“แสบหน้า แสบตา แสบจมูกมาก”
นี่คือประโยคที่สามารถพบได้ตามฟีดเฟซบุ๊กและไทม์ไลน์ในทวิตเตอร์ทั่วไป เนื่องจากรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝุ่น PM2.5 ปกคลุมเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลต้อนรับปีใหม่ และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ เสียงจากประชาชนรวมถึงการรายงานค่าฝุ่นจาก AirVisual ในทุกๆ วันสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ฝุ่นตอนนี้อยู่ในช่วงวิกฤตอย่างเต็มรูปแบบ
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลายวันที่ผ่านมานำไปสู่การตั้งคำถามว่า “เมื่อฝุ่นอยู่ในภาวะวิกฤตแบบนี้ มาตรการแก้ไขปัญหาของภาครัฐคืออะไร” กลายเป็นการบ้านของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังท่ามกลางความคาดหวังจากประชาชนที่ต้องทนอยู่กับฝุ่นควันสีน้ำตาลในทุกๆ เช้าที่ออกจากบ้าน
ทบทวนอีกครั้ง! ฝุ่นหนาเพราะอะไร และแนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างไร
ก่อนเข้าสู่ประเด็น ‘มาตรการแก้ปัญหาฝุ่นจากภาครัฐ’ THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ในปี 2562 กับปี 2563 สถานการณ์มีความต่างกันอย่างไร และแนวโน้มหลังจากนี้จะมีทิศทางอย่างไร
รศ.ดร.พิสุทธิ์ ระบุว่า “ทุกอย่างเหมือนเดิมจากปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องของต้นตอมลพิษ รวมถึงปัจจัยสำคัญอย่างสภาพอากาศ ที่พบว่าเป็นสภาพอากาศปิดแบบโดม ความร้อนผกผันลดระดับ (เปรียบดังเมืองใหญ่ที่มีฝาชีความร้อนมาครอบอยู่) ทำให้อากาศใกล้พื้นดินร้อนอบอ้าว ไม่มีลมพัด มองไม่เห็นก้อนเมฆในตอนกลางวัน ความเร็วลมบนที่สูงจะลดลงกว่าปกติ ทำให้มลพิษทางอากาศที่ลอยขึ้นไปจากภาคพื้นดินไม่สามารถกระจายตัวได้ เกิดการสะสมเป็นฝุ่นลอยตัวฟุ้งในอากาศเป็นจำนวนมากอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
“ความน่าเป็นห่วงของปี 2563 มีจุดสังเกตหนึ่งที่เป็นความจริงคือฝุ่นกลับมาเร็วกว่าปีที่ผ่านมา เพราะปี 2562 ฝุ่นหนักข้อจริงๆ ก็คือช่วงปลายเดือนมกราคม โดยสาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะ 1.อากาศปิดและแห้งพอสมควร 2.ปีนี้ประเทศไทยน้ำค่อนข้างแล้ง ส่งผลให้พืชผลการเกษตรไม่มีการเจริญเติบโตตามที่ต้องการ ทำให้เกษตรกรใช้วิธีการเผาในที่โล่ง ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจำนวนไม่น้อย 3.สภาพการจราจรในกรุงเทพฯ ที่ก่อให้เกิดมลพิษจากยานพาหนะ ก็ยิ่งตอกย้ำให้สถานการณ์ฝุ่นหนักข้อยิ่งขึ้น
“ดังนั้นส่วนตัวมองว่าถ้าเดือนมกราคมนี้ยังมีปริมาณฝุ่นเท่าเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว มันหมายความว่ากุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้อาจรุนแรงกว่าเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ซึ่งจากปัจจัยทั้งหมดมีแนวโน้มที่จะเป็นแบบนั้น”
3 มาตรการพื้นฐาน กลยุทธ์ลด PM2.5
กลับมาที่มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากรัฐบาล THE STANDARD ขอหยิบยกแผนปฏิบัติการที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ซึ่งจัดทำโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาโดยตรงอย่างกรมควบคุมมลพิษ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านหนังสือแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติในชื่อ ‘การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง’ ออกมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 ว่ามีมาตรการอะไรที่น่าสนใจบ้าง
‘การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง’ เป็นแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลบนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ถูกแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน, ระยะปานกลาง (2562-2564) และระยะยาว (2565-2567) ด้วยความมุ่งหวัง ‘สร้างอากาศดีเพื่อคนไทยและผู้มาเยือน’ โดย 3 มาตรการหลักประกอบด้วย
มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่
สำหรับมาตรการนี้มุ่งเน้นการบริหารจัดการและควบคุมมลพิษจากแหล่งกําเนิดในเชิงพื้นที่ โดยกําหนดแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤตของสถานการณ์ รวมถึงการดําเนินงานระยะเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อรองรับสถานการณ์ในช่วงวิกฤตในพื้นที่ที่มีปัญหาและพื้นที่เสี่ยงปัญหาฝุ่นละออง ได้แก่
- พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ
- พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
- พื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันภาคใต้
- พื้นที่ตําบลหน้าพระลาน อําเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี
- พื้นที่จังหวัดอื่นที่เสี่ยงปัญหาฝุ่นละออง เช่น ขอนแก่น, กาญจนบุรี
มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด)
สำหรับมาตรการนี้จะโฟกัสไปที่การมุ่งให้ความสําคัญในการควบคุมและลดการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกําเนิด รวมถึงลดจํานวนแหล่งกําเนิดมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นการนําน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกํามะถันไม่เกิน 10 ppm มาใช้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนกฎหมายบังคับใช้และกําหนดใช้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567, ไม่ให้มีการเผาในไร่อ้อยภายในปี 2565, บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่ยูโร 6/VI ภายในปี 2565, เพิ่มความเข้มงวดมาตรฐานและวิธีการตรวจวัดการระบายมลพิษจากรถยนต์ รวมถึงการปรับลดอายุรถที่ต้องเข้ารับการตรวจสภาพรถประจำปี เพื่อพัฒนาระบบการตรวจสภาพรถยนต์ให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลผลการตรวจสภาพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ฯลฯ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ฝุ่น PM2.5 มีปริมาณที่ลดลงกว่าเดิมในรูปแบบการควบคุมแบบระยะสั้นและระยะยาว
มาตรการที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ
เป็นการพัฒนาระบบ เครื่องมือ กลไกในการบริหารจัดการ รวมถึงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและกําหนดแนวทางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาในอนาคต ประกอบด้วยระยะสั้นและระยะยาว เช่น การพัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2567
ทั้งนี้ รศ.ดร.พิสุทธิ์ ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD เกี่ยวกับมุมมองต่อมาตรการของภาครัฐว่า “ส่วนตัวเห็นด้วยกับมาตรการที่ 1 และ 2 เพราะในความเป็นจริง การที่เราสามารถมองเห็นแหล่งกำเนิดหรือพื้นที่ที่ก่อให้เกิดฝุ่นจะช่วยให้เราหาวิธีแก้ปัญหาเป็นจุดๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งแหล่งกำเนิดที่เราพอจะมองเห็นตอนนี้ถูกแบ่งเป็น 4 แหล่ง ประกอบด้วย การจราจร, การเผาไหม้, หมอกควันข้ามแดน และอุตสาหกรรม
“ส่วนมาตรการที่ 3 เป็นการมองที่ประสิทธิภาพ ผมไม่อยากมองแค่เรื่องบำบัดปลายทางอย่างเดียว ผมอยากให้มองเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การรณรงค์ให้ประชาชนมีความเข้าใจหรือเข้ามามีส่วนร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง ซึ่งดูจะเป็นทางออกที่สวยกว่าการแก้ปัญหาที่ดีกว่าการลงทุนระบบบำบัดปลายทาง”
เจาะลึก-ตัดเกรด มาตรการเร่งด่วนมีอะไรบ้าง ช่วยแก้ปัญหาได้จริงไหม
สำหรับมาตรการเร่งด่วน (จากแผนมาตรการที่ 1 ที่มีต่อพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล) ตามแผนดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ที่น่าสนใจ มีดังนี้
- การติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังสถานการณ์
- ติดตาม ตรวจสอบ และพยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า และรายงานผลให้ประชาชนได้ทราบเป็นประจำทุกวันอย่างต่อเนื่อง
- ติดตาม เฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพและการเจ็บป่วยที่อาจเกิดจากมลพิษทางอากาศ พร้อมให้คำแนะนำกับประชาชนในการปฏิบัติตนอย่างต่อเนื่อง
- สื่อสารข้อมูลให้ชัดเจน ให้ประชาชนรับข้อมูลถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
- ให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการระบบการเดินทางร่วมกันของเจ้าหน้าที่ (Car Pooling หรือ Ride Sharing)
- หน่วยงานภาครัฐต้องพิจารณาให้เจ้าหน้าที่จากต่างจังหวัดไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานในกรุงเทพฯ พร้อมขอความร่วมมือบริษัทเอกชนให้พนักงานทำงานจากที่อื่นโดยไม่ต้องเดินทางเข้าออฟฟิศได้
- การนำน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 ppm มาจำหน่ายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้ได้มากที่สุด
- บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ห้ามใช้รถและเรือที่มีควันดำชั่วคราวจนกว่าจะได้รับการซ่อมแซมหรือแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย
- ขยายเขตพื้นที่ในการจำกัดเวลารถบรรทุกขนาดใหญ่เข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ จากวงแหวนรัชดาภิเษกไปเป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก
- ห้ามจอดรถบนถนนสายหลักและสายรองตลอด 24 ชั่วโมง
- ห้ามมีการเผาในที่โล่งและเผาขยะโดยเด็ดขาด
- คืนพื้นที่ผิวจราจรจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้า และการก่อสร้างถนนและทางพิเศษ เป็นต้น
- ตรวจสอบเตาเผาศพหรือเผาขยะให้เป็นไปตามมาตรฐาน
- ควบคุมฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้างโครงการต่างๆ
- ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับโรงงานอุตสาหกรรม หม้อไอน้ำ หรือแหล่งกำเนิดความร้อนอย่างเข้มงวด
- ขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมหยุดหรือลดกำลังการผลิต
รศ.ดร.พิสุทธิ์ ประเมินมาตรการเร่งด่วนของภาครัฐไว้ว่าภาพรวมการวางมาตรการเร่งด่วนดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหา PM2.5 ยังคงอยู่ในระดับกลางๆ ถ้าตัดเป็นเกรดจะอยู่ที่ประมาณ C ถึง B เพราะหากมองให้ลึกจากต้นตอไปจนถึงการแก้ไขจะพบว่าถ้านำหลายๆ มาตรการไปปฏิบัติบังคับใช้ แน่นอนว่าจะช่วยลดฝุ่นได้พอสมควร แต่ต้องยอมรับว่าบางมาตรการนำมาแก้ไขและสร้างให้เป็นรูปธรรมได้ยาก
“ยกตัวอย่างมาตรการที่เห็นด้วยและมองว่าภาครัฐทำได้ดี เริ่มจากการนำน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 ppm (มาตรฐาน Euro5) มาจำหน่ายในกรุงเทพฯ ให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะช่วยให้การเผาไหม้เครื่องยนต์สะอาดมากขึ้น รวมถึงเรื่องห้ามเผาในที่โล่ง ในเขตตัวเมืองถือว่าควบคุมได้ดีขึ้น ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นมากนัก แต่ถ้าเป็นพื้นที่เกษตร ประเด็นนี้ยังแก้ไม่ได้
“ส่วนมาตรการที่ส่วนตัวมองว่ายังเป็นปัญหาคือการตรวจจับรถหรือเรือที่มีควันดำ ห้ามจอดรถบนถนนสายหลักและสายรองตลอด 24 ชั่วโมง หรือเรื่องของการจราจรต่างๆ ตรงนี้มองว่ายังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร หรืออย่างแย่ที่สุดก็คือไม่สามารถทำได้ ขณะที่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าต่างๆ ตรงนี้ผมมองว่าเขาพยายามเร่งให้งานก่อสร้างที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เสร็จให้เร็วที่สุด ซึ่งการที่รัฐทำอยู่ในตอนนี้ถือว่ายังอยู่ในระดับกลางๆ ทางรัฐต้องเร่งรัดในส่วนนี้มากขึ้น
“สิ่งสำคัญที่สุดซึ่งผมมองว่ามันไม่ได้อยู่เหนือมาตรการทั้งหมด แต่อยู่ตรงกลางของประเด็นนี้คือ ‘มนุษย์’ ผมยังย้ำเสมอว่าสิ่งที่จะทำให้ปัญหาของฝุ่น PM2.5 ลดลงอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดต้องเกิดจากความร่วมมือของประชาชนทุกคนที่ต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือความคิดที่มีต่อการดำรงชีวิต ซึ่งดูจะเป็นทางออกที่ดีในวันที่มาตรการรัฐยังไม่สามารถช่วยอะไรเราได้เต็มที่”
ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนทุกคนทำได้ในตอนนี้คือการป้องกันตนเองจากฝุ่นด้วยวิธีการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้นที่เราสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเอง ส่วนมาตรการระยะยาวคือการเริ่มปรับเปลี่ยนที่พฤติกรรมด้วยการช่วยสังคมลดมลพิษให้มากที่สุด เหมือนที่ รศ.ดร.พิสุทธิ์ บอกไว้ว่าสิ่งที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุดในเวลานี้คือการ ‘เริ่มจากตัวเราเอง’
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: