×

80% ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกำลังจะ ‘ล้มตาย’ ผลพวงการปะทุของวิกฤตโควิดระลอกใหม่ ที่ทำให้โอกาสฟื้นตัวทางเศรษฐกิจลดลง

06.07.2021
  • LOADING...
ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมาก ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย กำลังดิ้นรนกับภาระหนี้สินที่ท่วมท้นซึ่งอาจทำให้พวกเขาต้อง ‘ล้มละลาย’ เนื่องจากการปะทุของวิกฤตโควิดระลอกใหม่ที่มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น ทำให้โอกาสในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจลดลง

 

“รอบนี้แย่กว่าปีที่แล้วมาก และผู้ประกอบการหลายล้านรายกำลังประสบปัญหา” แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย กล่าวในระหว่างการยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก “หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปจนถึงสิ้นปีประเทศจะตกอยู่ในวิกฤต โดย 80% ของเรา (ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) กำลังจะล้มละลาย”

 

SMEs ของประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักตั้งแต่ประเทศปิดพรมแดนในปีที่แล้ว ส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยที่สุดในรอบกว่าสองทศวรรษ สถานการณ์เลวร้ายลงด้วยจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในแต่ละวันที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้รัฐบาลต้องบังคับใช้มาตรการต่างๆ ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 

 

ตัวอย่างมาตรการเช่น การสั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง ห้ามนั่งกินอาหารในร้าน ตลอดจนห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกินกว่า 20 คนในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล (นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) รวมถึงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา และสงขลา)

 

Bloomberg ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เรียกร้องให้เพิ่มสภาพคล่องให้กับ SMEs ซึ่งถูกมองว่ามีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ความพยายามในการจัดเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ การหยุดจ่ายเงินกู้ และการค้ำประกันสินเชื่อ ก็ยังอยู่ในภาวะล้มเหลวที่จะดึงให้ธุรกิจเหล่านี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

 

“การเติบโตของสินเชื่อสำหรับองค์กรขนาดใหญ่เติบโตขึ้นกว่า 10% ต่อปี แม้แต่ในภาคครัวเรือนการเติบโตของสินเชื่อก็เติบโตขึ้นประมาณ 4% ต่อปี” เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา “กลุ่มที่การเติบโตของสินเชื่อหดตัวลงคือ SMEs”

 

ตามข้อมูลของรัฐบาลระบุว่า ณ ปี 2563 ประเทศไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 3.1 ล้านราย มีพนักงาน 12.7 ล้านคน แต่หอการค้าไทยเชื่อว่าจำนวน SMEs ที่แท้จริงอาจสูงถึง 5 ล้านราย เนื่องจากผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากไม่ได้ลงทะเบียนกับทางการ

 

เมื่อเดือนที่แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับปีนี้เป็น 1.8% จาก 3% ที่เคยประเมินก่อนหน้านี้ ท่ามกลางการบริโภคภายในประเทศที่อ่อนแอและการปรับลดแนวโน้มการท่องเที่ยวซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

ก่อนการระบาดใหญ่ ‘การท่องเที่ยว’ คิดเป็นสัดส่วน 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือประมาณสองเท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก แต่ตอนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่ามีนักท่องเที่ยวเพียง 700,000 คนที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยในปีนี้ ลดลงจากเกือบ 40 ล้านคนในปี 2562

 

พัชราภรณ์ ศาลาชีพ วัย 34 ปี เจ้าของธุรกิจเพนต์ร่างกายสำหรับชาวต่างชาติ ได้ปิดร้านค้าในพัทยาและภูเก็ตเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากการปิดพรมแดนและการท่องเที่ยวลดลง หลังจากปลดพนักงานออก 70% เธอยังคงมีร้านค้า 3 ร้านในตลาดนัดสวนจตุจักรที่กรุงเทพฯ แต่มีรายได้เพียง 10% ของที่เคยทำ

 

เธอต้องการยืมเงินเพื่อรักษาธุรกิจ แต่ไม่แน่ใจว่าจะได้รับการอนุมัติให้กู้ยืมเงินจากธนาคารหรือไม่

 

“ธุรกิจของฉันอาจจะไม่รอดในปีนี้” พัชราภรณ์กล่าว “รัฐบาลไม่เคยได้รับการชดเชยสิ่งที่เรากำลังเผชิญ สิ่งที่พวกเขาเสนอเป็นเพียงการปรับโครงสร้างหนี้และเงินกู้ พวกเขากำลังผลักดันให้เราสร้างหนี้ในขณะที่เราแทบจะไม่มีรายได้”

 

ล่าสุดรัฐบาลได้ออกมาตรการบรรเทาหนี้ ได้แก่ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ หรือมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งมาตรการนี้ผู้ประกอบการมีสิทธิซื้อทรัพย์สินคืนในภายหลัง

 

ทว่า “สภาพคล่องไม่ใช่กระสุนเงินที่จะรักษาทุกสิ่ง” นริศ สถาผลเดชา นักเศรษฐศาสตร์จาก บมจ.ธนาคารทหารไทยธนชาต กล่าว “ผู้ที่จะได้รับเงินกู้คือผู้ที่มีแนวโน้มทางธุรกิจและรายได้ที่เป็นบวก หากคุณยังอยู่ในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร หรือไม่สามารถสร้างรายได้ที่เป็นบวกได้ คุณไม่น่าจะได้รับเงินกู้ ธนาคารต้องระมัดระวังในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่มีใครอยากแบกรับภาระหนี้สูญเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย”

 

ขณะที่เศรษฐพุฒิได้กล่าวว่า ไม่ใช่ SMEs ทั้งหมดที่จะได้รับการอนุมัติสำหรับมาตรการบรรเทาทุกข์ “ถ้าเราให้ยืมสิ่งที่เรามีกับทุกกลุ่ม มันอาจทำให้ผู้รอดชีวิตล้มเหลวได้เช่นกัน ทุกอย่างมีค่าเสียโอกาส”

 

ภาพ: Paul Lakatos / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X