สมาร์ทโฟนกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคนยุคนี้ ยิ่งช่วงไหนมีข่าวฮอตประเด็นร้อนเกิดขึ้นในสังคม หลายคนหยุดไถหน้าจอโทรศัพท์ไม่ได้เลย แต่รู้ไหมว่าการเล่นโทรศัพท์มากๆ ทำให้เกิดโรค Smartphone Syndrome ได้นะ ว่าแต่โรคนี้คืออะไร ทำไมไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน THE STANDARD จะพาไปรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้นจาก แพทย์หญิงเพ็ญลดา ครุธโกษา (ซีอีโอธุรกิจความงาม Aime Clinic) และหมอโจ้-พชร ชารัมย์ หมอฝังเข็มแก้อาการ Smartphone Syndrome
Smartphone Syndrome คืออะไร
แพทย์หญิงเพ็ญลดาบอกว่า Work & Smartphone Syndrome หรืออีกชื่อคือโรคกล้ามเนื้อคอหดเกร็ง แต่ก่อนเราอาจจะเคยได้ยินโรค Office Syndrome มาก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เกิดกับคนทำงานออฟฟิศ คนที่นั่งหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ จนส่งผลให้บริเวณคอ บ่า ไหล่มีอาการปวด บางคนลามลงมาถึงช่วงบริเวณข้อมือและแขน
แต่ในสมัยนี้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้คนติดมือถือมากขึ้น ก้มหน้ากดมือถืออยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดปัญหาปวดที่บริเวณคอกับข้อมือหรือปวดนิ้วเริ่มมีมากขึ้น ซึ่งคำว่า Smartphone Syndrome ที่ต่างประเทศเขามีคำนี้มาสักพักแล้ว และมันก็ตรงกับอาการที่คนสมัยนี้เป็นกันเยอะโดยไม่รู้ตัว
อาการของคนที่เป็นโรค Smartphone Syndrome
หมอโจ้-พชร ชารัมย์ แพทย์แผนจีน วัย 28 ปี จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแพทย์แผนจีนแห่งนครกวางโจว ประเทศจีน กล่าวถึงอาการของ Smartphone Syndrome ดังนี้
หมอโจ้: อาการหลักๆ ของโรค Smartphone Syndrome คือการปวดเกร็งที่เกิดกับเอ็นข้อมือ จริงๆ อาการนี้มันก็เกิดมานานแล้ว แต่ก่อนอาจจะมีคนเป็นไม่เยอะ แต่ปัจจุบันคนยุคนี้ติดเล่นมือถือตลอดเวลา พอเราขยับมือบ่อยๆ เป็นเวลานานมันจะเกิดการเสียดสีของเส้นเอ็น นานๆ เข้าก็เกิดการอักเสบ ส่งผลให้รู้สึกปวดบริเวณข้อมือมากขึ้น กลุ่มอาการที่เคยเป็นมาก่อนเกี่ยวกับเส้นเอ็นอักเสบ แต่ก่อนเราอาจพบในกลุ่มของนักกีฬาที่ใช้ข้อมือค่อนข้างเยอะ เช่น ปิงปอง แบดมินตัน เทนนิส ที่เกิดการอักเสบของข้อมือได้ ในกลุ่มพนักงานธนาคารหรือคนที่เป็นแอดมินเพจต่างๆ ที่ต้องใช้ข้อมือในการพิมพ์อย่างต่อเนื่องก็มักเกิดอาการปวดเส้นเอ็นบริเวณข้อมือได้เหมือนกัน
จะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังเป็นโรค Smartphone Syndrome หรือไม่
หมอโจ้: หลายคนพอเล่นมือถือนานๆ แล้วเกิดอาการปวดแปลบๆ ก็มักจะไม่ได้คิดอะไร ส่วนใหญ่จะไม่สังเกตว่าตัวเองเสี่ยงจะเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเอ็นหรือเปล่า เพราะคิดว่าเมื่อยมือเมื่อไร แค่บีบๆ หรือสลัดมือสักพักก็ผ่อนคลายได้ แต่ถ้าทิ้งไว้เป็นเวลานานแล้วพบว่าอาการปวดทวีความรุนแรงมากขึ้น มีอาการบวมเกิดขึ้น ก็ถือว่าเสี่ยงจะเป็นโรค Smartphone Syndrome อาการเหล่านี้ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่รักษาจะไม่เป็นผลดีต่อเส้นเอ็นและข้อมือ วิธีสังเกตเบื้องต้นอย่างง่ายๆ คือลองใช้นิ้วมือทั้งสี่กำหัวนิ้วโป้งไว้ เหยียดแขน และกดกำมือลง ถ้ารู้สึกเกร็งๆ แสดงว่ามีอาการของโรค Smartphone Syndrome แล้วล่ะ แต่ถ้ากดมือลงแล้วปวดเลยก็ควรรักษา
ขั้นตอนการรักษาโรค Smartphone Syndrome
หมอโจ้: อันดับแรกต้องมาปรึกษากับแพทย์ก่อนครับ หมอจะถามถึงอาการ ระยะเวลาที่เริ่มแสดงอาการ รวมถึงสอบถามเรื่องไลฟ์สไตล์ ชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร ทำงานอะไร เพื่อจะหาสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้น ช่วยให้เราประเมินอาการของโรคได้ ขั้นตอนต่อมาคือการคลำ การคลำจุดที่ปวดจะทำให้รู้ที่มาของอาการปวดว่าเกิดจากกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็น มันจะต่างกันจากลักษณะกายภาพซึ่งทำให้เรารู้ว่าตรงไหนคือกล้ามเนื้อ ตรงไหนคือเส้นเอ็น และการปวดแบบโรคนี้ส่วนมากก็จะเกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นบริเวณข้อต่างๆ จากนั้นค่อยนำไปสู่การรักษาด้วยการฝังเข็ม
การฝังเข็มแก้อาการช่วยได้จริงหรือ
หมอโจ้: การฝังเข็มจะทำการฝังบริเวณจุดที่เรียกว่า Trigger Point หรือจุดกดเจ็บ เป็นจุดที่พังผืดมันไปเกาะตัวเป็นก้อน สังเกตดูว่าถ้ากดลงไปจะเจ็บมาก การฝังเข็มจะทำให้จุดตรงนั้นคลายตัว ช่วยเรื่องลดอาการปวด ซึ่งจะเป็นจุดหลักในการรักษาอาการ ถ้าคนที่มีอาการปวดมานาน การฝังเข็มครั้งเดียวจะไม่หายในทันที เพราะต้องทำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2-3 ครั้ง การฝังเข็มในครั้งแรกอาจจะเห็นผล 50% ว่าอาการปวดลดลง มันจะรู้สึกดีขึ้น ถามว่าฝังเข็มแล้วจะหายขาดเลยไหม มันไม่หายถ้าคุณยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม อย่างบางคนฝังเข็มเสร็จแล้วยังต้องกลับไปทำงานแบบเดิมๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่หายขาด ทางที่ดีอยากให้บริหารข้อมือและตรวจเช็กอาการของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ การนวดเพื่อบรรเทาด้วยตัวเองสามารถทำได้ ลองสังเกตดูว่าถ้านวดหรือกดลงไปแล้วรู้สึกสบาย อันนี้คือเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่ถ้ากดลงไปแล้วรู้สึกเจ็บ อันนี้คืออาจเริ่มเกิดการอักเสบ ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและทำการรักษาเพื่อไม่ให้เกิดการอักเสบรุนแรง”
ตอนนี้ก็ได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง Smartphone Syndrome ไปพอสมควรทีเดียว หมอโจ้ฝากบอกกับผู้อ่าน THE STANDARD ของเราด้วยว่า “ถ้าเราปฏิบัติตัวดี โรคนี้ก็จะไม่เกิดขึ้นเลย ผมอยากแนะนำว่าในทุกๆ 1 ชั่วโมงควรเซตเวลาพักสัก 10-15 นาทีโดยที่ไม่ต้องแตะคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเลย ควรทำการพักสายตา พักคอ พักข้อมือ และทำการสลัดข้อมือเบาๆ ยืดกล้ามเนื้อไปด้วย อย่าทำงานเพลิน อย่าติดมือถือจนเกินไป สุขภาพดีเริ่มต้นที่การปฏิบัติตัวดี”
ภาพประกอบ: Pantitra H.
- Aime Clinic ตั้งอยู่ที่ซอยรัชดาภิเษก 13 ถนนรัชดาภิเษก (อีก 4 สาขาประกอบด้วย สาขาราชพฤกษ์ สาขาเพชรบุรี สาขาจันทบุรี และสาขาอุดรธานี) โทร. 09 4848 5198 เวลาเปิดทำการ 11.00-02.00 น.