×

ใส่หัวใจไว้ที่ปลายเท้า เพราะรองเท้าสนีกเกอร์ไม่ใช่แค่ของสะสม แต่เป็นการลงทุนทางอารมณ์ที่ล้ำลึก

10.12.2023
  • LOADING...

สำหรับใครบางคน ‘รองเท้า’ อาจทำหน้าที่เชิงฟังก์ชันแค่ใช้ใส่เดินหรือวิ่ง แต่สำหรับใครอีกหลายๆ คน รองเท้าอาจเป็นสิ่งที่ผู้สวมใส่ต้องการจะสะท้อนบุคลิกและตัวตน ซึ่งทำหน้าที่ได้ไม่ต่างจากเครื่องประดับ นาฬิกาหรู หรือรถยนต์ซูเปอร์คาร์ 

 

นอกจากนี้ ‘รองเท้า’ บางคู่อาจยังมีเรื่องราว ความทรงจำ และคุณค่าที่ซ่อนอยู่ ซึ่งทำให้รองเท้าคู่นั้นมีความพิเศษมากกว่ารองเท้าทั่วไป และนั่นทำให้การสะสมรองเท้าของกลุ่มคนที่เรียกว่า ‘สนีกเกอร์เฮด’ (Sneakerhead) เป็นมากกว่าแค่การไล่ซื้อตามความชอบเพียงอย่างเดียว เพราะเราสามารถนำความรัก และความหลงใหลนี้ เปลี่ยนเป็นการลงทุนได้ด้วย 

 

THE STANDARD WEALTH ชวนผู้อ่านพบกับคอลัมน์พิเศษ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกับ UOB Privilege Banking ที่อยากจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่านทุกท่าน ในการบริหารความมั่งคั่งผ่าน Passion & Lifestyle ส่วนบุคคล เพื่อต่อยอดความสุขของผู้อ่านด้วย Passion ที่มีต่อสินทรัพย์ลงทุนที่หลากหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การสะสมรองเท้าสนีกเกอร์นั่นเอง 

 

สนีกเกอร์ 101: มากกว่าแค่รองเท้าผ้าใบ 

 

สำหรับนิยามหรือคำจำกัดความของ ‘รองเท้าสนีกเกอร์’ (Sneaker) Cambridge Dictionary ระบุเอาไว้ว่า ‘รองเท้าที่มีน้ำหนักเบา เหมาะสำหรับการเล่นกีฬา’ ส่วนคนไทยเราเรียกกันติดปากว่า ‘รองเท้าผ้าใบ’ ซึ่งก็หมายถึงรองเท้าที่ใช้เพื่อการออกกำลังกาย หรือการสวมใส่ในชีวิตประจำวันแบบสบายๆ 


ในปัจจุบันรองเท้าสนีกเกอร์นั้น ไม่ได้มีหน้าที่สำคัญแค่เรื่องของประโยชน์ใช้สอย ในทางตรงกันข้าม น้ำหนักความสำคัญของมันกลับหนักไปในเรื่องของแฟชั่น การแต่งกาย เป็นหนึ่งในเครื่องสะท้อนบุคลิกและตัวตนของผู้สวมใส่ เรียกได้ว่าเราเป็นคนแบบไหน อาจดูได้จากรองเท้าสนีกเกอร์ที่ใส่ได้เลย ยิ่งใครใส่รุ่นหายาก สีสันสะดุดตา แน่นอนว่ามีโอกาสที่จะเป็นที่สนใจของผู้คนได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือ คุณค่าของเรื่องราว (Story) ที่มาพร้อมกับรองเท้าคู่นั้น ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นคุณค่าและมูลค่ามหาศาลได้ ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าทางจิตใจ หรือมูลค่าในท้องตลาด 

 

รองเท้าสนีกเกอร์

 

‘ตำนาน’ ของโลกสนีกเกอร์ 

 

หลายคนอาจอยากทราบว่าแล้วรองเท้าสนีกเกอร์ที่แพงที่สุดในโลกมีหน้าตาเป็นอย่างไร? 

 

รองเท้าคู่ดังกล่าว ไม่ได้มีวางขายตามท้องตลาด แต่เป็นรองเท้าที่ถูกจัดประมูลโดยสถาบัน Sotherby’s ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นรองเท้าของเทพเจ้าวงการบาสเกตบอลอย่าง ‘ไมเคิล จอร์แดน’ ในรุ่น Air Jordan 13 ที่ผู้ชนะการประมูลต้องจ่ายถึง 2.2 ล้านดอลลาร์ หรือ 77.95 ล้านบาท ความพิเศษของรองเท้าคู่นี้คือ เป็นรองเท้า ‘The Last Dance’ ในตำนานที่จอร์แดนใส่ในนัดชิงชนะเลิศบาสเกตบอล NBA 1998

 

นอกจากรองเท้าในตำนาน ก็ยังมี Sneakerhead หรือนักสะสมในตำนาน (เรียกว่าระดับตัวพ่อ) มากมายหลายคนให้เราได้กดติดตาม ซึ่งในต่างประเทศจะมีตั้งแต่ Jordan Michael Geller, กลุ่มเซเลบริตี้อย่าง DJ Khaled, John Mayer, Kylie Jenner, Chris Brown ไปจนถึงนักกีฬาระดับซูเปอร์สตาร์อย่าง LeBron James 

ในไทยเองก็มี Sneakerhead ที่ได้รับการยอมรับในวงการหลายคน เช่น จี๊ด เมืองสิริขวัญ, SIZE 9 หรือ ป๊อป-นิธิทัศน์ แสวงสัตย์ และ ปิ๊น-อนุพงศ์ คุตติกุล เจ้าพ่อวงการสตรีทเมืองไทย ผู้สร้างแบรนด์ Carnival จนกลายเป็นที่ยอมรับในระดับสากล 

     

สิ่งที่คนเหล่านี้มีเหมือนกันคือ พวกเขาไม่ได้มองรองเท้าแค่ผิวเผิน แต่เอาใจลงไปใส่กับมัน พยายามศึกษาหาความรู้เรื่องราวต่าง ยิ่งรู้ลึกยิ่งเข้าใจมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งไปได้ไกลมากขึ้นเท่านั้น

 

 

รองเท้าสนีกเกอร์

 

ตลาดการลงทุนรองเท้าสนีกเกอร์ 

 

ในปัจจุบัน ตลาดรองเท้าสนีกเกอร์มีมูลค่ามหาศาล ตามข้อมูลจาก Insider ระบุว่า มีมูลค่าถึง 7.22 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 2.558 ล้านล้านบาท และเชื่อกันว่ามูลค่าของตลาดสนีกเกอร์จะไปถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 3.543 ล้านล้านบาท ได้ภายในปี 2026 นั่นหมายความว่า ยังเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูง และถือเป็นหนึ่งในการลงทุนที่น่าจับตามอง ไม่ต่างอะไรจากการลงทุนในนาฬิกาหรู หรืองานศิลปะเลยทีเดียว เพราะตลาดรองเท้าสนีกเกอร์นั้น ‘เหตุผลไม่สำคัญเท่ากับอารมณ์’ ยิ่งรองเท้ามีเรื่องราว (Story) เฉพาะตัวมากเท่าไร มูลค่าของมันก็จะยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น ที่สำคัญไม่ว่าราคาจะแพงมากเพียงใด รองเท้าทุกคู่ก็ล้วนเกิดมาพร้อมกับเนื้อคู่ของมัน 

 

ด้วยเพราะเหตุผลนี้ ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยที่เปลี่ยนจากการเป็นแค่คนชอบซื้อรองเท้า ไปสู่เส้นทางของการเป็นนักสะสม โดยที่การสะสมนั้นก็ถือว่าเป็นการลงทุนในรูปแบบหนึ่งด้วย

 

เปลี่ยนรองเท้าสนีกเกอร์ให้เป็นทรัพย์สิน

 

มาถึงขั้นตอนสำคัญสำหรับคนที่คิดอยากจะเปลี่ยนความหลงใหลให้เป็นการลงทุนด้วยรองเท้าสนีกเกอร์แล้ว เราอาจเริ่มจากขั้นตอน ตามที่จะเล่าให้ฟังนี้ 

 

1. ตามเทรนด์ให้ทัน

ในแทบทุกวันจะมีรองเท้าสนีกเกอร์ออกวางจำหน่ายทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีรองเท้าดีๆ ที่มีความพิเศษด้วยเช่นกัน ดังนั้นนอกจากจะตามกระแสโลกของสนีกเกอร์จากแหล่งข่าว เช่น Hypebeast, SneakerNews, Highsnobiety และ KicksOnFire เพื่อวางแผนล่วงหน้าในการซื้อ บางครั้งการพูดคุยสอบถามข้อมูลกันในชุมชนคนรักสนีกเกอร์ ไปจนถึงพนักงานขายตามร้านค้า ก็อาจจะได้ข้อมูลที่ล้ำค่า ทำให้เรารู้อินไซต์ที่คนวงในเขารู้กัน 

 

2. มองหา Special One ให้เจอ

ไม่ใช่รองเท้าทุกรุ่นที่จะพิเศษ รองเท้าบางรุ่นสวยแต่ไม่มีเรื่องราว (Story) แต่บางรุ่นหน้าตางงๆ ไม่ได้สวยเด่น แต่มีเรื่องราวเบื้องหลังดีๆ ก็อาจขายทำกำไรได้ในอนาคต แน่นอนว่าถ้าเรามีข้อมูลมาก รู้จักรองเท้าเยอะ ก็จะสามารถวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในวงการได้เป็นอย่างดี ว่ารองเท้ารุ่นไหนที่จะเปรี้ยงบ้าง

     

3. งานคอลแลบ (Collaboration) คือขุมทรัพย์

แต่ไม่ว่าจะมือใหม่หรือจอมเก๋า พื้นฐานที่ง่ายที่สุดสำหรับการหารองเท้าที่จะมีโอกาสลงทุนต่อได้ราคาดีคือ รองเท้าที่เป็นการคอลแลบ (Collaboration) ระหว่างแบรนด์หรือดีไซเนอร์ โดยเฉพาะคนดังอย่าง Travis Scott, Sean Wotherspoon หรือ adidas Yeezy โดย Kanye West (ที่ไม่มีการผลิตเพิ่มแล้ว) 

 

นอกจากนี้ ยังมีรองเท้าสนีกเกอร์ในกลุ่ม High-End ที่จัดเป็น Tier ระดับสูงสุดของวงการ ซึ่งรองเท้าเหล่านี้จะเป็น Talk of the Town เสมอ เมื่อออกวางจำหน่าย เช่น Nike x Louis Vuitton, Nike x Tiffany & Co หรือ Adidas x Gucci รวมถึงผลงานของดีไซเนอร์ดังอย่าง Travis Scott, Sean Wotherspoon หรือ JJJJound รองเท้าเหล่านี้ถือว่ามีต้นทุนมาดี มีโอกาสไปต่อได้ไกล

 

4. เสาะหาแหล่งให้เจอ

การหาแหล่งซื้อให้เจอสำคัญมาก เพราะต่อให้มีข้อมูลมากแค่ไหน แต่ถ้าซื้อรองเท้ามาไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ โดยทางเลือกที่ดีที่สุดในการทำกำไร คือการได้สนีกเกอร์มาใน ‘ราคาป้าย’ (Retail Price) ซึ่งเป็นราคาที่สมเหตุสมผล โดยวิธีการที่จะได้มาก็ตั้งแต่การไปซื้อที่ร้าน บางครั้งอาจต้องมีการตั้งแคมป์ (Camp) ซึ่งหมายถึงการรอข้ามคืนเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการซื้อ หรือการสุ่ม (Raffle) ที่จะต้องอาศัยดวงกัน

 

แต่ถ้าหากไม่ได้จริงๆ (เพราะในวงการสนีกเกอร์ ความต้องการมากมายมหาศาล) บรรดาพ่อค้ารีเซล (Resell) มีกลวิธีมากมายให้ได้รองเท้ามา ถ้าเราอยากได้รองเท้าจริงๆ และเชื่อว่ามีศักยภาพที่จะไปได้ไกลกว่า บางครั้งก็อาจต้องยอมลงทุนผ่านการซื้อรองเท้ารีเซล แต่ต้องซื้อในช่วงที่ราคายังไม่ไปไกลมาก 

 

5. อดทนรอให้เป็น

รองเท้าบางรุ่นอาจมีราคาพุ่งทะยานรวดเร็วอย่างน่ากลัว (โดยเฉพาะรองเท้าที่อยู่ในกระแส เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับรองเท้าตระกูล Yeezy หรือ NMD ของ adidas ที่คนไปต่อคิวรอแย่งซื้ออย่างล้นหลาม) แต่รองเท้าบางรุ่นก็อาจต้องใช้เวลาในการรอคอย เพื่อให้มูลค่าและคุณค่าของมันเพิ่มขึ้นเองตามกาลเวลา เช่น Air Jordan 1 OG Chicago ที่เปิดด้วยราคา 47 ดอลลาร์ หรือราว 1,600 บาท ในปี 1985 ถ้าใครเก็บมาจนถึงปัจจุบันสามารถทำเงินมหาศาล 

 

6. หาตลาดของตัวเอง

นอกจากนี้แหล่งหารองเท้า เราควรรู้จักแหล่งที่มี ‘ลูกค้า’ ด้วย ซึ่งสามารถศึกษาได้ตามกลุ่ม หรือชุมชนบนโลกออนไลน์ ไปจนถึงแพลตฟอร์มอย่าง StockX, GOAT หรือ SASOM ที่เป็นแพลตฟอร์มของสะสมที่รวมถึงรองเท้าสนีกเกอร์โดยเฉพาะ 

 

7. ของแพงไม่ได้แปลว่าดีที่สุด

เราไม่จำเป็นที่จะต้องเริ่มด้วยการจับรองเท้าแพงๆ ก่อนเสมอไป แต่อาจเริ่มจากรองเท้าสาย ‘ซื้อง่าย ขายคล่อง’ ยกตัวอย่างเช่น ตระกูล Dunk Low, Air Jordan หรือ New Balance รุ่นยอดฮิตอย่าง 530, 550, 2002R ที่ไม่ได้มีราคาสูงมาก และพอทำกำไรได้ในระดับ 15-20% ต่อคู่ (ยกเว้นสีที่ฮิตมากๆ ก็อาจได้มากกว่านั้น) 

     

อย่างไรก็ดี การลงทุนทุกชนิดย่อมมีความเสี่ยง นอกจากต้องศึกษาอย่างดีแล้ว การเผื่อใจไว้ว่ามันอาจขาดทุนได้บ้างก็สำคัญ แต่อย่างน้อยที่สุด สำหรับคนรักสนีกเกอร์แล้ว แค่ได้เห็น ได้จับ ได้สัมผัส ได้ครอบครอง แค่นี้ก็ถือว่าเป็น ‘กำไรหัวใจ’ แล้ว 

 

 

UOB Privilege Banking ให้ความสำคัญกับการบริหารความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนของลูกค้าของเราเป็นอันดับหนึ่ง รวมถึงความมั่งคั่งในมิติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์ งานอดิเรก หรือกิจกรรมค้นหาแรงบันดาลใจ ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นที่เรา “ใส่ใจทุกเรื่องที่สำคัญสำหรับคุณ Advice for what matters to you.” 

www.uob.co.th/privilegebanking

 

End Note: 

รองเท้าที่มีราคาแพงที่สุดในตลาดรองเท้าสนีกเกอร์เวลานี้ ตามข้อมูลจาก StockX แพลตฟอร์มซื้อขายรองเท้าสนีกเกอร์ระดับโลก จัดอันดับเอาไว้ดังนี้ 

 

1. Nike Air Mag Back to the Future BTTF (2016)

ราคาที่ขายได้ล่าสุด: 63,698 ดอลลาร์ 

 

2. Nike Air Force 1 Louis Vuitton Monogram Brown Damier Azur

ราคาที่ขายได้ล่าสุด: 48,027 ดอลลาร์

 

3. Jordan 1 OG White Black (1985)

ราคาที่ขายได้ล่าสุด: 32,582 ดอลลาร์

 

4. Nike SB Dunk Low Yellow Lobster

ราคาที่ขายได้ล่าสุด: 35,304 ดอลลาร์

 

5. Nike SB Dunk Low Freddy Krueger

ราคาที่ขายได้ล่าสุด: 24,014 ดอลลาร์

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising