×

มองดีล สิงห์ ฮุบ ซานตา เฟ่ ที่มากกว่าแค่ ‘จับคู่เบียร์กับสเต๊ก’

29.10.2019
  • LOADING...
Singha Corporation Santa Fe deal

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด บริษัทลูกในเครือกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ เข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนกว่า 88% ของบริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด เจ้าของร้านอาหาร ซานตา เฟ่ และ เหม็ง นัวนัว
  • การเข้าซื้อกิจการของเคทีในครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำการให้ความสำคัญกับธุรกิจอาหารของกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ ที่ตั้งใจผลักดันภาพการทำงานแบบ Synergy ชัดเจนขึ้น และตั้งเป้าสร้างรายได้ 4,000 ล้านบาทใน 3 ปี
  • เคทีจะช่วยให้ฟู้ด แฟคเตอร์ได้โนว์ฮาวที่สำคัญในการทำธุรกิจร้านอาหาร ซึ่ง ณ วันนี้มีมากกว่า 124 สาขา (นับรวม ซานตา เฟ่ และ เหม็ง นัวนัว) รวมถึงเติมเต็มการทำธุรกิจแบบต้นน้ำยันปลายน้ำให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

ถ้ายังจำกันได้ กลางเดือนที่ผ่านมาเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศได้พากันนำเสนอข่าวกรณี สิงห์ คอร์ปอเรชั่น เข้าซื้อหุ้นล็อตใหญ่ของ บริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด กันอึกทึกครึกโครม เพราะนี่คือการเปลี่ยนมือเจ้าของคนใหม่ของแบรนด์สเต๊กยอดนิยม ‘ซานตา เฟ่’ ที่มีสาขาในประเทศไทยมากกว่า 117 แห่ง

 

ที่สำคัญมันยังสะท้อนนัยเชิงกลยุทธ์ธุรกิจที่สำคัญไว้มากมาย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่การจับเบียร์มาคู่กับสเต๊ก

 

THE STANDARD สรุปประเด็นที่น่าสนใจจากดีลมูลค่า 1,500 ล้านบาทมาให้คุณได้ทำความเข้าใจอีกครั้งว่าที่มาที่ไปของมันเกิดขึ้นได้อย่างไร และเพราะอะไร

 

Singha Corporation Santa Fe deal

 

เปิดเบื้องหลังดีลที่กินเวลากว่า 9 เดือนเต็ม กับแคนดิเดตพาร์ตเนอร์ 50 บริษัท

จากคำบอกเล่าของ ปิติ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด บริษัทลูกในเครือกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ พบว่าดีลที่เกิดขึ้นมีการพูดคุยเจรจามาตั้งแต่ช่วง 9 เดือนที่แล้ว 

 

มูลค่าของดีลนี้เบ็ดเสร็จแล้วตกอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อเปิดทางให้ฟู้ด แฟคเตอร์ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 88% ของเคที เรสทัวรองท์ และการได้ร้านซานตา เฟ่ รวมถึงแบรนด์ร้านส้มตำ อาหารอีสาน ‘เหม็ง นัวนัว’ (7 สาขา) เข้ามาเสริมแกร่งพอร์ตธุรกิจ

 

ขณะที่กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมยังคงถือหุ้นในสัดส่วนกว่า 12% ของบริษัทอยู่ และยังมีอำนาจบริหารธุรกิจในเครือต่อไปอีก 3 ปี เนื่องจากปิติให้เหตุผลว่าภาพรวมธุรกิจเดิมของบริษัทก็ยังอยู่ในทิศทางที่ดี

 

จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ปิติบอกว่า กลุ่มบุญรอดฯ มีความต้องการจะต่อจิ๊กซอว์พอร์ตธุรกิจอาหารมานานแล้ว แต่ช่วงที่ผ่านมาการเข้าไปคุยในนาม ‘บุญรอดฯ’ มักจะถูกอีกฝั่งบอกปัดที่จะคุยด้วย เพราะมองว่าปลายทางจะต้องลงเอยด้วยการเทกโอเวอร์เป็นส่วนใหญ่ พวกเขาจึงต้องสปินออฟตัวเองออกมาเป็นบริษัทลูก ฟู้ด แฟคเตอร์ แล้วบริหารงานแยกเพื่อความคล่องตัว โดยที่บุญรอดฯ ยังคงให้การสนับสนุนในเชิงงบลงทุน

 

ส่วน สุรชัย ชาญอนุเดช ซีอีโอของทางเคทีบอกว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงกระบวนการพูดคุย ตนได้ใช้ PWC มาเป็นตัวแทนจัดหาพาร์ตเนอร์ให้ ซึ่งมีมากถึง 50 ราย ในจำนวนนี้เป็นบริษัทไทยและต่างประเทศอย่างละครึ่ง ก่อนจะ Recruit จนเหลือเพียง 7 บริษัทและได้มาพบกับฟู้ด แฟคเตอร์ในที่สุด 

 

สาเหตุเพราะ ‘เคมีตรงกันและราคาเหมาะสม’ นอกจากนี้ฟู้ด แฟคเตอร์ยังมีโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่แข็งแกร่งและสมบูรณ์รอบด้าน ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้บริษัทได้เติบโตอย่างยั่งยืน

 

Singha Corporation Santa Fe deal

 

ทำไม ฟู้ด แฟคเตอร์ จึงเดินเกมธุรกิจอาหารด้วยซานตา เฟ่

ภาพจำของบุญรอดฯ ที่ผูกติดอยู่ในอุตสาหกรรมไทยมายาวนาน คือการเป็นผู้เล่นที่คร่ำหวอดในธุรกิจเบียร์ น้ำ โซดามากว่า 86 ปี แต่จริงๆ แล้วใครๆ ต่างก็รู้ดีว่าการทำธุรกิจเดิมเป็นเวลานานๆ โดยที่ไม่ปรับตัวก็อาจจะเผชิญหน้าและถูกท้าทายกับความเสี่ยงได้สักวัน

 

ที่ผ่านมาบุญรอดฯ จึงตัดสินใจปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ เพื่อหาโอกาสขยายธุรกิจใหม่ ประกอบด้วย 6 เสาหลักที่จะขับเคลื่อนการสร้างการเติบโตขององค์กร

 

  1. ธุรกิจเบียร์ โซดา และน้ำดื่ม 
  2. ธุรกิจบรรจุภัณฑ์บางกอกกล๊าส 
  3. ธุรกิจระดับภูมิภาค (รีจินัล) ภายใต้สิงห์ เอเชีย โฮลดิ้ง 
  4. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยสิงห์ เอสเตท 
  5. ธุรกิจซัพพลายเชน ภายใต้บุญรอดซัพพลายเชน  
  6. ธุรกิจอาหาร โดยฟู้ด แฟคเตอร์ 

 

โดยเฉพาะธุรกิจอาหารฟู้ด แฟคเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักที่บุญรอดฯ​ กำลังให้ความสำคัญมากขึ้น และช่วงที่ผ่านมาก็ได้ Restructure องค์กรนำทุกธุรกิจด้านอาหารที่กระจัดกระจายมานานกว่า 10 ปีมารวมอยู่ในฟู้ด แฟคเตอร์ เพื่อให้ทิศทางในการบริหารและการดำเนินงานมุ่งไปในทางเดียวกัน โดยมีการแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 3 ส่วนย่อยคือ กลุ่มการผลิตและผลิตภัณฑ์, กลุ่มเครือข่ายธุรกิจอาหารและกลุ่มร้านอาหาร

 

ซึ่งแบรนด์ที่อยู่ในมือของฟู้ด แฟคเตอร์ก่อนหน้านี้ประกอบด้วย Farm Design, ร้านอาหารญี่ปุ่น Kitaohji และ EST.33

 

สาเหตุที่ทำให้ฟู้ด แฟคเตอร์ตัดสินใจทุ่มเงินกว่า 1,500 ล้านบาทเข้าซื้อกิจการของเคที เรสทัวรองท์ เป็นเพราะว่าเคทีมีทั้งโนว์ฮาวและแบรนด์ร้านสเต๊กที่ครอบคลุมกว่า 117 แห่ง (57% เป็นของเคทีเอง อีก 43% เป็นแฟรนไชส์) รวมถึงร้านอาหารอีสาน ซึ่งทั้งสองเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีอยู่ในพอร์ตธุรกิจเดิมของฟู้ด แฟคเตอร์เลย 

 

ที่สำคัญ ‘สเต๊ก’ ยังเป็นหมวดหมู่อาหารที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคคนไทยมากๆ ซึ่งคู่แข่งรายใหญ่ๆ ในตลาด ณ วันนี้ก็มีแค่ประมาณ 2-3 รายเท่านั้น รวมถึงยังมีโอกาสปูพรมขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีกด้วย หลังประเดิมที่กัมพูชาไปแล้ว

 

Singha Corporation Santa Fe deal

 

ผลประกอบการในช่วง 3 ปีหลังสุดของบริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด

 

  • 2559: รายได้สุทธิ 1,076 ล้านบาท (+15.85%) กำไรสุทธิ 29,138,427 บาท (+3.01%)
  • 2560: รายได้สุทธิ 1,147 ล้านบาท (+6.61%) กำไรสุทธิ 48,858,844 บาท (+67.67%)
  • 2561: รายได้สุทธิ 1,158 ล้านบาท (+0.95%) กำไรสุทธิ 46,425,699 บาท (-4.97%)

 

เหตุผลถัดมาคือ เมื่อมองจากผลประกอบการในช่วง 3 ปีหลังสุดของเคทีก็จะพบว่าพวกเขาน่าจะเข้ามาเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยผลักให้ฟู้ด แฟคเตอร์เดินหน้าหารายได้กว่า 4,000 ล้านบาทภายใน 3 ปีตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้ไม่ยาก

 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ ยังเน้นย้ำถึงการ Synergy ภายในบริษัท และการทำธุรกิจแบบต้นน้ำยันปลายน้ำแบบครบวงจรด้วยแบรนด์ในเครือของบริษัททั้งหมด 

 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ คือ ธุรกิจการผลิตอาหาร (ต้นน้ำ)​, ธุรกิจเครือข่ายอาหาร (กลางน้ำ) ที่ประกอบด้วยซอส Todd และสาหร่ายมาชิตะ และร้านอาหาร (ปลายน้ำ) โดยทุกธุรกิจจะต้องทำงานร่วมกันให้ได้แบบ Complete Loop เช่น เมื่อผลิตอาหารรูปแบบต่างๆ ได้แล้วก็จะต้องสามารถกระจายผ่านเน็ตเวิร์ก รวมถึงวางตามร้านอาหารในเครือของฟู้ด แฟคเตอร์ ซึ่งเปรียบเสมือนโชว์รูมผลิตภัณฑ์ชั้นยอดของบริษัท

 

อย่างตอนนี้ที่เริ่มเห็นแล้วคือการที่ร้านสเต๊กซานตา เฟ่บางแห่งเริ่มนำซอส Todd เข้าไปเสิร์ฟในบางเมนู บางสาขา โดยจะทำในรูปแบบพิเศษ ปล่อยออกมาเป็น Seasoning เท่านั้น

 

ส่วนในอนาคต ฟู้ด แฟคเตอร์ยังตั้งเป้าจะผลิตสินค้าที่อยู่ในระดับ ‘Champion Products’ เทียบเท่าซอส Todd และสาหร่ายมาชิตะให้ได้มากกว่า 25 รายการภายใน 5 ปี โดยปัจจุบันพวกเขายังเหลือเงินลงทุนเพิ่มเติมอีกมากกว่า 3,000 ล้านบาท (จากก้อนใหญ่ 5,000 ล้านบาท)

 

อย่างไรก็ดี ปิติแย้มเป็นนัยว่า ฟู้ด แฟคเตอร์ยังสามารถของบลงทุนเพิ่มเติมจากทางบอร์ดบริหารบริษัทแม่ได้อีก หากมีโปรเจกต์หรือดีลอื่นๆ ที่น่าสนใจเกิดขึ้นในช่วงเวลาต่อจากนี้ เช่นเดียวกับการเดินตามโรดแมปสร้างนิคมอุตสาหกรรมอาหาร ‘Food Valley’ ที่อ่างทองภายใน 5 ปี

 

Singha Corporation Santa Fe deal

 

การเข้ามาอยู่ใน ฟู้ด แฟคเตอร์ จะทำให้ภาพของ ซานตา เฟ่ เปลี่ยนไปอย่างไร

หลักๆ เลยคือซานตา เฟ่ และเหม็ง นัวนัว ซึ่งเป็นร้านอาหารในเครือของฟู้ด แฟคเตอร์จะมีกำลังขยายการเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้น โดยสุรชัยมองว่าการเข้าร่วมกับบริษัทลูกของบุญรอดฯ ในครั้งนี้จะช่วยให้แผนธุรกิจต่างๆ ทำได้เร็วและ Aggresive กว่าเก่าหลายเท่าตัว

 

ภาพของการทำงานแบบ Synergy ในพาร์ตธุรกิจการผลิตอาหารก็จะชัดเจนขึ้น ความหมายคือ ทางซานตา เฟ่ และเหม็ง นัวนัว ก็สามารถทำงานร่วมกับโรงงานผลิตอาหารในเครือฟู้ด แฟคเตอร์ได้ 

 

ที่สำคัญฝั่งฟู้ด แฟคเตอร์ยังมี Food Innovation Center ซึ่งเป็นศูนย์นวัตกรรมวิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่จะเข้ามาเติมเต็มความต้องการของเคทีในการพัฒนาเมนูอาหารใหม่ๆ ออกมาได้อย่างต่อเนื่อง

 

อย่างตอนนี้ก็มีการเปิดเผยแล้วว่าภายในปี 2563 ที่จะถึงนี้ เราน่าจะได้ลิ้มรสความอร่อยของเมนูสเต๊กเนื้อสังเคราะห์ Plant-based จากร้านซานตา เฟ่ 

 

แล้วในอนาคตต่อจากนี้เชื่อว่าเราน่าจะได้เห็น ‘บิ๊กดีล’ ในลักษณะที่เกิดขึ้นกับเคทีจากฟู้ด แฟคเตอร์ทยอยออกมาต่อเนื่องแน่นอน ซึ่งน่าจะส่งผลให้ภาพรวมการแข่งขันในสังเวียนอาหารประเทศไทยดุเดือดและขับเคี่ยวกันร้อนแรงชนิดที่ห้ามกะพริบตาเลยก็ว่าได้

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X