วันนี้ (20 กรกฎาคม) พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เล่าถึงการปฏิบัติงานของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (สพฐ.ตร.) ในการสืบสวนหาข้อเท็จจริงจากหลักฐานคดีการเสียชีวิตของชาวเวียดนาม 6 คนที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ พื้นที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ลุมพินี
ซึ่งเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเสียชีวิตตำรวจสันนิษฐานว่าเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ช่วงประมาณ 13.50 น. ต่อมาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้รับแจ้งและเริ่มเข้าที่เกิดเหตุในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 16 กรกฎาคม ผ่านการทำงานแบบข้ามวันข้ามคืน
จนกระทั่งการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกต่อสื่อมวลชนในช่วงเวลา 11.00 น. ของวันที่ 17 กรกฎาคม นับรวมแล้วเจ้าหน้าที่ใช้เวลาหาคำตอบให้กับสังคมว่า ทั้ง 6 คนนี้เสียชีวิตด้วยสารพิษไซยาไนด์รวมทั้งสิ้นประมาณ 17 ชั่วโมง
ดรีมทีมพิสูจน์หลักฐาน
พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวว่า กองพิสูจน์หลักฐานกลางจะมีศูนย์รับแจ้งเหตุที่เรียกว่า ‘ศูนย์จามจุรี’ เป็นส่วนที่รับการประสานแจ้งเหตุการตรวจสถานที่เกิดเหตุในพื้นที่รับผิดชอบในวันที่ 16 กรกฎาคม เวลาประมาณ 17.40 น. เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์จามจุรีได้รับแจ้งเหตุว่ามีผู้พบศพ 6 ศพที่โรงแรมดังกล่าว
จึงมีการขอให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ แต่เนื่องจากคดีนี้มีศพจำนวนมาก เหตุเกิดขึ้นใจกลางกรุงเทพมหานคร และเป็นคดีสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจ ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งการให้จัดทีมปฏิบัติการชุดพิเศษที่เรียกว่า ‘ดรีมทีมพิสูจน์หลักฐาน’
ประกอบด้วยกลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นกลุ่มงานหลัก โดยได้ระดมผู้เชี่ยวชาญของการตรวจสถานที่เกิดเหตุและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในเหตุนั้นๆ เข้าร่วมตรวจพิสูจน์ ร่วมกับพนักงานสอบสวน ในการวางแผนการตรวจสถานที่เกิดเหตุ
พล.ต.ท. ไตรรงค์ ระบุว่า ขั้นตอนการตรวจสอบเริ่มจากการปิดกั้นสถานที่เกิดเหตุและวางแผนเข้าตรวจ ซึ่งต้องดำเนินการตามมาตรฐาน 12 ขั้นตอนแบบที่ FBI (Federal Bureau of Investigation) ใช้ โดยมีหัวหน้าชุดในการสำรวจพื้นที่เบื้องต้นและวางแผนการตรวจ, เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพ, เจ้าหน้าที่สเกตช์ภาพจัดทำแผนผังสถานที่เกิดเหตุ, เจ้าหน้าที่วัดระยะวางป้ายหมายเลขวัตถุพยาน และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเกี่ยวกับยาพิษ
ทั้งนี้ ในการสำรวจสถานที่เกิดเหตุเบื้องต้นเราเชื่อได้ว่าเหตุนี้อาจเป็นการเสียชีวิตจากยาพิษ โดยประมวลเหตุการณ์และเรื่องราวของสถานที่เกิดเหตุ สภาพร่องรอยที่เกิดเหตุ ผู้เสียชีวิต และสิ่งแวดล้อม
“ต้องยอมรับว่าคดีนี้ตำรวจเจ้าของพื้นที่ได้ป้องกันสถานที่เกิดเหตุไว้ดีมาก ไม่ให้ใครเข้ามาข้องเกี่ยวจนอาจทำให้เสียรูปวัตถุพยาน ดังนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเริ่มปฏิบัติงานจึงทำได้โดยสะดวกและรวดเร็วขึ้น” พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าว
การหาคำตอบภายใต้เงื่อนไขเวลา
เมื่อถามถึงเรื่องเงื่อนไขของเวลาที่ต้องทำอย่างรวดเร็ว เนื่องด้วยเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวว่า ตามปกติแล้วกรอบเวลาการตรวจสถานที่เกิดเหตุในแต่ละคดีจะมีความแตกต่างกัน อยู่ที่ว่าคดีนั้นจะมีสถานที่เกิดเหตุกว้างหรือแคบแค่ไหน มีความสลับซับซ้อนและยุ่งยากเพียงใด หรือจำเป็นจะต้องตรวจเก็บพยานหลักฐานด้วยวิธีการใด
ในคดีนี้เราพิจารณาผู้เสียชีวิตและสถานที่เกิดเหตุเป็นเกณฑ์ตั้งต้นว่า จะวางแผนในการเข้าตรวจสถานที่เกิดเหตุอย่างไร จัดเก็บวัตถุพยานอย่างไรจนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการ แม้ว่าพื้นที่จะเป็นห้องพักที่มีห้องรับแขกและห้องนอน แต่โดยรวมจัดว่าเป็นห้องขนาดเล็ก แต่เนื่องด้วยศพมีจำนวนถึง 6 ศพ เจ้าหน้าที่จึงต้องให้ความสำคัญกับรายละเอียด ทั้งในส่วนของศพเองและวัตถุพยานในสถานที่เกิดเหตุ
พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวว่า การปฏิบัติงานในภาพรวมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ดำเนินการด้วยความถูกต้องและรวดเร็ว ทั้งทีมสืบสวนสอบสวน พิสูจน์หลักฐาน แพทย์นิติเวช และฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในส่วนของพิสูจน์หลักฐาน ให้ดำเนินการตรวจพิสูจน์อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิต รวมถึงการหาตัวผู้กระทำความผิดในครั้งนี้
ส่วนของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเองก็ได้กำชับในเรื่องของการปฏิบัติการให้เป็นไปด้วยความถูกต้องและละเอียดรอบคอบของทุกฝ่าย เพื่อให้การคลี่คลายคดีมีความรวดเร็ว เกิดความชัดเจน และถูกต้องด้วย
ปริศนากว่า 50 ชิ้นที่ห้ามละเลย
เรื่องของหลักฐานและวัตถุพยานที่มีรายงานว่ามีจำนวนมากกว่า 50 ชิ้น พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวยอมรับว่า วัตถุพยานในคดีนี้มีจำนวนมาก พยานทุกชิ้นที่เก็บจากสถานที่เกิดเหตุจะถูกส่งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการเฉพาะทางทั้งหมด ได้แก่ ห้องตรวจดีเอ็นเอ, ห้องปฏิบัติการตรวจลายนิ้วมือแฝง, ห้องปฏิบัติการตรวจสารพิษยาพิษ, ห้องปฏิบัติการตรวจโทรศัพท์ รวมถึงห้องปฏิบัติการอื่นที่ใช้ในการตรวจวัตถุพยานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ที่ต้องทำทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะนำไปสู่การชี้เฉพาะหรือบ่งชี้ของวัตถุพยานว่ามีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องอย่างไรกับสถานที่เกิดเหตุ หรือกับใครอย่างไร ใครเป็นผู้กระทำให้เสียชีวิต และเสียชีวิตอย่างไร
เมื่อถามถึงหลักฐานชิ้นที่เป็นคีย์สำคัญของคดี พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวว่า หลักฐานชุดนี้เกิดจากการประเมินลักษณะของการเสียชีวิตโดยแพทย์นิติเวชร่วมกับตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งได้ตั้งสมมติฐานสาเหตุของการเสียชีวิตว่ามาจากสารพิษไซยาไนด์ จนนำมาซึ่งการโฟกัสไปที่กาน้ำชา, แก้วชา, แก้วน้ำ และของเหลวที่อยู่ในภาชนะเหล่านั้น
“หลักฐานทุกอย่างที่อยู่ในห้องถือว่าเป็นหลักฐานที่สำคัญทุกชิ้น จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยัน ห้ามละเลย” พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าว
ความคาดหวัง-แรงกดดันของสังคม
เมื่อถามถึงปัญหาและอุปสรรคการทำงานในคดีนี้ พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าวว่า เนื่องด้วยคดีนี้มีจำนวนถึง 6 ศพ จึงต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งในการตรวจพิสูจน์ แต่ด้วยเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจ เจ้าหน้าที่จึงต้องระดมสรรพกำลังช่วยกันจัดการ
ส่วนแรงกดดันของสังคมจะมีผลต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่หรือไม่ ยอมรับว่าคงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะในการตรวจพิสูจน์คดีเกี่ยวกับชีวิตหรือคดีใดๆ ก็ตาม ญาติผู้สูญเสีย พี่น้องประชาชน สื่อมวลชน หรือสังคม จะคอยเฝ้าติดตามและคาดหวังที่จะให้ผลการตรวจพิสูจน์ การสืบสวนสอบสวน และการดำเนินคดี คลี่คลายได้
ซึ่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเองก็มีกระบวนการและหลักการปฏิบัติตามหลักมาตรฐานสากล ISO ซึ่งจะต้องดำเนินการด้วยความถูกต้อง มีความละเอียด รอบคอบ ฉะนั้นจึงไม่ได้คิดว่าความคาดหวังนั้นเป็นแรงกดดันจนมีผลต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่เรา
“ครั้งนี้เป็นการพิสูจน์ว่าตำรวจไทยทุ่มเท พร้อมทำงาน ปกป้องดูแลชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวในประเทศไทย ตลอด 24 ชั่วโมง” พล.ต.ท. ไตรรงค์ กล่าว