สิงคโปร์ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่แข่งขันสูง ชาวสิงคโปร์ทำงานหนักและยาวนาน ค่านิยมนี้อยู่คู่กับประเทศมาตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว ซึ่งช่วยขับเคลื่อนสิงคโปร์ให้มีมาตรฐานการครองชีพสูงติดอันดับต้นๆ ของเอเชีย ทว่าความสำเร็จนี้แลกมาด้วยความเครียดสูง และปัญหาสุขภาพจิตที่หลายคนมองว่าเป็น ‘โรคระบาดเงียบ’ ของสังคม
บางคนเลือกที่จะออกจากเกมนี้ หนึ่งในนั้นคือ Ashish Xiangyi Kumar หนุ่มวัย 31 ปีที่เกษียณอายุก่อนวัยอันควร Kumar ประสบความสำเร็จตั้งแต่เด็ก เป็นนักเรียนตัวท็อป และได้รับทุนจากรัฐบาลไปเรียนมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์อันทรงเกียรติ แต่สำหรับเขา ความสำเร็จไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผลการเรียนหรือหน้าที่การงาน
การตัดสินใจเกษียณในวัยหนุ่มของเขาทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม และเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนตั้งคำถามกับความหมายของคำว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ โดยเฉพาะในสังคมที่มีโครงสร้างเข้มงวดอย่างสิงคโปร์ ซึ่งการออกนอกเส้นทางหลักถือเป็นเรื่องที่ทำกันได้ยาก
“วัฒนธรรมโหมงานหนักฝังรากในสิงคโปร์” Hykel Quek จาก Rice Media ให้ความเห็น “บางคนชื่นชมทางเลือกของ Kumar แต่เขาก็ยอมรับว่าตัวเองมีต้นทุนชีวิตเอื้ออำนวย ทั้งได้ทุนเรียน ไม่มีหนี้สิน ไม่วางแผนแต่งงานหรือมีครอบครัว เลยมีอิสระมากกว่าคนอื่น”
ปัญหาความเครียด และภาวะหมดไฟ (Burnout) ในสิงคโปร์พุ่งสูงขึ้นจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่แข่งขันกันรุนแรง อีกทั้งยังมีค่านิยมปกปิดความทุกข์ทางใจ การแสวงหาความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตยังถือเป็นเรื่องน่าละอาย ปัญหาเหล่านี้เริ่มตั้งแต่เด็กถูกกดดันเรื่องผลการเรียนในโรงเรียน และส่งผลต่อเนื่องไปตลอดชีวิต
เรื่องราวของ Kumar จึงโดดเด่นและเป็นแรงบันดาลใจ แต่แน่นอนว่าวิถีชีวิตแบบเขาไม่สามารถใช้เป็นต้นแบบของคนทั่วไปได้ ความเครียดในสังคมเอเชียที่คล้ายกันอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็มีระดับสูงไม่แพ้กัน และค่านิยมของสังคมสิงคโปร์ยิ่งเข้มงวดกว่า ทำให้คนที่เลือกเส้นทางที่แตกต่างออกไปมักถูกมองว่าแปลกแยก
ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่นิยมแต่งงานตั้งแต่ช่วงวัย 20 ปี เพื่อยื่นขอซื้อบ้านจากรัฐบาล จากนั้นพยายามมีลูกตามจำนวน ‘ในอุดมคติ’ ซื้อรถทั้งที่มีราคาแสนแพง ทำทุกอย่างให้ตรงตามแบบแผน และหวังว่าจะได้ใช้ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ
แต่กระแสก็กำลังเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่หลายคนเลือกที่จะไม่มีลูก เพราะเลี้ยงดูยากและค่าใช้จ่ายสูง พอเข้าสู่วัยกลางคน บางคนก็เริ่มตั้งคำถามถึงจุดหมายในการใช้ชีวิต และตกอยู่ในวิกฤตที่เต็มไปด้วยภาระหน้าที่ ต้องเลี้ยงดูทั้งลูกเล็กและพ่อแม่ที่แก่ชราลง
ปัญหาภาวะหมดไฟและสุขภาพจิตในสิงคโปร์เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่ด้วยค่านิยมปิดบังความทุกข์ส่วนตัว จึงทำให้การพูดคุยอย่างเปิดเผยทำได้ยาก โชคดีที่คนรุ่นใหม่มีแนวคิดที่เปลี่ยนไป ทางภาครัฐเองก็พยายามสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้นและช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต แนวคิดเรื่องความสำเร็จต้องถูกนำมาถกเถียงกันใหม่
เรื่องราวของ Ashish Xiangyi Kumar อาจเป็นแค่กรณีศึกษาหนึ่ง แต่มันก็จุดประกายให้เกิดความหวัง และช่วยให้เห็นว่าความสำเร็จอาจมีหลากหลายรูปแบบได้มากกว่านี้
อ้างอิง: