×

เอาของกินใส่ตู้เย็นออฟฟิศไว้แล้วยังมีคนแอบเอาไป จะทำอย่างไรดีครับ?

13.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เรื่องนี้ก็คล้ายกับเวลาที่อาจารย์ซีเรียสเรื่องการลอกข้อสอบ ต่อให้เป็นควิซเก็บคะแนนห้าคะแนนสิบคะแนนก็ไม่ควรลอก ตอนเรียนยังลอกข้อสอบ โตมาแล้วจะเป็นคนที่มองเรื่องความผิดชอบชั่วดีแบบไหน
  • บองเต่า-ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ์ แนะว่าทุกคนควรจับมือกันแก้ปัญหาที่ไม่ได้ใช้วิธีโหดร้ายมาก และเมื่อจับคนร้ายได้แล้ว ประเด็นสำคัญคือจะจัดการกับคนร้ายอย่างไร ถ้าเขาสำนึกผิด คิดอยากจะปรับปรุงตัวก็ควรให้อภัย เพราะเรายังต้องอยู่ร่วมกันต่อ
  • ครูออน-ญาณิมา ศรีมังคละ แนะให้แบ่งปัญหาเป็นหลายระดับ เพราะแต่ละระดับมีวิธีการจัดการที่ต่างกัน เช่น ปล่อยให้กลไกการบอกต่อกันในออฟฟิศทำงาน ทำให้ทุกคนเป็นหูเป็นตาจนคนร้ายรู้สึกกลัวไปเอง หรือเพิ่มระบบความปลอดภัยของบริษัท เช่น ติดตั้งกล้องวงจรปิด

Q: ที่ออฟฟิศมีตู้เย็นประจำแผนกอยู่ แต่เอาของกินใส่ตู้เย็นทีไรก็จะมีคนแอบเอาไปกินตลอด ขนาดแปะป้ายไว้แล้วก็ยังมีคนกล้าหยิบไป ไม่ใช่ผมคนเดียวที่โดนแต่คนอื่นๆ ก็โดนหมด เราควรทำอย่างไรดีครับ

 

A: นี่เป็นปัญหาสากลที่หลายออฟฟิศเจอครับ มีคนมาบ่นให้ฟังเยอะอยู่ มองเผินๆ เหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก แค่หยิบของในตู้เย็นไปกิน แต่นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กครับ เพราะมันคือการยักยอกทรัพย์และแสดงถึงการไม่เคารพคนอื่น ถ้าเรื่องกินในตู้เย็นยังไม่เคารพกัน การละเมิดเรื่องอื่นๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ โกงในเรื่องอื่นได้ จริงๆ เรื่องนี้ก็คล้ายกับเวลาที่อาจารย์ที่โรงเรียนเราซีเรียสเรื่องการลอกข้อสอบนั่นแหละครับ ต่อให้เป็นควิซเก็บคะแนนห้าคะแนนสิบคะแนนก็ไม่ควรลอก ตอนเรียนยังลอกข้อสอบ โตมาแล้วจะเป็นคนที่มองเรื่องความผิดชอบชั่วดีแบบไหน

 

การขโมยของกินในตู้เย็นไม่เพียงแต่สร้างความเดือดร้อนให้เจ้าของทรัพย์แล้ว แต่ยังทำให้บรรยากาศในการทำงานเสียไปด้วย เพราะเมื่อไรที่พนักงานรู้สึกว่าเขาทำงานในที่ที่ไม่ปลอดภัย ในที่ทำงานมีคนไม่ดี มีขโมยอยู่ เขาจะมาทำงานด้วยความรู้สึกว่าหวาดระแวง ขนาดตู้เย็นในออฟฟิศยังไม่มีความปลอดภัยเลย ที่อื่นจะขนาดไหน เห็นไหมครับ แค่เรื่องของกินในตู้เย็นหายไปยังสะท้อนอะไรในออฟฟิศเราได้หลายอย่างเลย

 

เรื่องนี้ผมได้ลองปรึกษามนุษย์ออฟฟิศซึ่งเคยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก่อนอย่าง บองเต่า-ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ์ ซึ่งจัดรายการ THE STANDARD Podcast ‘I HATE MY JOB’ ร่วมกับผม และครูออน-ญาณิมา ศรีมังคละ ที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์อย่างมืออาชีพ มาให้มุมมองวิธีการจัดการปัญหานี้ครับ แต่ละคนมีมุมมองที่น่าสนใจและมีระดับความฮาร์ดคอร์ที่ต่างกัน เอาไว้ให้คุณเลือกใช้ได้เลยครับ

 

เริ่มจากคุณบองเต่าก่อนซึ่งบอกว่า กรณีที่มีเจ้าทุกข์หลายคนแบบนี้ เราควรใช้โอกาสเป็นการผนึกกำลังสร้างความสามัคคีกันในหมู่เพื่อนร่วมงานด้วยการวางแผนจับผู้ร้ายมันเสียเลย!

 

“ที่ออฟฟิศของเพื่อนเคยเจอกรณีแบบนี้เลยวางแผนร่วมกันจับขโมย เป็นเรื่องจริง จับจริง ด้วยการต้มน้ำอัญชัญบรรจุขวดสวยงามหน้าตาดูล่อใจให้คนอยากขโมยดื่ม แต่จริงๆ แล้วแอบหยดยาม่วงเจนเชียนไวโอเลต (Gentian Violet) ที่เอาไว้รักษาช่องปากลงไปนิดเดียว หรือไม่ก็แอบผสมลงบนหน้าของบลูเบอร์รีชีสพายที่ทำเอง พอกินปุ๊บสีก็จะติดปาก ก็เลยจับผู้ร้ายได้ ไม่ต้องขนาดใส่ยาถ่ายไปหรอก อันนั้นโหดไป พอหลักฐานคาปากผู้ร้ายก็อาย ก็เลยไม่ได้ทำโทษอะไรต่อ แต่ก็ทำให้ทั้งออฟฟิศรู้ไปพร้อมกัน อีกวิธีหนึ่งก็คือการจ้างแม่บ้านเป็นสปายคอยสังเกตความผิดปกติในระหว่างที่เราไม่อยู่

 

เรามองว่าเรื่องพวกนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะสุดท้ายก็ยังต้องใช้ชีวิตร่วมกันอยู่ดี คงไม่เกลียดกันตายเพราะเธอเอามะม่วงฉันไปกินแต่ต้องมีการจัดการกับปัญหา ถ้าปล่อยไว้คนทำก็จะเคยตัว”

 

ถ้าจะเรียนรู้จากคุณบองเต่าได้ ผมคิดว่ามันคือการที่ทุกคนจับมือกันแก้ปัญหา อาจจะแก้ด้วยการรวมตัวกันคิดแผนล่อคนร้ายก็ตามแต่ แต่ก็ยังเป็นการล่อผู้ร้ายที่ไม่ได้ใช้วิธีที่โหดร้ายมาก และเมื่อจับคนร้ายได้แล้ว ประเด็นสำคัญคือจะจัดการกับคนร้ายอย่างไร ถ้าเขาสำนึกผิด คิดอยากจะปรับปรุงตัวก็ควรให้อภัย เพราะเรายังต้องอยู่ร่วมกันต่อ เผลอๆ ความรู้สึกผิดนี้อาจเป็นบทเรียนที่ทำให้เขาไม่ทำอีก หรือเอาประสบการณ์ที่เขาเจอไปสอนคนอื่นๆ ต่อก็ได้นะครับ

 

มาดูความเห็นของครูออนกันบ้างครับ ครูออนแนะนำให้แบ่งความรุนแรงเป็น 4 กรณี ดังนี้

  • ระดับที่ 1 อาจเกิดจากความเข้าใจผิด คิดว่าเป็นของตัวเองเพราะของกินหน้าตาเหมือนกัน ซื้อมาจากที่เดียวกันพอดี
  • ระดับที่ 2 ตีเนียน มองซ้ายมองขวาไม่มีใครเห็นก็เลยเอามากินเองเสียเลย
  • ระดับที่ 3 ถูกจับได้หรือมีคนพูดลอยๆ เริ่มเห็นคนเดือดร้อนจากการกระทำของตัวเองก็สำนึกผิด หยุดขโมย
  • ระดับที่ 4 โนสนโนแคร์แม้ใครจะว่าอย่างไร

 

ระดับที่ 1 นั้นเราแก้ปัญหาได้ด้วยการติดชื่อไว้ก็อาจจะช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่อันนี้ขึ้นอยู่กับสำนึกของคนด้วย เพราะบางคนขนาดติดชื่อไว้แล้วยังจะเอาไปก็กล้าเกินไปแล้ว

 

“สิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้สถานการณ์ของตัวเองก่อนว่าเรากำลังอยู่ร่วมกับคนที่หลากหลาย แตกต่างทั้งมารยาทและตรรกะ ถ้าเกิดเหตุการณ์ผีตู้เย็นบ่อยๆ แสดงว่าพื้นที่นี้ไม่ปลอดภัย ถ้าเราเอาของโปรดมาใส่ตู้เย็นก็มีความเป็นไปได้ที่จะหาย เหมือนวางปลาทูไว้แล้วบอกแมวว่าห้ามกินนะก็คงห้ามไม่ได้

 

สิ่งที่เราทำได้คือรับผิดชอบในส่วนของเราก่อน ให้เราระมัดระวังอย่างถึงที่สุด เพราะถ้าปัญหาเกิดจากเราไม่ระมัดระวังด้วยส่วนหนึ่ง เรานี่แหละที่จะเป็นฝ่ายเสียใจ วิธีต่อมาคือพูดคุยเรื่องสถานการณ์นี้ให้คนอื่นในออฟฟิศได้ไต่ถามว่ามีใครเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้บ้างไหม ไม่ต้องใส่อารมณ์หรือความแค้น แค่เป็นการอัปเดตข่าวเฉยๆ แล้วปล่อยให้กลไกการบอกต่อในออฟฟิศทำงาน พอเรื่องนี้เริ่มกระจายมากขึ้น คนในออฟฟิศเริ่มระวังตัวและช่วยกันสอดส่องมากขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าผู้ร้ายระดับ 1-3 จะได้ยินข่าวแล้วรู้สึกผิดขึ้นมาก็อาจจะหยุดไป ไปจนถึงบางรายอาจจะได้คืน

 

หากมีผู้เสียหายเยอะ และปัญหาเริ่มรุนแรงขึ้น ลองแจ้งฝ่ายบุคคลให้รับทราบ อาจทำให้เกิดประกาศจากบริษัทขึ้นมาเตือนภัยหรือคาดโทษให้เห็น ไปจนถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการรักษาความปลอดภัย ทำให้มีกล้องวงจรปิดหรือมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราบ่อยขึ้น เพิ่มความจริงจังในการบังคับใช้กฎระเบียบ วิธีนี้น่าจะดีกว่าการเขียนโน้ตประชดประชัน เพราะทำให้เสียบรรยากาศในการทำงาน สร้างความขัดแย้งในองค์กร ที่สำคัญ เราไม่รู้หรอกว่าใครเป็นคนขโมย แต่ที่แน่ๆ เราเห็นชื่อของคนเขียนโน้ตด้วยข้อความรุนแรงประชดประชันแล้วคงไม่มีใครรู้สึกดีกับเจ้าของโน้ตแน่ๆ

 

ต่อให้รู้ตัวคนทำ ให้พึงระลึกว่ามารยาทและบรรยากาศในที่ทำงานยังจำเป็นต้องรักษาไว้อยู่ แม้อีกฝ่ายจะเป็นหัวขโมยก็ตาม อย่าให้คนคนเดียวมาทำให้บรรยากาศการทำงานทั้งแผนกหรือทั้งบริษัทเสียไป หากเราแน่ใจแล้วว่าไม่ผิดตัวแน่นอน หลักฐานครบ เราอาจจะเขียนโน้ตเล็กๆ แปะไว้ที่โต๊ะ (ย้ำว่าโน้ตเล็กๆ ถ้าใหญ่แบบประจานเลยคงไม่ดี) พอให้เจ้าตัวเห็น เขียนเป็นนัยอย่างสุภาพโดยระบุชื่อคนเขียนหรือไม่ก็แล้วแต่ว่า มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าคุณคือบุคคลที่น่าสงสัยในกรณีการหายไปของทรัพย์สินในตู้เย็น แต่ด้วยความหวังดีเรายังให้โอกาสกลับตัวอยู่ กรุณาอย่าทำพฤติกรรมแบบนี้อีก เราพร้อมจะให้โอกาสคุณเสมอเพราะรักถึงอยากให้อยู่ร่วมกันอย่างเพื่อนร่วมงานที่ดีได้

 

แต่ถ้าเป็นคนร้ายระดับ 4 ที่โนสนโนแคร์แล้วและยังมีคดีต่อเนื่อง ให้รวบรวมหลักฐานแล้วแจ้งผู้บังคับบัญชาได้เลย ถือเป็นการลักขโมยในบริษัท ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีการตักเตือนหรืออื่นๆ ตามแต่ที่บริษัทจะพิจารณา”

 

สิ่งที่เราจะเรียนรู้ได้จากครูออนก็คือ การแบ่งปัญหาเป็นหลายระดับ แต่ละระดับมีวิธีการจัดการที่ต่างกัน โดยเราควรเริ่มจากระดับเล็กก่อน เราจะเห็นได้ว่าหลายวิธีไม่จำเป็นต้องใช้วิธีที่มือเปื้อนเลือดเลย เช่น ปล่อยให้กลไกการบอกต่อกันในออฟฟิศทำงาน ทำให้ทุกคนเป็นหูเป็นตาซึ่งกันและกัน และทำให้คนร้ายรู้สึกกลัวไปเอง กับใช้วิธีการยกระดับการจัดการไปสู่การจัดการทั้งระบบความปลอดภัยของบริษัทซึ่งทุกคนในบริษัทได้ประโยชน์หมด หรือถ้าจะใช้วิธีการตักเตือนคนร้ายก็ยังต้องใช้ความสุภาพ เราต้องเชื่อว่าทุกคนกลับตัวได้ เราถึงยังต้องให้โอกาสเขา ส่วนเขาจะใช้โอกาสนั้นอย่างไรเป็นเรื่องของเขาแล้วล่ะครับ

 

ถ้าจะมีวิธีไหนที่เพิ่มเติม ผมลองมองอีกมุมว่า การที่เขาเลือกวิธีขโมยน่าจะเป็นเพราะเขาขาดบางอย่าง เป็นไปได้ว่าเขาหิวแต่ไม่ได้ซื้อ หรือเขาอยากกินของดีๆ แต่ไม่มีโอกาส สมมติเรามีมากกว่าเขา เราใช้วิธีการแบ่งให้คนในออฟฟิศทานไปเลย ชวนเขามากินกับเรา ชวนดะไปเลยครับโดยที่เราไม่รู้หรอกว่าคนนี้จะเป็นหัวขโมยหรือไม่ก็ตาม แบ่งให้คนอื่นก่อน ไม่จำเป็นต้องเป็นของกินราคาแพงนะครับ ผลไม้ใต้ออฟฟิศหรือขนมเล็กๆน้อยๆ ก็ได้ แล้วเราบอกทุกคนเลยว่า ใครอยากชิมมาชิมได้เลยนะ หรือใครหิวเรามีเสบียงให้นะ เดินมาหาได้เลย วิธีนี้นอกจากเราจะเอื้อเฟื้อต่อคนที่ขาดแล้ว เรายังเอื้อเฟื้อไปให้คนอื่นๆ ด้วย เป็นการผูกมิตรไปในตัว ทำให้คนอื่นรักเรา พอคนที่รู้สึกขาดได้รับแล้ว เขาอาจจะรู้สึกว่าเขาไม่จำเป็นต้องไปขโมยอีกแล้วก็ได้ เพราะมีคนให้เขาแล้ว ไม่รู้นะ เผลอๆ วันหนึ่งเขาอาจจะลุกขึ้นมาเป็นคนให้ต่อก็ได้ ความดีของเรานี่แหละครับจะเป็นเกราะคุ้มครองให้เรา เพราะเวลาที่คนจะคิดร้ายกับเรา เขาอาจจะมีสักแวบนึกถึงการที่เราเป็นคนให้เขาก่อน

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมก็ไม่รับรองผลนะครับว่าใช้วิธีนี้แล้วหัวขโมยจะเลิกขโมยไหม แต่ที่แน่ๆ จะมีคนรักคุณมากขึ้น และถ้าคนที่มีคนรักมากๆ ถูกทำร้าย ผมคิดว่าก็คงไม่มีคนปล่อยคุณไว้เผชิญปัญหาลำพังแน่ๆ

 

อยากใช้วิธีไหนเลือกได้เลยครับ

 

*ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

Photo: Nisakorn Rittapai

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising