ปฏิเสธไม่ได้ว่า Sizzler แบรนด์ที่มีต้นกำเนิดมาจากอเมริกา หลังจากเข้ามาเปิดสาขาแรกในไทยเมื่อปี 2535 ก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับตลาดบ้านเกิดอย่างอเมริกาที่ทยอยปิดสาขาไปหลายแห่ง เพราะต้องเผชิญการแข่งขันอย่างหนัก
“แต่เราต้องไม่หยุดการพัฒนา” อนิรุทร์ เดวิด คอลลินส์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด (Sizzler) ในเครือเดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว
โดยปีนี้เตรียมพลิกโฉมแบรนด์ใหม่ในรอบ 30 ปี ภายใต้คอนเซปต์ ‘OVER 30 YEARS OF SIZZLING EXPERIENCES’ โดยได้ออกเมนูเล่มใหม่ที่มีเมนูอาหารและเครื่องดื่มใหม่ๆ ชูจุดขายความเป็นพรีเมียมและราคาเข้าถึงง่าย ที่สำคัญได้หันมาให้ความสำคัญกับเมนูสเต๊กมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้โฟกัสมากนัก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Sizzler ย้ำ ปรับราคา ‘สลัดบาร์’ ของสาขาในกรุงเทพฯ ไม่กระทบกำลังซื้อ ส่วนปลายปีออกเมนูใหม่นำ ‘เนื้อไพรม์ริบ’ มาเสริมความพรีเมียมมากขึ้น
- บุฟเฟต์ สลัดบาร์ 139 บาท วันธรรมดาคงไม่เห็นอีกแล้ว เมื่อ ‘Sizzler’ ปรับขึ้นราคาเต็ม 199 บาทรับต้นทุนพุ่ง แต่เพิ่มเมนูและออปชันใหม่เพียบ!
- กรณีศึกษา Sizzler กำลังสนใจ Subscription Model ส่งสเต๊กและอาหารสุขภาพถึงหน้าบ้าน วางราคาแพ็กเกจเป็นรายอาทิตย์
สาเหตุที่ต้องเน้นเมนูสเต๊กให้กลายเป็นเมนูหลัก เกิดจาก Core Value ของแบรนด์ที่วางโพสิชันนิงเน้นสลัดบาร์และสเต๊กพรีเมียม รวมถึงความต้องการของผู้บริโภคที่สอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า คนไทยเริ่มนิยมรับประทานสเต๊กที่พรีเมียมมากขึ้นแม้จะสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อก็ตาม ซึ่งลูกค้าไม่ได้ต้องการให้แบรนด์ลดราคา แต่ต้องการให้เพิ่มคุณภาพอาหารมากกว่า ถือว่าสอดรับกับตลาดสเต๊กพรีเมียมที่มีการเติบโต 5-7%
ล่าสุดจึงได้เปิดตัวเมนูสเต๊กริบอายจานร้อน ราคา 999 บาท และสเต๊กเนื้อนิวยอร์กสตริปลอยน์จานร้อน ราคา 899 บาท ตามด้วยเมนูอื่นๆ เข้ามาเพิ่มประสบการณ์ให้ผู้บริโภค แน่นอนว่าในช่วงที่ออกเมนูใหม่แต่ละครั้งสามารถเพิ่มยอดขายได้มากถึง 4 เท่า ส่วนเมนูที่ขายไม่ดี ซึ่งมีอยู่ในร้านประมาณ 4-5 รายการก็ต้องนำออก
ควบคู่กับการจัดโปรโมชันทั้งหน้าร้านและเดลิเวอรี เพื่อกระตุ้นการสั่งซื้อมากขึ้น โดยปัจจุบัน ยอดขายของ Sizzler เฉลี่ยต่อบิลอยู่ที่ 800 บาท สาขาที่ขายดีสุดยังอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก
ทั้งนี้โครงสร้างราคาในสาขาที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ยกเว้นเมนูสลัดบาร์ สาขาต่างจังหวัดจะอยู่ที่ 139 บาทในวันธรรมดา ขณะที่กรุงเทพฯ อยู่ที่ 199 บาท
ด้านการขยายสาขาปี 2566 เตรียมเปิดอีก 3 แห่ง และรีโนเวตร้านใหม่อีก 3 แห่ง ทำให้สิ้นปีนี้จะมีสาขารวมทั้งหมด 63 สาขา โดย Sizzler ในประเทศไทยนับเป็นตลาดใหญ่ที่มีสาขามากที่สุดในเอเชีย และยังเป็นประเทศเดียวที่มีการขยายสาขาต่อเนื่อง
เชื่อว่ากลยุทธ์ข้างต้นประกอบกับภาพรวมการดำเนินการตลอด 3 เดือนของไตรมาสที่ 1 เติบโตเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จะทำให้ Sizzler กลับมาเติบโตใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิดได้แน่นอน
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะธุรกิจร้านอาหารยังมีความท้าทายอยู่มาก โดยเฉพาะหลังโควิดคู่แข่งเริ่มขยายสาขาเพิ่มขึ้น ซึ่งเราต้องไม่หยุดที่จะหาวิธีสร้างความแตกต่าง เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดสลัดบาร์