×

ที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์นัดแรก เลือก ‘เทอดพงษ์’ ผู้แทนรัฐบาล นั่งประธาน

โดย THE STANDARD TEAM
18.01.2021
  • LOADING...
ที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์นัดแรก เลือก ‘เทอดพงษ์’ ผู้แทนรัฐบาล นั่งประธาน

วันนี้ (18 มกราคม) ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานในการเปิดประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ นัดแรก โดยมีผู้แทนจากฝ่ายรัฐบาล ได้แก่ พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล และ เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ สัดส่วนจาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ได้แก่ นิโรธ สุนทรเลขา และ สรอรรถ กลิ่นประทุม สมาชิกวุฒิสภา ได้แก่ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ และฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้แทนจากสัดส่วนของอธิการบดีแห่งประเทศไทย คือ ศ.สุริชัย หวันแก้ว ศ.วันชัย วัฒนศัพท์ และ สมศักดิ์ รุ่งเรือง สัดส่วนจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ คือ รศ.นิรุต ถึงนาค และจากสัดส่วนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง เข้าร่วมการประชุม 

 

ชวน กล่าวเปิดการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า ภายในกรรมการสมานฉันท์ชุดนี้มี 2 ฝ่ายที่แสดงความจำนงไม่เข้าร่วม ซึ่งประกอบด้วย สัดส่วนจากฝ่ายค้าน และ ฝ่ายกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะต้องประสานเพื่อขอความคิดเห็นและนำมาหารือต่อไป โดยประเด็นปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้นไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ในการแก้ปัญหาร่วมกันเพียง 2 ฝ่ายเท่านั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องล้วนมีหน้าที่ที่จะช่วยกันแก้ปัญหาของบ้านเมืองได้ 

 

ชวน ได้กล่าวถึงหลักการทำงานของรัฐสภาว่า ได้ยึดหลักการทำงานตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และบริหารงานด้วยหลักธรรมาภิบาล จึงขอให้คณะกรรมการสมานฉันท์ชุดนี้ได้ยึดหลักการทำงานดังกล่าวเป็นหลัก โดยไม่ทำเรื่องผิดให้ถูก และไม่ทำเรื่องถูกให้ผิด และในกรณีใดที่กรรมการมีความเห็นร่วมกัน และสามารถนำสู่การปฏิบัติได้ ก็ขอให้ดำเนินการต่อไป และในกรณีใดที่มีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ก็ขอให้ใช้เวลาในการพิจารณาต่อไป จึงขอให้กำลังใจในการทำงานกับคณะกรรมการทุกท่าน เนื่องจากงานในการสร้างความสามัคคีปรองดองไม่ใช่เรื่องที่จะบันดาลได้ 

 

นอกจากนี้ ชวนยังได้หยิบยกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต ที่เคยมีบทเรียนมาก่อนแล้ว และอาจเป็นประเด็นที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เช่น ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากสื่อในการปลุกระดมคนในการต่อต้านประเด็นต่างๆ เป็นต้น หรือประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดีย ในการตัดต้นข้อความ รูปภาพ และเนื้อหาให้เกิดความขัดแย้ง ว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน จึงได้มอบให้สถาบันพระปกเกล้านำไปศึกษา และหาทางออกในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เรื่องที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นซ้ำอีก 

 

จากนั้น ศ.วันชัย ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่สุดในที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ ได้ทำหน้าที่เป็นประธานชั่วคราวในการเลือกตำแหน่งประธานคณะกรรมการสมานฉันท์  

 

ท้ายที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ได้มีมติเลือก เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ผู้แทนคณะกรรมการในสัดส่วนของรัฐบาลเป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนการเลือกตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ในเบื้องต้นไม่สามารถหาข้อสรุปการเลือกประธานคณะกรรมการได้ เนื่องจากมีกรรมการส่วนหนึ่งเสนอให้มีการเลือกประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ให้ชัดเจนทันที แต่อีกส่วนหนึ่งเสนอให้มีการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คนให้ชัดเจนก่อน แล้วค่อยมีการเลือกประธานคณะกรรมการอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ปรากฏชื่อ พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ ก่อนที่จะมีการลงมติ เลือกให้เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ เป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แทน

 

สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ จะต้องคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คนเพิ่มเติม ก่อนเสนอชื่อให้ประธานรัฐสภาลงนาม เพื่อแต่งตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising