×

กกต. สมชัยเผย หาก สนช. คว่ำร่างกฎหมาย ส.ส.-ส.ว. โรดแมปจะเลื่อนไปอีก 6 เดือน

09.02.2018
  • LOADING...

ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่าขณะนี้ กกต. ได้เตรียมนำส่งความเห็นแย้งต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่คาดว่าจะส่งความเห็นแย้งถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ภายในวันนี้ (9 ก.พ.) ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วยผู้แทนจาก สนช. 5 คน ผู้แทนจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 5 คน และจาก กกต. 1 คน โดยในส่วนของ กกต. ผู้ที่จะเข้าเป็นกรรมาธิการร่วมคือประธาน กกต.

 

ทั้งนี้ กกต. ยืนยันประเด็นการทำความเห็นแย้งร่างกฎหมาย ส.ส. 5 ประเด็น และ ส.ว. 1 ประเด็น ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 15 วัน หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่การพิจารณาจากที่ประชุม สนช. ซึ่งหากที่ประชุม สนช. เห็นด้วยกับร่างกฎหมายก็จะเป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการร่วม แต่หากที่ประชุม สนช. มีคะแนนเสียงเกินกว่า 2 ใน 3 ไม่เห็นชอบกับร่างของคณะกรรมาธิการร่วมก็จะมีผลให้กฎหมาย ส.ส. หรือ ส.ว. ทั้งฉบับตกไป และจะต้องมีการร่างกฎหมายใหม่

 

ทั้งนี้มองว่าการที่ สนช. จะคว่ำร่างกฎหมาย ส.ส. หรือ ส.ว. มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ยาก แต่หากเกิดขึ้นก็จะต้องนำไปสู่การร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับสาระของกฎหมายที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในประเด็นใด หากมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็ไม่เกิดปัญหา โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผู้ดูแลมาตลอดก็จะเป็นผู้ดูแลในการยกร่าง เพราะจะทำให้การแก้ไขกฎหมายรวดเร็วกว่าการตั้งกรรมการร่างกฎหมายชุดใหม่

 

อย่างไรก็ตาม หากมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของกฎหมายมากจนทำให้ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีความเห็นต่างและไม่ต้องการที่จะแก้ไขกฎหมาย ทางรัฐบาลก็ต้องหาผู้ที่เข้ามาเป็นกรรมการร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งกระบวนการในส่วนนี้ไม่ได้มีการกำหนดกรอบเวลา แต่เห็นว่าไม่ควรที่จะใช้เวลานานเกินไป เพราะว่าหลักการใหญ่ของกฎหมายมีความครบถ้วนแล้ว จึงคาดว่าน่าจะใช้เวลาร่างกฎหมายใหม่ประมาณ 2 เดือน จากนั้นเข้าสู่ที่ประชุม สนช. ใช้เวลาอีก 4 เดือน หากไม่มีความเห็นแย้งก็จะนำไปสู่ขั้นตอนการทูลเกล้าฯ ที่ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 เดือน ก็จะทำให้โรดแมปการเลือกตั้งขยายออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้

 

ทั้งนี้ต้องหารือกับทาง สนช. ด้วยว่าจะมีท่าทีอย่างไร แต่เห็นว่าสิ่งใดที่สังคมส่วนใหญ่ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว สนช. ก็ไม่ควรดื้อดึง และสังคมต้องจับตาดูระยะเวลา 15 วันของกรรมาธิการร่วม ซึ่งถือเป็นห้วงเวลาสำคัญว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายในหลักการสาระสำคัญใดบ้าง และ สนช. ไม่ควรใช้ความเห็นส่วนตัวหรือความเห็นในอดีตมาอ้างอิง เพราะความเห็นสามารถเปลี่ยนแปลงได้เพื่อให้ประเทศชาติได้ประโยชน์ ดังนั้น สนช. จึงไม่ต้องกลัวเสียหน้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising