×

ทนายจูน ผู้หญิงกล้าหาญสากล ปี 2018 กับความรู้สึกที่ ‘ยังไม่หมดหวัง’ ในระบบยุติธรรมไทย

23.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • ทนายจูน คือทนายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกดำเนินคดีทางอาญาเสียเอง หลังจากที่เธอพยายามปกป้องสิทธิของกลุ่มนักกิจกรรมทั้ง 14 คนที่เรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลทหารเมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นการทำลายหลักการความเป็นอิสระของทนายความที่ถือเป็นหลักสากล
  • 4 ปีแล้วที่ประเทศไทยยังอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนยังคงถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพและเฝ้ารอการเลือกตั้ง (ที่ยังไม่มาถึงสักที) อย่างมีหวัง
  • การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในทุกรัฐบาล ไม่ใช่เฉพาะในช่วงรัฐบาลทหาร แม้สถานการณ์การเมืองอาจจะเปลี่ยนไป แต่งานประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจะไม่เปลี่ยนแปลง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการจัดตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขึ้น ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ชื่อของ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือ ทนายจูน เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น เธอเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มทนายความที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่นักกิจกรรมและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร ถูกละเมิด ถูกข่มขู่คุกคาม และถูกดำเนินคดีทางอาญาอย่างไม่ชอบธรรม

 

การทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนจากการถูกละเมิดโดยอำนาจรัฐ เป็นหนึ่งในประเด็นอ่อนไหวที่ทำให้เจ้าหน้าที่และทนายความของศูนย์ทนายฯ ตกเป็น ‘เหยื่อ’ ของการถูกคุกคาม ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงถูกดำเนินคดีทางอาญาเสียเอง ทนายจูนถูกตั้งข้อกล่าวหาและถูกดำเนินคดีถึง 3 คดี หลังจากที่เธอพยายามปกป้องสิทธิของกลุ่มนักกิจกรรมทั้ง 14 คนที่เรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลทหาร

 

ล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทนายจูนได้รับรางวัล ‘ผู้หญิงกล้าหาญสากล’ (International Women of Courage Award) ประจำปี 2018 จากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับนักปกป้องสิทธิและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจากอีก 9 ประเทศทั่วโลก โดยเธอเป็นผู้หญิงไทยคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัลนี้ นับตั้งแต่มีการเริ่มมอบรางวัลนี้ขึ้นเมื่อปี 2007

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ ‘ทนายจูน’ ถึงเรื่องราวและแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจในชีวิตของเธอ ทั้งจุดเปลี่ยนและแรงบันดาลใจที่ทำให้เธออยากจะทำงานเป็นนักปกป้องสิทธิ ประสบการณ์และความรู้สึกของเธอนับตั้งแต่เริ่มต้นเดินทางบนเส้นทางสายนี้ รวมถึงเธออยากจะบอกหรือส่งต่ออะไรให้แก่คนที่กำลังสนใจหรือทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอยู่ในขณะนี้ มาทำความรู้จักเธอให้มากขึ้นไปพร้อมๆ กัน

มันจะร้ายแรงหากรัฐละเลย แต่จะร้ายแรงยิ่งกว่าหากรัฐเป็นผู้ละเมิดสิทธินั้นเสียเอง

 

ทำไมถึงตัดสินใจทำงานด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน

การได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่อเมริกา 1 ปีช่วยเปิดมุมมองในการทำงานด้านนี้ โฮสต์แฟมิลี่ของเราเป็นแอฟริกัน-อเมริกัน ด้วยความที่โฮสต์มัมเป็นบรรณารักษ์ เขาให้เราอ่านหนังสือเยอะมาก และทำให้เรารู้จัก Civil Rights Movement ในอเมริกา เราได้เห็นเรื่องราวและสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเขา เขาต้องต่อสู้มามากมายขนาดไหนจึงจะมีวันนี้ได้ มีบ้านที่จะเปิดรับเราให้เข้ามาอยู่ด้วย

 

พอกลับมาไทย เราเริ่มรู้สึกว่าตัวเราเองเปลี่ยนไป เราได้ลงไปเป็นอาสาสมัครกู้ภัยสึนามิที่ภาคใต้ ขณะนั้นชาวมอแกนได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ จึงต้องขึ้นฝั่งมาอยู่ในพื้นที่ที่รัฐไทยจัดสรรไว้ให้เป็นแหล่งพักพิงชั่วคราว มีการกล่าวหาว่าคุณลุงมอแกนขโมยของบางอย่างจากเจ้าหน้าที่ไปและมีการใช้กำลังกันเกิดขึ้น สำหรับเรา จริงๆ แล้วจะขโมยหรือไม่ขโมยก็ไม่ควรทำร้ายร่างกายกัน แต่ตอนนั้นเรายังเป็นเด็ก เรายังให้เหตุผลอะไรมากไม่ได้ ไม่กล้าหรือไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลอะไร รุ่นพี่บอกเราว่าถ้าอยากจะช่วยก็ต้องมีความรู้ และความรู้ที่จะช่วยได้มากก็คือกฎหมาย เราจึงเลือกเรียนนิติศาสตร์

 

ความรู้สึกที่อยากจะเรียนกฎหมายเริ่มต้นจากสิ่งที่เราเห็นว่าคนถูกกระทำเขาถูกปฏิบัติอย่างไร ดังนั้นพอเราเรียน เราจะรู้ตัวว่าเราอินกับกฎหมายอีกฟากหนึ่งที่ไม่ใช่กฎหมายธุรกิจ พอเราเรียนจบ เรามีความรู้สึกอยากให้งานที่เราทำมันมีประโยชน์กับคนอื่นให้มาก และการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนตอบโจทย์เราตรงนี้ เราตั้งใจจะหาประสบการณ์หลังเรียนจบ เราจึงเลือกฝึกงานที่คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) นั่นเป็นครั้งแรกที่สัมผัสกับฟิลด์งานจริงๆ เราลงไปดูว่ากระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่อย่างไร ไปตรวจสอบดูว่ารัฐทำหน้าที่ครบถ้วนไหม มันจะร้ายแรงหากรัฐละเลย แต่จะร้ายแรงยิ่งกว่าหากรัฐเป็นผู้ละเมิดสิทธินั้นเสียเอง การฝึกงานที่นี่เริ่มเติมเต็มแพสชันในตัวเรา

ในตอนนี้ทุกคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องการเมือง เคยเป็นเรื่องของสีเสื้อ แต่งานประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจะไม่เปลี่ยนแปลง แม้สถานการณ์การเมืองอาจจะเปลี่ยนไปก็ตาม

 

ทำไมชื่อของ ‘ทนายจูน’ จึงได้รับความสนใจจากองค์กรระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก

ด้วยตัวงานของศูนย์ทนายฯ ที่ก่อตั้งขึ้นมาหลังรัฐประหาร เราค่อนข้างโดดเด่นในด้านที่เราเป็นกลุ่มทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่มารวมตัวกันเพื่อให้ความช่วยเหลือนักกิจกรรมและประชาชนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร นี่เป็นเรื่องธรรมดามากๆ ที่ต่างประเทศต้องให้ความสนใจ เพราะเรามีรัฐประหาร เราไม่เป็นประชาธิปไตย มีการนำกระบวนการทางทหารมาใช้กับประชาชนพลเรือน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ เราไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม กระบวนการยุติธรรมธรรมดาของเรายังทำงานได้โดยตัวสถานการณ์และตัวงานที่เราทำ ต่างประเทศจึงให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

 

พอมีคดีเกิดขึ้นกับตัวเราเสียเองที่เป็นหนึ่งในทีมทนายความที่ให้ความช่วยเหลือนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ทั้ง 14 คน เนื่องจากปฏิเสธเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจค้นรถโดยปราศจากหมายค้น องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศต่างเกิดความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมทนายความนักปกป้องสิทธิจึงมาถูกดำเนินคดีเสียเองและมีการส่งคนเข้ามาติดตาม เราถูกดำเนินคดีถึง 3 คดีจากเหตุการณ์นั้น โดยหนึ่งในคดีนั้นถูกตั้งข้อกล่าวหาหลังจากเกิดเหตุไปแล้วเกือบปี จนนำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมไทย และดูเหมือนว่าจะใช้สิ่งที่เรียกว่ากฎหมายและกระบวนการมาคุกคามการทำงานของคนที่ทำงานเพื่อคนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มผู้เห็นต่างในสังคม

 

อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประสบการณ์ที่ทำงานกับองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมาโดยตลอด ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าเราทำหน้าที่ในการตรวจสอบและเป็นกระบอกเสียงให้กับคนที่ถูกละเมิด และตอนนี้เรากลับโดนคดีเสียเอง การที่คุณเป็นนักปกป้องสิทธิในเวลาเดียวกัน แล้วคุณถูกคุกคาม ถูกดำเนินคดีจากการทำงานในระดับสากล ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้

 

ยิ่งไปกว่านั้น ใบหน้าของเรากลายเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนอะไรบางอย่างที่มากกว่าใบหน้าของศิริกาญจน์ หรือใบหน้าของทนายจูน แต่มันยังสะท้อนว่า 4 ปีแล้วที่สถานการณ์ล่าสุดในประเทศไทย การเมืองไทย ประชาธิปไตยไทยยังอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร และ 4 ปีมานี้คนกลุ่มนี้เป็นตัวแทนของทนายความ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน คนที่ออกมาช่วยเหลือดูแลกลุ่มคนผู้เห็นต่างท่ีถูกดำเนินคดีจากการเรียกร้องประชาธิปไตย การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องทั่วไปมากๆ ในสากลโลก แต่คนกลุ่มนี้กลับถูกดำเนินคดี เขามองเราเป็นตัวแทนของคนอีกมากมายที่ถูกกระทำเหมือนกัน

รัฐบาลไทยเกือบจะทุกยุคทุกสมัยต่างให้ความสำคัญกับการตอบคำถามระหว่างประเทศ นั่นหมายความว่าเวลาประชาคมโลกพูด ประเทศไทยจะฟัง ถ้าภาคประชาสังคมหรือองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างเราๆ สามารถที่จะเข้าร่วมใช้กลไกระหว่างประเทศที่มีอยู่ได้ เสียงของเราจะดังยิ่งขึ้น รัฐบาลจะรับฟังเราเพิ่มมากขึ้น

 

การได้รับรางวัลจากเวทีระหว่างประเทศมีความหมายต่อคุณอย่างไร

นัยของการให้รางวัลมันมีความหมายมากกว่าตัวของเราเอง คดีที่เราให้ความช่วยเหลือ เราไม่สามารถกระทำได้ด้วยตัวทนายเพียงคนเดียว เราจำเป็นต้องมีทีม อย่างรางวัลผู้หญิงกล้าหาญสากล ปี 2018 ที่เพิ่งได้รับมา เราคิดว่ารางวัลนี้สะท้อนความกล้าหาญของพวกเรานักปกป้องสิทธิทุกคนที่ยังคงทำหน้าที่ต่อไป แม้ว่าสถานการณ์จะยังไม่กลับเข้าร่องเข้ารอย

 

อีกทั้งยังสะท้อนความกล้าหาญในวิชาชีพและการทำงานของเรา รางวัลที่ได้รับช่วยเน้นย้ำว่างานที่เราทำคืองานที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นงานที่เราทำเพื่อผลประโยชน์สาธารณะจริงๆ และมันจะไม่เปลี่ยนไป หมายความว่า ณ วันนี้เราทำงานเพื่อช่วยกลุ่มคนเห็นต่าง กลุ่มคนที่ถูกกดทับในเรื่องการแสดงความคิดเห็น ในตอนนี้ทุกคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องการเมือง เคยเป็นเรื่องของสีเสื้อ แต่งานประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจะไม่เปลี่ยนแปลง แม้สถานการณ์การเมืองอาจจะเปลี่ยนไปก็ตาม

 

รางวัลต่างๆ ที่ได้รับเป็นเสมือนข้อความจากต่างประเทศที่ยังคงเดินหน้าสนับสนุนการทำงานของเราเหมือนเดิม แม้มันจะผ่านมาแล้ว 4 ปี แต่การเลือกตั้งและคืนประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนไม่ใช่เรื่องที่จะทำเป็นลืมเลือนกันไป ล่าสุดเมื่อต้นปีนี้มีการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมและประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งรวมๆ 100 กว่าคนภายใน 3-4 เดือนแรก สรุปแล้วรัฐบาลต้องการที่จะให้มีการเลือกตั้งจริงหรือไม่ คุณจะปลดล็อกหรือยกเลิกข้อห้ามชุมนุมทางการเมือง แต่คุณยังไม่ทำสักที และนำมาใช้ปราบปรามคนที่เขาออกมาเรียกร้องในสิ่งที่คุณสัญญาว่าจะทำ มันหมายความว่าอะไร เราไม่รู้ว่าเมื่อไรจะกลับไปสู่สภาพแวดล้อมที่เราสามารถจะพูดในเรื่องทั่วไปได้ พูดเรื่องที่สมัยก่อนทำได้

 

มิติระหว่างประเทศมีส่วนช่วยในการทำงานหรือช่วยแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยอย่างไร

ประสบการณ์การทำงานทำให้เรามีฐานคิดเรื่องกรอบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศว่าสหประชาชาติมีกลไกอย่างไรบ้าง และเราจะต้องติดต่อกับกลไกพิเศษที่จะตรวจสอบรัฐบาลไทยอย่างไร ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวอาจจะไม่ได้มีบทลงโทษรุนแรง แต่ส่งผลและสร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างแน่นอน ประเทศเราไม่ได้อยู่ประเทศเดียวบนโลกใบนี้ เราอยู่ร่วมกันกับประเทศอื่นๆ ในประชาคมโลกที่มีความโลกาภิวัตน์มากๆ แล้ว สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญมากพอๆ กับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ หรือการเมือง และหน้าที่หนึ่งของเราคือการเป็นกระบอกเสียงในระดับนานาชาติ และเข้าไปร่วมใช้กลไกต่างด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ

 

สิ่งที่น่าสนใจคือรัฐบาลไทยเกือบจะทุกยุคทุกสมัยต่างให้ความสำคัญกับการตอบคำถามระหว่างประเทศ นั่นหมายความว่าเวลาประชาคมโลกพูด ประเทศไทยจะฟัง ดังนั้นถ้าภาคประชาสังคมหรือองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างเราๆ สามารถที่จะเข้าร่วมใช้กลไกระหว่างประเทศที่มีอยู่ได้ เสียงของเราจะดังยิ่งขึ้น รัฐบาลจะรับฟังเราเพิ่มมากขึ้น

สังคมและประชาชนที่ตระหนักรู้ว่าสิทธิของตนเองมีอะไรบ้างจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุด และในวันหนึ่งถ้ามันเกิดสังคมแบบนั้นขึ้นได้จริงๆ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีอาชีพของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

 

รู้สึกอย่างไรที่ถูกดำเนินคดีเสียเอง ทั้งๆ ที่ตนเองออกมาเพื่อปกป้องสิทธิของผู้อื่น

ตอนที่โดนคดีครั้งแรกไม่แปลกใจ แต่มีจุดหนึ่งที่เรารู้สึกมากๆ ก็คือตอนที่ไม่ให้เจ้าหน้าที่ค้นรถ จุดนั้นทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองมากๆ ตอนนั้นเราเป็นทนายที่อายุน้อย เรายังต้องเรียนรู้อีกเยอะ ณ วันนี้เราเองก็ยังต้องเรียนรู้อยู่ คดีนักศึกษาทั้ง 14 คนเป็นการทำหน้าที่ทนายความอย่างจริงจังครั้งแรกของเรา เหตุการณ์นั้นเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของเราว่าเราจะเป็นทนายความทำไม ถ้าในวันนั้นเราปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทำสิ่งที่ผิดหลักการหรือผิดกฎหมายเกิดขึ้น วันต่อไปเราจะมีหน้าเจอลูกความเราได้อย่างไร เรามีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อลูกความของเรา แล้วเราทำหน้าที่ตรงนั้นได้ดีที่สุดหรือยัง นี่เป็นคำถามที่เราถามตัวเองตอนนั้น

 

พอหมายเรียกคดีต่างๆ มา เราไม่ได้รู้สึกตกใจอะไรเลย เพราะมันเลยจุดนั้นมาไกลแล้ว ความรู้สึกของเราคือเราทำเต็มที่แล้ว เราสามารถบอกลูกความเราได้ว่าทนายทำเต็มที่แล้ว เพราะผลมันจะต่างกันมาก ถ้าในวันนั้นเราปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจค้นรถโดยไม่มีหมายค้นในเวลากลางคืน ซึ่งไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่าสิ่งที่ค้นออกไปจากรถเรา เขาจะเอาอะไรไปบ้าง และการรวบรวมพยานหลักฐานจะเป็นไปตามกระบวนการกฎหมายมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีหมายศาลมา เรายินดีทำตามกระบวนการทุกอย่าง ต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานมาเก็บ มีการซีลพยานหลักฐาน มีการจัดทำเอกสารและลงบันทึกอย่างชัดเจน อย่างน้อยๆ เราก็ได้ทำเต็มที่แล้ว

 

มีกฎหมายที่ปกป้องคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะบ้างไหม

ไม่มีกฎหมายเฉพาะ เป็นเรื่องที่ถ้าทุกภาคส่วน ทุกองค์กร และวิชาชีพต่างๆ ที่ทำหน้าที่อยู่ตรงนี้มีความอิสระพอ มีความมั่นคงในวิชาชีพพอ และไม่มีการแทรกแซงโดยอำนาจรัฐ ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวบทกฎหมายอะไรแล้ว คดีเรากลายเป็นประเด็นใหญ่ตรงที่ว่ามันเป็นการทำลายหลักการความเป็นอิสระของทนายความ (Independence of Lawyers)

 

คุณจะต้องไม่เอาสิ่งที่ลูกความทำมากล่าวหาว่าทนายความทำ มันแยกกัน ถ้าเราจะต้องไปเป็นทนายให้กับตัวร้ายที่สุดในโลก เหมือนเราก็จะต้องถูกดำเนินคดีเป็นตัวร้ายเสียเอง ซึ่งมันไม่ใช่ เราเห็นคดีมากมายในโลกที่เป็นคดีร้ายแรง แต่คนคนนั้นก็ยังต้องมีทนายความ และทนายความของเขาจะต้องทำงานได้อย่างอิสระ ประกันสิทธิเท่าที่มันควรจะยุติธรรม

เสรีภาพและสิทธิมนุษยชนเจริญงอกงามได้ดีที่สุดในสังคมประชาธิปไตย มันเป็นไปไม่ได้ที่สิทธิและเสรีภาพของเราจะได้รับการปกป้องคุ้มครองภายใต้เผด็จการ

 

อะไรคือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและทรงพลังที่สุดของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ฟังแล้วอาจจะดูอุดมคติ แต่สำหรับเรา สังคมและประชาชนที่ตระหนักรู้ว่าสิทธิของตนเองมีอะไรบ้างจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุด และในวันหนึ่งถ้ามันเกิดสังคมแบบนั้นขึ้นได้จริงๆ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีอาชีพของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะทุกคนในสังคมจะสามารถเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็คงจะลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นอาวุธที่สำคัญก็คือความรู้ความเข้าใจและฉันทามติร่วมกันของสังคมนี่แหละว่า ‘สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของคุณ ไม่ใช่เรื่องของใคร’

 

อะไรคือสิ่งที่อยากเห็นและคิดว่ายังขาดหายไปเกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชนในไทย

ณ ตอนนี้ด้วยอะไรหลายๆ อย่างทำให้เราชินชาหรือง่วนอยู่กับบางอย่างที่จะต้องอยู่กับชีวิตและใช้ชีวิตของตัวเองต่อไปให้ได้เสียก่อน ประกอบกับการกดทับ การตีกรอบ และคุณค่าอะไรบางอย่างที่รัฐป้อนให้เราทุกวันๆ ทำให้คนอาจจะเคยชินกับสิ่งที่จริงๆ แล้วเป็นความรุนแรง เป็นสิ่งที่มันไม่ถูกต้อง และควรจะต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่กลับเลือกที่จะอยู่เฉย ความเฉยเท่ากับความยินยอมให้สิ่งนั้นมันเกิดขึ้นกับคนรอบข้างคุณ และไม่มีอะไรยืนยันหรือการันตีได้เลยว่าสิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้นกับคุณเองหรือคนที่อยู่ในบ้านของคุณ

 

ไม่เคยรู้สึกท้อหรือผิดหวังเลยเวลามีคนบอกว่างานที่เราทำดูเพ้อฝัน โลกสวย หรือจับต้องไม่ได้ คิดแค่ว่าจะทำอย่างไรให้มีคนมาเข้าร่วมกับเรามากขึ้น การที่เราออกมาให้ความเห็น ติดตามคนที่ถูกคุกคาม หรือถูกเรียกไปปรับทัศนคติ ถูกจับไป 7 วันในค่ายทหาร สิ่งเหล่านี้คุณจะเรียกว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเพียงนามธรรมไม่ได้ เพราะการละเมิดสิทธิต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นกับคนในสังคมเราจริงๆ

 

ยอมรับเลยว่าจุดด้อยของการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนคือยังคงมีความเป็นนักกฎหมาย สื่อสารกับคนทั่วไปได้ค่อนข้างยาก เมื่อพูดถึงคำว่า ‘สิทธิ’ พอเราอยู่ในสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหารุมเร้า ทำให้เรื่องสิทธิกลายเป็นสิ่งขัดหู ดูเหมือนไกลตัวออกไปเรื่อยๆ และทำให้งานของนักปกป้องสิทธิมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าการว่าความให้ชนะคดีในศาล ดังนั้นการเป็นทนายด้านสิทธิมนุษยชนไม่ใช่แค่การเป็นทนายในศาลแล้วคุณชนะคดี แต่สิ่งที่ต้องทำคือคุณต้องชนะในทางสังคมหรือทางการเมืองให้ได้ ถ้าคุณแพ้คดีนี้ แต่ถ้าผลของการแพ้คดีนั้นมีผลกระทบทำให้ประชาชนและสังคมรับรู้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย กฎหมาย และการปกครองที่ดียิ่งขึ้น ท้ายที่สุดมันดูเหมือนว่าเราประสบความสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่งแล้วด้วยซ้ำ

 

คิดว่าภายหลังการเลือกตั้ง สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยจะเป็นอย่างไร

การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในทุกรัฐบาล ไม่ใช่เฉพาะในช่วงรัฐบาลทหาร ที่ผ่านมานักปกป้องสิทธิทำงานในทุกรัฐบาล ไม่ใช่ว่าเราทำแต่ในเฉพาะรัฐบาลนี้เท่านั้น เพียงแต่ว่ารัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนตามกระบวนการประชาธิปไตย ดังนั้นโดยหลักมันผิดตั้งแต่ต้น การละเมิดสิทธิมนุษยชนจึงรุนแรงกว่า ประชาชนไม่มีสิทธิ์ที่จะไปเรียกร้องสิทธิ์ทางศาลเพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธินั้นได้เลย

 

หากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และอ้างว่าปฏิบัติตามมาตรา 44 หรือคำสั่งที่ 3/58 ที่ออกตามมาตรา 44 ก็เริ่มดูจะเป็นปัญหาไม่น้อยที่มีคนกลุ่มหนึ่งออกกฎหมายเพื่อเพิ่มเอกสิทธิ์และความคุ้มกันให้แก่ตนเอง ทำให้เกิดการลอยนวลพ้นผิด ซึ่งแน่นอนว่าถ้าสิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ การเลือกตั้งก็อาจไม่ใช่เส้นชัยของคำตอบทั้งหมด แต่การเลือกตั้งคือสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นอันดับแรก ไม่ใช่เลือกตั้งแล้วทุกอย่างจบ ประชาธิปไตยก็เหมือนกับงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนที่เป็นกระบวนการที่จะต้องทำไปเรื่อยๆ และพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่มีผลลัพธ์สุดท้ายที่ตายตัว

 

นอกจากการละเมิดสิทธิที่เกิดในทุกยุคทุกสมัยแล้ว ในช่วงเวลานี้จะมีมรดกตกทอดของคณะรัฐประหารถูกส่งต่อไป หลังจากที่มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลชุดใหม่แล้วในอนาคตจะเกิดการเรียกร้องให้กำจัดผลพวงและมรดก คำสั่ง หรือประกาศที่จำกัดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงของคณะรัฐประหารไปให้หมด ในขณะเดียวกันก็ต้องมาพูดคุยกันว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาในห้วงเวลาที่เป็นเผด็จการ ท้ายที่สุดก็อาจจะต้องมีการร่างกฎกติกาขึ้นใหม่อีกครั้ง

 

กระบวนการแก้ไขเยียวยาเป็นสิ่งจำเป็น คนที่ต้องถูกจับไป 7 วัน ถูกจับขังฟรี ต้องขึ้นศาลทหาร เสียเวลาไปไม่รู้กี่ปีๆ หรือคนที่ถูกตัดสินไปแล้ว โดยเฉพาะคดีทางการเมืองที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความเห็น คุณจะแก้ไขเยียวยาพวกเขาอย่างไรถ้าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข การละเมิดสิทธิต่างๆ ในห้วงเวลานี้ก็ยังจะถูกส่งต่อไปอยู่ดี ไปทบกับอะไรต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ถ้าพูดในแง่ที่กำหนดให้สิทธิมนุษยชนเป็นยุทธศาสตร์ชาติ มันไม่ควรจะเกิดรัฐประหารซ้ำขึ้นมาอีกในภูมิทัศน์การเมืองไทย แล้วค่อยๆ พัฒนาประชาธิปไตยต่อไป ทำไมถึงพูดอิงกับประชาธิปไตย เพราะว่าเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนเจริญงอกงามได้ดีที่สุดในสังคมประชาธิปไตย มันเป็นไปไม่ได้ที่สิทธิและเสรีภาพของเราจะได้รับการปกป้องคุ้มครองภายใต้เผด็จการ

ในสถานการณ์แบบนี้เราอาจจะยังทำอะไรได้ไม่มาก นอกจากจะต้องมีความหวังต่อไป อย่าหมดหวัง เหนื่อยก็พัก ท้อแต่ก็อย่าถอย และทำมันต่อไป สิ่งไหนที่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แม้ในวันนี้จะมีอุปสรรค แต่สิ่งนั้นก็ยังจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอไป

 

อยากจะพูดหรือส่งต่ออะไรให้แก่คนที่กำลังสนใจหรือทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอยู่ในขณะนี้

ตอนที่เราเดินทางไปรับรางวัล เราได้ไปพบกับผู้หญิงที่ได้รับรางวัลคนอื่นๆ แต่ละคนทำงานในด้านสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนาน มีหลายคนมาจากพื้นที่ที่เคยเกิดสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และใช้ความรุนแรงต่างๆ มากมาย บางคนผ่านการถูกยิง ถูกลอบฆ่า ถูกกระทำชำเรา คนที่รักถูกฆ่าตาย พวกเขาทุกคนอยู่ในสถานการณ์ที่ควรจะสิ้นหวัง เราถามเขาว่าเขาเจอสถานการณ์หนักขนาดนี้แล้วทำไมถึงยังไม่หยุด ยังไม่ล้มเลิก เขาตอบเรามาว่า ถึงจุดหนึ่งตายก็เท่ากับหยุด เพราะฉะนั้นก็จะทำสิ่งที่รักต่อไปจนกว่าจะถึงจุดที่จะต้องไปแล้วจริงๆ

 

ในวันนั้นเราได้รับพลังและกำลังใจกลับมาจากเขาเยอะมาก อะไรที่เรามองว่ามันยังเป็นโอกาสและเรายังสามารถทำได้ ขอให้รีบทำ สิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันยังมีหวัง พูดแล้วอาจดูเหมือนเป็น cliche แต่มันคือเรื่องจริง ถ้าเกิดว่าเราจมอยู่กับปัญหามากๆ เราอาจจะต้องมองออกไปข้างนอก แล้วมองหาประสบการณ์จากสิ่งที่มันเกิดขึ้น รวมถึงอย่าลืมให้กำลังใจตนเองและเพื่อนร่วมงาน

 

ในสถานการณ์แบบนี้เราอาจจะยังทำอะไรได้ไม่มาก นอกจากจะต้องมีความหวังต่อไป อย่าหมดหวัง เหนื่อยก็พัก ท้อแต่ก็อย่าถอย และทำมันต่อไป สิ่งไหนที่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แม้ในวันนี้จะมีอุปสรรค แต่สิ่งนั้นก็ยังจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอไป แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X