรู้ แต่มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะโทษว่าเป็นความผิดของเรา เราพยายามให้อภัยตัวเองตลอดเวลา แต่ว่ามันยังไม่สำเร็จในตอนนี้ และยังไม่รู้ว่าในอนาคตจะเป็นยังไง เรื่องนี้คือที่สุดในชีวิตแล้ว
พักเรื่องเศร้าไปที่โมเมนต์ที่ดีที่สุดในชีวิตบ้างดีกว่า คิดว่าช่วงเวลาไหนคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิต
แพต: (หัวเราะ) ของแพตคือโมเมนต์ที่อยู่กับครอบครัว คุณพ่อจะมีความโรแมนติกที่ทุกคริสต์มาส ทุกปีใหม่ เราต้องอยู่ด้วยกันทุกปี แล้วเราก็จะแฮปปี้กับบรรยากาศแบบนั้นเสมอ กับอีกเรื่องคือตอนสอบแอดมิชชันติด (คณะมัณฑนศิลป์ สาขา Visual Communication มหาวิทยาลัยศิลปากร) คือแพตอยากเข้าที่นี่มาก แล้วพอเข้าได้ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เราดีใจจนร้องไห้ออกมา ทุกวันนี้ก็ยังไม่เคยดีใจแล้วร้องไห้ได้อีกเลย นั่นคือจุดสุดยอดของการดีใจแล้ว เป็นสุดยอดของหัวใจได้เลย
แพรว: นึกถึงตัวเองเลย ตอนที่เข้าโครงการ Hormones The Next Gen ตอนนั้นแพรวไม่ได้อยากเข้า ไม่แต่งตัว ไม่แต่งหน้า ไม่รู้จะต้องเข้าไปทำอะไร ไม่รู้อะไรทั้งนั้น แต่พอประกาศผล 12 สุดท้าย อ้าว ร้องไห้อยู่คนเดียว (หัวเราะ) อยากรู้ใจตัวเองว่าตกลงมึงเป็นอะไรกันแน่วะ แล้ววันนั้นพ่อแม่คนอื่นเขามากันเต็มไปหมด ส่วนเราร้องไห้อยู่คนเดียว เพราะแม่อยู่เกาหลี ซึ่งมันก็กลายมาเป็นโมเมนต์ที่ดีอีก เพราะมารู้ตอนหลังว่าแม่ภูมิใจมาก ไปพูดกับคนอื่นว่าเราเก่งมาก ไปเอง ทำอะไรทุกอย่างเอง ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักการแสดง ไม่รู้จักวงการบันเทิงสักอย่าง จนตอนนี้เหตุการณ์นั้นก็ทำให้จากเด็กที่ไม่รู้อะไรเลย พอได้รับโอกาสมากขึ้น กลายเป็นกล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเรารักการแสดงจริงๆ
- นักแสดงต่างประเทศที่แพตชอบมากที่สุดคือ โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์ ชอบถึงขนาดแพตบอกว่าดูเรื่อง 500 Days of Summer จนเธอสามารถกลายเป็นซัมเมอร์ได้แล้วแบบร้อยเปอร์เซ็นต์
- วิธีคิดในการแสดงของแพรวคือเก็บคำวิจารณ์ด้านลบมาให้หมด แล้วเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันในการแสดงว่าสักวันหนึ่งเธอจะต้องข้ามผ่านคำวิจารณ์นั้นให้ได้
- แพตบอกว่าเธอจดทุกอย่างลงในบทซีรีส์เรื่อง SOS จนเรียกได้ว่าเยอะกว่าสิ่งที่เคยจดมาในหนังสือเรียนของเธอทั้งหมดเสียอีก
- Project S The Series ตอน SOS skate ซึม ซ่าส์ ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 21.45 น. ทางช่อง GMM 25 และสามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง Line TV: tv.line.me/projectstheseries