×

บทเรียนซอฟต์โลนสู่ 2 มาตรการใหม่แบงก์ชาติ ‘สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์ พักหนี้’ กับโจทย์การปรับโครงสร้างหนี้ระดับประเทศ

30.03.2021
  • LOADING...
บทเรียนซอฟต์โลนสู่ 2 มาตรการใหม่แบงก์ชาติ ‘สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์ พักหนี้’ กับโจทย์การปรับโครงสร้างหนี้ระดับประเทศ

HIGHLIGHTS

  • เมื่อมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอย่างซอฟต์โลนที่ออกมาในช่วงวิกฤตโควิด-19 เมื่อปี 2563 กลับมีภาคธุรกิจเบิกใช้เพียง 130,000 ล้านบาท จากที่ตั้งไว้ 500,000 ล้านบาท สะท้อนชัดเจนว่าภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ทางแบงก์ชาติและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องออกมาตรการช่วยเหลือใหม่ ‘สินเชื่อฟื้นฟู’ และ ‘พักทรัพย์ พักหนี้’
  • ทั้ง 2 โครงการนี้ตั้งวงเงินไว้ที่ 350,000 ล้านบาท โดยมีการปรับเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจเข้าถึงมากขึ้น เช่น การปรับอายุสินเชื่อจาก 2 ปี เป็น 5 ปี หรือมาตรการ Asset Warehousing ที่ใช้ชื่อว่า ‘พักทรัพย์ พักหนี้’ โดยลูกหนี้ตีโอนทรัพย์มาที่เจ้าหนี้ เพื่อลดภาระหนี้ต่างๆ 
  • ทั้ง 2 มาตรการนี้จะเป็นการปูทางแบงก์ชาติ และธนาคารพาณิชย์ที่จะผลักดันให้ภาคธุรกิจที่เจอผลกระทบสามารถปรับตัวได้ในระยะยาว ปรับโครงสร้างหนี้ได้มากขึ้น

ปีโควิด-19 อย่างปี 2563 ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการทางการเงินมาช่วยเหลือ โดยเฉพาะที่หลายฝ่ายพูดกันอย่างสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ที่ออกมาเพื่อช่วยภาคธุรกิจ แต่ก็ยังมีคนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อนี้มากนัก 

 

ล่าสุดทาง ธปท. จึงออกแนวมาตรการช่วยเหลือ 2 แบบได้แก่ ‘สินเชื่อฟื้นฟู’ และ ‘พักทรัพย์ พักหนี้’ โดยตั้งเป้าว่าจะเข้าถึง SMEs ให้มากขึ้นและทั่วถึง ผ่านการตั้งวงเงินรวมไว้ที่ 350,000 ล้านบาท

 

รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจต่อเนื่อง ตอนแรกเป็นการช่วยหลือเยียวยาสั้นๆ ไม่ได้คิดว่าโควิด-19 จะยาวนานถึงวันนี้ มาตรการช่วงแรกจึงเป็นรูปแบบระยะสั้น 

 

แต่ขณะนี้เมื่อคนยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ธปท. จึงพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องจนออกมาเป็น 2 มาตรการช่วยเหลือใหม่ให้ตรงจุดมากขึ้น ซึ่งมีการปรับเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ เช่น สินเชื่อฟื้นฟู ที่มีวงเงิน 250,000 ล้านบาท จะแตกต่างจากซอฟต์โลนที่ผ่านมา ทั้งระยะเวลาสินเชื่อเป็น 5 ปี จากเดิม 2 ปี และสามารถได้วงเงินมากขึ้น รวมถึงปรับขยายประเภทของลูกหนี้สู่ฐานลูกหนี้ใหม่ด้วย

 

“บทเรียนของซอฟต์โลนที่ผ่านมาคือเรื่องความรู้ความเข้าใจของผู้ที่จะมารับความช่วยเหลือตามมาตรการเหล่านี้ และแง่ของเจ้าหนี้เองในการเตรียมความพร้อม เราก็หารือกันไม่ต้องรอให้กฎหมายออกมาปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคม ให้เตรียมความพร้อมกันได้เลย”

 

ทั้งนี้ ยังมีโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่เปิดให้ผู้ประกอบการสามารถตีโอนทรัพย์ให้เจ้าหนี้กลายเป็น NPA เพื่อลดภาระการชำระหนี้ทั้งต้นและดอกลง โดยให้ลูกหนี้สามารถซื้อคืนได้ภายใน 5 ปี หรือใครที่ต้องการทำธุรกิจสามารถเช่าทรัพย์ โดยค่าเช่านี้จะไปลดมูลค่าในการซื้อทรัพย์คืนในภายหลังด้วย

 

ขณะที่ฝั่งธนาคารพาณิชย์ นอกจาก ธปท. จะให้สินเชื่อสนับสนุนสภาพคล่อง (อัตราดอกเบี้ย 0.01%) แล้วยังมีการปรับเรื่องภาระการกันสำรองลง และเร่งให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือลูกค้าในการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาว

 

อย่างไรก็ตามคาดว่า ทั้ง 2 มาตรการจะเริ่มชัดเจนในช่วงสิ้นเดือนเมษายน 2564 โดยทั้ง 2 มาตรการเป็นมาตรการเร่งด่วนที่คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการที่เจอผลกระทบจากโควิด-19 ช่วยการจ้างงานของประเทศ และช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว แม้เศรษฐกิจไทยจะดูกระเตื้องขึ้น แต่ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดยิ่งต้องได้รับการดูแลมากขึ้น โดยมองว่าภาคธุรกิจต้องปรับตัวทั้งรูปแบบและต้นทุน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป และ ธปท.​ จะหาทางออกมาตรการที่ให้ภาคธุรกิจสามารถปฏิรูปตัวเอง ได้มากกว่าการฟื้นฟูในปัจจุบัน

 

ด้าน ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า จากความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและ ธปท. พบว่า 2 มาตรการนี้จะทำให้ภาระของสถาบันการเงินในกลไกสนับสนุนนี้มี 2 เรื่อง ลดต้นทุนให้ธนาคารเรื่อง Cost of Fund และการแชร์ความเสี่ยงให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการเข้าช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้น (การแชร์หลักประกันผ่านการเปิดช่องให้ใช้ บสย. ได้)

 

สิ่งที่เราต้องการทำเพื่อไม่ให้เปิดความบอบช้ำเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจ และเป็นการประคับประคองเพื่อให้ผ่านช่วงที่ท้าทายตอนนี้ไปได้ เพราะถ้าไม่มีกลไกนี้มาจะเกิดการบอบช้ำเพิ่มเติม เช่น ธนาคารจะอ่อนแอลง ความมั่นใจของผู้ฝากเงินจะมีประเด็น นักลงทุนที่จะเข้ามาในประเทศจะมีคำถาม ขณะที่การจ้างงานไม่เกิด คนตกงาน ภาครัฐจึงต้องเข้าไปดูแลอีก ดังนั้นเราต้องเข้าไปห้ามบาดแผลความบอบช้ำที่เกิดขึ้นก่อน เพื่อรอให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น ภาคธุรกิจจะกลับมาแข็งแรงอย่างรวดเร็ว 

 

อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนตอนนี้อยู่ที่วัคซีน ในการได้มา การฉีด และผลของวัคซีนที่ยิ่งเร็วจะยิ่งสร้างความมั่นใจ และสามารถกลับมา Restart ได้เร็วขึ้น แต่สิ่งที่ยังไม่ได้พูดถึงคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องมีการทำ Reform ควบคู่กันไป ซึ่งต้องมาเร่งดำเนินการในธุรกิจ และเราต้องยอมรับว่ากติกาของโลกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอยู่ที่เราและภาคธุรกิจจะปรับตัวอย่างไร 

 

“ด้วยมาตรการรัฐที่ออกมาทำให้ภาคธุรกิจจะมีเวลาหายใจได้มากขึ้น มีเวลาประคองตัวมากขึ้น ปีนี้และปีหน้าท่านต้องผ่านไปให้ได้ก่อน เราจึงมีมาตรการให้ท่านตัวเบา ไม่ต้องมากังวลกับภาระทางการเงิน แต่ให้ท่านใช้ทรัพยากรของท่านมุ่งกับการประคับประคอง และหารูปแบบธุรกิจที่ตอบโจทย์ให้กลับมาแข็งแรงได้อย่างยั่งยืน”

 

สำหรับความคืบหน้าการออก พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับนั้น สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่าจะเห็นความคืบหน้า

ช่วงสิ้นเดือนเมษายน 2564 

 

และหลังจากนั้นจะมีการออกกฎหมายลูกภายใต้ พ.ร.ก. นี้ 4 ฉบับ โดยแบ่งเป็นของกระทรวงการคลัง 2 ฉบับ (รวมถึงการแก้เกณฑ์ค้ำประกันของ บสย.) และอีก 2 ฉบับเป็นส่วนของ ธปท. แบ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อฟื้นฟู และการปลดล็อกให้ NPA ที่เกิดจากโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ของธนาคารฯ ในช่วง 5 ปีแรกจะไม่นับเป็นทรัพย์ NPA ของธนาคาร ซึ่งจะช่วยลดภาระการตั้งสำรองที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising